เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

ครูเกตุสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 สนใจเรื่องพัฒนาการทางร่างกายของเด็กๆ เรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายผ่านการกระโดดตบแบบต่อสู้(จับคู่กระโดดแข่งกัน)ซึ่งจัดขึ้นในชั่วโมง Home room โดยเป้าหมายที่วางไว้ตอนแรกเพียงแค่เพื่อต้องการดูพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กแต่ละคน และความสนุกสนานเท่านั้นรวมถึงต้องการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมในการทำกิจกรรมให้กับเด็กซึ่งเป็นการสอนทางอ้อม

กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

เมื่อเริ่มต้นกิจกรรม ด้วยสภาวะของเด็กและครูที่ร่วมกิจกรรมอย่างสนุกสนาน เฮฮา เศร้า ตื่นเต้น กังวลและกลัวไปพร้อมๆ กัน ครูเกตุไม่ได้ควบคุมเด็กมาก เพียงแต่สังเกตพฤติกรรมของเด็กตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ น้องคะน้าเป็นเด็กผู้หญิงมีความแข็งแรงของร่างกายที่สมดุล ออกมากระโดดตบเลือกคู่ต่อสู้เป็นเด็กผู้ชายที่รูปร่างเล็ก ท่าทางไม่มั่นคงเท่าเธอ ปรากฎว่าขณะที่กำลังแข่งขันกันอยู่นั้นเธอโซเซออกนอกตารางเล็กน้อย พอได้ยินเสียงของเด็กชายกองเชียร์พูดลอยๆ ขึ้นมาว่า “คะน้าต้องเป็นฝ่ายแพ้แน่เลย”เธอหยุดยืนร้องไห้สะอื้นอย่างหนัก บรรยากาศที่มีเสียงเชียร์ เสียงหัวเราะค่อยๆ เงียบลง เมื่อเด็กชายกองเชียร์เห็นว่าน้องคะน้าหยุดยืนร้องไห้จึงพูดขึ้นมาทันทีว่า “ขอโทษ”

เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นครูจะสรุปและอธิบายให้กับเด็กทุกคนฟังว่า เกิดอะไรขึ้น นำพาให้คะน้าถ่ายทอดความรู้สึกของเธอออกมาให้เพื่อนได้รับรู้ความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับตัวเธอ และให้เด็กทุกคนร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น สุดท้ายเด็กๆ ได้รับรู้ว่าที่คะน้าร้องไห้นั้นไม่ใช่ความโกรธแต่มันเป็นความกลัว ความไม่มั่นใจ และได้เรียนรู้ร่วมกันว่าคำพูดด้านลบที่แผ่วเบานั้นมีผลต่อจิตใจของคนเรามากมายขนาดไหน ทำให้สูญเสียความมั่นใจ และเกิดความกลัวขึ้นมาทันที ทำให้หมดกำลังใจในการทำสิ่งต่างๆ หลังจากนั้นทุกอย่างดำเนินต่อไปด้วยเสียงหัวเราะและความสนุกสนานเช่นเดิม แต่ที่มีเพิ่มมาคือเสียงเชียร์ด้านบวกที่ดังขึ้น ทุกคนยังคงได้ร่วมกระโดดตบเพื่อเรียนรู้ชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข

สิ่งที่ต้องการสอดแทรกระหว่างการทำกิจกรรม คือ อยากให้เด็กมีคุณธรรมและจริยธรรมผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ได้มีการสอนตรงๆ ให้เด็กได้เรียนรู้จักเท่าทันสภาวะจิตใจและอารมณ์ของตนเอง เป็นการนำพาแลกเปลี่ยนภาวะภายในเช่น มีหรือไม่มีความมั่นใจเพราะอะไร รู้จักชมเชยเมื่อรู้สึกชื่นชมยินดี รู้จักขอโทษเมื่อรู้สึกผิด มีความสามัคคี รู้จักความรู้สึกของผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งเป็นการเรียนการสอนแบบจิตตปัญญาที่เติมเต็มมนุษย์ให้เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบ

กิจกรรมนี้สะท้อนลักษณะนิสัยที่ดีของเด็กออกมา คือ ความรับผิดชอบ ความกล้าหาญ การสำนึกผิดชอบชั่วดี ความสามารถเข้าสังคมของเด็กชายกองเชียร์ที่เมื่อทำให้เพื่อนเสียความมั่นใจแล้วรู้สึกสำนึกผิด รับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง จึงเอ่ยคำขอโทษออกมาหลังจากที่เห็นว่าเพื่อนร้องไห้ถ้าครูเกตุไม่ดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ ใจร้อน ไม่มีสติ ไม่เพียงแต่สังเกตการณ์ แต่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นี้ จะทำให้ครูดุและตักเตือนเด็กชายกองเชียร์ ตัดสินปรากฎการณ์นี้ตามแบบฉบับของครูผู้คุมกติกาว่าทุกอย่างต้องถูกต้องเป็นไปตามที่ออกแบบไว้ในตอนแรก ทุกคนคงไม่ได้ยินเสียงคำขอโทษจากเด็กชายคนนั้นที่มีต่อเพื่อน และถ้าครูต่อว่าเด็กต่อหน้าเพื่อนๆ จะเปรียบเสมือนเป็นการสร้างปมด้อยหรือแผลในใจขึ้นกับเด็ก ดังนั้น ครูสามารถสร้างความสัมพันธ์แนวราบกับเด็ก รู้จักฟังและมีความเข้าใจ รู้จักเด็กและดึงศักยภาพที่ดีของเด็กออกมาได้ รวมถึงมีทักษะการสอน ออกแบบและสร้างการเรียนรู้ เปลี่ยนบทบาทจากครูที่ต้องสอนตามแผนและกำหนดเวลาการเรียนการสอน มาเป็นโค้ชให้เวลาและเปิดพื้นที่กับเด็ก สามารถพาเด็กแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนได้จนนำไปสู่การสร้างลักษณะนิสัยของเด็กอย่างเป็นรูปธรรม

ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

การฝึกเด็กตามหลักจิตตปัญญา[1] ยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงได้ทันที แต่เท่าที่ครูเกตุสังเกตพฤติกรรมของเด็กนั้น เด็กมีความเข้าใจเพื่อนมากขึ้น รู้จักยอมกันมากขึ้น (การยอมรับผู้อื่นและให้เกียรติผู้อื่น) มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่น (ความมั่นคงทางอารมณ์ มีเหตุผล) มีจิตสำนึก รู้สึกตัวเร็วว่าตัวเองกำลังทำผิดอยู่ก็จะเอ่ยคำขอโทษออกมาทันที(สำนึกรับผิดชอบชั่วดี)สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ได้จากการทำกิจกรรมที่มีการสอดแทรกให้เด็กเข้าใจตนเองและเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้คนรอบตัว และต้องเชื่อในตัวเด็ก แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กๆ จะไม่ทำผิดอีก เพราะตามปกติของช่วงวัยเด็กก็จะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบ้าง ซึ่งครูก็ต้องคอยพัฒนาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก

ถ้าเป็นแต่ก่อนเมื่อมีอะไรมากระทบกระเทือนจิตใจหรือทำให้เสียใจ น้องคะน้าจะร้องไห้ฟูมฟายและนิ่งเฉย ไม่คุยกับใคร แต่ครั้งนี้ น้องคะน้าได้ยินเสียงพูดด้านลบของเพื่อนว่า “เธอต้องเป็นฝ่ายที่แพ้แน่ๆ” เธอเสียใจ ร้องไห้ แต่ยังสื่อสารได้ เปิดใจรับฟังคำพูดของครูและกล้าบอก ยอมรับความรู้สึกของตนเอง ถือว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของนักเรียนคนนี้ที่ถูกฝึกฝนให้เข้าใจตนเองและนำไปสู่การเข้าใจผู้อื่น

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้

ได้เรียนรู้ว่า ต้องตระหนักและเปิดพื้นที่ให้กับเด็กได้แสดงออก ใจกว้าง มีเมตตา เด็กสามารถรับรู้ในเรื่องราวดีๆ ได้โดยที่ครูไม่ต้องคอยสอนคอยบอก รับรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้เอง เพียงแต่ต้องมีครูที่เป็นผู้สร้างบรรยากาศ คอยหล่อหลอม มีความอดทน ความเมตตากรุณา สติ ไม่ใช้ประสบการณ์เดิมมาตัดสินการกระทำของเด็กในทันทีทันใดเข้าใจและตระหนักในหลักความแตกต่างของมนุษย์


[1]จิตตปัญญาศึกษา คือ การศึกษาที่ทำให้เข้าใจด้านในของตัวเอง รู้ตัว เข้าถึงความจริง ทำให้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่น เกิดความเป็นอิสระ ความสุข ปัญญา และความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยเน้นการศึกษาจากการปฏิบัติ เช่น จากการทำงานศิลปะ โยคะ ความเป็นชุมชน การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม สุนทรียสนทนา การเรียนรู้จากธรรมชาติ และจิตตภาวนา เป็นต้น