อุบลวรรณ ศิลาชัย : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ศรีสะเกษ

นางสาวอุบลวรรณ ศิลาชัย  แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ศรีสะเกษ


อุมา นางสาวอุบลวรรณ ศิลาไชย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิต อดีตแกนนำเยาวชนจากโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ตัวแทนจากกลุ่ม Spy Kid เยาวชนที่มีความสนใจเกี่ยวกับผ้าไหมลายลูกแก้ว เอกลักษณ์ประจำชุมชนบ้านขี้นาค อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

อุมายอมรับว่าที่มาของการเลือกเรียนสาขานี้ส่วนสำคัญเป็นผลพวงมาจากการได้ทำงานร่วมกับพี่ ๆ ทีมนักวิจัยที่เคยทำงานร่วมกัน แม้โครงการจะจบแล้วแต่อุมายังได้รับโอกาสเข้าไปช่วยงานตลอด ทำให้เธอวางแผนอนาคตว่าหากเธอเรียนสายนี้จะสามารถนำประสบการณ์ที่เคยทำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงจัดติดสินใจเลือกเรียนรัฐศาสตร์ เอกการเมืองการปกครอง “หนูเติบโตมากับงานด้านนี้เลยก็ว่าได้ ทำให้หนูอยากที่จะทำงานเกี่ยวกับชุมชน ภาคประชาชนก็เลยเลือกเรียนในด้านนี้” อุมากล่าว

แน่นอนเมื่อถามภาพฝันของเธอในอนาคตหลังจากนี้ เธอตอบด้วยความมั่นใจว่า สิ่งที่เธอต้องการคือการเป็นนักวิจัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคลุกคลีอยู่กับการทำงานร่วมกับพี่ๆ นักวิจัยท้องถิ่น กว่า 7 ปี ที่เธอสร้างประสบการณ์อยู่ในวงการนี้ ตั้งแต่การเป็นแกนนำเยาวชนเข้าร่วมโครงการ หลังจบโครงการมีโอกาสเข้ามาช่วยงานพี่ๆ เวลามีกิจกรรม ทำให้เธอค่อยซึมซับความเป็นนักวิจัยเข้าไปอยู่ในเนื้อในตัว เธอมองเห็นว่าการทำงานด้านนี้ข้อดีคือได้เดินทางออกไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ ได้พบปะพูดคุย ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับที่ เป็นสีสันของชีวิตที่เธอมองว่าคือความสุขของสายงานนี้ สิ่งสำคัญคือการได้ใจคนในชุมชน “การทำงานแบบนี้หนูมองว่าเหมือนเราเป็นครูของชาวบ้าน เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำงานสายนี้” อุมากล่าว

อุมาเข้ามาร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ผ่านการทำโครงการเกี่ยวกับผ้าไหมลายลูกแก้ว ผ้าทอประจำหมู่บ้านบ้านขี้นาค เธอเล่าว่าปีแรกเริ่มจากการมองเห็นปัญหาของผ้าไหมลายลูกแก้วที่เริ่มขาดคนสานต่อ จึงตัดสินใจเข้าไปเรียนรู้การทอผ้าไหมลายลูกแก้วจากผู้รู้ในชุมชน เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมให้คงอยู่คู่กับชุมชน

ต่อมาในปีที่สองจึงยกระดับการทำโครงการขึ้น โดยเน้นเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลให้กับเยาวชนในหมู่บ้านโดยใช้ชื่อโครงการเรียนรู้การทอผ้าไหมของกลุ่ม เยาวชนบ้านขี้นาค ปีนี้อุมาบอกว่าความยากของการทำโครงการอยู่ที่การประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโครงการต่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กในหมู่บ้านให้มาเข้าร่วมกิจกรรม แม้จะมองว่าเป็นเรื่องยากแต่สุดท้ายก็มีเด็กเข้าร่วมกิจกรรมและผ่านไปได้ด้วยดี

ในปีถัดมาอุมาและทีมพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชน อาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการแซวผ้ามาทำเป็นลวดลายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผ้าไหม อุมาบอกว่าการทำโครงการในปีนี้อุปสรรคที่พบในปีที่สามเป็นเรื่องของทีมที่ค่อนข้างรวมตัวกันยาก ต้องอาศัยการกระตุ้นจากพี่เลี้ยงในการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม แต่เมื่อถามถึงผลที่ได้จากปีนี้สำหรับตัวเธอเองนั้น เธอมองว่าโครงการนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอค้นพบเส้นทางของตัวเอง “ผลของการทำโครงการตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมาหนูเห็นความสำคัญของการพัฒนาชุมชนมากขึ้นและนั้นก็เป็นอีกเหตุผลที่ตัดสินใจเรียนสายนี้ เพราะอยากทำงานกับชุมชน อยากเห็นชุมชนเติบโตและพึ่งตนเองได้ เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำงานตรงนี้ อยากเห็นชุมชนเติบโต โดยที่เราเองก็มีส่วนในการช่วยผลักดัน” อุมาสะท้อนความรู้สึก

หลังเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา เธอยังคงสานต่อความฝันของตัวเอง เธอไม่ลืมที่จะหยิบคลังความรู้ และเครื่องมือที่ได้จากการทำโครงการมาประยุกต์ใช้ทั้งรายวิชา และกิจกรรมที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัย ปัจจุบันอุมาเป็นประธานชมรมพุทธ ทำให้เธอมีโอกาสนำความรู้ที่ได้จากการทำโครงการมาใช้เยอะมาก เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า เธอนำหลักการเขียนโครงการมาใช้กับการเป็นประธานชมรมในการจัดสรรงบประมาณ และเขียนรายละเอียดของกิจกรรม ไม่ใช่แค่ในระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น เธอบอกว่าตอนเรียนอยู่มัธยมปลายเธอได้นำหลักการเขียนโครงการใช้ไปประยุกต์ใช้กับการเขียนโครงงานจนประสบความสำเร็จในระดับประเทศด้วย เป็นสิ่งที่เธอภาคภูมิใจมาก

อุมาบอกว่าความรู้ ทักษะที่เธอได้จากการทำโครงการฯ รวมไปถึงการมีโอกาสที่พี่ ๆ มอบให้ในการเข้าไปช่วยเป็นลูกมือตามวาระต่างๆ ในการลงชุมชน ตลอดระยะเวลา 7 ปี ช่วยหล่อหลอมให้เธอเป็นคนที่มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล เห็นอกเห็นใจคนอื่น มีจิตใจที่เป็นจิตสาธารณะมากขึ้น พัฒนาให้เธอกล้าพูด กล้าแสดงออกจากเด็กหญิงขี้อาย กลายมาเป็นหญิงสาวที่กล้าพูดและก้าวมาเป็นผู้นำ ไม่อายที่จะเสนอความคิดเห็น และที่สำคัญทำให้เธอค้นพบตัวตนในแบบฉบับของเธอ เธอทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนาว่า “ขอบคุณโครงการฯ ที่ทำให้เด็กธรรมดาคนหนึ่งได้มีเวทีในการฝึกฝนตนเอง เมื่อโตขึ้นเสามารถนำทักษะที่ติดตัวจากการทำโครงการมาปรับใช้ได้ทั้งในการเรียน การใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ซึ่งไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้ เป็นความทรงจำ และประสบการณ์ที่ดีที่ได้จากโครงการฯนี้”