เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

เรื่องเล่าการสร้างคุณลักษณะที่ดีให้กับเด็ก

สถานการณ์เรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นของครู

จากสิบกว่าปีที่พานักเรียนทำโครงงานบนฐานวิจัย เด็กๆมีผลงานที่โดดเด่น น่าสนใจ สามารถผลิตหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ และนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียน และเป็นบันไดให้เด็กๆได้นำไปใช้ในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา การทำโครงงานเป็นเรื่องที่ยาก การเรียนรู้ผ่านความยากย่อมมีความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทั้ง ครูและเด็กยังไม่มีเครื่องมือในการรับมือกับความรู้สึก หรือแรงกดดันที่เกิดขึ้นขณะทำงาน ทำให้เหนื่อยและหมดพลังได้ง่าย แต่ตัวเราเองจะรู้ว่าปลายทางที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆมันคุ้มค่า มันหอมหวาน เด็กมีโอกาสได้ค้นพบตัวเอง ได้แสดงศักยภาพหลายๆด้านเพื่อทำให้โครงงานถึงเป้าหมาย มีความสามารถในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีทักษะในการทำงาน ทักษะชีวิต ทักษะการคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี การแบ่งเวลา ฯลฯ อีกทั้งยังได้ขัดเกลาบ่มเพาะนิสัยที่ดีงาม เช่นฝึกความอดทน ความพยายาม และการทำงานเป็นทีม ดังนั้นเมื่อ การทำโครงงานบนฐานวิจัย เป็นเครื่องมือที่ดีที่จะทำให้เด็กๆได้เติบโตทั้งวิชาความรู้และการสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีงาม

ในฐานะที่เราเป็น “ครู” อะไรที่เราพอจะทำได้บ้าง ในบริบทของโรงเรียนที่เราสอนอยู่ มีวิธีการใดที่เหมาะสมที่จะทำให้ระหว่างการเดินทางของเด็กๆ เต็มไปด้วยความท้าทาย น่าสนใจ น่าตื่นเต้น และมีชีวิตชีวา จึงเริ่มมองหาช่องทาง แน่นอนมันจะเกิดขึ้นได้หรือเปลี่ยนแปลงได้ ตัวเราเองนี่แหละที่ต้องเริ่มก่อน เริ่มต้นด้วยการอ่านหนังสือ สมัครไปอบรม สมัครเข้าโครงการต่างๆที่ทำให้เรามีโอกาสได้ฝึกได้เรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเอง มองเห็นมุมมองใหม่ๆ และสำคัญมากคือ สร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองเพื่อจะทำหน้าที่ของความเป็นครูโดยที่ไม่ทุกข์ และที่สำคัญต้องมีเพื่อนร่วมเดินทาง นั่นคือหาเพื่อนและสร้างทีมงานควบคู่ไปพร้อมๆกัน

กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

การเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานจะมีชีวิตชีวา ต้องเกิดจากแรงขับจากข้างใน เราต้องปลุกแรงบันดาลใจของเด็กๆให้พองโต แล้วขยายแรงบันดาลใจให้ใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น กระทั่งพลังที่เกิดขึ้นมันชนะ มันเหนือกว่า มันยิ่งใหญ่กว่า ความขี้เกียจหรือการผลัดวันประกันพรุ่ง ทำให้เด็กๆลุกขึ้นมาทำโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เป็นการเรียนรู้ที่ระเบิดมาจากข้างในของเด็กๆเองถึงวันนั้น ครูจะเหนื่อยน้อยลง และ ให้นักเรียนตระหนักว่า มนุษย์มีศักยภาพ เราเกิดมาจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ซึ่งแต่ละคนมีศักยภาพแตกต่างกัน ห้องนี้ครูสองคนช่วยกันสอน ตัวเองสอนวิทย์ครูเปิ้ลสอนศิลปะ จัดให้เรียนสามชั่วโมงต่อกัน เพื่อให้เหมาะกับการลงพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน มีสีสัน และชีวิตชีวามาก ใช้จิตตปัญญา เน้นหลักปัญญา 3 ฐาน สอนควบคู่กับการทำโครงงานบนฐานวิจัย (RBL)ก่อนเรียนก็พานอนก่อนประมาณ 15 นาที เพื่อผ่อนคลาย เตรียมสมองก่อนการเรียนรู้ ตื่นมารำชี่กงอีก 15 นาที ดูแลฐานกาย ให้แข็งแรงและพร้อมที่จะเรียนรู้ ให้เด็กๆเห็นความสำคัญของฐานกายและต้องดูแลเพื่อให้เรามีร่างกายที่แข็งแรงและพร้อมสำหรับการเรียนรู้ ส่วนฐานใจ ก็ ใช้วิธีการฝึกสติ ฝึกทักษะการฟัง ฟังเพื่อนให้มาก ฟังคนอื่นให้มากขึ้น ฟังด้วยความเคารพ ฟังด้วยใจที่ใคร่ครวญ ไม่ว่าเสียงข้างในของเราจะรู้สึกอย่างไรให้ห้อยแขวนไว้ก่อน ไม่ด่วนตัดสินไม่พิพากษา แต่ช่วงเวลาการทำงานที่ต้องลงมือทำ แน่นอนต้องมีเรื่องของความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรู้สึกของเด็กๆเมื่อต้องไปเจอปัญหา หรือผลกระทบจากการทำงานเป็นทีม ระหว่างสัมพันธภาพของเพื่อนในทีม หรือสัมพันธภาพกับครูผู้ปกครอง หรือบุคคลอื่น นิสัยที่เป็นตัวจริงของเด็กๆได้เผยออกมา หรือปรากฏให้เห็น มีผลกระทบเพื่อนในกลุ่มหรือเพื่อนในห้อง

วิธีการคือให้เด็กได้นั่งล้อมวง สนทนา โดยการสะท้อนตัวเองก่อนว่าเขาเห็นตัวเองเป็นอย่างไร แล้วจากนั้นครูและเพื่อนๆต้องมีวิธีการที่แยบยลในการสะท้อนว่าเราเห็นเหมือนหรือเห็นต่างจากเขาอย่างไร ครูต้องเก็บรายละเอียด ต้องสังเกต ถ้าพบหรือเห็น ลักษณะนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ หรือมองเห็นว่าจะเป็นปัญหาในอนาคตในการเข้าสังคม หรือปัญหาในอนาคตในการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ หรือเป็นปัญหาในอนาคตที่ต้องใช้ในการเรียนในระดับสูง ฝึกให้เด็กๆได้ใคร่ครวญ เรียนรู้และปรับตัวฐานคิดก็เน้นเรื่องการ คิดเชิงเหตุผล คิดเชิงระบบ คิดซับซ้อน คิดเชื่อมโยง เชื่อมโยงความจริง ที่ค้นพบจากการทดลอง กับทฤษฎี ความรู้ในห้องเรียนหรือตำราเรียน เชื่อมโยงชีวิตจริง เชื่อมโยงกับบริบทของชุมชน และเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ร่วมชื่นชมผลงานของเด็กๆในวันนำเสนอผลงาน เกิดความภาคภูมิใจร่วมกันระหว่างเด็กๆ ครู และผู้ปกครอง และยังเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ที่เด็กๆได้ค้นพบสู่ชุมชน

กรณีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก

กรณีของแพนทีน นักเรียนชั้น ม.3 ที่ผ่านการเรียนรู้ การทำโครงงานบนฐานวิจัย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ที่หนูได้เข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา “หนูเห็นนิสัยของตัวเองชัดขึ้น การทำโครงงานเป็นกลุ่มทำให้เพื่อนในกลุ่มเป็นกระจกที่สะท้อนนิสัยตัวเอง และการที่คนอื่นสะท้อนนิสัย เราก็คิดในใจนะว่า จริงหรอ เราเป็นยังงั้นจริงหรอ เราไม่เคยรู้สึกตัวเองมาก่อนเลยหนูเป็นคนใจร้อน ไม่พอใจอะไรนี่คือด่าเลยค่ะ แบบว่าเพื่อนนี้ไม่กล้าเข้าใกล้กลัวเหมือนมีรังสีแผ่ออกมาจากตัวหนู และอีกอย่างก็เป็นคนที่พูดอะไรไม่เคยคิดก่อน ชอบพูดประชดเพื่อน เป็นนิสัยที่ไม่ได้เรื่องเลย (หัวเราะ) แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นปี ผ่านการฝึกอะไร มามาก ถูกขัดเกลาจิตใจด้วยหลักจิตปัญญา สอนความเป็นคนที่เรียกว่าคน สอนการให้อภัย มันใช้ได้ผลค่ะ หนูโกรธกันกับเพื่อนคนหนึ่งหนูไม่คุยกับเค้าเลยสักคำเป็นเวลาสองปี แต่หลังที่ได้ทำกิจกรรมหนึ่ง จำได้ว่าตอนนั้นอาจารย์เรียกเพื่อนกับหนูมานั่งกลางวงและให้เพื่อนคนอื่นๆ ทั้งห้องมานั่งล้อมรอบ คือ เพื่อนเค้าก็จับมือหนูแล้วขอโทษ น้ำตาเขาไหลเลยค่ะ หนูให้อภัยค่ะทุกอย่างที่ผ่านมามันคืออดีตทั้งหมด ถึงแก้วที่มันแตกไปแล้วมันไม่สามารถนำกลับมาประสานรอยร้าวให้เป็นแบบเดิมได้ แต่เราก็สร้างแก้วใบใหม่ขึ้นมาได้ หนูรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปค่ะ หนูใจเย็น หนูเริ่มควบคุมอารมณ์ได้ มีสติค่ะ สมาธิไม่ค่อยสั้นเหมือน แต่ก่อน เมื่อก่อนหนูทำอะไรไม่ค่อยเสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน และตอนนี้ก็พยายามขจัดนิสัยที่ไม่ดีออกค่ะ แต่อาจจะมีวอกแว้กในบางครั้ง แต่มันใช้ได้ผลค่ะทุกคนสามารถเปลี่ยนนิสัยตัวเองได้แต่ต้องใช้เวลาหน่อยค่ะ มันไม่สามารถเห็นผลได้ภายในสองสามเดือนค่ะและหนูก็เชื่อค่ะว่าถ้านิสัยแย่ๆในตัวเรามันก็ต้องออกไปจากตัวเราได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าต้องอาศัยเวลาเท่านั้นเอง”

กรณีของลูกหมี นักเรียนชั้น ม.3 “คุณครูหลายคนชมว่าห้องหนูเป็นห้องเก่ง แต่พวกหนูคิดว่าห้องของหนูไม่ใช่ห้องเก่งเลย ห้องของหนูก็เหมือนห้องทั่วๆไป ไม่ได้วิเศษมาจากไหน เพียงแค่สามารถรักษาเพื่อนที่เข้ามาเรียนตอนม. 1 พร้อมกันทั้ง 40 คนไว้ได้ ให้จบพร้อมกันสามารถเรียนมาถึงม.3 ทั้ง 40 คน โดยไม่มีใครออกไปก่อน ห้องของหนูเป็นห้องรวมเด็กนักเรียนที่ดื้อถึงดื้อมากๆ แต่คุณครูไสวกับคุณครูนลินรัตน์ก็สามารถสอนได้อย่างดี การที่คุณครูทั้ง 2 คนต้องมาสอนนักเรียนที่มีนิสัยแบบนี้ต้องใช้พลังเยอะมากๆ เพราะบางคนเวลาคุณครูว่าอะไรนิดหน่อยก็จะหน้าบูด สะบัดหน้าหนี ชักสีหน้าใส่ ไม่ใช่ใครหรอกค่ะ หนูนี่แหละค่ะเพราะหนูเป็นคนใจร้อน ถึงขั้นเอาแต่ใจตัวเอง เวลาอยู่บ้านหนูชอบพูดเสียงดัง เป็นคนระงับอารมณ์ตัวเองไม่เป็น อย่างเช่นเวลาพ่อเมา พ่อชอบมาหยอก แต่คือนิสัยของหนูคือไม่ชอบคนเมาอยู่แล้วหนูก็ชอบตะคอกใส่พ่อ แล้วก็ไม่คุยกับพ่อ พ่อก็จะเงียบ ทุกครั้งที่หนูตะคอกใส่พ่อหรือใส่แม่ หนูรู้สึกผิดมากเลยน่ะค่ะ เวลาหนูตะคอกหรือเหวี่ยงใส่พ่อใส่แม่เสร็จ หนูก็จะกลับมาคิดแล้วทุกครั้งที่หนูกลับมาคิด หนูจะร้องไห้ตลอด หนูก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร แต่เวลาหนูโกรธหนูบังคับตัวเองไม่ได้เลย เหมือนสติหนูมันหลุดไปกับความโกรธหรือหลุดไปกับเรื่องที่หนูโกรธไปแล้ว จนวันหนึ่งคุณครูทั้ง 2 ท่านได้เชิญแม่ไปคุยไปทำความเข้าใจ และถามเกี่ยวกับเรื่องที่บ้าน ว่าเวลาอยู่บ้านหนูเป็นแบบนี้ไหม หรือเวลาอยู่บ้านนิสัยหนูเป็นยังไง แล้วครูก็จะมาคุยกับหนู ครูทั้ง 2 จะพูดเสมอว่า มันไม่ดีน่ะ ทำอย่างนี้กับพ่อแม่ไม่ถูกน่ะ คุณครูจะค่อยๆบอก ค่อยๆสอน ครูจะไม่พูดใส่แบบ ตึ้งๆ ครั้งเดียวเลยเพราะครูอาจจะรู้ว่า อารมณ์ในช่วงวัยรุ่น เป็นอย่างไร ถ้าครูพูดแบบนี้เด็กจะเป็นอย่างไร ครูต้องอดทนมากกับการเกลี้ยกล่อมให้หนูหยุดพฤติกรรมนี้ หนูก็ค่อยๆหยุดละน่ะค่ะถึงมันจะเปลี่ยนได้ไม่ค่อยมาก แต่ก็ถือว่าน้อยลง ต่อจากนี้หนูจะพยายามระงับอารมณ์ของหนูให้มากขึ้น จะค่อยๆปรับนิสัยจากแบบเดิมๆให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ถึงมันจะไม่ถึง 100% แต่ก็จะทำให้ดีกว่าเมื่อก่อนค่ะ ตอนนี้หนูขึ้นม.4 แล้วน่ะค่ะ หนูเลือกเรียนห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาเหมือนเดิม”

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้

การเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ ได้หล่อเลี้ยงให้ครูมีกำลังใจ มีพลัง มีเป้าหมาย มีแรงบันดาลใจและภาคภูมิใจในการทำหน้าที่ของความเป็นครู เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ลดบทบาทลดอำนาจของความเป็นครูที่มีในห้องเรียนลง เรียนรู้ที่จะอดทนรอคอย เปิดโอกาสให้เด็กๆได้เรียนรู้ ได้คิด ไม่ด่วนขัดจังหวะเมื่อความคิดและจินตนาการของเด็กๆ กำลังทำงาน ใส่ใจในการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทางของเด็กๆ ถือเป็นโอกาสที่ดีทำให้ได้เรียนรู้พัฒนาตนเองร่วมกับเพื่อนครูที่สอนด้วยกัน และสร้างเครือข่ายครูที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง ทั้งเครือข่ายภายในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ฝึกปรือฝีมือในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดห้องเรียนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการเรียนรู้ พลังในการแสดงศักยภาพตามความถนัดของตนเอง พลังที่ทั้งครูและเด็กร่วมกันเรียนรู้อย่างเบิกบาน