วีรวรรณ ดวงแข : ไม่พอใจก็แค่ใส่หูฟังแล้วเปิดเพลงดังๆ ‘การจัดการอารมณ์’ ที่ท้าทายแต่ทำได้ในวัยรุ่น

  • การฝึกจัดการอารมณ์ตนเอง เป็นทักษะที่ฝึกได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น พ่อแม่และครูจึงต้องช่วยฝึกทักษะนี้แก่เด็ก โดย ‘รับฟัง’ อย่างเห็นอกเห็นใจ ฟังให้เข้าใจความรู้สึกของเด็ก
  • การฝึกทักษะทางอารมณ์ด้วยการ ‘บูรณาการ’ ไปกับการเรียนรู้ทักษะ เช่น ทักษะในการเข้าใจ เห็นใจคนอื่น ก็จะมีสติในการหาวิธีตอบสนองเชิงบวก เชิงเห็นอกเห็นใจ แสดงความรักความห่วงใย
  • ความสามารถในการจัดการอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ หากวัยรุ่นยั้งคิดไตร่ตรองได้ หยุดเป็น ควบคุมอารมณ์ได้ เขาจะข้ามผ่านช่วงวัยที่เป็นหน้าสิ่วหน้าขวานของชีวิตไปได้
เรื่อง: สุวิภา ตรีสุนทรรัตน์

ในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผู้คนสามารถพูดคุย ติดต่อเรื่องงาน ติดตามข่าวสาร และเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว พื้นที่บนโซเชียลมีเดียยังกลายเป็นพื้นที่ ‘ระบาย’ ความรู้สึกรัก ชอบ โกรธ หลง ให้คนแปลกหน้าได้รับรู้

หลายคนอาจคิดว่าถ้าโพสต์แล้วตั้งค่าให้เห็นแค่เพื่อนคงไม่เป็นไร แต่อาจลืมไปว่าเพื่อนหลักร้อยจนถึงหลักพันที่เป็น friends หรือกด follow เรา บางคนเป็นเพื่อนสนิท บางคนก็เป็นเพื่อนห่างๆ ที่แทบไม่รู้จักตัวเราจริงๆ และตัดสินความเป็นเราง่ายๆ จากโพสต์

“เมื่อก่อนโพสต์หนักมาก โพสต์ทุกอย่าง ทุกเรื่อง ไม่พอใจใครก็ด่าเลย”

แอล วีรวรรณ ดวงแข เล่าอย่างตรงไปตรงมาถึงเรื่องราวในอดีตที่เธอเคยใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ แต่ตอนนี้เฟซบุ๊คของเธอมีแต่เรื่องงานเท่านั้น…

วันรุ่นเลือดร้อน เดือดปุ๊บ โพสต์ปั๊บ

เพราะเป็นวัยรุ่นที่ยังจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ แถมยังใจร้อน เวลามีอะไรมากระทบใจจะรู้สึกทนไม่ได้ โพสต์ด่าบ้าง บ่นบ้าง ระบายบ้าง กระทั่งหลายปีก่อนแอลมีโอกาสร่วมทำงานวิจัยของตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากการชักชวนของ น้าแมว-นิภา บัวจันทร์ นักวิจัยชาวบ้าน ของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม

น้าแมวมักชวนแอลไปช่วยหยิบจับของ ทำงานจิปาถะ จนเริ่มสนิทกัน น้าแมวจึงขอแอดเป็นเพื่อนกับแอลในเฟซบุ๊ค พอเห็นเธอโพสต์ต่อว่าคนอื่น น้าแมวจะเข้ามาคอมเมนต์เตือนทันที รวมทั้งส่งข้อความผ่านทางแชทว่า

“สิ่งที่คนอื่นทำแล้วไม่ชอบก็ปล่อยให้เขาเป็นเหมือนอากาศที่ว่างเปล่า ตัวเองจะได้สบายใจ เพราะการโพสต์ด่าคนอื่นก็แสดงถึงนิสัยคนโพสต์ด้วยว่าเป็นอย่างไร”

นอกจากคอยปรามไม่ให้ทำสิ่งไม่ดีแล้ว แอลบอกว่า น้าแมวยัง “บังคับให้ทำแต่สิ่งที่ดี” ด้วยการให้เธอเข้าร่วมเวทีงานวิจัยชาวบ้าน และร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ออกมาพบปะผู้คนมากขึ้น แม้จะไม่เต็มใจนัก แต่แอลก็ยินยอม เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ตัวเองดีขึ้น กระทั่งน้าแมวบังคับให้แอลเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ที่มีเงื่อนไขให้เด็กเยาวชนไปศึกษาชุมชน พูดคุยกับชาวบ้าน เพื่อนำข้อมูลมาเป็นแนวทางแก้ปัญหาหรือพัฒนาชุมชน

“ปกติเราไม่ชอบสุงสิงกับใคร ไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีคนเยอะๆ ที่ไหนคนเยอะจะหลบอยู่ในมุมของตัวเอง แต่โครงการนี้ ทำให้เราต้องพบเจอคนหลายวัย ทั้งเพื่อนวัยเดียวกัน รุ่นพี่ ลุง ป้า น้า อา กลายเป็นว่าเราต้องระมัดระวังเรื่องการวางตัวกับการจัดการอารมณ์ตัวเอง”

แม้รู้ว่าต้องพยายามจัดการอารมณ์ให้ได้ แต่ด้วยช่วงวัยที่อารมณ์ยังไม่นิ่งพอ เวลาไม่พอใจมากๆ แอลก็ยังเผลอระบายอารมณ์ทางเฟซบุ๊คอยู่บ้าง แต่น้าแมว และ ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ที่แอลเรียกว่า ‘อาธเนศ’ ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกจะคอยเตือนและถามให้เธอคิดไตร่ตรองอยู่เสมอ

นอกจากต้องปรับอารมณ์เพื่อเข้าหาชุมชนแล้ว แอลบอกว่าเธอยังต้องจัดการกับความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นจากการทำงานกับเพื่อนในทีมอีกด้วย

“ตอนทำโครงการปีแรกเพื่อนในกลุ่มทะเลาะกัน จนกระทบกับงานที่ต้องทำ ตอนนั้นโมโหมาก คิดว่าถ้าเจอหน้ากันต้องมีเรื่องแน่ๆ น้าแมวเห็นอาการก็ช่วยกล่อมให้เย็นลง วันรุ่งขึ้นน้าแมวเรียกทีมทั้งหมดมาคุย เราก็เดินหนีกลับบ้านไปเลย อารมณ์ตอนนั้นคือไม่อยากเห็นหน้า เวลาผ่านไปพักหนึ่ง น้าแมวเรียกเราให้ออกมาคุยด้วย แม้ตอนนั้นยังโกรธอยู่ แต่อีกใจก็คิดว่าต้องคุย เพราะนึกถึงคำน้าแมวที่บอกว่า งานไม่ได้สำเร็จได้ด้วยคนคนเดียว ทุกคนต้องช่วยกันงานจึงจะสำเร็จ เลยตัดสินใจออกมาคุย งานก็เดินต่อไปได้ด้วยดี”

พูดไม่จำ ต้องทำให้ดู

เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ของการทำโครงการ แอลพบเหตุการณ์ที่ทำให้เธอต้องจัดการอารมณ์กับเพื่อนร่วมทีมอีกครั้ง นั่นคือเพื่อนขอออกจากการทำโครงการกลางคัน ตอนนั้นเธอหงุดหงิดมาก แต่ก็ได้น้าแมวและอาธเนศมาชวนคุยให้เห็นว่า แม้จะมีคนลาออกแต่ทีมยังมีสมาชิกอื่นช่วยทำอยู่ และบอกว่าการเป็นหัวหน้าทีมที่ดีต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจและต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้

“อาธเนศพูดเสมอว่า เป็นพี่แล้วนะ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้น้องได้แล้ว บวกกับในเฟซบุ๊คเริ่มมีน้องๆ ในโครงการแอดเฟรนด์เข้ามาหลายคน ก็เริ่มรู้ตัวว่าเราจะใช้อารมณ์นำไม่ได้แล้ว เวลาโมโหหรือไม่พอใจก็ไม่โพสต์ด่าบนหน้าเฟซบุ๊คอีกเลย”

เหตุผลที่แอลยอมรับฟังคำตักเตือนเพราะเธอมีโอกาสติดตามอาธเนศไปร่วมประชุมหลายครั้ง เห็นท่าทีการวางตัวของอาธเนศกับคนหลากหลายระดับ ทั้งชาวบ้าน เด็กเยาวชน กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ และผู้ทรงคุณวุฒิ

“เราชอบการวางตัวของอาธเนศเวลาอยู่กับคนอื่น เขาจะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเวลาจะเข้าหาคนอื่นต้องทำอย่างไร เวลาอยู่สถานที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านตัวเองต้องทำตัวอย่างไร เขาไม่ใช่แค่บอก แค่สอน แต่เขาทำให้เห็น จนนำมาใช้เป็นแบบแผนเพื่อปรับปรุงตัวเอง”

ผลจากการมีผู้ใหญ่คอยประคับประคอง ตอนนี้เวลาไม่พอใจใคร แอลก็แค่หยิบหูฟังมาใส่แล้วเปิดเพลงดังๆ เพื่ออยู่กับตัวเองสักพัก ปรับอารมณ์ให้เย็นลงก่อน แล้วค่อยกลับไปพูดคุยกันคนอื่นเหมือนเดิม

‘แอล’ คนเดิม เพิ่มเติมคือ ‘ใจเย็น’

หลังจากจัดการณ์อารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แอลพบว่า เธอกลายเป็นคน ‘ช่างสังเกต’ มากขึ้น เพราะเมื่ออารมณ์นิ่ง เวลาพบเจออะไรน่าสนใจเธอก็จะเฝ้าสังเกต ซึ่งการหมั่นสังเกตนี่เองได้กลายเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสให้แอลได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ เช่น วิธีการทำงานของพี่ๆ นักวิจัยที่แอลมีโอกาสได้ร่วมงานด้วย โดยพี่ๆ เหล่านั้นจะคอยสังเกตอาการของชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมว่ายังสนใจทำต่อไหม ถ้าเห็นว่าชาวบ้านเหนื่อย ไม่พร้อมทำกิจกรรมต่อก็อาจมีการปรับกิจกรรม

เมื่ออารมณ์ภายในนิ่งแล้ว โอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ และเห็น ‘คนอื่น’ จึงมีมากขึ้น

วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังมีความผันผวนทางอารมณ์ เนื่องจากสมองส่วนควบคุมอารมณ์ยังทำงานไม่สมบูรณ์ การทำผิดของเขาจึงอาจเกิดจากการจัดการอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ หรือจัดการได้ไม่ถูกต้องอย่างแอลที่เคยใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางระบายอารมณ์

แต่ความโชคดีของแอลคือการมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจ รับฟัง และตักเตือนด้วยความปรารถนาดี บนความเชื่อว่า เด็กคนหนึ่งจะสามารถก้าวข้ามอารมณ์ที่พลุ่งพล่านจากฮอร์โมนได้ ที่สำคัญคือเป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้เห็น จนแอลมั่นใจที่จะทำตามเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้องต่อไป

ความสามารถในการจัดการอารมณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากวัยรุ่นยั้งคิดไตร่ตรองได้ หยุดเป็น (inhibitory control) ควบคุมอารมณ์ได้ (emotional control) เขาจะข้ามผ่านช่วงวัยที่เป็นหน้าสิ่วหน้าขวานของชีวิตไปได้

พ่อแม่ ครู หรือผู้ใหญ่รอบตัวต้องช่วยฝึกทักษะนี้ โดย ‘รับฟัง’ อย่างเห็นอกเห็นใจ ฟังให้เข้าใจความรู้สึกของเขา มากกว่าสวนกลับหรือสั่งสอน พร้อมกับช่วยฝึกทักษะทางอารมณ์ด้วยการ ‘บูรณาการ’ ไปกับการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เช่น ทักษะในการเข้าใจ เห็นใจคนอื่น เมื่อเราเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของเรา เราก็จะมีสติในการหาวิธีตอบสนองเชิงบวก เชิงเห็นอกเห็นใจ แสดงความรักความห่วงใย

เพราะอนาคตของเด็กแต่ละคนจะไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง รู้วิธีจัดการอารมณ์ที่บีบคั้น มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นด้านอารมณ์ และมีปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

ที่มา: หนังสือสอนเด็กให้เป็นคนดี

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่