เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

เรื่องเล่าของครู

โรงเรียนบ้านนางแดดเหนือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1

1.สถานการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 6 กำหนดให้ การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนจุดเน้นในการพัฒนาคุณภาพคนในสังคมไทยให้มีคุณธรรม และมีความรอบรู้อย่างเท่าทัน ให้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และศีลธรรม สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สังคมฐานความรู้ได้อย่างมั่นคง แนวการพัฒนาคนดังกล่าวมุ่งเตรียมเด็กและเยาวชนให้มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงาม มีจิตสาธารณะ พร้อมทั้งมีสมรรถนะ ทักษะ และความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาเยาวชนของชาติเข้าสู่โลกยุคศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณธรรม รักความเป็นไทย มีทักษะการวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีทักษะด้านเทคโนโลยี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโลกได้อย่างสันติโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเต็มไปด้วยการแข่งขันและแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในรูปแบบต่างๆซึ่งคนในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นผู้ที่รู้เท่าทันและมีทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ได้ดังนั้นโรงเรียนที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับสร้างทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 และมีสุขภาวะในการพัฒนานักเรียนนั้นต้องใช้นวัตกรรมหลากหลายและมีความซับซ้อนในการจัดการไม่สามารถคิดหรือสั่งการได้เบ็ดเสร็จโดยใครคนใดคนหนึ่งแต่ต้องมีการมีส่วนร่วมและระดมพลังจากผู้เกี่ยวข้องดังนั้นโรงเรียนต้องได้รับการเสริมสร้างพลังอำนาจให้ผู้เกี่ยวข้องคือชุมชนผู้ปกครองกรรมการสถานศึกษาผู้บริหารและครูสามารถร่วมกันพัฒนาและบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (school-based development and management: SBM) โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการรอรับนโยบายและการสั่งการเป็นความรับผิดชอบในการบริหารจัดการด้วยตัวเองมากขึ้นตั้งแต่กำหนดเป้าหมายวางนโยบายจัดสรรงบประมาณดำเนินการและประเมินผลภายใต้การตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนและมุ่งเน้นการปรับปรุงพัฒนาโรงเรียนตามสภาพจริง

โรงเรียนบ้านนางแดดเหนือ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1ตั้งอยู่เลขที่ 121 หมู่ 10 ตำบลวังชมภู อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีบุคลากร จำนวน 20 คน นักเรียน 240 คน ผู้อำนวยการโรงเรียนคือ นายจิระพงษ์ บุญเสนา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน สภาพการจัดการเรียนการสอนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กิจกรรมการเรียนรู้โดยส่วนใหญ่ที่ผ่านมา ครูกำหนดและออกแบบให้นักเรียนได้เรียนรู้ ครูยังขาดความสัมพันธ์ในการเข้าใจนักเรียน ตัวครูเองยังต้องเพิ่มการศึกษาเกี่ยวกับจิตวิญญาณของความเป็นครู พัฒนาตนเองในการเรียนรู้ตลอดเวลา ครูยังคงต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ยังต้องเพิ่มทักษะเกี่ยวกับการเป็นนักออกแบบและจัดการความรู้ เปลี่ยนบทบาทของครูเป็นโค้ช จัดกิจกรรมให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการมาโรงเรียน

ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงส่งผลสะท้อนไปยังนักเรียนที่เข้ามารับการศึกษาเรียนรู้ในสถานศึกษา แล้วเกิดการเรียนรู้ที่ยังไม่ครบสมบูรณ์ตามลักษณะที่ดีที่นักเรียนควรจะได้รับ เช่น นักเรียนไม่กระตือรือร้นในการเรียนเรียนรู้ ไม่สนใจเรียน ขาดความรับผิดชอบและขาดระเบียบวินัยจึงทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ไม่เอื้อต่อการเรียนการสอนและมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์จึงทำให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้นักเรียนไม่เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ยังขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน ขาดความอดทน ไม่มีความมุมานะในการเรียนรู้ ขาดทักษะการกล้าคิด กล้าแสดงออก นักเรียนไม่มีความมุ่งหวังใฝ่ฝันในการเรียนรู้และวางแผนชีวิตนักเรียนไม่อยากมาโรงเรียน เพราะมาโรงเรียนแล้วเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการเรียน เวลาเรียนก็เกิดการกลั่นแกล้งของนักเรียนในชั้นเรียนและในโรงเรียน นำมาซึ่งความเดือนร้อน เกิดเป็นปัญหาของโรงเรียนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข

จากสาเหตุและปัญหาดังกล่าว จึงทำให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา มีแนวทางและมีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติในการจัดการเรียนรู้ของครูพัฒนาครูให้มีแนวทางการบริหารจัดการเรียนรู้ มีกิจกรรมที่สร้างแรงจูงใจให้นักเรียน อยากที่จะมาโรงเรียน อยากที่จะเรียนรู้และปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน ให้มีความใฝ่รู้ มีปัญญาภายใน เห็นคุณค่าของสรรพสิ่งและเพื่อให้เป็นแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทั้งครูและนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้และเกิดความงอกงามด้านความฉลาดทางอารมณ์ ความฉลาดด้านจิตวิญญาณ และเพื่อเตรียมนักเรียนให้สงบ ผ่อนคลาย และให้กลับมารู้ตัวก่อนที่จะเรียนในทุกวัน

2.กระบวนการในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

การที่นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมที่จะเรียนรู้ โดยเฉพาะความพร้อมทางด้าน อารมณ์ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ดีของนักเรียน ในการดำรงชีวิตประจำวันของนักเรียนแต่ละคนต้องเผชิญกับกิจกรรมหลายอย่างกว่าที่จะเดินทางมาถึงโรงเรียน จึงทำให้นักเรียนหลายคนไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ เครื่องมือที่โรงเรียนบ้านนางแดดเหนือได้ดำเนินการนำมาในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนคือ กิจกรรมจิตศึกษา กระบวนการ จิตศึกษาเป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา(โรงเรียนนอกกะลา)กระบวนทัศน์ของจิตศึกษา มี ๓ อย่าง คือ การใช้จิตวิทยาเชิงบวก การสร้างขุมชนและวิถีชุมชน จิตวิทยาเชิงบวก คือ การบ่มเพาะผู้เรียนให้มีคุณค่าที่ดีงาม โดยการที่ครูปฏิบัติกับนักเรียนอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่า ซึ่งจำแนกได้เป็นสองแบบคือ แบบที่ครูควรลด ได้แก่ ครูควรลดการเปรียบเทียบ ลดการประจาน ลดการตะวาด ลดการใช้ความรุนแรง ลดการชี้โทษ ลดการหลอกให้กลัว และการลดคุณค่าของนักเรียน ส่วนอีกแบบหนึ่งคือแบบที่ครูควรเพิ่ม ได้แก่ ครูควรเพิ่มการกล่าวชม เพิ่มการขอบคุณ เพิ่มการเสริมแรง เพิ่มการสร้างภาพพจน์ด้านบวกการสร้างชุมชนและวิถีชุมชน การสร้างชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม ปลอดภัย จะทำให้ผู้เรียนอยู่ในบรรยากาศที่เกื้อหนุนเมล็ดพันธุ์ที่ดีในจิตใจ ส่วนความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีของครูก็จะทำให้นักเรียนรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย สัมพันธภาพของคนในชุมชนมีผลต่อบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังนั้นการปฏิบัติในวิถีโรงเรียนจะต้องทำอย่างมีความหมาย มีเหตุผลและคงเส้นคงวา ในขณะเดียวกันโรงเรียนยังต้องตระหนักอยู่เสมอว่าผู้ปกครองทุกคนมีส่วนเกื้อกูลต่อความก้าวหน้าของนักเรียน การสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการที่หลากหลาย จะช่วยให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาในเชิงจิตวิญญาณ เมื่อผู้ปกครองได้เรียนรู้วิถีชุมชนจากบทเรียนที่เกิดขึ้นจริงภายในโรงเรียน ผู้ปกครองก็จะนำกลับไปสู่ชุมชนจริงของตนการจัดกระทำผ่านกิจกรรมจิตศึกษาในการจัดกิจกรรมจิตศึกษา ปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที จัดในช่วงเช้าก่อนที่จะเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับคลื่นสมอง ปรับอารมณ์ของนักเรียนให้นักเรียนมีสติ มีสมาธิ และพร้อมที่จะเรียนรู้ตัวอย่างกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมกำกับสติที่ไม่ใช่การนั่งสมาธิ การทำเบรนยิม ที่เป็นการฝึกการทำงานของสมองสองซีก การทำโยคะเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย ซึ่งขณะทำกิจกรรมก็เปิดเสียงดนตรีที่มีลักษณะของคลื่นความถี่ตํ่า เพื่อเหนี่ยวนำคลื่นสมองของนักเรียนให้มีความถี่ตํ่าลงกิจกรรมขอบคุณมอบความรักความปราถนาดีโรงเรียนบ้านนางแดดเหนือได้ดำเนินการในการนำกิจกรรมจิตศึกษามาใช้กับผู้เรียนโดยเริ่มจากส่งคณะครูเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมที่โรงเรียนลำปรายมาศพัฒนา แล้วตัวแทนครูที่ไปอบรมดำเนินการขยายผลให้กับคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองของนักเรียนเพื่อให้มีเป้าหมายที่ตรงกันในการพัฒนานักเรียน กิจกรรมจิตศึกษาของโรงเรียนดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมือนกันในทุกระดับชั้น ช่วงเวลาตอนแรกคือ ช่วงเวลาตอนเช้าก่อนเรียน ครูจะให้นักเรียนทำกิจกรรมก่อนที่จะเรียน โดยใช้เวลาประมาณ 15 - 20 นาทีครูและนักเรียนจะนั่งเป็นวงกลมในระดับเดียวกัน กล่าวทักทายสวัสดี เตรียมความพร้อมด้วยการแสดงออกผ่านการพูดคุยแบบใช้จิตวิทยาเชิงบวก และเริ่มกิจกรรม หากในกิจกรรมนั้นมีอุปกรณ์ เช่น กล่อง กระดาษ ปากกา หลอด ด้าย ตะกร้า สี พวงมาลัย เทียน ฯลฯ นักเรียนจะส่งให้เพื่อนที่นั่งเป็นวงกลม ทั้งผู้รับและผู้ส่งจะไหว้ด้วยความนอบน้อม หลังจากนั้นก็เริ่มกิจกรรมตามที่ได้จัดเตรียมจนเสร็จสิ้นแล้วทำการเรียนการสอนตามตารางเรียนช่วงบ่ายหลังจากรับประทานอาหารกลางวันผู้เรียนจะได้ทำกิจกรรมจิตศึกษาผ่านกิจกรรมแบบ Body scan ประมาณ 15 - 20 นาทีโดยเริ่มจากครูและนักเรียนจะนั่งเป็นวงกลม ครูเตรียมความพร้อมผ่านการใช้จิตวิทยาเชิงบวก หรือกิจกรรมเบรนยิมหลังจากนั้นนักเรียนจะนอนหงายให้ทุกส่วนของร่างกาย เริ่มตั้งแต่ศีรษะ แขนทั้ง 2 ข้าง ขาทั้ง 2 ข้าง สัมผัสพื้น โดยหงายฝ่ามือขึ้น นอนเป็นวงกลมซึ่งจะเป็นรูปปลาดาว จากนั้นครูทำหน้าที่ในการเล่าเรื่องผ่านจินตนาการ ครูเป็นนักเล่าเรื่อง อาจใช้นิทานที่เป็นข้อคิดต่างๆ หรือวรรณคดี วรรณกรรมที่เหมาะสมในการเล่าหรืออ่านให้นักเรียนฟัง นักเรียนฟังพร้อมหลับตาเพื่อให้ทุกส่วนได้พักผ่อนในเวลาที่กำหนด เพื่อให้นักเรียนได้สำรวม ได้อยู่กับตัวเอง อาจให้นักเรียนเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เล่าบ้างเพื่อฝึกทักษะการสื่อสารให้กับนักเรียน และในช่วงเวลาตอนเย็นก่อนกลับบ้าน ครูและนักเรียนจะทำกิจกรรมศึกษาผ่านกระบวนการAAR และดำเนินการต่อด้วยกิจกรรมพิธีนม ขอบคุณสรรพสิ่งและเห็นคุณค่าของทุกสิ่งกิจกรรมนี้การนั่งจะทำเหมือนกับกิจกรรมช่วงเช้า โดยครูและนักเรียนนั่งเป็นวงกลม สนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยให้นักเรียนได้คิด พูด แสดงความคิดเห็น จากคำถามเชิงบวกของครูพร้อมกับการสอบถามเพื่อทบทวนการเรียนรู้ หรือการบ้าน ภาระงาน ชิ้นงานของนักเรียนที่ต้องเตรียมในการเรียนรู้ในวันถัดไป กิจกรรมนี้จะไม่มีการโต้แย้ง ถกเถียง หรือสร้างปัญหาให้เกิดภายในชั้นเรียน หลังจากนั้นจะดำเนินการทำพิธีนม รับและส่งนมด้วยความนอบน้อม พร้อมกับให้ขอบคุณสิ่งต่างๆ แล้วนักเรียนก็ดื่มนมหลังจากนั้นนักเรียนจะปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ พร้อมแยกย้ายเดินทางกลับบ้าน

3.ความสำเร็จความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเด็ก

โรงเรียนบ้านนางแดดเหนือ ได้นำกิจกรรมจิตรศึกษามาปรับใช้กับนักเรียนเป็นระยะเวลา 1 ปี ที่ได้ดำเนินการมานั้น จากกระบวนการและการเรียนรู้ การศึกษา การปรับทัศนคติของครูในโรงเรียน ที่มีเป้าหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อพัฒนาผู้เรียน ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงาน คณะครูได้ปรึกษาหารือกันตลอดเวลาในการปรับเปลี่ยนและนำกิจกรรมจิตศึกษามาใช้ ในภาพรวมที่ปรากฏให้เห็นจากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน การได้พูดคุยกับนักเรียน ครูได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ปกครองของนักเรียน และจากเสียงสะท้อนในเรื่องพฤติกรรมของนักเรียนจากชุมชน ทำให้ทางโรงเรียนได้รับขวัญและกำลังใจในการทำงานและดำเนินการจัดการเรียนการสอนต่อไปอย่างมีความสุข ทางโรงเรียนรู้สึกถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ทำให้เห็นมุมมองของการจัดการศึกษาในทิศทางที่ส่งเสริมและพัฒนานักเรียนได้ดีขึ้น นักเรียนเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี มีสมาธิในการเรียนรู้ ควบคุมตัวเองให้นิ่งมากขึ้น พัฒนาตนเองจากเด็กที่มีจิตใจร้อนรน โมโหง่าย โกรธและอารมณ์ร้อน นักเรียนก็สามารถควบคุมตัวเองได้ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งทางโรงเรียนมีความคิดว่านักเรียนจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นต่อไป ซึ่งส่งผลให้นักเรียนมีทักษะในการเรียนรู้และแสวงหาความรู้มากขึ้น นักเรียนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโรงเรียนอย่างมีความสุข อยู่ในสังคมได้ ดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ นักเรียนมีระเบียบวินัยในการจัดการกับตัวเองมากขึ้น นักเรียนเริ่มที่จะรู้เวลาในการทำกิจกรรมและการดำเนินชีวิตต่างๆ ทั้งในโรงเรียนและอยู่ที่บ้าน นักเรียนมีความรับผิดชอบมากขึ้น รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายและทำงานได้ดีขึ้น มีความละเอียดอ่อนในการทำงาน ทำงานด้วยความขยันตั้งใจ กล้าคิด กล้าพูด มีทักษะการนำเสนองาน ซึ่งครูเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัดเจนในพฤติกรรมของนักเรียน ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี นักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ มีอารมณ์ขันสนุกสนานในการเรียนรู้และการดำรงชีวิต มีแววตาที่สดใส มีรอยยิ้มที่มีความสุขในการทำกิจกรรมจิตศึกษาและการเรียน การดำรงชีวิต นักเรียนเป็นผู้มีสุนทรียภาพ เริ่มมีความฉลาดทางด้านอารมณ์ มองโลกในแง่ดีมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะส่งผลให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป

4.สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้

โรงเรียนบ้านนางแดดเหนือ ได้ดำเนินการให้ครูเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติในการจัดกิจกรรมจิตศึกษา โดยได้พัฒนาครูไปพร้อมกับการพัฒนานักเรียน ซึ่งสิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากกิจกรรมคือ เมื่อครูใช้กระบวนการจิตศึกษาเพื่อขัดเกลานักเรียนให้มีพฤติกรรมที่ดีงาม ในขณะเดียวกันนั้นครูก็ได้ขัดเกลาความฉลาดด้านในของตนเองไปด้วย กิจกรรมจิตศึกษา จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของโรงเรียนบ้านนางแดดเหนือในการพัฒนาตัวของครู เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของครูให้มีหัวใจของความเป็นครูอย่างแท้จริง ทำให้ครูเข้าใจนักเรียนมากขึ้น ครูรักนักเรียนและทำให้นักเรียนรักครูได้ ครูรู้จักฟังนักเรียนมากขึ้น ครูเห็นคุณค่าในตัวของนักเรียนทุกคน พฤติกรรมของครูเปลี่ยนไปในทิศทางการเพิ่มคำชม เพิ่มการกล่าวขอบคุณ เพิ่มการเสริมแรง ครูมีความฉลาดทางด้านอารมณ์ จิตใจ ทำให้ครูมีจิตใจที่สงบง่ายขึ้น เมื่อจิตใจครูสงบก็จะนำมาซึ่งการรับฟังกันได้ลึกซึ้ง เกิดการใคร่ครวญ สามารถรับรู้และเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ หรือสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น