เรื่องเล่าของครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีสำหรับเด็ก
การทำงานอย่างทุ่มเท เสียสละ และเมตตา ให้ความรัก เอาใจใส่นักเรียนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ของครูตุ๋ม ทำให้มีนักเรียนเรียนดี มีจิตอาสามาช่วยครูตุ๋มด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง การใช้จิตวิทยาเชิงบวกที่สอดคล้องกลมกลืนกับศักยภาพและสภาพความจริงของเด็ก แต่ละคน กอปรกับการใช้นวัตกรรมการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ ๖ ขั้นตอน ที่ตกผลึกจากประสบการณ์การสอนของตนเอง ทำให้ครูตุ๋มประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และทำให้นักเรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อการอ่านและเขียน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองและอุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ต่อไป นอกจากนี้แล้ว กระบวนการพัฒนานักเรียนด้วยนักเรียนจิตอาสาที่ครูตุ๋มพัฒนาขึ้น ยังส่งผลโดยตรงต่อ “นักเรียนจิตอาสา” ในการพัฒนาทักษะทั้งการอ่าน การเขียน คุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตร และคุณธรรมพื้นฐานด้านความเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และสามัคคี ให้เกิดมีภายในใจของนักเรียน อีกทั้งยังส่งผลทางอ้อมต่อการเรียนรู้ในรายวิชาอื่นๆ กับเพื่อนครูในโรงเรียน อันเป็นผลจากพฤติกรรมการเรียนรู้แบบแบ่งปัน ช่วยเหลือ หรือการเรียนรู้เป็นทีมของนักเรียน
ครูตุ๋มเริ่มที่การสร้างศรัทธาให้กับเด็กๆ ด้วยการทำงานหนัก เสียสละ เอาใจใสดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเห็นความสำคัญในการอ่านออกเขียนได้ โดยใช้ปฏิสัมพันธ์เชิงบวก หรือจิตวิทยาเชิงบวก ทำให้มีนักเรียนจิตอาสา ซึ่งนับเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เข้ามาช่วยในกระบวนการพัฒนา ที่ท่านแบ่งเป็น ๕ ขั้นตอน ได้แก่
๑.ออก แบบกระบวนการ ๖ ขั้น เพื่อพัฒนานักเรียนที่บกพร่องการอ่านการเขียน โดยศึกษาปัญหาและบริบทของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภาคเรียน เพื่อจัดเตรียมให้สอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป กระบวนการเรียนรู้ ๖ ขั้น ได้แก่ อ่าน เขียน คัด วาดรูป-เขียนคำ นำไปแต่งประโยค และการเขียนอิสระ ดังแผนภาพด้วยรูปวงจร ๖ เหลี่ยม เพื่อให้ง่ายต่อการนำเสนอต่อไป
๒.รับสมัครนักเรียนจิตอาสาที่เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีชั้นประถม ศึกษาปี่ที่ ๔ – ๕ – ๖เข้ามาช่วยครูด้วยความสมัครใจตามจำนวนนักเรียนพิเศษเรียนร่วมเพื่อจะได้ ดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นคู่ระหว่างนักเรียนจิตอาสาและนักเรียนพิเศษเรียนร่วม
๓.จัดอบรมนักเรียนจิตอาสาให้เข้าใจกระบวนการ ๖ ขั้นในช่วงปิดภาคเรียนก่อนนำไปใช้และเน้นการใช้จิตศึกษาเชิงบวกในการดูแล เพื่อให้บรรยากาศในการดูแลไม่ตึงเครียดผ่อนคลายสบายใจเข้าใจให้เวลา ให้โอกาส และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้อย่างเต็มใจจะช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการ เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
๔.จัดกิจกรรมดูแลในช่วงพักเที่ยงทุกวันวันละ ๒๐ – ๓๐ นาทีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนา และไม่ให้มีผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียนในชั่วโมงเรียนปกติโดยใช้กระบวน การ ๖ ขั้นในการดูแล แต่ละคู่จะขยับช้าบ้างเร็วบ้างตามบริบทของนักเรียน ครูจะกำหนดกรอบกระบวนการในการดูแล แต่จะไม่กำหนดกรอบระยะเวลาเพื่อไม่ให้กดดันนักเรียนเมื่อคู่ไหนครบรอบ ๖ ขั้นแล้วก็เริ่มใหม่ไปเรื่อยๆแต่จะปรับระดับความยากมากขึ้นตามลำดับ เป็น “ การฝึกซ้ำย้ำทวนเข้าใจ ใช้เป็น เห็นผลขยายต่อ”
๕.สรุปผลการจัดกิจกรรมก่อนสอบปลายภาคสองสัปดาห์ให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรค์ ความต้องการและผลสำเร็จในการดูแล เพื่อนำไปปรับปรุงในการทำกิจกรรมครั้งต่อไปและมีการประกวดผลงานของนักเรียน พิเศษ เมื่อนักเรียนมีผลงานครูจะต้องจัดพื้นที่ให้นักเรียนจัดแสดงผลงาน เพื่อให้กำลังใจและนักเรียนจะมีความภาคถูมิใจที่นักเรียนสามารถก้าวข้าม ปัญหาได้มีรางวัลมอบให้เป็นคู่เพราะนักเรียนพิเศษพัฒนาตนเองแสดงว่ามีความ ร่วมมือรับผิดชอบขยันมุ่งมั่นส่วนนักเรียนจิตอาสาก็สะท้อนให้เห็นถึงความ เอาใจใส่ มีความเพียร มีความทุ่มเทเสียสละ
กระบวนการ ๖ ขั้น
กระบวนการ ๖ ขั้น มุ่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการอ่านและการเขียน ๖ประการ ได้แก่ พาอ่าน พาเขียนคำสะกด คัดลายมือ วาดรูป-เขียนคำ แต่งประโยค และเขียนอิสระ เริ่มจากง่ายที่สุดและยากขึ้นไปตามลำดับ เริ่มจากการ “พาอ่าน” “พาเขียน” ไปจนถึงการ “ฝึกอ่าน” “ฝึกเขียน” ด้วยตนเอง โดยทำซ้ำเป็นวงจรการเรียนรู้ด้วยบทเรียนที่ยากและท้าทายมากขึ้นตามความ สามารถของนักเรียน
กิจกรรม | ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน |
ขั้นที่ ๒ การฝึกเขียนตามคำบอก จากสิ่งที่อ่าน | การ ฝึกด้วยการอ่านควบคู่กับการเขียน ทำให้นักเรียนสามารถจดจำรูปคำและคุ้นเคยกับคำต่างๆ นอกจะจำคำที่เห็นจากการอ่านแล้ว (รับเข้า (Input)) ยังได้ฝึกถ่ายทอดสิ่งที่คิดได้ (Output) ผ่านการเขียนได้อย่างถูกต้อง |
ขั้นที่ ๔ วาดรูปภาพคน สัตว์ สิ่งของ และเขียนแจกรูปคำ และเขียนคำแทนรูปนั้นๆ | การ ให้นักเรียนวาดรูปสิ่งที่ตนเองรู้จัก เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ถ่ายทอดความรู้ความคิด (Output) ได้ฝึกสมองด้านขวาผ่านงานศิลปะ ส่วนการเขียนแจกรูปคำ หรือเขียนคำที่มีความหมายสัมพันธ์กับรูป เป็นการฝึกเชื่อมโยงและสื่อสาร ได้ฝึกใช้สมองได้ซ้ายและขวาให้ทำงานสัมพันธ์กัน ทำให้นักเรียนเข้าใจและจดจำได้ง่ายขึ้น |
การใช้กระบวนการ ๖ ขั้น แก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
ครูตุ๋มบอกว่า การใช้หลักสูตรฯ จะต้องทำความเข้าใจและคอยดูแลให้นักเรียนจิตอาสาปฏิสัมพันธ์กับ “ต้นกล้าที่อ่อนแอ” ด้วยจิตวิทยาเชิงบวกทุกขั้นตอน ทั้งการพูดการแสดงออก ให้ใช้อย่างสร้างสรรค์ไม่ดุไม่ต่อว่าไม่ท้อไม่ตำหนิแต่จะให้กำลังใจให้เวลา ให้โอกาสเข้าใจเป็นกำลังใจ ตลอดเวลาในการดูแลเพราะความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวล ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับเด็กหรือผู้ใหญ่วัยใดก็ตาม จะสกัดกั้นวงจรการทำงานของสมอง ทำให้กระบวนการเรียนรู้สะดุด
การใช้กระบวนการ ๖ ขั้นตอน เริ่มที่การจัดให้นักเรียนจิตอาสาดูแลนักเรียนกลุ่มเป้าหมายแบบตัวต่อตัว เป็นคู่ๆ ดูแลอย่างต่อเนื่องทุกวันในช่วงพักกลางวัน ครูก็จะอยู่ดูแลช่วยเหลือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ตลอดภาคเรียน จนกว่าจะสามารถอ่านเขียนได้คล่องคืออ่านหนังสือในบทเรียนได้ จึงจะหยุดดูแล เพื่อให้หายอย่างถาวร พึ่งพาตนเองได้ โดยระหว่างดำเนินกระบวนการ นักเรียนจิตอาสาจะทำแฟ้มงานของตนเองเริ่มจากอักษรไทย คำพยางค์ส่วนประกอบคำสองส่วน ส่วนคำสามส่วน คำสี่ส่วน การทำชิ้นงานให้เขียนเป็นแผนภาพความคิด ฯลฯ
๑) เริ่มจากการ “พาอ่าน” อ่านคำต่างๆ เรียนรู้เรื่องคำ เริ่มจากคำแม่ ก กาที่ประสมสระแท้สระประสมสระเกินตามลำดับโดยการอ่านแบบแจกรูปคำจากหนังสือใน บทเรียน หรือนิทาน อ่านแจกรูป ให้รู้เรื่องอักษรไทย เรื่องพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเลขไทยให้คล่อง
๒) เขียนอักษรไทย (ในกรณีที่ยังจำไม่ได้ เขียนไม่เป็น) การเขียนคำให้เขียนเป็นแผนภาพความคิดครั้งละ ๕ – ๑๐ คำ ตามบริบทของนักเรียนนำคำต่างๆ ที่เขียนมาจำแนกส่วนประกอบของคำเริ่มจากคำสองส่วนคือ พยัญชนะสระคำที่มีส่วนประกอบสามส่วนคือ พยัญชนะสระตัวสะกดหรือ พยัญชนะสระวรรณยุกต์คำที่มีส่วนประกอบสี่ส่วนคือ พยัญชนะสระตัวสะกดและวรรณยุกต์เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนได้ทราบส่วนประกอบของ คำ
๓) นำคำที่เขียนมาคัดไทยเพื่อให้นักเรียนจำรูปคำได้ คุ้นเคยกับคำ ฝึกสมาธิให้จดจ่ออยู่กับการเขียน ปลูกฝังระเบียบวินัยในการเขียน
๔) เมื่อสังเกตว่าการอ่านการเขียนคำที่ประสมสระได้มากและคล่องแล้ว ให้นักเรียนวาดรูปที่สอดคล้องกับคำที่เขียน หรือวาดรูปคน (เช่น พ่อ แม่ ตา ยาย) สัตว์ ต้นไม้ สิ่งของ ที่นักเรียนรู้จักและชื่นชอบ แล้วเขียนคำที่มีความหมายตามภาพ
๕. ฝึกแต่งประโยคง่าย โดยนำคำมาเรียงกันว่าใคร ทำอะไรเช่น พ่อยิ้ม แม่นั่ง ยายนอน หมาวิ่ง ต้นไม้สีเขียว ฯลฯ เมื่อการเขียนการอ่านในระดับนี้คล่องแล้วก็เรียงคำยากขึ้น เช่น เป็นใคร ทำอะไร กับใคร เช่น แม่ทำงาน พ่อไถนา พี่ดื่มน้ำ เป็นต้น
๖. เมื่อสามารถเขียนประโยคได้แล้วก็ให้เขียนเรื่องอิสระจากการวาดรูป เริ่มจากเขียนคำบนรูปที่วาด เขียนเรื่องสั้น คำไหนที่เด็กพิเศษเรียนร่วมเขียนไม่ได้นักเรียนจิตอาสาจะบอก ฝึกเขียนเรื่องโดยนักเรียนจิตอาสาตั้งคำถามนำ
ผู้เขียนมองว่า การใช้กระบวนการ ๖ ขั้น ให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ “ใจของครูเพื่อศิษย์” ครูตุ๋มมีคุณลักษณะการทำงานที่ประกอบด้วยอิทธิบาท ๔ คือ ทำอย่างมีความสุข (ฉันทะ) ขยันทำอย่างต่อเนื่อง (วิริยะ) มีจิตใจจดจ่ออยู่กับเด็กๆ (จิตตะ) และมีการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นอัตโนมัติในตนเอง (วิมังสา) อีกปัจจัยสำคัญคือวิธีการใช้จิตวิทยาเชิงบวกได้อย่างเหมาะสม ลงตัว ผู้เขียนสังเกตลักษณะหรือวิธีการปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนได้ดังนี้
๑) สอดคล้องกับ “ความรู้เดิมของเด็กรายบุคคล” เสมอ คือ เริ่มจากเรื่องใกล้ตังของเด็กเสมอ เชื่อมโยงกับเหตุการณ์จริง ชีวิตประจำวันของนักเรียนจริงๆ
๒) เริ่มจากง่ายๆ ก่อนเสมอ ทำให้เด็กรู้สึกว่า “ฉันทำได้”“ฉันคิดเองได้” ซึ่งจะทำให้เด็กเกิด “แรงบันดาลใจ” อยากอ่านออก อยากเขียนได้
๓) ท่านใช้ภาษาพื้นถิ่นที่เด็กคุ้นเคยผสมด้วย โดยเฉพาะภาษาอีสาน ที่ท่านบอกว่า สามารถถ่ายทอดและแสดงถึงความรู้สึกของ “ใจ” ได้ถึง “ก้นบึ้ง” ทีเดียว
๔) เน้นเรื่องราว ความหมาย มากกว่าการ “จดจำโดยตรง” โดยฝึกให้คิดวิเคราะห์ และสร้างประโยคจากภาพเหตุการณ์หรือคน สัตว์ สิ่งของ ที่นักเรียนเป็นคนคิดและเลือกวาดด้วยตนเอง ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีความหมาย
ผู้เขียนมองว่า ปัจจัยของความสำเร็จที่สำคัญไม่แพ้จิตวิทยาเชิงบวกคือ การใช้ “เด็กจิตอาสา” ซึ่งนอกจากจะทำให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ได้ตามเป้าหมายแล้ว นักเรียนจิตอาสารยังมีพัฒนาการที่ชัดเจน สอดคล้องกับทฤษฎีว่า “การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ การสอน” หลังจากใช้กระบวนการนี้ ๓ ภาคเรียนของครูตุ๋ม พบว่า นอกจากนักเรียนจิตอาสาจะมีพัฒนาการด้านการอ่านการเขียนดีขึ้นมากแล้ว ยังพบการเปลี่ยนแปลงในมิติด้านคุณธรรม ความรับผิดชอบ ความเอื้อเฟื้อ ในทางที่ดีขึ้น
บทความโดย ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม