สถานการณ์ของจุดเริ่มต้นและกระบวนการพัฒนาเด็ก
ครูกมลรัตน์ ฉิมพาลี หรือครูปุ้มของเด็กๆ โรงเรียนถนอมหักพิทยาคม อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่มุ่งมั่นและตั้งใจให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุก เพราะรอบตัวเราล้วนแล้วสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น “ชีวิตขาดวิทย์ไม่ได้” จึงเป็นประโยคที่ครูปุ้มพูดกับเด็กๆ เสมอ ซึ่งได้กระตุ้นให้เด็กๆ เกิดความสงสัยว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือ และนั่นก็เป็นการนำเด็กๆ เข้าสู่โลกความรู้วิทยาศาสตร์
ครูปุ้ม หรือ ครูปุ้ม Bio หลงใหลในความช่างสังเกต ช่างคิด และช่างค้นหาของนักชีววิทยา จึงอยากให้เด็กๆ เข้าถึงเนื้อหาชีววิทยา ศาสตร์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่นี้อย่างสนุก มีความสุข และได้ความรู้
“ความสนุกช่วยเปิดใจให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ การเอื้อมมือคว้าชีวะลงมาให้แปดเปื้อนหัวสมองครูปุ้มและผองนักเรียน จึงเป็นความสุขที่ไม่อาจบรรยายและไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้”
รูปแบบการสอนที่ทำให้เด็กต่างจังหวัดเข้าถึงวิชาวิทยาศาสตร์
- เรียนวิทย์ให้สนุกด้วย “เกม”
ครูปุ้มสอนวิชาชีววิทยาระดับมัธยมปลายในโรงเรียนต่างจังหวัด ขึ้นชื่อว่าวิทยาศาสตร์ เนื้อหาก็เข้าใจยากอยู่แล้ว เมื่อมาเจอกับทัศนคติของเด็กๆ ที่มีเป้าหมายการเรียนเพียง “เรียนให้จบเพื่อไปทำงาน” มากกว่า “เรียนต่อ” ทำให้ช่องว่างระหว่างเด็กๆ กับวิทยาศาสตร์ห่างมากขึ้น แต่ด้วยหัวใจของวิชาชีพครูที่มากกว่าสอนจบให้เกรด ครูปุ้มจึงหาวิธีการที่จะทำให้ช่องว่างนั้นแคบลง
“ห้องเรียนคงทุกข์ทรมานมาก ถ้าเราพยายามใส่แต่เนื้อหาลงไป สักวันครูจะหมดแรง นักเรียนจะหมดใจ พอนำ “เกม” เข้ามาในห้องเรียน แม้แต่คนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องอะไรเลย ก็มีส่วนร่วมเล่นกิจกรรมกับเพื่อนได้ พอเด็กสนุกก็อยากเข้าห้องเรียน พอเข้ามาในห้องเรียน อย่างน้อยได้เรียนรู้ ได้ทำกิจกรรม”
การนำ “เกม” เข้ามาประกอบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ทำให้ครูปุ้มต้องทำการบ้านเตรียมสอนมากขึ้น แต่มิได้บั่นทอนพละกำลังและจิตใจของครูคนนี้ เพราะเชื่อว่า “ถ้าครูสามารถเปลี่ยนเรื่องยากๆ ให้กลายเป็นเกม การรักในสิ่งที่เกลียดจะเป็นเรื่องง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ”
“เหนื่อยมากกับการเตรียมเกมและอุปกรณ์ ซึ่งไม่เหมือนสอนบรรยายที่เตรียมแต่เนื้อหา สอนแบบนี้ครูต้องเตรียมตัวมากเลยคะ แต่เมื่อเห็นรอยยิ้ม เห็นเด็กสนุกกับการเรียนก็หายเหนื่อยค่ะ”
ตัวอย่างเกมเกมใส่รหัส:ให้เด็กๆ คิดว่าถ้าต้องสร้างโมเดลโครงสร้าง Chloroplast จะใช้อะไรบ้างเด็กบางกลุ่มบอกว่า ใช้ลูกชิ้น แทน Thylakoid ลูกชิ้น 1 ไม้ คือ Granum เอาไม้ลูกชิ้นมาเสียบเชื่อมต่อระหว่างไม้ แทน Stomal lamella ราดน้ำจิ้มลงไป คือ Stoma กัดลูกชิ้น 1 คำ จะเห็น Lumen เมื่อแต่ละกลุ่มสร้างรหัสของตัวเองแล้วให้เป่ายิงชุบ คนชนะจะเลือกพูด 1 คำ เช่น น้ำจิ้ม คนแพ้ต้องตอบว่า Stoma ถ้าตอบไม่ได้แพ้ ถ้าตอบได้ เป่าใหม่คนแพ้คนสุดท้ายได้ภาระงานกลับไปทำเป็นการบ้าน (เด็กๆ ต่างไม่ยอมแพ้)
- ห้องแล็บจำเป็น
วิทยาศาสตร์กับการทดลองเป็นสิ่งที่คู่กัน การเรียนวิทยาศาสตร์ก็มิอาจหลีกเลี่ยงการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองได้ ครูปุ้มตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งนี้ดี แม้โรงเรียนจะไม่มีอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ครบถ้วน แต่ไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนชีววิทยาของลูกศิษย์ครูปุ้ม Bio
...ไม่มี dropper ใช้หลอดฉีดยาแทนได้
ไม่มี petri dish ใช้จานสีแทนได้
ไม่มี needle และ loop ใช้พู่กันแทนได้
ไม่มีสีย้อม ใช้สีผสมอาหารหรือสีจากดอกไม้
ไม่มี coverslip ใช้พลาสติกแทนได้ ...
“แค่มีกล้องจุลทรรศน์ก็หรูสำหรับครูแล้ว เพราะอุปกรณ์ทุกอย่าง ครูหามาทดแทนได้ แต่ความตั้งใจและความอยากเรียนของนักเรียน ครูหาอะไรมาทดแทนไม่ได้เลย”
นอกจากนี้ครูปุ้มยังได้ทำโครงการเล็กๆ ชื่อว่า “สายสัมพันธ์น้องพี่ เพื่อห้องเรียนเคมี และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” โดยอาศัยความรู้จักส่วนตัวเชิญชวนเพื่อนๆ พี่ๆ ในแวดวงครูอาจารย์มาสร้างประสบการณ์และทักษะการใช้อุปกรณ์เคมีให้กับเด็กๆ
“เด็กๆ แววตาสดใส ตั้งใจเรียนมาก เดินมาบอกว่าอยากเรียนแบบนี้ทุกวัน”
ผู้สอนใฝ่เรียนรู้-ผู้เรียนได้ประโยชน์
ครูปุ้มให้ความสนใจภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก โดยมีแบบอย่างจากคุณพ่อที่ฝึกฝนและตั้งใจสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ผิดบ้างถูกบ้าง มีเสียงหัวเราะจากคนรอบข้าง แต่ก็ไม่ละทิ้งความพยายาม ครูปุ้มจึงไม่กลัวที่จะพูดภาษาอังกฤษและสื่อสารให้ได้ แม้ว่าครูวิทยาศาสตร์มักถูกมองว่ามีความได้เปรียบเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะคุ้นชินกับคำศัพท์เฉพาะ (technical term) แต่มิได้หมายความว่าครูวิทย์จะใช้ภาษาอังกฤษได้ดี
“ความได้เปรียบและเสียเปรียบอาจมีผลเฉพาะเบื้องต้น แต่เมื่อผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องความได้เปรียบเสียเปรียบนั้นจะไม่ส่งผลไปมากกว่าที่มันเคยเป็นถ้าครูวิทย์ทำให้เด็กๆ เห็นว่าการใช้ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องน่าสนุก เป็นการเพิ่มโอกาส เพิ่มศักยภาพของนักเรียน นอกจากจะช่วยเพิ่มเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ให้กับผู้เรียนแล้วยัง เพิ่มเครื่องมือที่ชื่อว่าเจตคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษให้ผู้เรียนอีกด้วย”
ครูปุ้มนำภาษาอังกฤษมาผสมผสานการเรียนการสอนในวิชาชีววิทยา ไม่เพียงให้คำศัพท์ภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับคำศัพท์ไทย ครูปุ้มยังอธิบายไปถึงรากศัพท์ โดยใช้เทคนิค Word Explain Word เชื่อมต่อคำศัพท์เพื่อสร้างแนวคิด (concept) ซึ่งการผสมผสานภาษาอังกฤษเข้ามาในบทเรียนวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กๆ เปิดรับและคุ้นชินภาษาอังกฤษมากขึ้น
วันหนึ่งเด็กนักเรียนยกมือถามว่า “ครูครับ ตัวแปรต้นภาษาอังกฤษใช้ว่าอะไรครับ” เป็นคำถามที่ทำให้หัวใจครูปุ้มพองโต เพราะนั่นหมายถึงเด็กๆ สนใจภาษาอังกฤษแล้ว
“เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต แต่เด็กทุกคนต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการดำรงชีวิต ขณะเดียวกันภาษาอังกฤษเป็นเสมือนกุญแจที่เปิดโลกทัศน์”
ด้วยความเชื่อดังกล่าว ครูปุ้มเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ แม้แรกเริ่มจะมีเสียงจากรอบข้างว่า “เป็นความคิดเพ้อฝัน สอนวิทย์อย่างเดียวก็ยากแล้ว จะหาเรื่องไปทำไม” แต่ด้วยความมุ่งมั่นบวกกับได้กัลยาณมิตรที่มีใจรักภาษาอังกฤษและมีมุมมองเดียวกัน ครูปุ้มจึงเดินหน้าตามความเชื่อนี้ โดยใช้วิธีสอนเด็กแบบสองภาษา (bilangual) คือสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เด็กที่เริ่มเรียน จะสอนภาษาไทยให้จบก่อนแล้วจึงนำภาษาอังกฤษเข้ามา แต่ถ้าเด็กที่เรียนจนคุ้นชินแล้ว ก็จะสอนทั้งสองภาษา
นอกจากนี้ครูปุ้มยังได้เข้าร่วมโครงการอบรมการสอน และการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จนสามารถนำความรู้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับครูท่านอื่นๆ ซึ่งทำให้ครูจำนวนหนึ่งเกิดความมั่นใจมากขึ้นที่จะสอนวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับเด็กๆ
“เพราะเราเชื่อว่าถ้าครูได้เริ่มจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ ครูจะทำได้ในที่สุดแน่นอนคะ”
ผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็ก
“สำหรับครูปุ้ม เด็กก็คือเด็ก เขาพร้อมจะเรียนรู้ เด็กรับรู้ถึงความรักที่ครูมีให้ด้วยหัวใจ เด็กใช้เวลาไม่นานที่จะดูว่าครูคนไหนจริงใจและทุ่มเทกับเขา เด็กโหยหาปฏิสัมพันธ์อันดีงามระหว่างตัวเขาและคุณครู เด็กๆ อยากรู้ อยากเห็น อยากให้ครูยอมรับและเด็กทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง เมื่อเด็กยอมรับว่าครูคือส่วนหนึ่งของชีวิต จึงจะเปิดใจรับฟังและจดจำสิ่งที่ครูสอน”
ชีวิตนักเรียนทุนในวัยเด็กของครูปุ้มที่เคยเกือบหมดสิทธิรับทุนต่อเนื่องจากไม่ตั้งใจเรียน แต่มีครูท่านหนึ่งที่เอาใจใส่ดูแล เป็นความโชคดีที่ได้ครูที่เข้าใจ หมั่นพูดคุยสอบถามเด็ก ทำให้ครูปุ้มกลับมาตั้งใจเรียนอีกครั้ง“ความเข้าใจและใส่ใจเด็ก” จึงซึมซับอยู่ในครูปุ้ม
เมื่อถึงคราวที่เจอเด็กนักเรียนหลับในห้องเรียน ครูปุ้มสังเกตว่า เด็กจะหลับในช่วงเช้าตลอดและจะเริ่มตื่นมาเรียนในช่วงคาบสี่คาบห้า ครูปุ้มจึงบอกกับเด็กคนนั้นว่า เมื่อเธอพร้อมเมื่อไหร่ให้มาเรียนยามว่างกับครู ครูจะสอนให้ ซึ่งเด็กก็มาตามที่ครูบอก เขามาเมื่อพร้อม และเมื่อได้คุยกับเด็ก จึงทำให้รู้สาเหตุ ที่เขาหลับเพราะต้องไปเป็นเด็กปั๊ม ทำงานตอนกลางคืนหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่ป่วยไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งความเข้าใจที่ครูปุ้มมีให้กับเด็ก ทำให้เด็กคนนั้นตั้งใจเรียน และเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเรียนต่อหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ครูปุ้มจึงชวนเด็กคนนั้นมาช่วยทำหนังสือ “35 วันครูไทยในวิกตอเรีย” บันทึกการเดินทางไปเสนอผลงานของครูปุ้มที่ประเทศอังกฤษ ไม่เพียงค่าตอบแทนที่มาช่วยครูปุ้มทำหนังสือ ทำให้เด็กนักเรียนคนนั้นมีเงินเรียนต่อ มากกว่าเงินจำนวนนั้นคือการส่งต่อความเข้าใจและโอกาสให้กับเด็กคนอื่น เหมือนที่เขาเคยได้รับจากครูปุ้ม
“จากวันนั้นที่ผมเคยร้องไห้ เพราะไม่มีเงินจะเรียน จากวันที่เคยยืนทำงานกลางคืน กลางวันมาเรียน จากโอกาสที่แสนดีที่ครูคนนี้มอบให้มา ผมรักษาโอกาสที่ได้มา จนวันนี้ ศิษย์คนนี้มาถึงฝันด้วยกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์ที่ครูให้มา วันนี้เป็นวันที่พ่อแม่และคนในครอบครัวตั้งตารอวันที่อนาคตเปลี่ยนไป จากที่พ่อแม่เหนื่อย เมื่อยล้า พ่อหาเงินเลือดตาแทบกระเด็น ครูคอยเฝ้าลุ้นและเป็นกำลังใจให้ วันนี้ผมทำดีที่สุดแล้ว เรียนแล้วมีงานทำ
ผมตั้งใจแล้วครับ น้องคนนี้กำลังเรียนสาขาเดียวกับผม น้องเขาลำบากเหมือนผมเลย ผมตั้งใจไว้จะช่วยน้องครับ ช่วยเท่าที่ผมทำได้ ผมนึกถึงตัวเอง ตอนลำบากแล้วมีครูคอยโอบอ้อมอารี ค้ำชูมา ผมขอก้มกราบแทบเท้าบูชาครู อาทิตย์หน้าเริ่มงานครับ ผมจะหาเวลาถ้าไม่ได้ขึ้นเวร ผมจะกลับไปโรงเรียนนะครับ”