ครูผู้สร้างลักษณะนิสัยที่ดีของเด็กจากเรื่องเล่าของครู
โรงเรียนบ้านหนองสะพาน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
เวทีสะท้อนการเรียนรู้ของ“ครูดีในศตวรรษที่21(ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็ก) “ครั้งที่ 1
เรื่องเล่าที่ครูต้องสะท้อน ครูเพ็ชราวิเศษศรี ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
- สถานการณ์เรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก
โรงเรียนบ้านหนองสะพาน ตั้งอยู่ หมู่ 4 ตำบลหนองตะพาน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียน 80 คน ครู 5 คน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนก่อนที่จะนำกิจกรรมจิตศึกษา
มาพัฒนาผู้เรียนนั้น โรงเรียนจัดครูประจำชั้น 1 คน ต่อ 1 ชั้น (ดูแลการสอนทุกวิชา) พฤติกรรมของนักเรียนส่วนใหญ่ชอบพูดคุยเสียงดัง ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขาดน้ำใจ รอคอยไม่เป็น ครูส่วนใหญ่สอนโดยการบอกองค์ความรู้กับเด็กและยึดหนังสือเรียนเป็นสำคัญ นักเรียนทำตามครูที่บอกหรือแนะนำ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือนักเรียนคอยรับคำสั่งจากครูแล้วทำตามที่ครูบอก - ใช้กระบวนการใดในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก(เครื่องมือ/นวัตกรรม)
โรงเรียนบ้านหนองสะพาน เริ่มปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โดยเริ่มต้นด้วยการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ให้มีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนด้วยการประชุมปรึกษาหารือ และได้ข้อสรุปว่าให้จัดกิจกรรมจิตศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาภายในวันละ 2 เวลา คือหลังเคารพธงชาติเป็นกิจกรรมจิตศึกษาที่ห้องเรียนใช้เวลา 25 นาที และก่อนเริ่มเรียนภาคบ่ายเป็นกิจกรรมBody scan ใช้เวลา 25 นาที ส่วนด้านวิชาการนั้นจัดการเรียนเป็นรายวิชาหลัก 5 รายวิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ และจัดการสอนแบบบูรณาการอีก 4 รายวิชาได้แก่ สังคมศึกษา
สุขศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี และศิลปศึกษากิจกรรมจิตศึกษา ใช้หลักของจิตวิทยาเชิงบวก อาทิ การให้ความรัก ความเสมอภาค รู้เข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ใช้พฤติกรรมรุนแรง ลดการใช้คำสั่ง ใช้เสียงที่เป็นธรรมชาติ สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ด้วยเพลงบรรเลงเบาๆ ทำให้เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลายและเป็นตัวของตัวเอง เลือกใช้สื่อประกอบกิจกรรมในท้องถิ่นเช่น เมล็ดของต้นยาง จิ๊กซอร์พลาสติก ไม้ไอศกรีม ฝาขวดน้ำ เป็นต้น
กิจกรรม Body scan เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและผ่อนคลายอริยบทของนักเรียนก่อนที่จะเริ่มเรียนในภาคบ่าย ทำให้นักเรียนได้ทบทวนกิจกรรมในภาคเช้าที่ผ่านมา ตลอดจนครูสามารถที่จะสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียนในขณะที่นักเรียนกำลังทำ Body scan ด้วยการเล่าเรื่องราวที่ดีงาม อุทาหรณ์สอนใจ นิทานคุณธรรม เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมนี้แล้วนักเรียนก็พร้อมที่จะเผชิญกับการเรียนรู้ใหม่ในภาคบ่ายอย่างมีสติ
กิจกรรมการเรียนการสอนปรับจากครูบอกนักเรียนทำตาม มาเป็นครูและนักเรียนช่วยกันวางแผนการเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไร ที่ไหน อย่างไร จนสามารถสรุปเป็นปฏิทินการเรียนรู้ของห้องได้ ครูกระตุ้นนักเรียนด้วยคำถามและแนะนำแนวทางเพื่อการเรียนรู้ไปสู่เป้าหมายของรายวิชานั้นๆ เมื่อนักเรียนมีส่วนร่วมวางแผนตั้งแต่ต้นทำให้ทราบว่าเขากำลังจะทำอะไร เพื่ออะไร และจะได้อะไรเกิดความท้าทายให้เด็กๆ ได้ค้นหาความสำเร็จในการเรียนรู้เพราะไม่มีใครทราบว่าแผนการเรียนรู้ที่ออกแบบไว้นั้นจะสำเร็จหรือไม่ โดยท้ายสุดจะสำเร็จหรือล้มเหลวทั้งครูและนักเรียนล้วนได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้มาด้วยกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือการถอดบทเรียนหรือการสรุปบทเรียนจากการเรียนรู้ว่า สำเร็จหรือล้มเหลวเพราะอะไร จะแก้ไขอย่างไร อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ และร่วมกันนำเสนอในชั้นเรียนเกิดการรู้ร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติโดยมีครูเป็นผู้ร่วมเสวนาร่วมอยู่ด้วยกัน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากครูและนักเรียนไม่ลงมือทำ จากการปรับเปลี่ยนจึงเกิดภาพที่ต่างภาพเดิมๆ คือ ครูบอกนักเรียนจำ นำไปทำข้อสอบ
- เกิดความสำเร็จความเปลี่ยนแปลงกับเด็กอย่างไรอย่างเป็นรูปธรรม(เด็กได้เรียนรู้อะไร)
จากการที่ผู้บริหารตัดสินใจเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับทุกภาคส่วนข้างต้น โรงเรียนบ้านหนองสะพาน ได้ลงมือเรียนรู้บทเรียนใหม่ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (โรงเรียนนอกกะลา) โรงเรียนเครือข่ายโครงการเสริมสร้างสุขภาวะในโรงเรียน ทำให้ครูมีเพื่อนร่วมทาง มีแบบอย่างให้เรียนรู้ จึงเกิดแรง
บัลดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อนักเรียนจะได้เรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพของผู้เรียน
การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆด้าน พอจะกล่าวพอสังเขปดังนี้
นักเรียนได้รับการพัฒนาปัญญาภายในอันได้แก่ อารมณ์ สติความรู้ตัวรู้ตน กิริยามารยาท ระเบียบวินัย ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน สิ่งเหล่านี้นักเรียนได้รับการพัฒนาด้วยกระบวนการจิตศึกษาอย่างต่อเนื่องวันแล้ววันเล่าจนเกิดเป็นวิถีแห่งชีวิตรู้ว่าเวลานี้จะต้องวางตัวอย่างไร ทำอะไร ทำอย่างไร ครูเหนื่อยน้อยลง เด็กๆ รู้หน้าที่ รู้มารยาทของสังคม นักเรียนสามารถที่จะดูแลกันเองได้ เช่น การทำความสะอาดถาดอาหารตอนกลางวันก็จะมีพี่ๆ คอยให้คำแนะนำน้องๆ ถึงขั้นตอนการทำความสะอาดถาดอาหาร ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นโดยน้องๆ ก็ปฏิบัติได้ดีตามที่พี่แนะนำด้านวิชาการ กระบวนการเรียนรู้ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เริ่มต้นที่ครูได้ระดมสติปัญญาเพื่อสร้างแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้เกิดเค้าโครงแผนการจัดการเรียนรู้ก่อนที่จะทำการสอนและนำไปออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนใน 2 อาทิตย์แรกของ Quarter นั้นๆ ขั้นตอนนี้นักเรียนได้แสดงศักยภาพของตนเอง และแนวคิดของแต่ละคนจะถูกนำเสนอและหลอมรวมให้เป็นประเด็นที่ทุกคนสามารถยอมรับได้ก่อนที่จะสรุปเป็นหัวข้อการเรียนรู้ ปฏิทินการเรียนรู้ ซึ่งนั่นหมายถึงกระบวนการทางสังคม กระบวนการประชาธิปไตย ภาวะผู้นำผู้ตาม
ความมีเหตุมีผล มารยาททางสังคม นักเรียนล้วนได้นำมาใช้ผสมกลมกลืนได้อย่างไม่รู้ตัวว่ากำลังเรียนรู้ในสิ่งที่ได้กล่าวมา ไม่ต้องมานั่งสร้างจุดเน้นให้มากมายสิ่งเหล่านี้สามาเกิดขึ้นได้ในกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ - สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้เช่นนี้
ครู ในปัจจุบันเปรียบได้ดัง Coaching กล่าวคือ ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะแนะนำ แนะการแก้ไข แนะนำแหล่งเรียนรู้และให้การสนับสนุนทรัพยากรอันที่จะส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้ไปถึงปลายทางอย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องบอกสูตร เนื้อหา หรือคำตอบ แต่คงต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ว่าทำอย่างไรนักเรียนจึงจะสามารถเรียนรู้และเข้าถึงสาระสำคัญของเรื่องที่ต้องการเรียนรู้
จากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นทำให้ครูเรียนรู้วิธีการที่จะเป็น Coaching ให้มากขึ้น สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนครูมากยิ่งขึ้น ครูปรับเปลี่ยนบุคลิกตนเองให้เหมาะสมกับเป้าหมายของกิจกรรมจิตศึกษา ครูเปิดใจรักและใส่ใจนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาพ ดูแลพัฒนาการนักเรียนทุกคนให้สามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละคนที่พึงมีและเป็นไปได้ตามขีดจำกัดเฉพาะคน สร้างนักเรียนให้เป็นผู้ถามที่ดีมีเหตุผล ครูและนักเรียนร่วมกันเรียนรู้อดทนต่อการไม่เป็นผู้บอกคำตอบรอคอยผลการเรียนรู้จากนักเรียนดดยให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ครูสามารถสร้างทักษะการสื่อสารให้แก่นักเรียนได้อย่างเป็นธรรมชาติผ่านการนำเสนอทุกๆขั้นตอนที่ได้ปฏิบัติไปจนเกิดเป็นนิสัยที่กล้านำเสนอกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมกับวัย