อลิสา บินดุส๊ะ : ขบวนการผู้พิทักษ์ ‘จ้าวทะเล’ แห่งสงขลา

เรื่องและภาพ The Potential

  • ณรู้จักภูมิปัญญาเกี่ยวกับทะเลอย่าง ‘ดูหลำ’ ‘จ้าวทะเล’ หรือ ‘อูหยำ’ ไหม ถ้าไม่… เด็กในกลุ่มโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาจะมาเล่าให้คุณฟัง
  • ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือเยาวชนท้องถิ่นหรือคนรุ่นใหม่ก็เริ่มจะถอยห่างจากวิถีประมงพื้นบ้านนี้ แผนอนุรักษ์จึงไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจกับคนนอกพื้นที่ แต่คือการทำความเข้าใจกับคนใน เพื่ออนุรักษ์และสืบสานต่อไปด้วย
  • หนึ่งในโครงการเยาวชนสงขลา คือโครงการ Law Long Beach ที่เชื่อว่ากฎหมายให้สิทธิคนและชุมชนในการดูแลทรัพยากร ถ้าอยากปกป้องชุมชน ก็ต้องกลับไปตั้งต้นที่ข้อกฎหมาย

สมัยก่อน จังหวัดสงขลา มี ‘จ้าวทะเล’ อยู่นับไม่ถ้วน แต่ตอนนี้ ‘จ้าวทะเล’ เหลือเพียงไม่เกินนิ้วนับ เด็กๆ จึงคิดหาทางพาจ้าวทะเลกลับมา
จ้าวทะเลของเด็กๆ คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มาพร้อมความสามารถดูดาว ดูเมฆ ดูทิศทางคลื่นลมได้ว่าชาวประมงต้องล่องเรือไปทางทิศไหน แล้วเมื่อไรฝนจะตก

ทั้งหมดนี้ใช้ประสบการณ์ที่ฝึกฝนจนชำนาญล้วนๆ ไม่ต้องอาศัยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แต่อย่างใด แถมหาได้ทั่วไปตามชายฝั่งทะเลจังหวัดสงขลา … ในอดีต

แล้วจ้าวทะเลหายไปไหน?

เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ย๊ะห์-ไครีย๊ะห์ ระหมันยะ ลูกทะเลจากบ้านสวนกง ตำบลนาทับ ย๊ะห์รู้สึกว่ามากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ‘ภูมิปัญญา’ แห่งท้องทะเลกำลังจะหายไป

เริ่มตั้งแต่

  • ‘จ้าวทะเล’ คือคนที่สามารถดูดาว ดูเมฆ ดูทิศทางคลื่นลมได้ว่าต้องล่องเรือทางไหน เมื่อไรฝนจะตก
  • ‘อูหยำ’ ปะการังเทียมฝีมือชาวบ้านที่ช่วยกันทำเพื่อพลิกฟื้นทะเลที่เสียหายจากการทำประมงผิดวิธีให้กลับมาสมบูรณ์
  • ‘ดูหลำ’ หรือคนฟังเสียงปลา เพื่อช่วยให้ชาวประมงหาปลาง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้แทบจะหายไปเมื่อการท่องเที่ยวโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม, การทำประมงนอกฤดู, การทำประมงผิดกฎหมาย มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามา

แต่คนในท้องถิ่นจำนวนมากก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ลุกขึ้นมาทำงานปกป้องและจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของตัวเอง ไม่เกี่ยงเพศวัย งานนี้จึงมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ภายใต้ชื่อ ‘โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา’ โดยสงขลาฟอรั่ม ที่เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน เข้ามาทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาบ้านเกิดเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว

ย๊ะห์ คือหนึ่งในสมาชิกโครงการ ที่ทนเห็นบ้านเสื่อมโทรมมากไปกว่านี้ไม่ได้

“ชีวิตของหนูผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่เด็ก โตมาได้จนทุกวันนี้ มีเงินเรียนหนังสือ เพราะปลาที่พ่อหาได้จากทะเลที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะภูมิปัญญาเกี่ยวกับทะเลหลายอย่าง เช่น ‘ดูหลำ’ ‘จ้าวทะเล’ และ ‘อูหยำ’ จะหายไปไม่ได้”

ย๊ะห์ชี้ให้เห็นปัญหาซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญของวงเสวนา ‘มองเมืองใต้ ผ่านสายตาคนรุ่นใหม่’ ที่จัดขึ้นในงาน Spark You ปลุกใจเมือง ที่จังหวัดสงขลา

ย๊ะห์ เล่าต่อว่า ภูมิปัญญาเหล่านี้ทำให้เธอเห็นทรัพยากรที่มีมากมายในชุมชน จึงสนใจทำ ‘โครงการศึกษาภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับชายหาดและทะเล’ ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปีที่ 5 เพื่ออนุรักษ์และสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าของภูมิปัญญาบ้านสวนกงแก่คนในชุมชน และสังคม

ย๊ะห์-ไครีย๊ะห์ ระหมันยะ (ขวา)
เกรซ-เพรชเชิช เอเบเล อีเลซุคกู

ในจังหวัดเดียวกัน หาดสมิหลาก็เผชิญวิกฤติไม่แพ้จะนะ หาดทรายเกิดปัญหาพังทลายแต่โชคดีที่มีเยาวชน-เจ้าของพื้นที่อาสามารักษาหาดเอาไว้

เกรซ-เพรชเชิช เอเบเล อีเลซุคกู คือเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการพลังเยาวชนพลเมืองฯ ผ่านโครงการ Beach for Life เพื่อศึกษาปัญหาการพังทลายของหาดทรายจากโครงสร้างแข็ง

สมัยก่อน ทะเลและหาดทรายสำหรับเกรซมีหน้าที่เพียงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดเท่านั้น แต่เมื่อเกรซได้รู้ว่า เบื้องหน้าของหาดสมิหลาคือความสวยงาม แต่เบื้องหลังคือวิกฤติจากการแก้ปัญหาอย่างผิดๆ

“ตอนแรกหนูแค่ชื่นชมความงามของหาดสมิหลาเหมือนคนอื่น แต่พอเพื่อนชวนมาทำโครงการ จึงได้เห็นว่าพื้นที่กำลังมีปัญหา อย่างปัญหาการกัดเซาะชายหาด ที่ถูกแก้ไขด้วยการสร้างโครงสร้างแข็งกันคลื่น ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และยิ่งทำให้เกิดการกัดเซาะมากขึ้น

“ที่สำคัญคือ คนในเมืองที่อยู่ใกล้กับหาดสมิหลาที่สุด กลับยังไม่รู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของชายหาด และผลกระทบของโครงสร้างแข็งว่าส่งผลกระทบต่อชายหาดอย่างไร จึงอยากให้คนในเมืองหันมาสนใจปัญหาตรงนี้มากขึ้น โดยเริ่มจากตัวเราไปเรียนรู้และลงมือทำก่อน”

จากการมีส่วนร่วมรักษาชายหาดด้วยการเรียนรู้และเก็บข้อมูลในชุมชนในโครงการ Beach for Life ทำให้ ฝน-อลิสา บินดุส๊ะ หนึ่งในแกนนำกลุ่มร่วมกับเพื่อนๆ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สนใจศึกษากฎหมายเกี่ยวกับชายหาดเพื่อขยายมิติความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชนในการดูแลปกป้องหาดจนเห็นความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนและทรัพยากร

ความเชื่อมโยงที่ว่านั้นคือ กฎหมาย

ฝนอธิบายว่า กฎหมายให้สิทธิคนและชุมชนในการดูแลทรัพยากร เพราะการมีชุมชนย่อมเกิดวิถีของชุมชน ที่บ่งบอกว่าคนในชุมชนอยากดำเนินชีวิตแบบไหน อยากใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างไร นำมาสู่การต่อยอดกระบวนการดูแลและปกป้องชายหาดด้านกฎหมายใน ‘โครงการ Law Long Beach’

สิ่งที่ฝนและเพื่อนเลือกทำคือการสร้างความตระหนักให้ผู้คนในสงขลารับรู้ ‘สิทธิ’ ที่สามารถมีส่วนกำหนดทิศทางการพัฒนาชายหาด ร่วมแสดงความคิดเห็น และสร้างกระบวนการติดตามต่อเนื่องในทุกโครงการที่เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของหาดทรายและทรัพยากรอื่น
“ไม่มีใครที่อยู่ได้โดยไม่พึ่งพิงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทั่งอากาศที่หายใจก็มาจากการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เรามองว่าทรัพยากรเป็นของเรา แต่คนส่วนใหญ่กลับคิดว่า คนที่มีสิทธิดูแลรักษาทรัพยากรคือรัฐเท่านั้น

เราต่างไม่พยายามออกมาปกป้อง ไม่ออกมาบอกว่าเราอยากให้ชายหาดบ้านเราเป็นแบบไหน จริงๆ แล้วถ้าว่ากันตามภาษากฎหมาย ส่วนหนึ่งของความเป็นรัฐ ประกอบขึ้นมาจากประชาชน”

ฝนบอกต่อว่า นอกจากการรับรู้สิทธิในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับชายหาดแล้ว สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันคือ ‘เริ่มทำ’ ในสิ่งที่ถนัดหรือสนใจ เพื่อปกป้องและดูแลชายหาดให้ดีขึ้น แม้ตอนเริ่มทำอาจยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอแค่ลงมือทำไปเรื่อยๆ แล้ววิธีการจะเกิดขึ้นเองระหว่างทาง

ก่อนวงเสวนาจะจบ เหล่าเยาวชนและผู้เข้าร่วมเสวนาได้ร่วมกันสรุปแนวทางการทำงานขั้นต่อไปที่เป็นโจทย์สำคัญของการทำงานด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในภาคใต้ นั่นคือ การสื่อสารทำความเข้าใจปัญหาทะเลและชายหาด และระดมความร่วมมือจากผู้คนในพื้นที่อื่น เพื่อการแก้ปัญหาที่เข้มแข็งขึ้น โดยทำให้เห็นว่า ภาคใต้จะดำรงอยู่ได้ ต้องมีแม่น้ำ ทะเล ภูเขา หากสมดุลส่วนใดเสียไป ย่อมเป็นความเดือดร้อนของทุกฝ่าย

เพราะทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้ระบบนิเวศเดียวกันที่ชื่อว่า ‘โลก’

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่