(ส่ง mail เรื่องเล่า)
ดิฉันชื่อ นางสาวนฤมล แก้วมาก รับราชการครูมาเป็นเวลา 6 ปีเต็มตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ครูนั้นได้รับผิดชอบรายวิชา เคมี ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ดิฉันได้สอนทั้งห้องเด็กเก่งและห้องเด็กที่ผลการเรียนเพียงเอาตัวรอดไปวันๆ ซึ่งหนึ่งที่ดิฉันสังเกตเห็นบ่อยๆ ก็คือนักเรียนที่เก่งมักจะไม่แบ่งปันความรู้ให้เพื่อนคนอื่น ในขณะที่เด็กผลการเรียนอ่อนก็จะจับกลุ่มกันเอง อันนำมาสู่ความไม่สามัคคีในชั้นเรียน เพราะนักเรียนจะไม่ตอบคำถามครู นักเรียนที่เรียนเก่งก็หวงความรู้ ไม่อยากให้เพื่อนรู้ ในขณะที่นักเรียนที่เรียนอ่อนก็ไม่กล้าตอบ กลัวเพื่อนรู้ว่าเราไม่เข้าใจ ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนอึดอัด ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนด้วยกันเอง ซึ่งดิฉันคิดว่าปัญหาการทำงานร่วมกันนี้เป็นปัญหาใหญ่ อันเนื่องมาจากทำให้กิจกรรมในชั้นเรียนขาดความสมดุล และถ้าพฤติกรรมดังกล่าวติดตัวนักเรียนไปจนกระทั่งทำงาน น่าจะส่งผลให้ขาดความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน ซึ่งจะทำให้องค์กรที่มีบุคคลากรดังกล่าวดำเนินงานได้ค่อนข้างยาก
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ดิฉันจึงคิดหาวิธีที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้พูดคุยกับ คุณครูผู้ใหญ่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และการค้นคว้าเพิ่มเติมจากงานวิจัย ก็พบความจริงที่ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดิฉันสอนแบบบรรยายมาโดยตลอด เน้นการให้ความรู้ที่ยากและลึก เน้นการทำโจทย์ปัญหา เพื่อนตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองและโรงเรียน ที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น แต่กลับขาดการสร้างลักษณะนิสัยที่ดี ดิฉันคิดว่าเป้าหมายของสังคมได้หล่อหลอมให้นักเรียนแข่งขันกันโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการได้ลองเปลี่ยนแนว/วิธีการสอน อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชั้นเรียนของดิฉันก็เป็นได้ และจากลักษณะของวิชาวิทยาศาสตร์ที่เน้นการปฏิบัติ ทดลอง สืบค้นข้อมูลแล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดีจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดิฉันคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้นักเรียนสามารถทำงานร่วมกัน และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเอง และการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
จากแนวความคิดเรื่องวิธีการสอนที่อยากจะปรับเปลี่ยนนั้น ดิฉันจึงได้เริ่มเปลี่ยนวิธีการสอนเมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา (ปีการศึกษา 2557) โดยให้นักเรียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
1. ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งสอนในรายวิชา โครงงานวิทยาศาสตร์ ได้สอนเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลที่นักเรียนสืบค้นได้ โดยเปิดอิสระทางความคิดให้กับนักเรียนได้ออกแบบวิธีการนำเสนอตามที่ตนเองสนใจ บางกลุ่มนำเสนอเป็นภาพวาด บางกลุ่มนำเสนอโดยนำของจริงมาเสนอ เป็นต้น และให้นักเรียนแสดงผลงานของนักเรียนไว้เพื่อให้เพื่อนๆได้เขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานและนำมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงต่อไป ซึ่งพบว่า กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนที่ขี้อาย ได้เริ่มแสดงความคิดเห็นด้วยการเขียนก่อน เพราะถ้าให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นหน้าชั้นเรียนอาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นกิจกรรมนี้จึงเหมือนเป็นการเริ่มให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกันในกลุ่ม ได้แสดงความคิดเห็นในกลุ่มคนเล็กๆ ที่นักเรียนสนิทก่อน แล้วจึงนำความคิดดังกล่าวมาเขียนแสดงความคิดเห็น และในกิจกรรมหลังจากนี้ก็ให้นักเรียนเวียนกัน แสดงความคิดเห็นต่อผลงานของเพื่อนเมื่อเพื่อนนำเสนอความคิด และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยพูดในแง่ดีและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
2. ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 วิชาเคมี นักเรียนสายการเรียนวิทยาศาสตร์จะได้เรียนเรื่องการเตรียมสารละลายจากสารบริสุทธิ์ แต่จากหนังสือแบบเรียนทั่วไปมักจะให้ทำการทดลองเตรียมสารละลายจากสารบริสุทธิ์เท่านั้น ในขณะที่ทางทฤษฎีจะมีการเตรียมสารละลาย 3 วิธีด้วยกัน จึงทำให้เกิดความคิดขึ้นว่า ถ้านักเรียนได้นำสารเคมีที่อยู่ใกล้ตัวมาทำการทดลอง และเลือกวิธีการเตรียมสารละลายด้วยตนเอง น่าจะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้น เนื่องจากผู้เรียนได้ศึกษาในสิ่งที่ตนเองสนใจซึ่งกิจกรรมนี้นักเรียนจะได้ทำงานร่วมกัน แสดงความคิดตั้งแต่สารที่จะเลือกเพื่อมาเตรียมสารละลายวิธีการที่จะเตรียม และคำนวณความเข้มข้นที่จะได้ หรือการทำให้นักเรียนเข้าใจวิธีการคำนวณเรื่องปริมาณสารสัมพันธ์จากการทำ sandwich โดยให้นักเรียนทุกกลุ่มนำวัตถุดิบมาในปริมาณที่แตกต่างกันตามความพอใจ แต่กำหนดสัดส่วนในการทาแซนด์วิชเหมือนกัน คือ ขนมปัง 2 แผ่น : ไข่ดาว 1 ใบ : ผักกาดหอม 1 ใบ หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมนักเรียนจะพบว่าแต่ละกลุ่มได้แซนด์วิชไม่เท่ากัน และสารที่เป็นตัวกำหนดจำนวนชิ้นคือสารที่หมดก่อน และเรียกสารที่หมดนี้ว่า สารกำหนดปริมาณ เป็นต้น
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนวิธีการสอนนี้ พบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนอย่างชัดเจนคือ นักเรียนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ และเสนอแนวปฏิบัติของตนเอง ในขณะที่เพื่อนแสดงความคิดเห็น ทุกคนก็ต้องรับฟัง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจากการทำกิจกรรมก็จะพบว่า บางกลุ่มช่วยกันระดมความคิดเพื่อนแก้ปัญหาบางกลุ่มมีผู้นำและผู้ตาม ในขณะที่บางกลุ่มก็เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นจึงเกิดการไกล่เกลี่ยเพื่อให้งานของกลุ่มสำเร็จลุล่วง ดิฉันพบว่าห้องเรียนของดิฉันมีการสื่อสารเกิดขึ้น ไม่เป็นการสื่อสารทางเดียวอย่างที่เคยเป็น และไม่ใช่เพียงนักเรียนเท่านั้นที่เปลี่ยนความคิด ดิฉันก็มีความคิดที่เปลี่ยนไป มุมมองในการสอนเปลี่ยนจากที่เคยต้องการให้นักเรียนทำคะแนนได้สูงเป็นเพียงให้นักเรียนได้เรียนรู้และสามารถทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้ มากไปกว่านั้นดิฉันยังรู้สึกว่านี่ต่างหากคือหน้าที่ที่แท้จริงของครู ที่ตลอดเวลาหลายปีได้ทำตกหล่นหายไป เพราะครูไม่ใช่เพียงผู้สอนความรู้ทำนั้นยังต้องอบร่ม บ่มเพาะพฤติกรรมที่ดีให้กับนักเรียนด้วย