เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

เมื่อครูเจี๊ยบได้ตัดสินใจขึ้นมาอยู่บนดอย ได้พบกับเด็กๆ และครอบครัว ก็พบว่า เรื่องความสะอาด ความมีระเบียบวินัย ที่ต้องช่วยกันดูแล และการเสริมความรู้เรื่องของการพูด อ่าน เขียนภาษาไทยที่เมื่อเด็กๆ โตไปจะได้นำไปใช้ถ้าต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การรักษาอัตลักษณ์ ประเพณีวัฒนธรรมของพวกเขา อย่างเช่น ผ้าทอของชาวกะเหรี่ยง ที่พวกเขาโดยเฉพาะเด็กหญิงควรมีความรู้หรือนำไปทำเป็นอาชีพติดตัวต่อไป การดูแลลูกๆ หลานๆ ชาวกรูโบของครูเจี๊ยบจะเน้นให้เด็กมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ รู้จักดูแลและแบ่งปัน“พี่ดูแลน้อง” พี่จับมือคัดลายมือ น้องสกปรกก็พาน้องไปอาบน้ำ ดูแลข้าวของของน้องถ้าไม่สะอาด เด็กนักเรียนทุกคนจะมีหน้าที่รับผิดชอบ ทำเวรต่างๆ การดูแลจัดข้าวของเครื่องใช้ในศูนย์ฯ มีต้นไม้ที่ต้องดูแล เด็กอนุบาลจะดูแลคนละต้น ผัก ผลไม้ ช่วยกันปลูกช่วยกันดูแล “แจกเมล็ดพันธุ์ และให้ไปปลูก ไปดูแล ไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง การได้ดูแล เค้าก็จะได้กิน ถ้าไม่ดูแลเค้าก็จะไม่ได้กิน และต้องดูแลจนถึงรากแก้ว ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีกินในครั้งต่อไป” ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ครูมองเห็น และเริ่มประบวนการพัฒนาเด็กนักเรียนของครูเจี๊ยบ

กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็กเพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ และเชื่อมโยงสู่ชุมชนสังคม

จากหลักคิดของครูเจี๊ยบที่ไม่อยากให้เด็กทิ้งถิ่นฐาน “ถ้าเด็กไม่รักชุมชนของตนเองเด็กก็จะทิ้งถิ่น” จึงเลือกการอนุรักษ์ลายผ้าเพื่อให้เด็กรักในเอกลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยงเพื่อไม่ให้เด็กทิ้งถิ่นเป็นตัวเดินเรื่อง เป็นตัวช่วยในการเดินทางของเด็กๆ ไปเยี่ยมบ้านโน้นบ้านนี้ หรือแม้แต่พาเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีลายผ้าสวยๆ ไม่แพ้กัน จึงเริ่มเขียนแผนการเรียนรู้ประชาคมอาเซียนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน ของครูเจี๊ยบ เพื่อให้ได้ทักษะการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างทักษะอนาคตใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ ในโครงงาน “เส้นสายลายสวย ศิลปะบนผืนผ้า สู่วิถีอาเซียน”เพื่อให้ความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองยังคงอยู่และได้เรียนรู้เอกลักษณ์ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งความเหมือนและแตกต่าง บูรณาการกันระหว่างสาระวิชาสังคมศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี ในระดับประถมปีที่ ๖ แต่เท่าที่สังเกตน่าจะได้ในสาระวิชาศิลปะ และวิชาคณิตศาสตร์ควบคู่ไปด้วย

การค้นหาข้อมูลของเด็กไกลเมืองแบบนี้คงหนีไม่พ้นห้องสมุดของศูนย์ฯ ที่ครูเจี๊ยบพยายามเก็บรวมรวมข้อมูลต่างๆ หรือจากหนังสือบริจาคมาจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ น่าอ่าน การจับกลุ่มป.6 และป.4 เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันและพากันดำเนินไปตามจังหวะของกิจกรรมเจี๊ยบได้พาทำกิจกรรมกลุ่ม เขียนนิทาน เขียน mind map หรือ กิจกรรมโครงงาน ในวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ มีใบงานเพื่อให้กลุ่มร่วมสังเกต ดูรากของต้นไม้ ดูชนิดของแมลง เปรียบเทียบกับหนังสือ หรือในรายวิชาที่เกี่ยวกับท้องถิ่นเด็กๆ จะพากันเรียนรู้ ออกไปสนทนาซักถามที่บ้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วนำมาเล่าสู่กันฟังที่เน้นในเรื่องราวของวัฒนธรรมกะเหรี่ยงเช่น เรียนรู้วิธีการจักสานการทอผ้า เรียนรู้เพลงพื้นบ้านนิทานพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงแม้จะยังไม่ชัดเจนในการร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ของครูและเด็กเท่าที่สังเกตครูเจี๊ยบมีทักษะในการพาเด็กทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ และคอยกระตุ้นเด็กๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่นในช่วงเช้าหลังการเคารพธงชาติและสวดมนต์ตอนเช้าแล้ว คุณครูจะพาเด็กทั้งศูนย์ฯ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงชั้นประถมปีที่ 6 นั่งล้อมวงเป็นวงเดียว โดยให้พี่โตๆ ที่พอรู้เรื่องในการทำกิจกรรม นั่งแทรกน้องเล็กๆ เพื่อช่วยดูแลน้องน้อยตลอดเวลา และครูเจี๊ยบพานำเล่นกิจกรรมที่สอดแทรกทักษะ เสริมวิธีคิด เสริมการแก้ปัญหาเล็กๆ เหมือนกับเป็นการเล่นอย่างมีสาระในระดับประถม ก่อนแยกย้ายเพื่อไปเรียนหนังสือ คุณครูจะพานั่งสมาธิและสอนธรรมะเล็กน้อย โดยเฉพาะในเรื่องของการทำความดี การเป็นเด็กดีของครอบครัว ชุมชน และสังคม

นอกจากเรื่องการบูรณาการการเรียนการสอนแล้ว ครูเจี๊ยบยังช่วยจัดส่งเสริมอาชีพให้กับคนในบ้านกรูโบ เช่น ก่อตั้งกลุ่มพริกแห้ง, กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง มีการก่อตั้งธนาคารข้าวให้ชุมชน และดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวกะเหรี่ยง อนุรักษ์เครื่องใช้หัตถกรรมพื้นบ้านกะเหรี่ยง และอีกหลายอย่าง ครูเจี๊ยบเป็นครูผู้เสียสละจริงๆ จึงกลายเป็นที่รักของคนในชุมชน

การลงมือปฏิบัติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การฝึกฝนเด็กๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปของครูเจี๊ยบโดยการปฏิบัติจริงร่วมไปการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นครูด้วยการใช้ชีวิต อบรมสอนสั่ง พาคิด พาทำ อยู่บนชีวิตจริงนอกจากโครงงานเส้นสายลายสวย ศิลปะบนผืนผ้า สู่วิถีอาเซียน ที่บูรณาการกลุ่มสาระวิชาต่างๆ แล้ว ครูเจี๊ยบมีโครงงานวิทยาศาสตร์ เช่น การรู้จักตัวแมลง พืชผัก โดยให้เด็กๆ ได้ทำงานกลุ่ม มีการตั้งโจทย์คำถามเช่น“ได้เรียนรู้อะไรบ้าง?” “มีข้อสังเกตุอะไรที่ทำให้ได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้น?” “มีอะไรที่แตกต่างไปจากนี้(หนังสือ)บ้าง?” เป็นต้น เพื่อฝึกให้เด็กได้มีการตั้งข้อสังเกตและเพื่อให้เด็กๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนและช่วยกันค้นหาคำตอบซึ่งเด็กๆ สะท้อนว่าสนุก ชอบ ได้ทำงานกับเพื่อนๆ และยังมีโครงงานการปลูกผักที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันของคนในครอบครัว ถ้าไม่ช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแล ผักจะไม่งามแพ้ลูกบ้านอื่น การประเมินของครูเจี๊ยบโดยเดินไปเยี่ยมบ้านโน้น บ้านนี้พูดคุยซักถามผู้ปกครองถึงกระบวนการทำงาน ความรับผิดชอบของเด็กๆ หรือลูกๆ ของพวกเขา และนำผลผลิตมาขายที่ศูนย์ฯ เด็กมีรายได้ ครอบครัวมีกินนับว่าเป็นการสร้างการเรียน การทำงาน การอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัว ในชุมชนอย่างเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต ..

การเปลี่ยนแปลงต่อปัจจุบันและอนาคตของเด็กน้อย

ครูเจี๊ยบได้ผลักดันลูกศิษย์รุ่นแรกให้ได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อในระดับมัธยม และระดับปริญญาตรี ของคุณครูเจี๊ยบส่งผลให้ลูกศิษย์ 2 คนจากบ้านกรูโบได้ไปเรียนต่อชั้น ม.1 ที่ ชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยมีคุณลุงบุญทัน มหาลัย เป็นเลขาธิการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า เป็นผู้ดูแล และต่อในระดับชั้น ม.4 ที่โรงเรียนมัธยมอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยมีอาจารย์สมประสงค์ เป็นผู้ดูแล และสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพฯ เอกภาษาไทย ซึ่งได้รับทุนจากโครงการบัณฑิตคืนถิ่น ซึ่งเป็นทุนของสมเด็จพระเทพฯ อย่าง น้องเจนน.ส.จริยา ทรัพย์กิจเกษตร และน้องอ๊อดน.ส.พรรณิภา บำเพ็ญรุ่งโรจน์ได้พร้อมใจกันบอกว่า ครูเจี๊ยบเป็นทุกอย่าง เป็นทั้งครู เป็นทั้งแม่

“ครูเจี๊ยบเป็นทุกอย่างสำหรับพวกหนู ครูเจี๊ยบเคยบอกว่า เน้นสอนพวกหนูให้เป็นคนดีมากกว่าคนเก่ง เพราะคนดีจะอยู่ในสังคมได้ แต่ถ้าคนเก่งจะอยู่ในสังคมไม่ได้ถ้าไม่เป็นคนดี”

“ครูเจี๊ยบสอนให้มีระเบียบวินัย อดทน ดูแลน้อง”

“เป็นกันเองกับชุมชนกับทุกบ้าน ชาวบ้านรักครูเจี๊ยบ”

น้องเจน ได้บอกถึงการเรียนการสอนของครูเจี๊ยบว่า “ครูเจี๊ยบให้โอกาสทุกอย่าง ฝึกทอผ้าไปเถอะไม่ต้องกลัวเสีย เสียก็ทำใหม่ เริ่มใหม่ได้ ถ้าดีครูเจี๊ยบก็จะเอาไปขายให้เรามีรายได้ ถ้าอยู่ที่บ้าน พ่อแม่จะยังไม่ให้ทำ เหมือนการปลูกผัก ถ้ายังเล็กพ่อแม่ก็ไม่ให้ทำ ให้พี่โตมาช่วย พ่อไปช่วยทำ แต่พอมาอยู่โรงเรียนเราได้ฝึกทุกอย่างทำให้เราได้ทำ”

กระบวนการพี่สอนน้อง

เป็นกระบวนการที่ทำให้พี่รู้จักรับผิดชอบ ดูแล และแบ่งปันให้กับน้องระดับชั้นเล็กๆ พากันช่วยเหลือครูและโรงเรียนอย่างมีความรับผิดชอบ และเมื่อน้องได้เลื่อนระดับชั้นสูงขึ้นไป ก็จะต้องกลายเป็นพี่ที่จะต้องดูแลน้องๆ ต่อไป เป็นกระบวนการที่มีนัยยะสำคัญ เพราะช่วยทั้งแบ่งเบาภาระครูที่มีอยู่คนเดียวอย่าง และยังทำให้เด็กๆ ได้มีความรับผิดชอบ ดูแลกันและกัน

“ตอน ป.6 แบ่งหน้าที่ทำความสะอาด ตักน้ำ ล้างห้องน้ำ รดน้ำต้นไม้บ้าง ช่วยคุมแถว ช่วยดูแลจับคู่กับน้อง ป.1 อ่านภาษาไทยให้น้องฟัง”

“การกลับไปสอนหนังสือที่บ้าน เพราะความผูกพัน เป็นบ้านเรา ไม่อยากทิ้งน้องๆ อาจจะไม่ได้เต็มที่แต่แค่ขอให้ได้ปูพื้นฐานให้กับน้องๆ อยากทำให้ได้ครึ่งหนึ่งของครูเจี๊ยบแต่คงจะยากแต่ก็จะทำให้ดีที่สุด”

เข้าสู่เมืองหลวงเพื่อรับการศึกษา และจะกลับบ้านเรา อย่างอดทน และรอคอย

“พวกหนูได้ทุนการศึกษาเทอมละ 2 หมื่นต่อ 2 คน ค่าเทอมๆ ละ 8,000 บาท ค่าหอ 2,800 บาท นอกนั้นใช้ในชีวิตประจำวันเงิน 100 บาท 1,000 บาทมีค่ากับพวกหนูมาก แต่นี่เงินหมื่นได้มาเวลาจ่ายออกไปก็คิดว่าไม่เห็นได้อะไรเลย เพื่อนก็ถามว่าอยู่ได้เหรอ เพราะเพื่อนหนูบางคนก็ใช้ที 5 หมื่น 6 หมื่นบาท พวกหนูข้าวกลางวัน ข้าวเย็นไม่กินก็ได้เพราะครูสอนให้อดทน”

“ทุกวันนี้คิดอยากจะกลับบ้านทุกลมหายใจ อยู่บ้านสบาย อากาศปลอดโปร่ง หนูนั่งรถเข้าเมืองกลับมาหนูจะตายแล้วหนูไม่ไหว หนูก็ไม่รู้ว่ามันสะดวกสบายตรงไหน อยู่บ้านเราไม่ต้องใช้เงิน ไม่มีสารพิษ อยู่ที่นี่หนูกลัวไปหมด ร่างกายก็เปลี่ยน เมื่อก่อนอยู่บ้านหนูก็ไม่ถึงกับแข็งแรงแต่ก็ไม่ได้ป่วยมาก แต่มาอยู่นี้หนูปวดเมื่อยตัวไปหมดเหมือนคนแก่ หายใจไม่ออก มือชาเขียนหนังสือไม่ได้ต้องบอกให้เพื่อนช่วยเขียนแทน บางทีเครียดว่าจะเรียนตามเพื่อนไม่ทันจนต้องโทรฯ หาครูเจี๊ยบ ครูก็จะบอกอดทนนะลูก

แม้จะเป็นเพียงนักเรียนเล็กน้อยของกลุ่มตัวอย่างที่ได้พูดถึงครูเจี๊ยบผู้เป็นครูตัวอย่างและเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจแก่พวกเขา “น้องเจน และน้องอ๊อด”ทำให้พวกเขาเกิดพัฒนาการจากการดูแลของครูเจี๊ยบที่เป็นพื้นฐานมีระเบียบวินัย มีความอดทน ดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีนิสัยประหยัดต่อค่าใช้จ่ายในเมืองหลวง ที่เด่นชัดคือเรื่องความรักบ้านเกิด ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง การพูดภาษาไทยที่ชัดเจน ที่ครูเจี๊ยบคงจะภูมิใจในตัวเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ของครู

การเรียนรู้และก้าวสู่ความเป็นครูในศตวรรษที่ 21ของครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์

วิถีชีวิตภายในศูนย์ฯ สะท้อนภาพความเป็นครูที่มีจิตวิญญาณ และมีคุณธรรม ที่มีต่อเหล่าศิษย์ตัวน้อยของครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์

  1. เป็นครูและผู้ให้แรงบันดาลใจ : มีชีวิตการเป็นอยู่ที่มีพลังเป็นครูและให้แรงบันดาลใจแก่เด็กและผู้คน ในชุมชน ครูเจี๊ยบเป็นครูต้นแบบที่ช่วยสร้างเสริมพลังการเรียนรู้ของเด็กๆ แม้จะยังเห็นภาพไม่ชัดเจนในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ครูเจี๊ยบพยายามพาเด็กๆ ทำนั้นสามารถส่งผลต่อวิธีคิดและกระบวนการทำความดี ของเด็กๆ ได้ในอนาคต เช่น การให้นักเรียนชั้นสูงสุดคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลน้องเด็กเล็ก แบบ “พี่สอนน้อง” ซึ่งทำให้พี่ๆ ได้ฝึกความรับผิดชอบ ศูนย์ฯ แม้ในระดับอนุบาลก็ยังได้รับมอบหมายในการดูแลต้นไม้ 1 ต้น การฝึกให้มีระเบียบวินัยในตนเองที่คุณครูเจี๊ยบบอกว่าไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแต่เพียงในศูนย์ แต่จะพยายามฝึกให้พวกเขาได้ทำสิ่งเหล่านี้ที่บ้าน และในชุมชนของเขาด้วย
  2. งานสมดุลกลมกลืนกับการดำเนินชีวิต : พาเด็กๆ เรียนรู้ พาเด็กๆ ทำงานอย่างเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต ถ่ายทอดและสร้างสิ่งต่างๆให้กับเด็ก ชุมชน อย่างมีความหมาย การศึกษารูปแบบของการศึกษานอกโรงเรียนที่คุณครูเจี๊ยบพยายามนำพาชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ฯ ทำงานร่วมกันอย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ตั้งแต่การจัดตั้งกลุ่มต่างๆ การส่งเสริมด้านอาชีพให้กับชาวกรูโบ
  3. มุ่งความสำเร็จไปกับการสร้างชีวิตส่วนรวม : มีความสุขและมุ่งความสำเร็จในชีวิต ผ่านการสร้างสังคมและชีวิตการอยู่อาศัยกับส่วนรวม เพื่อให้ตนเองได้ร่วมอยู่อาศัยอย่างมีความสุขในสังคมที่ดีอีกทีหนึ่ง ด้วยความที่พื้นแพคุณครูเจี๊ยบไม่ใช่ชาวกรูโบ แต่ต้องมาเปิดพื้นที่ใหม่ในชีวิตเพื่อการสร้างสรรสังคมที่เป็นอยู่ให้เป็นสังคมที่ตัวเองต้องเรียนรู้และอยู่ร่วมกันกับชาวกรูโบอย่างมีความสุข โดยพาลูกหลานของพวกเขามาเป็นสภาพแวดล้อมผสมพลังใจที่มีอยู่ล้นเหลือของตนเองออกมาในรูปแบบของการทำงานเพื่อส่วนรวมตลอด 15 ปี
  4. อดทนและเปิดกว้าง : อดทน มีจิตใจเปิดกว้าง พยายามและให้โอกาสทำความเข้าใจและเรียนรู้ความเป็นจริงร่วมกับผู้อื่น
  5. พากันใช้ชีวิตและทำสิ่งสร้างสรรค์ : เป็นครูด้วยการใช้ชีวิต อบรมสอนสั่ง พาคิด พาทำ อยู่บนฐานชีวิตจริง
  6. ให้โอกาสและให้ความเข้าใจ : ให้โอกาส อดทน รอคอยความเจริญงอกงามที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของพัฒนาการบนเงื่อนไขแวดล้อมและพื้นฐานอันแตกต่างกัน
  7. บูรณาการการเรียนรู้กับการเลี้ยงชีวิต : ประคับประคองให้เรียนรู้และให้เข้าถึงความจริงด้วยการปฏิบัติ ไปจนถึงการเกิดทักษะการพึ่งตนเอง กล้าริเริ่ม ได้ความมั่นใจในการทำงานและนำชีวิตตนเอง
  8. เป็นสภาพแวดล้อมและกัลยาณมิตรให้กัน : เป็นครูและสภาพแวดล้อมของชีวิต เพื่อเป็นตัวช่วยในการเลือกสรรความมีประสบการณ์ ทั้งต่อการมีประสบการณ์ต่อสังคมถิ่นฐานบ้านเกิด การมีประสบการณ์ต่อโลกภายนอกอย่างค่อยเป็นค่อยไป