เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

ครูผู้สร้างลักษณะนิสัยที่ดีของเด็กจากเรื่องเล่าของครู

เวทีสะท้อนการเรียนรู้ของครูดีในศตวรรษที่ 21

  1. สถานการณ์เรื่องราวจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเด็ก

พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก ปัจจุบันเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยซึ่งบางครั้งไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเป็นปัญหาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมุมมองที่แตกต่างกัน พฤติกรรมก้าวร้าวเป็นได้ทั้งที่กระทำโดยการใช้กำลังทำลายข้าวของ ทำร้ายผู้อื่น หรือการกระทำโดยวาจา ด่าว่าหยาบคาย เสียดสี กระทบกระเทียบ ทำร้ายจิตใจความรู้สึกของผู้อื่น เพื่อเรียกร้องความสนใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อความรู้สึก ความสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งสิ้น

ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นกับนักเรียนชายชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คนหนึ่ง นามสมมุติว่า เด็กชาย ก ซึ่งพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่นักเรียนยังเด็ก แม่ได้มีสามีใหม่และมีลูกกับสามีใหม่จำนวน 2 คนจากการสังเกตพบว่าวันไหนที่นักเรียนมาโรงเรียนแล้วนักเรียนอารมณ์ไม่ดี นักเรียนจะไม่ตั้งใจเรียน ชอบแกล้งเพื่อนที่อ่อนแอกว่าและมีเรื่องทะเลาะกับเพื่อนในชั้นเรียนทุกวัน และพฤติกรรมทางบ้านนักเรียนมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวกับแม่ และมีปากเสียงกับพ่อเลี้ยงบ่อยครั้ง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อนักเรียนมีปัญหากับทางบ้าน นักเรียนจะมาระบายอารมณ์กับเพื่อนที่โรงเรียน โดยการแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว แกล้งเพื่อน หาเรื่องทะเลาะวิวาทกับเพื่อน หรือแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับครูผู้สอน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ควรแก้อย่างเร่งด่วน

2. ใช้กระบวนการใดในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

กิจกรรมโยคะกิจกรรมฝึกสมาธิ

กิจกรรมร้อยลูกปัด

กิจกรรม Brain Gymกิจกรรม Body Scan

โรงเรียนได้จัดกิจกรรมจิตศึกษา ในคาบเวลาเรียนของในภาคเช้าของทุกวัน กล่าวคือหลังเข้าแถวเคารพธงชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลา 08.45 – 09.00 น. ประมาณ 15 นาที ในภาคเช้าก่อนการจัดกระบวนการเรียนการสอนวิชาอื่นทุกวัน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มาเสริมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาสติปัญญานักเรียนให้เรียนรู้จากภายใน ตัวอย่างกิจกรรม เช่น กิจกรรมที่มุ่งเสริมการฝึกสมาธิด้วยงานฝีมือโดยที่นักเรียนได้ทำงานฝีมือที่ตนเองชอบ ขณะทำกิจกรรมก็เปิดเสียงดนตรีที่มีลักษณะของคลื่นความถี่ต่ำ เพื่อเหนี่ยวนำคลื่นสมองของเด็กให้มีความถี่ต่ำลง การทำโยคะเพื่อบริหารอวัยวะภายในและเพื่อบริหารลมหายใจ ให้ได้อยู่กับลมหายใจ หรือแม้กระทั่งการนวดตัวเองหรือนวดกันและกันเพื่อส่งความรู้สึกดีต่อกัน กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดสติเพื่อให้เด็กได้มีความชำนาญในการกลับมารู้ตัวได้เสมอๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์และการกระทำที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละขณะเพื่อจะได้รู้ว่าควรหยุดหรือดำเนินกิจกรรมนั้นต่อ เช่น การเดินตามรอยเท้า การเดินต่อเท้าตามเส้นตรง Brian Gym กิจกรรมฝึกสมาธิหรือการจดจ่อ ให้เด็กมีความสามารถในการคงสมาธิได้ยาวขึ้นเพื่อกำกับความเพียรทั้งการเรียนรู้และการทำงานให้สัมฤทธิ์ผล เช่น กิจกรรมส่งน้ำ ส่งเทียน ต่อภาพจากผลยางพารา การพับกระดาษ การฟังนิทาน หรือเล่าเรื่อง กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดการเพาะจิตสำนึกที่ดีงาม นิทาน เล่าเรื่องเพื่อการใช้คำที่ให้พลังด้านบวก การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น กิจกรรมที่มุ่งบ่มเพาะพลังความรักความเมตตา เช่น การไหว้กันและไหว้สิ่งต่างๆ การกอด การขอบคุณกันและขอบคุณสิ่งต่างๆ การยกย่องชื่นชมความดีงามของคนอื่นๆ การระบายสีภาพด้วยมือทั้งสองข้างพร้อมกัน เป็นต้น

จากการสังเกตพบว่าเด็กชาย กได้ตั้งใจทำงานฝีมือเพื่อฝึกสมาธิได้เป็นอย่างดี เพราะนักเรียนได้ทำในสิ่งที่ตนเองถนัดและชื่นชอบ ทำให้เด็กชาย ก มีความมั่นใจในตัวเองและภูมิใจในตนเอง พร้อมกับครูและเพื่อนๆให้คำชมเชยเมื่อเด็กชาย ก ได้ร่วมกิจกรรม จึงทำให้เด็กชาย ก เริ่มที่จะเข้ากับเพื่อนๆได้และควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น

ส่วนการทำบอดีแสกน (Body Scan) เพื่อการผ่อนคลายแบบลึกและบ่มเพาะสิ่งที่ดีงามในจิตใต้สำนึกนั้นจะใช้เวลาต่างจากกิจกรรมจิตศึกษาอื่น คือทำกิจกรรมก่อนเข้าเรียนในภาคบ่ายช่วงเวลา 12.50–13.10 (ประมาณ 20 นาที)กิจกรรมขั้นตอนมีดังนี้

- นักเรียนนอนในท่าสบาย

- การพูดให้นักเรียนผ่อนคลาย ใช้คำพูดที่อ่อนโยน ใช้เสียงเบาๆในการพูด ทำให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย จากเท้า ไปจนถึงหัวและเล่าเรื่องประกอบ

- ปลุกนักเรียนโดยการใช้คำพูดที่ผ่อนคลาย คล้อยตามทำให้ลุกขึ้นมาพร้อมที่จะเรียนโดยการนับ 1-10 และทำ Brain gym ก่อนเรียนในวิชาต่อไป

ในกิจกรรมบอดีแสกน (Body Scan) นี้จะเห็นได้ว่ากรณีของเด็กชาย ก นี้ ในช่วงแรกๆของการเริ่มกิจกรรมนักเรียนจะไม่ยอมนอน และส่งเสียงดังรบกวนเพื่อน ดังนั้นในกระบวนการนี้ ครูต้องสังเกตพฤติกรรมว่าวันนี้เด็กชาย ก มีพฤติกรรมผิดปกติไหม หากวันนี้เด็กชาย ก มีพฤติกรรมผิดปกติ ในช่วงระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรมบอดีสแกน ครูควรไปนั่งใกล้ๆ เอามือลูบที่ศีรษะของนักเรียนเบาๆ เพื่อทำให้นักเรียนได้รู้สึกอบอุ่น หรือนักเรียนบางคนได้คิดถึงความหลังว่าการกระทำนี้เมื่อก่อนแม่ของเขาได้เคยทำกับเขา และส่งผลไปถึงความรู้สึกที่ดีที่นักเรียนมีให้กับครู บางครั้งเขาอาจรู้สึกว่าครูเปลี่ยนแสดงแม่ของเขาเอง

3.ความสำเร็จและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

จากการนำกิจกรรมดังกล่าวมาใช้กับ เด็กชาย ก พบว่านักเรียนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจนเห็นได้อย่างชัดเจน นักเรียนมาโรงเรียนทุกวัน นักเรียนไม่แกล้งเพื่อนและหาเรื่องทะเลาะวิวาทกับเพื่อน นักเรียนมีภาวะผู้นำและเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียน และที่เห็นได้อย่างชัดเจนนักเรียนมีปัญหานักเรียนจะนำปัญหาเหล่านั้นมาเล่าให้ครูฟัง อาสาที่จะช่วยครูและเพื่อนๆทำงาน ทำให้เพื่อนในห้องยอมรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปทางที่ดีขึ้นของเด็กชาย กและเมื่อพฤติกรรมทางโรงเรียนของเด็กชาย ก ดีขึ้น ก็ส่งผลให้พฤติกรรมทางบ้านของเด็กชาย ก ดีขึ้นเช่นกัน จากที่เคยแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับพ่อแม่ พบว่าพฤติกรรมนั้นหายไปและยังช่วยพ่อแม่ทำงานอีกด้วย จนพ่อแม่ของเด็กชาย ก ได้โทรมาเล่าเรื่องราวพฤติกรรมที่ดีขึ้นของเด็กชาย ก มาแลกเปลี่ยนเล่าสู่ครูฟัง ซึ่งเป็นการประทับใจในการใช้หลักจิตศึกษามาใช้ในการพัฒนาเด็กให้มีพฤติกรรมที่ดีขึ้นอย่างเป็นได้อย่างชัดเจน

4.สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้เช่นนี้

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้โดยการนำจิตศึกษาเข้ามาพัฒนาเด็ก คือ ครูได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในโรงเรียน โดยเน้นความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน เพราะนักเรียนแต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป เช่น นักเรียนบางคนเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนบางคนเกิดมาไม่เคยเห็นหน้าพ่อแม่ต้องอาศัยอยู่กับตายาย และหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง เป็นต้น ดังนั้นครูจึงได้เรียนรู้นักเรียนจากพฤติกรรมของนักเรียนครูจึงต้องศึกษากิจกรรมจิตศึกษามาใช้ในการแก้ปัญหานักเรียนที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้ครูรักเด็กและเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์เกิดจิตวิญญาณของความเป็นครูเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและมีความสุขกับการจัดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนต่อไป