ศิริพร บุญมาก : แกนนำเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก

นางสาวศิริพร บุญมาก  แกนนำเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก


แป้ง นางสาวศิริพร บุญมาก หญิงสาวที่ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม สำเนียงเสียงเหน่อนิด ๆ คือเสน่ห์ที่พูดเมื่อไหร่ก็รู้เลยว่าเธอคือสาวจากจังหวัดราชบุรี แป้งมีความฝันที่แน่วแน่ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าจะกลับมาเป็นเกษตรกรที่สามารถดูแลพ่อแม่ และเป็นเจ้าของโฮมสเตย์อยู่ที่บ้านของตัวเอง ปลูกผักทำสวน ปลูกมะเขือเทศ ผักสลัดส่งร้านอาหาร ร้านกาแฟในละแวกบ้าน แป้งบอกว่า “ถ้าหนูสามารถส่งผลผลิตให้ทางร้านได้ ต่อไปชาวบ้านก็สามารถปลูกผักแบบหนูแล้วมาส่งหนู ขายให้กับร้านค้าต่อได้ เราต้องไม่ได้ได้แค่คนเดียว แต่คนในชุมชนต้องได้ด้วย สิ่งที่หนูต้องทำให้ได้ในอนาคตคือการเชื่อมโยงให้เกษตรกรในชุมชนและร้านค้าที่รับซื้อสินค้าจากชุมชนเราให้ได้” แป้งเล่าถึงภาพฝันของเธอให้ฟัง กาลเวลาพาให้แป้งค่อยๆ เติบโต ทั้งภายนอกและจากภายใน ภาพฝันที่เธอเล่าไม่ได้มีเพียงแค่เธอ แต่ยังมีชุมชนที่เธอยังคงคิดถึงด้วยเสมอ

แม้โครงการจะจบมานานหลายปี แต่แป้งยังคงจำเรื่องราวเส้นทางการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี แป้งพาย้อนอดีตให้ฟังว่าตอนนั้นเธอเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ภาควิชาเกษตรศาสตร์ สาขาพืชสวน เธอถูกทาบทามจากครูเร-เรณุกา หนูวัฒนา ให้เข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ตั้งแต่สมัยที่เธอเรียนอยู่ ปวช. ปี 1 “ตอนนั้นเราเป็นเด็กหอรู้สึกว่าไม่ค่อยมีอะไรให้ทำ วันเสาร์ อาทิตย์ไม่ได้กลับบ้านจะเข้าไปช่วยงานครูเรในวิทยาลัยบ่อยๆ ตอนที่ครูเขาชวนไปทำ คิดแค่ว่าน่าจะเป็นกิจกรรมในวิทยาลัยไม่ได้ออกไปไหน ก็เลยตกลงทำ ดีกว่านอนอยู่ห้องเฉยๆ ค่ะ ” แป้งเล่าที่มาของการเข้าร่วมโครงการให้ฟัง

โลกใบใหม่ของแป้งเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา หลังเข้าร่วมเวที สิ่งที่ต้องได้คือโจทย์การทำงาน แป้งและทีมช่วยกันระดมความคิดจนตกตะกอนออกมา เป็นโครงการทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากเศษขยะเสียของโรงอาหารและน้ำเน่าจากคอกหมูในวิทยาลัย ตั้งต้นจากปัญหาที่พบภายในวิทยาลัย แป้งตั้งใจที่จะใช้โครงการเป็นตัวศึกษาข้อมูลเกี่ยวจุลินทรีย์เพราะตรงกับในวิชาเรียน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมากกว่าความรู้เรื่องจุลินทรีย์ สิ่งที่เธอได้คือการทำงานกับชุมชน การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล การทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร

เพราะเป็นการทำงานปีแรก ครั้งแรก และโครงการแรก ไม่แปลกที่จะมีปัญหา แป้งเล่าปัญหาที่เจอให้ฟังว่า “การทำงานชุมชนหนูถือว่าเป็นปัญหาเพราะเราไม่ใช่คนในพื้นที่ ถึงเพื่อนจะยกให้หนูเป็นหัวโจกนำทีม แต่เราก็ไม่เน้นลุย เราเน้นวางแผนมากกว่า เลยคิดว่าเรื่องการเข้าชุมชนเป็นปัญหาสำหรับเรามากในปีนั้น แต่ถามถึงสิ่งที่หนูพัฒนา สำหรับหนูคือทักษะการวางแผน เวลามีปัญหาจะชวนเพื่อนในทีมมาช่วยคิด เพราะเรามองว่าเราไม่ใช่คนเก่ง เราถึงต้องวางแผนก่อน พอไปถึงเราจะได้มีข้อมูลไปคุยกับเขาได้”

จากประสบการณ์ในปีแรก นำมาสู่การสานต่อโครงการในปีที่สอง แป้งเลือกทำเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เพราะมีโอกาสได้ลงไปเก็บข้อมูลและเห็นปัญหาในชุมชนคือ ส่วนใหญ่คนที่อยู่บ้านเป็นผู้สูงอายุเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เธอและเพื่อนจึงตกลงทำโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เธอบอกว่าการทำโครงการนี้ง่ายกว่าปีแรก แต่สิ่งที่ยากคือโจทย์ของการทำงาน และการเรียนรู้ที่จะได้จากโครงการนี้คืออะไร นี่คือสิ่งที่ยากสำหรับเธอ

บทบาทที่แป้งได้รับในช่วงนั้นไม่ได้มีแค่การเป็นประธานโครงฯ เท่านั้น แต่เธอยังเป็นนายกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยฯ และยังต้องเรียนอีกด้วย ถ้าเป็นคนอื่นคงแอบบ่นอุบ ว่างานเยอะ ไม่อยากทำโครงการแล้ว แต่สำหรับเธอไม่ใช่ปัญหา เธอพูดแบบสบาย ๆ ว่า “ ตอนนั้นหนูอยู่ปวช. 3 แล้วค่ะ กำลังจะขึ้น ปวส. 1 หนูทำทั้ง 3 อย่างพร้อมกัน โดยส่วนตัวหนูไม่ได้รู้สึกเหนื่อยอะไร แต่กลับคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างที่เรารับผิดชอบออกมาไม่แย่ พยายามจัดสมดุลทั้งกิจกรรมในวิทยาลัย และกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยให้สำเร็จไปได้ด้วยดี ยอมรับว่าตอนนั้นหนูจัดลำดับการเรียนไว้ท้ายสุด เพราะไม่ได้ยากสำหรับเรามาก แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามันง่ายเพียงแต่ว่าหนูมองว่ากิจกรรมฯ หากเราทำได้ ทำสำเร็จ ไม่ใช่แค่หนูที่ได้ แต่น้องที่ทำด้วยก็ได้ ชุมชนที่เราทำด้วยเขาก็ได้ เราเลยรู้สึกโอเคกับการจัดการในรูปแบบที่เราเป็น”

ยิ่งทำยิ่งได้รู้คงเป็นเหตุผลที่ทำให้แป้งทำโครงการต่อ ผ่านมา 3 ปีแป้งค่อยๆ เรียนรู้การทำงาน ทักษะชีวิต และวิธีคิดที่เป็นผู้นำมากขึ้น แม้จะมีเพื่อน รุ่นน้องเปลี่ยนผ่านคนแล้ว คนเล่า แต่เธอก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนเราชอบไม่เหมือนกัน ความสามารถเองก็ไม่เหมือนกัน ไม่สามารถตัดสินคนอื่นจากความสามารถของตัวเองได้ “บางคนในทีมไม่อยากทำหนูจะเริ่มจากพูดคุยถามหาเหตุผลจากเขาก่อน จากนั้นจะค่อยๆ ขายฝัน ให้เขาเห็นว่าถ้าเขาทำโครงการนี้ต่อประโยชน์ที่เขาจะได้มีอะไรบ้าง แต่ถ้าเราพูดแล้วเขาไม่เห็นฝันเหมือนเราก็ยอมให้เขาออกไปค่ะ” แป้งสะท้อนมุมมองของเธอต่อการจัดการปัญหาภายในทีมให้ฟังอย่างใจเย็น

จากการเป็นประธานโครงการมา 3 ปี เข้าปีที่ 4 ของโครงการแป้งขยับบทบาทมาเป็นพี่เลี้ยงแทน เธอบอกว่า “ตอนนั้นครูเรให้มาช่วยรุ่นน้อง ช่วงนั้นน้องๆ เขาเลือกจะฟังรุ่นพี่มากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาคิดว่าน่าจะเป็น GEN เดียวกันคุยกันรู้เรื่องมากกว่า ครูเรเลยให้หนูมาเป็นกำลังเสริมให้ครูเขาอีกแรงค่ะ ตอนนั้นหนูมองว่าการเป็นพี่เลี้ยงจะช่วยให้เราเห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป จากเดิมเราเป็นสมาชิกในโครงการ แต่ตอนนี้เรามีโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเองในฐานะของการเป็นพี่เลี้ยง ทำอย่างไรที่เราจะสื่อสารกับเขา แล้วให้เขาเข้าใจเรื่องที่เราอยากจะบอกเขา” การเป็นพี่เลี้ยงของเธอในปีแรกค่อนข้างฝืนตัวเองพอสมควร เพราะต้องพูดให้น้อยที่สุด ต่างจากสมัยที่เป็นหนึ่งในสมาชิก ที่สามารถระดมความคิด ยิ่งคิด ยิ่งพูดเยอะยิ่งดี แต่การเป็นพี่เลี้ยงสำหรับเธอคือ การพูดให้น้อยที่สุด “ตอนที่เป็นพี่เลี้ยง หนูใช้วิธีการเดียวกับครูเรเลยค่ะ คือปล่อยให้เขาทำ ให้เขาคิดเต็มที่ ถ้าเกิดเราไม่ปล่อยเลย เขาจะคิดว่าเดี๋ยวถามพี่แป้งเอาก็ได้ พยายามจะเป็นที่ปรึกษาให้เขาเวลาที่มันนอกเหนือจากที่เขาจะสามารถจัดการได้จริงๆ แล้วตัวเราเองก็ต้องพร้อมที่จะให้คำปรึกษาแก่เขา ให้เขารู้สึกปลอดภัยเวลาที่เขามาคุยกับเรา” แป้งเล่าบทบาทของตัวเองในฐานะพี่เลี้ยงให้ฟัง ซึ่งเธอก็สามารถทำหน้าที่พี่เลี้ยงได้เป็นอย่างดี

หลังเรียนจบแป้งออกจากโลกของการเรียนรู้ ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน แป้งเริ่มจากการเป็นเจ้าหน้าที่เกษตรพืชสวนดูแลสวนมะนาวของบริษัทเอกชน ที่จังหวัดนครปฐม ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนงานอีกครั้งด้วยเหตุผลที่ว่าไกลบ้าน แม้ทำได้ไม่นานแต่เธอบอกว่า นี่คือประสบการณ์ทำงานครั้งแรกที่เธอได้สัมผัสการทำงานแบบจริงจัง แป้งย้ายมาทำงานที่สวนมะพร้าว เธอบอกว่าที่นี่เป็นที่ที่เธอประทับใจที่สุดเพราะเป็นที่ที่เธอได้แสดงศักยภาพของตัวเองในฐานะการเป็นผู้นำ “การเป็นผู้นำไม่ใช่ใครๆ ก็สามารถเป็นได้ พอเราได้สัมผัสจริงๆ ยิ่งพบว่าไม่ใช่ใครก็เป็นได้ ต้องได้รับการฝึกฝน และต้องได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีศักยภาพมากพอ การเป็นผู้นำ ไม่ใช่แค่การเป็นหัวหน้า แต่หมายรวมไปถึงการเป็นผู้นำที่สามารถชักชวน ชักจูงให้เค้าไปทำเรื่องที่ดี” แป้งสะท้อนสิ่งที่ได้จากการทำงาน ที่ได้จากการสั่งสมคลังความรู้จากการทำโครงการและนำไปต่อยอดในการทำงานที่ท้าทายเธอ เพราะต้องเป็นผู้นำคุมคนที่อายุมากกว่าเธอ แป้งทำงานที่นี่ได้ปีกว่า ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากงานอีกครั้งเพราะต้องเรียนต่อ

แต่เพราะสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทำให้ปัจจุบันแป้งกลับมาอยู่บ้าน เธอใช้โอกาสที่กลับมาอยู่บ้าน เพื่อทบทวนตัวเองอีกครั้ง ลองผิดลองถูกกับการเป็นเกษตรกรอาชีพที่เธอตั้งใจว่าต้องเป็นให้ได้ ทดลองตั้งแต่การปลูกผัก ปลูกพืชชนิดอื่นที่นอกเหนือจากสับปะรดที่ต้องรอเก็บเกี่ยวค่อนข้างนาน มาเป็นพืชที่โตไว เช่น ข้าวโพด มะเขือ วางแผนเลี้ยงวัว นี่คือสิ่งที่เธอมองการณ์ไกล และตั้งธงชัดเจนว่าในอีก 3-4 ข้างหน้าเธอจะกลับมาเป็นเกษตรสืบทอด สานต่อสิ่งที่พ่อแม่สร้างมา และใช้เวลาดูแลครอบครัวนี่คือสิ่งที่แป้งตั้งปณิธานไว้ หญิงสาวที่ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม แต่แฝงด้วยแววตามุ่งมั่นว่าวันหนึ่งฉันจะกลับมาเป็นเกษตรที่ดีให้ได้ แม้วันนี้จะเป็นเพียงภาพฝัน แต่เชื่อว่าประสบการณ์และความตั้งใจของแป้ง จะทำให้ภาพฝันของเธอนั้นเป็นจริงได้ในอีกไม่นาน

“สักวันฉันจะเป็นเกษตรกรให้ได้เลย”