“ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่น 21 วัน ครั้งที่ 1" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้าห้วยสามสบ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการดำเนินโครงการวิจัย 5 อปท และร่วมมือกับสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอจอมพระและนายอำเภอสนม
หนึ่งในหัวข้อที่นำมาให้เยาวชนได้เรียนรู้ในค่ายครั้งนี้คือ “การรู้จักใช้สื่ออย่างสมสมัยและทรงพลัง”ได้กระบวนกรคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจได้แก่ “หมูแดง - พิมพ์ขจี เย็นอุรา” กระบวนกรผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาร่วมเป็นวิทยากรร่วมกับ “กิ่ง - สุพัตรชัย อมชารัมย์” กระบวนกรผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คราวนี้ลองมาฟัง “หมูแดง” เล่าถึงที่มาที่ไปในการเข้ามาร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ในค่าย 21 วัน ครั้งนี้กันบ้าง
“หมูแดง” เกริ่นให้ฟังถึงบทบาทเพื่อให้รู้จักตัวตนของเจ้าตัวดีกว่าเดิม “หมูแดง”บอกว่าตอนนี้ตนเองเป็นกระบวนกรอิสระ ประเด็นด้านสื่อ และประเด็นด้านสังคมเรื่องความรุนแรงทางเพศ และยังเป็นครีเอทีฟรายการทีวี และครีเอทีฟคอนเท้นต์สื่อออนไลน์ “การเป็นกระบวนกรสืบเนื่องจากการเป็นนักเรียนในหลักสูตรกระบวนทัศน์ใหม่ เป็นหลักสูตรที่ผลิตกระบวนกรรุ่นใหม่ออกมา โดยให้คนรุ่นใหม่ มาเรียนรู้เรื่องการเป็นกระบวนกรเพื่อนำไปใช้ในประเด็นที่เราสนใจ เพื่อนำไปสู่การสร้างการเรียนรู้ในประเด็นที่เราสนใจ ส่วนตัวสนใจในประเด็นเรื่องสื่อ เพราะว่าก่อนหน้านี้ทำอาชีพเป็นสื่อมวลชนมาก่อน แล้วสนใจในประเด็นสังคม เรื่องความรุนแรงทางเพศ ประเด็นผู้หญิง สิทธิสตรี”
“ที่สนใจด้านสื่อเพราะเป็นอาชีพที่สนใจอยากทำแล้วมีโอกาสได้ทำด้วย เป็นงานด้านสื่อมวลชนในฐานะเป็นนักข่าว ผู้สัมภาษณ์ ผู้คิดคอนเท้นต์ สร้างสรรค์คอนเท้นต์ อาชีพของสื่อมีความน่าสนใจ ที่ว่าเราได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดเวลา เป็นคนที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เรียนรู้ได้รู้จักผู้คนใหม่ ๆ ได้รู้จัก คอนเท้นต์ใหม่ ๆ ข้อมูลที่เราไม่เคยรู้ ที่ ๆ เราไม่เคยไป คนที่เราไม่เคยมีโอกาสจะได้รู้จักในชีวิตประจำวัน เราก็ได้เข้าไปแล้วก็เรียนรู้ได้รู้จัก ที่สำคัญคือได้นำข้อมูลเหล่านี้ที่คนทั่วไปอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้ เรานำออกมาสร้างสรรค์ผลิตออกมาแล้วทำให้คนสามารถเข้าใจและได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น ๆ ด้วย”
“การเป็นกระบวนกรกับอาชีพสื่อได้ทำไปควบคู่กัน กระบวนกรจริง ๆ ถ้านับก็คือก็ยังใหม่มากสำหรับตัวเองค่ะ เป็นงานใหม่ที่เพิ่งจะมาเริ่มทำเมื่อประมาณปีนี้เอง ก็ได้รับโอกาสจากอาจารย์วราภรณ์ (ครูอ้อย) ให้หมูแดงกับพี่กิ่งมาช่วยกันทำตรงส่วนที่เราสนใจคือประเด็นเรื่องสื่อ การพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ ก่อนหน้านี้เป็นครีเอทีฟรายการสารคดีของช่อง Thai PBS ทำมาหลายรายการอยู่เหมือนกัน เช่น รายการสามัญชนคนไทย แพะเดอะซีรีส์ และนารีกระจ่าง แล้วตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์ ทำคอนเท้นต์สื่อออนไลน์เป็นเพจชื่อว่า เวดเอด เป็นเพจที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา”
“การได้มาร่วมออกแบบกระบวนการในค่ายนี้ ได้มาเป็นส่วนหนึ่งก็รู้สึกขอบคุณ ที่ครูอ้อยนึกถึงว่าเรามีศักยภาพที่จะนำความรู้ที่เรามีมาให้ความรู้กับน้องๆ ได้ แล้วตอนที่ครูอ้อยมาบอกว่าจะเป็นน้องกลุ่มนี้ เป็นน้องๆ เยาวชน เป็นน้องที่เป็นเด็กนอกระบบ ซึ่งเราก็สนใจมากว่าเป็นเด็กกลุ่มที่เราอยากจะเข้าไปศึกษาเขาว่าเขาเป็นอย่างไร แล้วเราคิดว่าองค์ความรู้ที่เรามีน่าจะช่วยอะไรในการพัฒนาเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้บ้าง ก็ดีใจที่ครูอ้อยได้นึกถึงเราแล้วก็เชิญให้พวกเรามาค่ะ”
“สำหรับหัวข้อหลัก ๆ ที่เตรียมมาสอนน้อง ๆ ในค่ายนี้ก็คือเรื่องของการรู้เท่าทันตัวเอง รู้เท่าทันสื่อ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างหรือผลิตสื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราได้วางแผนการออกแบบกระบวนการมา เรามีเวลาในการทำงาน 2 วัน เราก็แบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ก็คือวันละ 1 หัวข้อหลักเลย คือวันแรก เราจะพูดถึงการรู้เท่าทันสื่อและพาเขากลับมาเรียนรู้จากตัวเอง เรียนรู้เพื่อนด้วย เรียนรู้สังคม แล้วก็บริบทอื่น ๆ ที่ควรที่จะต้องรู้ เช่น ประเด็นสำคัญ อย่างเช่น เรื่องการรู้เท่าทันข่าวปลอม (Fake News) รู้เท่าทันเรื่องความรุนแรง เช่น ไซเบอร์บูลลี่ ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ที่ใกล้ตัวพวกเขา”
“ในช่วงเช้าวันแรก เราพาน้อง ๆ มาทบทวนตัวเองผ่านกิจกรรมมิเตอร์วัดใจเป็นกิจกรรม ที่เราจะมีชุดคำถามที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสื่อที่มาทำให้เขาใคร่ครวญกับตัวเองว่าเขาให้ความสำคัญกับสื่อมากน้อยแค่ไหน ให้เป็นคะแนน เป็นมิเตอร์ ซึ่งตัวมิเตอร์ช่วยให้ทั้งตัวกระบวนกรและตัวเด็กเองประเมินได้ว่า สำหรับตัวผู้เรียนเขามีความสนใจและให้ความสำคัญในประเด็นนี้มากน้อยแค่ไหน อย่างตัวชุดคำถามที่ใช้ไป เช่น คิดว่าสื่อคืออะไร รู้จักสื่อมากแค่ไหน สื่อมีความสำคัญกับเขาขนาดไหน และเขาใช้สื่อในการใช้ทำอะไรบ้าง เขามีศักยภาพในการผลิตสื่อเองมากน้อยแค่ไหน เพื่อประเมิน กระบวนการนี้จะช่วยในการดูว่าน้องๆ ผู้เรียนเขามีพื้นฐานมาขนาดไหน อันนี้เป็นในช่วงกิจกรรมแรก
ต่อมาเป็นกิจกรรมที่เรียกว่าเพื่อนรู้ใจอันนี้เราก็จะเขยิบออกมาจากตัวเขามากขึ้น คืออยากให้น้อง ๆ ได้รู้จักเพื่อน ๆ รอบตัวเขาว่าในบริบทเรื่องสื่อ เขาเคยสนใจ หรือสนทนากับเพื่อนไหมว่าเพื่อนของเขามีความสนใจในเรื่องอะไร และเป็นการฝึกได้มาทบทวนตัวเอง จากการถูกเพื่อนถามด้วยว่าแล้วตัวเรามีความสนใจในเรื่องสื่อขนาดไหน และเป็นผลดีต่อกระบวนกรด้วย ได้รู้ว่าน้อง ๆ ตอนนี้มีความสนใจและชื่นชอบสื่อไปในทิศทางไหน อย่างเช่น วันนี้ที่ได้ฟัง ที่ลองเล่นกิจกรรม เราจะได้เห็นว่าน้องบางคนมีพื้นฐานการผลิตสื่อเหมือนกันนะ มีการทำยูทูปแชนแนลเป็นของตัวเอง ได้รู้ว่าน้องบางคนไม่ได้ฟังวิทยุมาก่อน ส่วนใหญ่ตอนนี้จะใช้มือถือ แอพลิเคชั่น เป็นสื่อออนไลน์มากกว่า ใช้ช่องทางเพื่อการขายของออนไลน์ ซึ่งมันก็จะออกมาจากตัวกิจกรรม ซึ่งมันก็จะทำให้เด็กได้รู้จักเพื่อน ๆ ไปด้วยว่ามีสื่ออย่างนี้ด้วย หรือว่ามีคำถาม อย่างเช่น มีแอพลิเคชั่นอะไรที่อยากจะแนะนำเพื่อนไหม น้องก็จะพูดถึงแอพลิเคชั่นที่บางทีเพื่อน ๆ ในห้องอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อน ทำให้เราได้แชร์ข้อมูลใหม่ ๆ จากเพื่อนๆ ในห้องด้วยกันเองค่ะ”
“เป้าหมายสำคัญของการเรียนรู้ คือการพาให้ผู้เรียนมารู้เท่าทันตัวเองในเรื่องสื่อ เพราะว่าการใช้สื่อในชีวิตประจำวัน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีทั้งประโยชน์และโทษ ทำให้เขากลับมารู้เท่าทันว่าในสิ่งที่เขาใช้ สื่อที่อยู่ในมือของเขา เขาจะใช้ไปในทิศทางไหนที่จะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ และเห็นว่าจุดไหนที่จะนำไปสู่โทษ และเขารู้เท่าทัน เขาจะไม่ไปทำสิ่งนั้น และอีกประเด็นหนึ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือ การที่เขาสามารถที่จะสร้างสรรค์สื่อด้วยตัวเขาเองในฐานะพลเมืองสื่อได้อย่างไรเป็นเหมือนองค์ความรู้แบบย่นย่อให้เขาสามารถพอเห็นภาพได้บ้างว่า ในตัวเขาสามารถที่จะสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาได้บ้าง โดยที่ไม่ต้องเป็นฝ่ายที่เป็น passive citizen (พลเมืองตั้งรับ) อย่างเดียว เราสามารถเป็น active citizen (พลเมืองที่มีจิตสาธารณะ) ได้อย่างไรได้บ้าง”
“และยังมีประเด็นหลัก ที่เราอยากสื่อสารให้น้องรู้คือเรื่องไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying หมายถึงเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือคุกคามผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ) เราดูจากช่วงวัยที่เขาเป็นอยู่ คือช่วงเยาวชน ช่วงอายุ 15 – 20 ก็จะมีประเด็นที่สำคัญที่น่าสนใจ คือเรื่องนี้ก็ออกมาจากสิ่งที่น้องพูดเหมือนกันว่า เขาเคยโดนถูกคุกคามในเรื่องของการถูกแอบอ้างชื่อไปหลอกใช้ หลอกเฟซบุ๊ค อะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็มีกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องนี้ 2 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมแรกเราใช้ชื่อว่าปาปารัชซี่เป็นกิจกรรม ที่จะให้น้องได้ลองสวมบทบาทเป็นนักข่าวกับเป็นผู้ที่ถูกถ่ายรูปเป็นดารา ซึ่งจะไม่ได้ถูกบอกตรง ๆจะถูกบอกผ่านตัวอุปกรณ์การเล่นเกม เช่น ให้คะแนนขึ้นมาว่า ทุกคนจะมีค่าของตัวเอง 1 2 3 4 แล้วให้ทุกคนไปถ่ายรูปคนที่มีค่าได้มากที่สุด เพื่อเก็บคะแนน หลังจากการเล่น เราก็เอามาถอดบทเรียนว่าในฐานะที่เราผ่านประสบการณ์การเล่นมา เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งผลมันจะออกมาในเชิงของการที่เราคุกคามคนอื่นและถูกคุกคามมันเป็นอย่างไร ซึ่งมันจะไปทำให้เขาได้เรียนรู้มาถึงข้างในตัวเอง เพราะเราได้ผ่านประสบการณ์บางอย่างมา
หลังจากได้เล่นเกมปาปารัชซี่ เราก็จะพาเขาไปเรียนรู้ผ่านการดูสื่อจริง ๆ สื่อจะเตรียมเป็นสื่อวิดีโอคลิปที่มันเป็นประเด็นเรื่องไซเบอร์บูลลี่ เพื่อให้เขาเห็นมุมมองบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา คืออาจจะเป็นตัวเขาที่เคยกระทำมา หรือเขาเคยถูกกระทำมา ซึ่งหลังจากดูคลิปแล้วเราจะมีการถอดบทเรียนหลังจากการดูคลิปว่าหลังจากดูแล้ว เขาเห็นอะไรบ้าง เขาได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง”
“และกิจกรรมที่จะให้น้อง ๆ ได้เรียนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ จะมีสื่อประกอบการเรียนรู้เหมือนกัน คือเป็นคลิปวิดีโอ แล้วในตัวคลิปก็จะมีประเด็นที่เราสอดแทรกเข้าไว้ เพราะว่าการที่เราใช้สื่อ เราก็พยายามจะสอดแทรกว่าเป็นสื่อที่ทุกคนเข้าถึงได้ และเป็นข้อมูลที่ทุกคนสามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็เป็นการสอบไปในตัวว่าเขาไม่จำเป็นจะต้องเป็นฝ่ายรับฝ่ายเดียว เขาสามารถลงไปหาข้อมูลก็ได้ ซึ่งเราก็ไม่ใช่คนที่จะมีความรู้ไปมากกว่าเขา เขาสามารถเรียนรู้ได้จากตัวเองได้เหมือนกัน”
“สำหรับประเด็นใหญ่ ๆ ที่เราจะทำคือการที่เราจะทำประเด็นเรื่องmedia for change คือการสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เราจะมีกระบวนการให้เขาได้ทดลอง มีกิจกรรมที่พาให้เขาได้รู้จักกับการเล่าเรื่องผ่านสื่อว่า การเล่าเรื่องผ่านสื่อควรจะประกอบด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง มีคลิปวิดีโอที่จะเป็น case study ให้เขาลองวิเคราะห์ ให้ลองสังเกตดูว่าในสื่อแต่ละชิ้น ในคลิปวิดีโอแต่ละชิ้นมีการเล่าเรื่องเป็นอย่างไร แล้วเขาสามารถเรียนรู้อะไรจากกรณีตัวอย่างพวกนี้ได้บ้างว่าถ้าเป็นเขา เขาจะทำอย่างไร เราก็จะเริ่มให้เขาลองลงมือปฏิบัติจริงว่าในฐานะที่เขามีอุปกรณ์ในมือเท่านี้ เขาสามารถที่จะสร้างสรรค์สื่อออกมาเป็นอย่างไรได้บ้าง โดยผ่านการเรียนรู้ในช่วงเช้าว่าเขาเรียนรู้อะไร และเขาจะเอาออกมาสร้างผลงานจริง ๆ ออกมาเป็นแบบไหน”
“ด้วยข้อจำกัดของการมาครั้งนี้ อุปกรณ์ที่น้อง ๆ มีมันอาจจะไม่ได้มีมากมาย คือหลัก ๆ น้องเขามีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเราก็ตั้งใจให้ใช้โทรศัพท์มือถือให้เขาสามารถใช้เองได้ เพราะเมื่อเขากลับไป เขาก็อาจจะมีแค่มือถือนี่ล่ะ แต่เขาสามารถเรียนรู้ได้ว่ามือถือสามารถทำอะไรได้บ้าง นอกจากใช้สื่อสาร โทรศัพท์ เล่นเกม เล่นเฟซบุ๊ค เขาสามารถสร้างสรรค์ออกมาเป็นคลิปวิดีโอเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับสังคมได้เหมือนกันค่ะ”
“เราได้นำกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านประสบการณ์ หรือ Transformative Learning เป็นการเรียนรู้ที่เราใช้กระบวนการบางอย่าง เช่น การผ่านกิจกรรม การใช้การสื่อสาร การพูดคุยของตัวผู้เรียนเป็นหลัก คือไม่ได้เน้นการให้ข้อมูลจากผู้สอนเพียงอย่างเดียว คือเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้ง 2 ฝั่ง คือในฐานะกระบวนกร เราไม่ได้เป็นผู้ที่พูดอย่างเดียว เหมือนเราเป็นผู้ดำเนินการเรียนรู้ตลอดกระบวนการเรียนรู้ สามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเขาได้แสดงศักยภาพออกมาโดยที่เราไม่ต้องไปบอกข้อมูลโดยตรง เราสามารถเสริมหรือว่าช่วยดึงให้เขาเห็น ช่วยชี้ให้เขาเห็นได้จากการที่เรามีกระบวนการบางอย่าง เราสร้างสถานการณ์ สร้างประสบการณ์ให้เขาได้เรียนรู้ แล้วก็ออกมาจากตัวเขาจริ งๆ ไม่ใช่การ input ข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว”
“กิจกรรมรูปแบบนี้ สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ลึกซึ้ง เพราะว่าสิ่งที่เรียนรู้ได้กลับมาสู่ตัวผู้เรียนจริง ๆ เป็นการรับฟังเสียงข้างในจริง ๆ แล้วการเรียนรู้แบบนี้ไม่ได้น่าเบื่อ ไม่ใช่การฟังเพียงอย่างเดียว แล้วก็เหมาะกับน้อง ๆ กลุ่มนี้ด้วย เพราะว่าน้อง ๆ อาจจะมีแบ็คกราวน์ว่าเขาผ่านอะไรมา แต่เราคิดว่าการเรียนรู้แบบนี้จะสร้างความสนุกสนานและได้ให้เขาได้เปลี่ยนแปลงข้างในจริง ๆ”
“สำหรับความคาดหวังนั้น ไม่ได้หวังว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ได้ในทันที แต่เชื่อว่าการเรียนรู้ตลอด 2 วันนี้ เชื่อว่าจะช่วย คาดหวังว่าจะช่วยให้น้อง ๆ ได้เห็นมุมมองบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องสื่อที่เปลี่ยนไปมากขึ้น เห็นมุมมองที่กว้างกว่าเดิมที่เขามี ให้เห็นว่าสื่อที่มีในมือเขาสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีกเยอะค่ะ และเขาสามารถที่จะเอาไปทำอะไรบางอย่างได้”
“ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเข้ามาซึ่งเด็กรุ่นใหม่ เยาวชน เขาใกล้ชิดและเขาเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้รวดเร็วและบางทีผู้ใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะยังตามเขาไม่ทันกับอะไรใหม่ ๆ ที่เข้ามาอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้น แล้วบางทีที่มีช่องว่างระหว่างวัย ในเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี การเท่าทันหรือเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยี อาจจะเป็นช่องว่างทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างกันขึ้นเพราะฉะนั้นถ้าอยากจะฝากไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ ที่มีน้อง ๆ ที่มีช่วงวัยห่างกัน อาจจะเริ่มจากการเปิดใจเรียนรู้ว่าสื่อมันเกิดขึ้นในยุคเขา เขาก็ได้เรียนรู้มาโดยที่เขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจ หรือตั้งใจ เขาก็อยู่กับสื่อ เราในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง เราสามารถที่จะลองทำความเข้าใจ แล้วลองเปิดใจรับฟังเขาว่าที่เขาทำ ทำไปเพื่ออะไร และในส่วนที่ไม่ดี เราสามารถเตือนเขาได้ แต่อย่าไปตัดสินเขาว่าสิ่งที่เขาทำไม่ดี จะไม่ดีแน่ ๆ ในสายตาเรา เพราะว่ามุมมองแค่เรามี ต่อเรื่องบางเรื่องบางทีอาจจะต่างกัน ผู้ใหญ่มองแบบหนึ่ง เด็กมองอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเปิดใจรับฟังอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ตัดสินก่อน เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆแต่สำหรับเรื่องของการเข้าใจเทคโนโลยี เรียนรู้ได้ไม่ว่าจะวัยไหน ทุกคนสามารถเรียนรู้สื่อได้ตลอดเวลา แค่คุณเปิดใจแล้วลองสัมผัสมัน เรียนรู้จริงๆ”
“อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่ใช้สื่อในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันสื่อก็มีประโยชน์กับเรามากมายเลย ทำให้เราได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ สร้างความบันเทิง สามารถสร้างรายได้ สร้างโอกาสมากมายในชีวิต แต่ถ้าเราขาดสติหรือขาดการรู้ตัว หรือขาดการเท่าทันที่เราจะไม่ถูกสื่อครอบงำเรา ก็อาจจะทำให้เกิดผลร้ายได้ เพราะฉะนั้นการใช้สื่อ สิ่งที่สำคัญเลย คือการรู้เท่าทัน อย่าให้สื่อมาเป็นนายเรา เราต้องเป็นนายสื่อในการที่จะใช้สื่อค่ะ”#