เยาวชนเด่น
นายกันต์พิมุก ไชยกาอินทร์ (ข้าวโอ๊ต) อายุ 18 ปี
กำลังเตรียมเข้าอุดมศึกษาปีที่ 1 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
ถาม แนะนำตัวเองและโครงการที่ทำ
ตอบ สวัสดีครับ ผมชื่อกันต์พิมุก ไชยกาอินทร์ ชื่อเล่นข้าวโอ๊ต อายุ 18 ปี กำลังเตรียมเข้าอุดมศึกษาปีที่ 1 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร ผมทำโครงการแนวทางการบริหารจัดการเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดน่านอย่างเป็นระบบโดยการมีส่วนร่วมของเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ถาม ตัวเราก่อนร่วมโครงการเป็นอย่างไร
ตอบ ผมเข้ามาทำโครงการตอนปี 2 ปีแรกผมไม่ได้เข้าร่วม ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยจะคุยกับใคร เป็นคนเงียบๆ ไม่กล้าแสดงออก ไม่มีความเป็นผู้นำ ผมชอบอยู่กับเพื่อน ไม่ได้อยากจะทำอะไรมากมาย
ถาม เข้ามาทำงานชุมชนได้อย่างไร
ตอบ ผมเข้ามาทำในชุมชนตอนปี 3 ผมเริ่มมีความสนใจ ต่อเนื่องมาจากปี 2ตอนนั้นทำเรื่องธนาคารขยะในโรงเรียน พอได้ทำแล้วรู้สึกสนุก ผมเห็นงานที่ทำออกมารูปธรรม ผมรู้สึกดี รู้สึกภูมิใจ พอปี 3 ผมจึงทำเรื่องมลพิษในนํ้า
ถาม ใครเป็นคนชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ
ตอบ ตอนแรกเพื่อนๆ และ รุ่นพี่
ถาม ทำโครงการมากี่ปี
ตอบ ตอนนี้ผมทำโครงการมาได้ 3 ปี ผมทำโครงการตั้งแต่ผมอยู่ปี 2 จนถึงปี 4 ปีนี้คือปีที่ 4 ที่ทำโครงการ
ถาม โครงการที่ทำอยู่ปัจจุบันเริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไร
ตอบ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรครับเพราะเราเข้ามาจากโครงการย่อย โครงการย่อยมีทั้งหมด 9 โครงการ แต่ละคนก็อยู่ตามโครงการย่อยของตัวเอง พี่ที่โหนดอยากให้มีเครือข่ายเยาวชนเกิดขึ้น ตอนนั้นผมได้ขึ้นเป็นแกนนำแล้ว พี่เขาอยากได้แกนนำเยาวชนเขาเลยขอให้ตัวแทนแต่ละโครงการย่อยมารวมกลุ่มกันทำโครงการเครือข่ายเยาวชนนี้
ถาม โครงการย่อยของเราคือโครงการอะไร
ตอบ ทำโครงการฟื้นฟูผักพื้นบ้านครับ
ถาม รู้สึกอย่างไรที่ได้มาทำโครงการเครือข่ายเยาวชน
ตอบ ผมเห็นเพื่อนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนไป ผมเลยอยากลองไป เผื่อผมจะได้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้นหนึ่ง จากเดิมที่เป็นเด็กในโครงการผมอยากจะพัฒนาตัวเองให้เป็นแกนนำ ผมสนใจที่จะเรียนรู้พัฒนาตัวเอง
ถาม อยากพัฒนาตัวเองในด้านไหน
ตอบ ผมอยากพัฒนาตัวเองในเรื่องของความมั่นใจ การพูด การคิด การวางแผนความสัมพันธ์กับเพื่อน ผมอยากเรียนทุกอย่างที่เข้ามา เพราะเรื่องพวกนี้เราสามารถไปปรับใช้กับการเรียนได้ บางครั้งที่โรงเรียนมีโครงการในโรงเรียน ผมจะมีแนวทางที่เคยได้จากการทำโครงการนี้ไปปรับใช้ เช่น การนำเสนอหน้าห้องเรียน เราสามารถพูดได้คล่องกว่าเดิม
ถาม โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงานมานานเท่าไหร่
ตอบ ตั้งแต่เมษายนปีที่แล้วครับ ประมาณปีกว่าครับ
ถาม ช่วยเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวเองที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
ตอบ ผมคิดว่าผมเปลี่ยนแปลงครับ เวลาอยู่ในโรงเรียนครูบอกว่าหาคนนำเสนอ ผมจะเป็นตัวแทนไปตลอด เราสามารถจับใจความสำคัญได้ เวลาที่พูดเราแค่เห็นหัวข้อ เราสามารถอธิบายเสริมเพิ่มเติมได้ เราเห็นถึงการพัฒนากระบวนการคิดของเรา เช่น สมมุติว่าเวลาเราจะทำอะไรเราจะต้องดูว่าทำแล้วได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ไปในทิศทางที่ดีหรือไม่ดี ถ้าเกิดไปในทางไม่ดีเราควรแก้ไขอย่างไร
ถาม ทักษะอะไรบ้างที่เราได้รับจากการทำโครงการ
ตอบ ทักษะการใช้คำพูด เช่นเวลาเราไปนำเสนองาน เราจะต้องนำเสนอคุณครู เราจะรู้ว่าเราจะใช้คำพูดแบบไหน เวลาใช้คำพูดกับเพื่อนก็จะใช้อีกแบบหนึ่ง วิธีการเลือกใช้คำพูดที่โน้มน้าวคน ผมได้ทักษะการสังเกต ผมเป็นคนชอบสังเกตดูเวลาเห็นใครทำอะไร ผมจะสังเกตและเก็บรายละเอียดของเขาเพื่อมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ผมทำงานIT ในคอมพิวเตอร์ผมจะสังเกตว่าเขาใช้โปรแกรมอะไรในการทำงานแล้วเราก็จดจำมาใช้ในงานของเรา ผมได้ทักษะความเป็นผู้นำ ในช่วงแรกผมเป็นสมาชิกในโครงการและมีประธานแต่เขาลาออกไปด้วยสภาพปัญหาครอบครัวของเขา ผมเลยได้ขึ้นมาเป็นประธานกลุ่มโดยปริยาย พอเราขึ้นมาเป็นประธานความเป็นผู้นำต้องมาก่อนเราเปรียบเสมือนหางเรือเพราะเราเป็นคนนำทีม ผมต้องพาทีมไปถึงฝั่ง
ถาม ในตอนนั้น ที่ต้องมารับบาทบาทประธานกลุ่มตัวเรารู้สึกอย่างไร
ตอบ ตอนแรกผมไม่อยากขึ้นเป็นหัวหน้าโครงการ เนื่องจากเรามีปัญหาเรื่องของการเรียนเพราะว่าทุกคนในกลุ่มต้องเตรียมที่จะจบ ม.6 เพื่อเข้าอุดมศึกษา ในช่วงนั้นไม่มีใครอยากขึ้นเป็นประธาน แต่ทำอย่างไรได้เพราะหัวหน้าของเราออกไปแล้ว ความรับผิดชอบของคนในกลุ่มก็ต้องมี ตำแหน่งก็ขาดไม่ได้ ผมเลยต้องขึ้นไปเป็นแทนซึ่งเกิดจากการโหวตของเพื่อนในทีม ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าจะทำตัวอย่างไร สำหรับการเป็นหัวหน้า แต่ถ้าถามตอนนี้ ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นหัวหน้าเลย เพราะผมคิดว่าผมเป็นเพื่อนเขา และเขาก็เป็นเพื่อนผม ไม่ใช่คิดว่าเราเป็นหัวหน้าแล้วเราจะสั่งนู่นสั่งนี่ บางครั้งเราต้องรับฟังเขาบ้าง เขาจะใช้อะไรผมก็ทำเพราะทุกคนคือเพื่อนผมครับ
ถาม มีหลักคิดในการเป็นผู้นำกลุ่มอย่างไร
ตอบ ผมจะไม่ใช้คำสั่งและมองทุกคนเป็นเพื่อนกัน เวลาที่ผมจะตามงานผมจะตามกับพี่ปุ๊กกี้และน้องนัทถ้าสมมติว่าไม่มีคนตอบ ผมก็จะคอยตามงานบอกพวกเขาว่าช่วยตอบกันหน่อย พี่ปุ๊กกี้จะคอยช่วยผมทุกอย่าง
ถาม หลังจากที่ขยับมาทำงานเครือข่ายได้ทำงานร่วมกับหลายชุมชน เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ตอบ ผมเห็นว่าบางกลุ่มเขาไม่ได้ปิดกั้นเรา ไม่ได้กีดกันที่เครือข่ายเราจะไปช่วย ผู้ใหญ่บ้านเขาก็ต้องการและเห็นคุณค่าในตัวเรา เราจึงเปลี่ยนแนวคิดว่าไม่ใช่ว่าทุกกลุ่มเขาจะไม่อยากให้เราเข้าไปช่วยเหลือ มีกลุ่มที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนเราอยู่
ถาม ประทับใจโครงการไหนบ้าง
ตอบ ผมประทับใจโครงการย่อยทุกโครงการเพราะว่าตอนที่ผมไปเห็นบริบทบ้านเขาผมรู้สึกดีใจยิ่งเครือข่ายของเราได้ไปช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้เป็นรูปธรรม ถึงแม้จะเป็นรูปธรรมระยะสั้นแต่เราได้เห็นกับตาตัวเองเรารู้สึกดีใจและภูมิใจ
ถาม ช่วยยกตัวอย่างโครงการย่อยที่เครือข่ายได้ลงไปทำงาน
ตอบ ที่บ้านก่อก๋วงน้องเสนอโครงการมาว่ามีปัญหาที่แปลงผักเนื่องจากเขาล้อมรั้วแปลงผักไม่ดี ไก่เลยมาจิกพืชผักที่ชาวบ้านปลูก ถึงแม้ผู้ใหญ่บ้านหรือชาวบ้านจะไม่ค่อยสนับสนุนจะคอยจับผิด แต่ว่าเราทำให้เห็น เราทำแปลงผักและช่วยกันล้อมรั้วแปลงผักจนเสร็จเป็นรูปธรรมน้อง ๆ ในโครงการ เขารู้สึกดีใจมากที่เครือข่ายของเราไปช่วยทำให้เสร็จ น้องเขาขอบคุณเรา คราวนี้พอเรามีโครงการอื่น เราเลยชวนน้องว่ามีอีกโครงการหนึ่งไปช่วยพวกเขากันไหม น้องเขาก็เต็มใจมาทำให้ เรารู้สึกว่าเราไปสานสัมพันธ์เขาทำให้เขาอยากจะมาช่วยเรา พวกเราสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น อีกที่หนึ่งคือบ้านยอดดอย พวกเราไปเก็บขยะข้างทาง ในขณะที่เราเก็บขยะข้างถนนมีนักท่องเที่ยวที่เขาจะไปแจกของบนดอย เห็นพวกเราเก็บขยะอยู่ เขาก็เลยจอดรถแล้วเอานํ้าดื่มขนมมาให้พวกเราและชื่นชมพวกเราว่า “ดีมากเลยนะ ที่มาช่วยงานชุมชน” เขาถามว่าพวกเรามาจากไหน เราตอบว่าเราเป็นเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านเรามาช่วยเก็บขยะจากน้อง ๆ โครงการย่อย ตอนนั้นก็เป็นสิ่งที่ผมประทับใจอีกอย่างหนึ่ง
ถาม มีโครงการอะไรอีกบ้าง ที่พวกเราเข้าไปช่วยเหลือ
ตอบ ส่วนมากจะเป็นเรื่องขยะครับ
ถาม ปัญหาเรื่องการจัดการขยะในชุนชนทำไมถึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข
ตอบ ผมว่าเรื่องขยะเป็นปัญหาอยู่ทุกที่ หนึ่งเลยเป็นเรื่องของจิตสำนึกเพราะว่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่คนในชุมชนมันเกิดจากข้างนอกด้วย คือนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเขากินอาหารเสร็จก็ทิ้งไว้ข้างทาง ผมว่าเป็นปัญหาที่ควรแก้ไข แต่สิ่งแรกที่ควรแก้ไขไม่ใช่จากชุมชนครับ แต่ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน เริ่มจากจิตสำนึกของเราก่อน
ถาม ช่วยเล่าถึงแนวทางการปลูกจิตสำนึกเรื่องการจัดการปัญหาขยะในชุมชน
ตอบ เราจะไปบังคับเขาไม่ได้ อย่างแรกผมอยากให้เขารับรู้เกี่ยวกับโทษและประโยชน์ของขยะ รู้ว่าขยะมีโทษแบบไหนบ้าง ขยะสามารถทำให้เราเป็นโรคอะไรได้บ้าง ถ้าเราเผาขยะจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มลพิษจะทำร้ายตัวเราไหม การย่อยสลายของมันเป็นอย่างไร หลังจากนั้นเราค่อยบอกถึงการแยกขยะว่าแยกแบบไหน ขยะชนิดไหนสามารถไปทำปุ๋ยได้เพื่อต่อยอดในการปลูกพืชผักสวนครัวขยะบางส่วนเราอาจจะนำมารีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าเป็นรายได้หรือเป็นของใช้ได้
ถาม เป้าหมายหลักของตัวเราในการทำเครือข่ายเยาวชนคือเรื่องอะไร
ตอบ ผมอยากให้เครือข่ายเป็นปึกแผ่น เป็นหนึ่งเดียวกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะพัฒนาชุมชนต่อไป
ถาม ช่วยบอกจุดเปลี่ยนที่เป็นที่สุดของตัวเราจากการทำโครงการเครือข่ายเยาวชน
ตอบ เรื่องการแบ่งเวลาครับ ตั้งแต่เริ่มทำโครงการมาพอผมอยู่ ม.6 มันจะมีงานเยอะ ครูที่โรงเรียนสั่งงานและเรายังต้องไปมหาวิทยาลัยอีก กังวลว่าเราจะไม่มีเวลาไปทำโครงการ ผมคิดว่า เราจะทำอย่างไรให้เราได้รู้บ้างว่าโครงการไปถึงไหนกันแล้ว บางทีพี่เขาก็ช่วยสรุปแล้วมาเล่าให้ฟังแต่บางทีเราไม่เข้าใจที่พี่เขาสรุป ผมเลยพยายามหาเวลาให้ตัวเองว่างที่สุดเพื่อที่จะมานั่งฟัง มาอยู่ในโครงการเราจะได้เข้าใจได้มากที่สุด ดีกว่าเรามานั่งอ่านที่เขาสรุป เพราะบางทีเราไม่เข้าใจ เราจะถามใครก็กลัวว่าจะเราจะไม่รู้เรื่องอีก จุดเปลี่ยนของผมคือผมสามารถจัดการเวลาได้ดีขึ้น
ถาม มีวิธีการจัดการเวลาของตัวเองอย่างไร
ตอบ สมมุติว่าครูสั่งงานผมจะพยายามทำในชั่วโมงเรียนในคาบที่ครูสั่ง ถ้าไม่เสร็จก็กลับไปทำที่บ้าน ถ้าเรามีงานอยู่แต่ทางโครงการเขานัดประชุม ตอนเช้าเราอาจจะมาประชุมกันก่อน พอตอนเย็นผมจะกลับไปทำงานที่ครูสั่ง
ถาม ปัญหาอุปสรรคระหว่างการทำโครงการคือเรื่องอะไร
ตอบ ปัญหาที่ผมเห็นคือเรื่องไม่ตรงต่อเวลา บางคนนัดไว้ว่าจะมาแต่พอถึงเวลาเขามาไม่ได้ แต่ผมก็เข้าใจนะครับ บางครั้งถ้าสมาชิกมาจำนวนน้อย เราจะเลื่อนไปวันอื่นรอวันที่คนมาได้จำนวนมาก ทุกคนยืนยันแล้วใกล้วันเราถึงจะนัด
ถาม ในกรณีที่สมาชิกในกลุ่มไม่ครบเราแก้ปัญหาอย่างไร
ตอบ ถ้ามาไม่ครบเราจะใช้วิธีการจดบันทึกเอาไว้ จากนั้นเราจะสรุปลงในกลุ่มให้เพื่อนๆได้อ่าน
ถาม ช่วยเล่าบทบาทหน้าที่ของหัวหน้าโครงการ
ตอบ ผมจะเป็นคนตั้งคำถามเพื่อนมากกว่า เป็นคนยิงประเด็น และจะมีเพื่อนเป็นคนจดบันทึก คอยจับใจความ วิธีการทำงานของผม ผมจะทำการบ้านมาก่อนเช่น พรุ่งนี้เราจะถามเรื่องอะไรเราจะเขียนเฉพาะหัวข้อใหญ่ ๆ ว่าเราจะถามเรื่องอะไรบ้าง การดำเนินงานจะเป็นอย่างไร วิธีการเป็นแบบไหน หลังจากนั้นเพื่อนจะเป็นคนสรุป สมมุติว่าเรายิ่งประเด็นไปแล้ว เพื่อนอาจจะมีความคิดเห็นที่โต้แย้งกัน เราจะเลือกฝ่ายที่มีเสียงข้างมากกว่าหลังจากนั้น เราจะจดบันทึกและนำมาสรุปก่อนที่จะเริ่มวางแผน
ถาม ใครเป็นคนแบ่งบทบาทหน้าที่ในทีม
ตอบ ที่จริงผมได้เป็นคนแบ่ง ผมเป็นแค่สื่อกลางในการที่อยากให้เขาทำ ผมจะถามว่าใครอยากทำงานอะไร ถนัดแบบไหน ทำอะไรเก่งบ้าง เราจะให้เขาทำตามความถนัด ก่อนหน้านี้แต่ละคนไม่ได้ทำหน้าที่ในปัจจุบันนะครับ พวกเราจะผลัดกันเพราะบางคนยังไม่รู้ความถนัดของตัวเองว่าตัวเองเก่งด้านไหน เราจะสลับไปเรื่อยๆ ตอนแรกผมเป็นคนทำสื่อ เสร็จแล้วมาทำงานจับประเด็น ฝ่ายนันทนาการผมก็เคยเป็น จนตอนนี้มาเป็นหัวหน้า ทุกคนผ่านอะไรหลายอย่างเพื่อค้นพบความถนัดของตัวเอง
ถาม การทำงานของเรามีลักษณะคล้ายพี่เลี้ยง ตัวเรามีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร
ตอบ ก็ไม่ใช่ครับ แต่เวลาไปโครงการย่อย ผมจะไปช่วยไปดูแลน้องๆ ในโครงการเก่าผม
ถาม เรียนรู้อะไรจากการทำโครงการ
ตอบ การสร้างประสบการณ์กับเพื่อนๆ การที่เราได้พูดคุยกัน การวางตัวกับเพื่อนผมเรียนรู้ว่าว่าควรจะวางตัวอย่างไรให้เข้ากับเพื่อนได้
ถาม ช่วยเล่าเหตุการณ์ที่เราได้ใช้ทักษะการวางตัว
ตอบ ตอนที่จัดเวทีที่รวมเด็กโครงการย่อย เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ผมได้เข้าไปคุยกับน้องบางคน เขาไม่ยอมตอบผม เขาอาจจะเห็นว่าเราเป็นมิตรเกินไปหรือว่าเราขรึมเกินไป เริ่มแรกเราต้องสังเกตก่อนว่าน้องเขามีความชอบอะไรบ้าง เช่นบางคนชอบใส่เสื้อลายการ์ตูนเราเข้าไปเริ่มคุยจากตรงนั้นว่า “น้องชอบตัวการ์ตูนนี้เหรอ” เริ่มจากการพัฒนาความสัมพันธ์แล้วค่อยโยงเข้าไปสู่เรื่องโครงการ เพื่อให้น้องเขารู้สึกสนิทกับเราก่อน มีอีกเรื่องหนึ่ง เคยมีเหตุการณ์เพื่อนทะเลาะกันเกี่ยวกับเรื่องหัวหน้าโครงการ ว่าเขาจะออกไป เพื่อนบางคนคิดว่าเป็นการทิ้งภาระ เขาก็เดือดกันในกลุ่ม เราพยายามเข้าไปในกลุ่มไปบอกกับเขาว่าถ้าหัวหน้ามีปัญหาจริงๆ จะลาออกก็ได้ แต่ว่างานที่ตัวเองรับผิดชอบ ขอให้ทำเสร็จก่อนได้ไหม เพราะว่าตัวเองได้รับหน้าที่มาแล้ว น่าจะทำงานให้ลุล่วง ก่อนที่จะทิ้งงานให้คนที่อยู่ข้างหลังเพราะว่าคนที่อยู่ข้างหลังเขาไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป
ถาม รู้วิธีการจัดการความขัดแย้งของคนในกลุ่มได้อย่างไร
ตอบ ส่วนมากผมจะใช้วิธีการทักเข้าไปคุยส่วนตัวก่อนว่าใจเย็นๆ ได้ไหม ค่อยๆ ให้คุยกันดีๆ เราช่วยกันหาทางแก้ไขกันดีกว่าที่จะทะเลาะกัน เพราะถ้าเราทะเลาะกันก็ไม่ได้อะไรอยู่แล้ว มันแค่เอาความหัวร้อนของแต่ละคนมาใส่กันในกลุ่ม แล้วมีบางคนในกลุ่มเขาไม่รู้เรื่องด้วย เขาจะมาวีนใส่อีก ปัญหามันจะใหญ่ขึ้นจากเดิม ส่วนมากผมจะใช้วิธีทักไปคุยส่วนตัว ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ปัญหามันมาจากตรงไหน
ถาม หลังจากที่มีการพูดคุยกันแล้วสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ รู้สึกว่ามันดีขึ้นกว่าเดิม บางครั้งเราอาจจะต้องให้เวลาเขาไปสงบสติอารมณ์ก่อนแล้วค่อยเริ่มมาคุยใหม่ จนเลือกผมเป็นหัวหน้า ตอนที่เป็นหัวหน้าผมไม่ได้ออกความคิดอย่างเดียว ผมก็ปรึกษาเพื่อนสมาชิกและรุ่นพี่ในเครือข่ายบ้าง เพราะว่าผมไม่อยากเอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก ความคิดของผมอาจจะไม่ได้ถูกต้องเสมอไป
ถาม ปัญหาอุปสรรคมีอะไรบ้าง
ตอบ เรื่องระยะทางและการเดินทาง เนื่องจากเราเป็นเครือข่ายใหญ่ แต่ละคนมาจากหลายพื้นที่ต่างอำเภอกัน เวลานัดเจอกันแต่ละครั้งยากมาก กว่าที่จะได้ครบทุกคนมันเป็นโอกาสน้อยมากครับ
ถาม ปัญหาเรื่องระยะทางส่งผลอย่างไรกับงานที่ทำบ้าง
ตอบ เวลาคนมาไม่ครบจะมีปัญหาเรื่องการคุย บางครั้งเราอยากมาเพิ่มความสัมพันธ์กัน ถึงเราจะเป็นกลุ่มแล้วแต่ถ้าเราไม่ได้เจอกันนาน ๆ จะรู้สึกห่างเหินกัน อยากให้ทุกคนมาครบพร้อมหน้าพร้อมตากันบ้าง
ถาม แก้ไขปัญหาเรื่องระยะทางอย่างไร
ตอบ วีดีโอคอลครับ
ถาม หลังจากแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีแล้วผลเป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ ก็ดีขึ้นครับ เพื่อนเขาก็รู้สึกดีครับที่เราโทรไปหา เหมือนเขารู้สึกว่าถึงตัวเขาไม่ได้ไป แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งเขา
ถาม มีปัญหาอุปสรรคอื่นๆ อีกไหม
ตอบ ของผมจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับครอบครัว ช่วงหลังเนื่องจากผมกำลังเรียนต่อมหาวิทยาลัยพ่อกับแม่เลยไม่อยากให้ไปเข้าร่วมโครงการ แม่บอกว่า “ไม่ไปบ้างจะได้ไหม” อย่างช่วงนี้เรื่องโควิด แม่บอกว่า “อย่าไปรวมกลุ่มกันเลย คนเยอะเดี๋ยวจะติดโรคกลับมา” เราต้องอธิบายให้เขาฟังว่า “ที่จังหวัดน่านยังไม่มีคนติดเชื้อนะ เพื่อนแต่ละคนก็ไม่ได้ออกไปไหน” ผมพยายามพูดให้พ่อกับแม่เข้าใจ
ถาม อะไรในตัวเราที่ทำให้เรายังคงอยากทำโครงการนี้ต่อ
ตอบ เพื่อนครับ
ถาม เครือข่ายของความเป็นเพื่อนมีผลอย่างไรกับตัวเรา
ตอบ บางครั้งในตอนที่เราท้อ เราเหนื่อย เพื่อนในเครือข่ายจะคอยดูแล พี่กอล์ฟก็จะคอยช่วยทำให้รู้ว่าถึงเราเหนื่อยเราก็ยังสู้
ถาม เวลาที่เหนื่อยท้อเรามีวิธีการดูแลความรู้สึกตัวเองอย่างไร
ตอบ ผมเคยมีครั้งหนึ่งที่รู้สึกเหนื่อยมากท้อ เกิดความรู้สึกว่าเราไม่ดีขนาดนั้นเลยเหรอ ผมไม่อยากทำโครงการต่อแล้ว เรารู้สึกผิดต่อทุกๆ คน แต่ใจหนึ่งยังสัมพันธ์กับเครือข่าย ทำให้เราไปไหนไม่ได้ อีกอย่างโครงการใกล้จะจบแล้ว ทำให้ผมไม่อยากไปไหน อยากทำต่อให้จบก่อน ผมคิดว่าคือหน้าที่ของผม เรารับมาแล้ว เราอยากทำหน้าที่ของตัวเองให้เสร็จ เวลาที่ผมท้อ สิ่งแรกที่ขึ้นมาในสมองของผมก็คือเพื่อน ที่เขายังทำโครงการอยู่ เขายังอยู่ตรงนั้น คนอื่นเขาก็ท้อแต่เขาไปต่อได้ แล้วทำไมเราถึงไปต่อไม่ได้ แล้วถ้าเราทิ้งเขาไปเขาจะไปต่ออย่างไร
ถาม ตอนนี้โครงการใกล้เสร็จแล้ว ตัวเราเห็นผลลัพธ์อะไรบ้าง
ตอบ ผมเห็นว่าน้องสนิทกับเรามากขึ้น กล้าคุยกับผมมากขึ้น เหมือนว่าผมเป็นครอบครัวเดียวกันไปไหนก็ไปด้วยกัน กินข้าวก็กินด้วยกัน ทุกข์ด้วยกัน สุขด้วยกัน ผมรู้สึกประทับใจ ผมประทับใจในตัวของพี่กอล์ฟที่คอยสนับสนุนพวกผมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรถยนต์และกำลังใจคอยสนับสนุนเราตลอดทำให้ผมรู้ว่าพี่เขาเป็นคนดีมาก
ถาม แผนในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องเครือข่ายเยาวชนที่มองไว้เป็นอย่างไร
ตอบ ในอนาคตผมอยากให้เครือข่ายนี้เป็นเครือข่ายที่ใหญ่ครอบคลุมจังหวัดน่าน โดยมีเพื่อนสมาชิกจากหลายพื้นที่คอยสนับสนุนตัวชุมชนในแต่ละพื้นที่ เครือข่ายช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ถาม คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องพลังเยาวชนกับการสร้างเครือข่ายเพื่อทำงานชุมชน
ตอบ คิดว่าสำคัญนะครับ เพราะถ้าสมมุติว่าเราคอยแต่ผู้ใหญ่ทำคนเดียว บางครั้งกระบวนการคิดของเด็กกับผู้ใหญ่ก็ไม่เหมือนกัน ความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่เหมือนกัน อยากให้เยาวชนรุ่นใหม่เขาใส่ใจมากขึ้น อยากให้เขามีแนวคิดและจุดยืนในสังคมที่ใหญ่ต่อไป อยากให้เขาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน
ถาม ความฝันของตัวเราอยากเป็นอะไร
ตอบ ผมอยากเป็นนักบริหารธุรกิจ อยากเปิดแบรนด์ของตัวเอง อยากเป็นคนที่บริหารคนเป็น การเป็นผู้นำแล้วทำให้คนอื่นมีความสุข ผมก็จะมีความสุขตาม ในอนาคตถ้าผมเป็นนักธุรกิจเจ้าของสินค้า ผมจะทำให้ลูกทีมของผมมีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อเขาก็มีความสุขที่ทำงานกับเรา เราก็มีความสุขด้วย