เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

เรื่องเล่าครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้เด็ก

ภูมิหลังของสถานการณ์และความเป็นมาของปัญหา

เกือบ๑๐ ปีแล้วที่สถานกาณ์ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงยืดเยื้อหากนับตามอายุเด็กคนหนึ่ง คือ ตั้งแต่ชั้นประถม ๑ ในวันที่เหตุการณ์ปะทุเมื่อปี 2548 จนถึงวันนี้ เด็กคนเดียวกันโตขึ้นกลายเป็นวัยรุ่นอายุ ๑๖ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓คำถามชวนคิด คือ ภาวะการณ์สังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ความกลัว ความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจกันระหว่างผู้คนรอบตัว เพื่อนต่างศาสนาสิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมเด็กอย่างไรพวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนแบบไหน และโรงเรียนที่อยู่กลางสิ่งแวดล้อมเช่นนี้จะเป็นอย่างไร

" โรงเรียนนราสิกขาลัยปัจจุบันรับทั้งเด็กชายและหญิงรวมกันบางปีเกือบ 2000 คน มีเด็กทั้งสองศาสนาจำนวนพอๆ กัน ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เด็กมุสลิมหรือที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 51 คน % ส่วนเด็กพุทธประมาณ 49% ก่อนเกิดเหตุการณ์ทั้งหมดก็อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน นับตั้งแต่ปี 2548 ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น แม้จะไม่มีเหตุในโรงเรียนแต่ที่บ้าน ในชุมชนเขา เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเรื่องเหล่านี้อยู่รอบตัวเด็กพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง ก็อาจเป็นคนหนึ่งที่สูญเสีย ได้รับผลกระทบ

สถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เราไม่อาจพูดว่า เด็กพุทธกับเด็กอิสลามเขาไม่คุยกัน หรือไม่มีปฏิสัมพันธ์แต่เรารู้สึกหรือต้องยอมรับได้ว่า มีความเปลี่ยนแปลง มีบางสิ่งเกิดขึ้นแน่นอนอยู่ตรงนั้น"

พอดีในช่วงปีเดียวกัน เพื่อนครู คือ ครูประไพพรรณ บุญคงก็ชวนให้ผมมาช่วยงาน โดยรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผมเลยได้เข้ามาทำกิจกรรมกับเด็กๆ อย่างจริงจังกิจกรรมแรกเริ่มตอนนั้น คือ โครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ เยาวชนทำความดีถวายในหลวง"

กิจกรรมที่เกิดขึ้น

มีคำกล่าวว่า ท่ามกลามซากปรักหักพัง ยังมีดอกไม้ผลิบานเช่นเดียวกัน ท่ามกลางสถานการณ์ความเลวร้ายที่เกิดขึ้น ดอกไม้ที่ผลิบานให้ความหวังกับเด็กๆ และครูโรงเรียนนราสิกขาลัย คือ โครงงานคุณธรรมฯด้วยแนวคิดของโครงการฯ ที่ต้องการสร้างเด็กให้มีคุณธรรมด้วยการลงมือทำจริงและใช้กระบวนการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ ที่ต้องคิด วางแผน ทำงานอย่างเป็นระบบ

เด็กนราสิกขาลัยที่ทำโครงงานคุณธรรมรุ่นแรกมองหาประเด็นปัญหาที่ตนสนใจเพื่อลงมือทำ ในที่สุดก็เกิดเป็น "โครงการเยาวชนยุคใหม่ ใส่ใจสมานฉันท์ ด้วยพลังจิตอาสา ทำดีถวายพ่อหลวง" กิจกรรมหลักของโครงการในปีแรกคือ การออกไปเยี่ยมให้กำลังครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

"กิจกรรมโครงงานคุณธรรมเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีความเป็นระบบสูง สามารถดึงศักยภาพของผู้เด็กๆได้ เพราะเด็กเขาเริ่มจากการคิดเองออกแบบการดำเนินการต่างๆ เองทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของการแก้ปัญหานั้น เด็กจะได้พัฒนาเรื่องคุณธรรมอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ว่าปัญหานี้จะต้องเอาคุณธรรมข้อไหนไปใช้ แต่การที่เขามีจิตอาสามาทำงานเหล่านี้ก็เป็นฝึกคุณธรรมเรื่องความเสียสละ การคิดถึงผู้อื่น ส่วนรวมทันที นอกจากนี้การลงมือทำจริงยังทำให้รู้จักคิดสังเคราะห์คิดริเริ่มสร้างสรรค์แล้วยังพัฒนาเรื่องภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีมด้วย"

ในเวลานั้น การทำกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย มีความเสี่ยงสูงจะต้องทำกันอย่างรอบคอบ ด้วยจิตที่ปรารถนาดีและความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของเด็กๆโครงงานดังกล่าวได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศ และกลายเป็นต้นทางของการทำโครงงานคุณธรรมอย่างต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบันเกิดเป็นชมรมโครงงานคุณธรรมซึ่งมีกิจกรรมมากมายอาทิ กิจกรรม พลังความคิดพิชิตสมานฉันท์ กิจกรรม ใบโพธิ์สื่อใจ สื่อรัก กิจกรรม Facebook สานใจ สายใยสัมพันธ์ กิจกรรม ลานบุญร่วมใจ รวมใจสองศาสนากิจกรรมขยายความดี จากพี่สู่น้องโดยใช้เทคนิค ๔ดี

กระบวนการที่ใช้

ทุนที่มีของครูศิลปะคือ ความคิดสร้างสรรค์อีกทั้งความละเอียดอ่อนต่อสิ่งต่างๆที่พบเห็น ทำให้ครูไกรสร ทั้งในฐานะครูและฐานะหัวหน้าหมวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนสามารถนำคุณสมบัติเหล่านี้มาทำงานกับเด็กอย่างได้ผล

"คือเรามีเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เราก็จับมาใช้ได้อย่างกิจกรรมต่างๆ เริ่มแรกเราปล่อยให้เขาคิดเองก่อนแล้วเราลงไปดู ไปฟังไปช่วยต่อยอดให้ หรือเวลาสอนในรายวิชา เราก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์หาทางสอดแทรกคุณธรรมเข้าไปผมใช้เทคนิคพูดเลียบเคียงเข้าไปเช่น เห็นเด็กสูบบุหรี่ ผมก็จะเอามาเล่าให้ฟังในห้อง วันก่อนเห็นคนสูบ สำลักควันแทบตายคือ เราให้เด็กเขาสัมผัสกับคำพูดของเรา ความจริงใจที่เราเป็นห่วงเขา แล้วเอาคุณธรรมเข้าเทียบตลอดแล้วก็พยายามเข้าหาเด็กในมุมที่เขารับได้

"ด้วยความที่ผมเป็นครูศิลปะผมจะช่างสังเกตเรื่องของเด็กๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนถ้าเราสังเกตเห็น ความผิดปกติของเขา หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ผมก็จะไม่มองข้ามเข้าไปคุยกับเขาเข้าไปสอบถามล่าสุดเจอนักเรียนคนหนึ่ง เขายืนร้องไห้อยู่ ตาแดง ผมเดินผ่าน สังเกตเห็น บางคนเขาอาจเดินผ่านไปก็ได้แต่ผมจะเดินเข้าไปถาม เป็นอะไรลูกร้องให้ทำไม ตอนแรกเขาก็ไม่บอกแต่พอเขาสัมผัสความจริงใจของเราคือเราต้องให้เด็กเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจก่อนเขาก็เล่าให้ฟังว่าเพื่อนไม่คุยกับหนู ผมก็คิดในใจแค่นี้ทำไมต้องร้อง ตอนแรกก็นึกว่าคนสองคนแต่ถามไปปรากฎว่า ทั้งห้องเลย คือ คู่กรณีไปยุเพื่อนทั้งห้องไม่ให้พูดด้วยอย่างนี้ก็เข้าใจล่ะว่าทำไมต้องร้องก็ปลอบให้เขาใจเย็น ค่อยๆ สอดแทรกธรรมะเข้าไปว่า สถานการณ์อย่างนี้หนูต้องใช้ขันติสงบสักหน่อย ใจเย็นๆ ค่อยๆคิดระยะนี้ก็ยังไม่ต้องพูดกับเขา ให้เอาน้ำเย็นเข้าลูบและถ้ามีปัญหาอะไร ก็มาบอกครูนะ"

โรงเรียนนราสิกขาลัยอาจโชคดีที่ไม่ได้มีปัญหายากอย่างเรื่องเพศสัมพันธ์เรื่องยาเสพติด เป็นต้น แต่เป็นปัญหาแบบคลื่นใต้น้ำคือ เรื่องความสัมพันธ์ ก็จัดการได้ไม่ง่ายดังนั้น สิ่งที่ครูไกรสรสรุปถึงกระบวนของตนเองที่ทำงานกับเด็ก สิ่งแรกคือการสังเกตต้องมีความละเอียดอ่อนในการเข้าถึงเด็กใช้เทคนิคการพูดสอดแทรกธรรมะ และที่สำคัญที่สุดคือ การใช้ความจริงใจสื่อให้ถึงเด็ก เมื่อเด็กสัมผัสได้ก็จะเกิดความไว้วางใจ พร้อมบอกเล่าปัญหาและพร้อมรับฟังคำแนะนำ คำสอนของครู

ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ในอดีตโรงเรียนนราสิกขาลัยจัดว่าเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดที่พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กมาเข้าเรียน เพราะชื่อเสียงที่เป็นโรงเรียนใหญ่แต่จากความสำเร็จของกิจกรรมโครงงานคุณธรรมที่ทั้งนักเรียนไทยพุทธและมุสลิมร่วมกันทำอย่างแข็งขัน จนเห็นผลชัด ไม่เพียงแค่รางวัลจำนวนมากที่ได้รับแต่เป็นคุณภาพของเด็กที่ได้รับพัฒนาทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ กระบวนการแก้ปัญหา และความมีจิตอาสาที่สังคม ชุมชน ยอมรับ

"พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่พาเด็กมาเข้าเรียนเขาบอกเลยว่า อยากให้ลูกหลานมาเรียนที่นี่ เพราะเชื่อว่าเราสามารถสร้างเด็กให้เป็นคนดี จากที่เขาเห็น อย่างกิจกรรมง่ายๆ ที่เราพาเด็กไปกวาดวัด ไปกวาดมัสยิดซึ่งมีทั้งเด็กพุทธ เด็กมุสลิมนะครับที่มาทำกิจกรรมด้วยกัน และกิจกรรมที่ออกไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาล ไปให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญเสีย เป็นต้น เพราะฉะนั้นตรงนี้คือ ทักษะชีวิตที่เขาพัฒนาเรื่องปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อคนในสังคมการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร นี่คือ สิ่งที่ทุกคนเห็นกันหมด ทั้งในชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ"

นอกจากนี้ การดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ได้สร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ภายในโรงเรียนที่เป็นเชิงบวกเกิดเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของนักเรียนโรงเรียนนราสิกขาลัยรุ่นต่อๆมา ที่จะมีความสนใจทำงานจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของชมรมโครงงานคุณธรรมมากขึ้นทุกปีทั้งเด็กไทยพุทธ และไทยมุสลิม

สิ่งที่ได้เรียนรู้

"เดิมเราสอนศิลปะก็จัดว่าได้คลุกคลีกับเด็กอยู่นะแต่พอลงมาทำกิจกรรมมาสัมผัสโครงงานกับเด็กๆเราได้รู้ว่าเราคิดเองไม่ได้ ต้องให้เริ่มจากเด็ก เพราะถ้าเริ่มจากเขาแล้ว เขาจะอยากทำงานนั้นก็จะเดินไปได้เร็ว และสำเร็จหน้าที่ของเราเป็นเพียงต้องแหย่ให้เด็กรู้จักคิด แล้วเรามาช่วยต่อยอดแนะนำให้สมบูรณ์ขึ้น

แล้วการที่เราได้ไปลงมือทำกับนักเรียนด้วย ทั้งไปกวาดวัด ไปมัสยิด ไปเยี่ยมให้กำลังใจคน ผมรู้สึกทำแล้วมันสบายใจ เราได้ประสบการณ์จริงในการสร้างจริยธรรม เกิดคำว่า อาสาขึ้นมาในตัวเอง อยากทำความดีและอยากพาเด็กไปถึงเป้าหมายคือความดี และเวลาเราเอามาพูดให้เด็กฟังสอดแทรกเรื่องจริยธรรมเข้าไปก็จะเป็นการเล่าเรื่องจริงทำให้มันมีพลัง การที่โครงงานคุณธรรมได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จะได้เหรียญ หรือได้เงินมาก็ภูมิใจเท่ากันหมด แม้แต่รางวัลในชีวิตความเป็นครูทรัพย์สินที่ได้มา สิ่งเหล่านี้เราได้มาตามหน้าที่อยู่แล้ว แต่ความดีที่เราได้ทำเป็นรางวัลในชีวิตที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก"