อารีรัตน์ โพธิสาร : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ศรีสะเกษ

นางสาวอารีรัตน์ โพธิสาร แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ศรีสะเกษ


จากเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่อยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นำมาสู่การทำโครงการ Active Citizen “สานสัมพันธ์ กอนกรวยท่รวยอิก” ฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้านและสานสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชน

น้องนัท หรือ นางสาวอารีรัตน์ โพธิสาร ปัจจุบันเป็นนิสิต ชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ย้อนกลับไปประมาณ 6 ปี น้องนัทเคยเป็นหนึ่งในแกนนำเยาวชนโครงการ Active Citizen จังหวัดศรีสะเกษ น้องนัทเข้ามาร่วมโครงการตั้งแต่ตนเองเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงวัยรุ่นและเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่เด็ก ๆ หลายคนที่อาจจะต้องการคนที่มาคอยชี้แนะ ชี้นำเส้นทางเดินที่ดีให้กับชีวิต

ซึ่ง ณ ขณะนั้น น้องนัทได้มาเจอกับพี่ติ๊ก-ปราณี ระงับภัย (โค้ชพัฒนาพลเมืองเยาวชน จังหวัดศรีสะเกษ) ที่เป็นผู้ชักชวนให้น้องนัทไปร่วมทำโครงการด้วยกัน บวกกับการที่น้องนัทมีเวลาว่างมากพอที่จะสามารถจัดสรรมาทำโครงการร่วมกับเพื่อน ๆ ในชุมชนได้

จากเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 3 คนหนึ่งที่อยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จึงนำมาสู่การทำโครงการที่มีชื่อว่า ‘สานสัมพันธ์ กอนกรวยท่รวยอิก’ ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้าน และสานสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชนที่น้องนัทอาศัยอยู่

นอกจากความคาดหวังเดิมที่แค่ว่าจะอยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว แต่สิ่งที่น้องนัทได้จากโครงการนี้ไป คือ ทักษะที่จำเป็นมากมาย ที่สามารถนำไปต่อยอดในชีวิตประจำวันในปัจจุบันได


น้องเล็กที่ขึ้นมารับบทแกนนำโครงการ

ในช่วงการทำโครงการปีที่ 1 น้องนัทได้เล่าถึงประสบการณ์การทำโครงการให้ฟังว่า โครงการนี้แตกต่างจากโครงการอื่น เพราะทุกครั้งที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับพี่ๆ จะรู้สึกสนุก ถึงแม้ว่างานจะเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกเครียด ทุกๆ ครั้งที่ไปทำกิจกรรม รู้สึกเหมือนได้ไปพักผ่อน และได้พัฒนาตนเองในหลายๆ ด้าน เช่น

  • ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วยความที่น้องนัทเป็นน้องเล็กสุดและได้รับมอบหมายให้เป็นแกนนำกลุ่ม แต่การทำงานก็ไม่ได้มีอุปสรรคใดๆ เพราะพี่ๆ ในทีมให้เกียรติน้องนัท และตัวของน้องนัทเองก็ ‘เปิดใจที่จะรับฟังความคิดเห็นของพี่ๆ ทุกคนในทีม เพราะเชื่อว่าพี่ๆ มีประสบการณ์ที่สามารถนำมาถ่ายทอดและแบ่งปัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในทีมได้’
  • ทักษะการบริหารจัดการโครงการ จากการที่น้องนัทจะต้องคอยจัดการการเงินโครงการ การทำรายรับ-รายจ่าย การวางแผนงบประมาณ การจัดสรรเงินให้เพื่อน ๆ ไปทำโครงการ รวมถึงการจัดทำรายงานสรุปโครงการต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญของผู้นำในการบริหารจัดการโครงการให้ประสบความสำเร็จและลุล่วงไปได้ดี
  • ทักษะการสื่อสาร น้องนัทเล่าว่า เมื่อก่อนตนเองสื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่พอมาทำโครงการ น้องนัทจำเป็นต้องเข้าไปสัมภาษณ์เพื่อขอข้อมูลจากใหญ่ในชุมชน ทำให้น้องนัทได้ฝึกวิธีการสื่อสารและได้เรียนรู้วิธีการสัมภาษณ์ที่จะช่วยให้น้องนัทได้ข้อมูลที่ต้องการ โดยสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชนนั้นได้ด้วย ซึ่งวิธีการที่น้องนัทใช้ก็คือ ‘การอธิบายถึงความตั้งใจดีของตนเองในการอยากเรียนรู้เรื่องการละเล่นพื้นบ้านกอนกรวยท่รวยอิก และอาศัยการเข้าหาชุมชนอย่างสม่ำเสมอ แสดงให้ชุมชนเห็นว่าเราอยากเรียนรู้ และเชื่อใจว่าเราจะไม่ได้มาวุ่นวาย ผู้ใหญ่ในชุมชนจึงเริ่มเปิดใจที่จะพูดคุยและให้ข้อมูล’
  • การกลับมาของละเล่น ‘กอนกรวยท่รวยอิก’ ที่สูญหายไป คือภาพความประทับใจการทำโครงการ

ในปีที่ 1 น้องนัทและทีมได้ทำโครงการ ‘สานสัมพันธ์ กอนกรวยท่รวยอิก’ ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้านของชุมชน เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชน เพราะความสัมพันธ์ของเด็กกับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในชุมชนค่อนข้างห่างเหินกัน บวกกับความอยากรู้เรื่องการละเล่นท่รวยอิกที่น้องนัทและทีมไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย

ในการทำโครงการน้องนัทและทีม ได้ลงชุมชนเพื่อสัมภาษณ์และสอบถามข้อมูลกับผู้รู้ ซึ่งตรงนี้ทำให้เด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนมีโอกาสได้พูดคุยสื่อสารกันมากขึ้น ผู้ใหญ่ในชุมชนมองเห็นภาพลักษณ์และศักยภาพของวัยรุ่นในชุมชนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นที่ไม่ใช่เป็นเด็กแว๊นเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการ ‘สานสัมพันธ์ กอนกรวยท่รวยอิก’ ก็ต้องจบลงแค่ในปีที่ 1 เท่านั้น เพราะน้องนัทและทีมต่างก็ต้องแยกย้ายกันไปเรียนต่อ บางคนก็ไปทำงาน แต่น้องนัทก็ยังจำความประทับใจที่เกิดจากการทำโครงการได้ และเล่าให้ฟังว่า “หนูจำภาพที่พวกหนูไปทำกิจกรรมอยู่ที่โรงเรียนได้ แล้วก็มีผู้ใหญ่และคนในชุมชนมาร่วมกิจกรรมกับพวกหนู เขาก็รู้สึกดีใจที่การละเล่นที่มันหายไปกลับมา เขาได้มาสอนพวกหนู และพวกหนูก็พาน้องๆ เด็กตัวเล็กๆ มาเล่นด้วย รู้สึกว่าเป็นภาพประทับใจ และมันได้กลับเข้ามาทำให้เรารู้สึกว่า มันมีกิจกรรมหรือการละเล่นแบบนี้อยู่ด้วยหรอ ซึ่งเราไม่เคยรู้เลย”

นอกจากภาพความประทับใจที่น้องนัทจำได้ไม่ลืมแล้ว การทำโครงการนี้ช่วยให้น้องนัทได้สัมผัส และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชนมากยิ่งขึ้น กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับน้องนัทเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าในช่วงแรกของการทำโครงการ แม่ของน้องนัทจะไม่ค่อยสนับสนุนลูก เพราะเป็นห่วงลูก กลัวว่าหากเอาเวลามาทำโครงการอาจจะทำให้เสียการเรียน แต่เมื่อแม่เห็นความเปลี่ยนแปลงและความสามารถของลูก ปัจจุบันก็ให้การยอมรับและภาคภูมิใจในตัวน้องนัทเป็นอย่างมาก

  • ·ความมุ่งมั่นตั้งใจและการค้นพบตัวเองในเส้นทางความฝัน (Grit)

หลังจากที่น้องนัทไม่ได้ทำโครงการต่อในปีที่ 2 เพราะต้องไปเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ น้องนัทเล่าให้ฟังว่า ตนเองเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต เพราะค้นพบตัวเองแล้วว่าอยากเข้าเรียนในคณะไหน และต้องใช้วิชาอะไรสอบบ้าง ซึ่งความโชคดีของน้องนัท คือการมีพี่สาวที่เป็นคุณครูคอยให้คำปรึกษา เลยทำให้ตัวเองได้โอกาสในการค้นหาตัวเองก่อนเพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกัน

‘การวาดรูป’ คือสิ่งที่น้องนัทค้นพบว่าตนเองชอบและถนัด จึงได้ตั้งคำถามที่สำคัญกับตัวเองว่า ‘ถ้าชอบวาดรูปจะสามารถไปทำงานอะไรต่อได้’ ซึ่งคำตอบแรกคือเป็นคุณครูสอนศิลปะ แต่พี่สาวก็ได้ให้คำปรึกษาว่า การบรรจุเป็นคุณครูศิลปะนั้นโอกาสน้อยกว่าคุณครูวิชาหลัก ซึ่งนั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการเริ่มต้นมองหาโอกาสทางอาชีพอื่น ๆ ที่สามารถใช้ทักษะความสามารถในการวาดรูปที่ตัวเองชอบได้ จนกระทั่งได้มาเจอคณะสถาปัตย์ฯ ที่คิดว่าตอบโจทย์มากกว่า และถ้าเรียนจบแล้วจะได้เป็นสถาปนิก ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการทำงาน เพราะงานด้านนี้จะต้องทำงานตามโจทย์ของลูกค้าให้สำเร็จ

ซึ่งหลังจากค้นพบเส้นทางการเรียนที่ตัวเองสนใจแล้ว ในช่วงที่เรียนชั้นมัยธยมศึกษาปีที่ 4-6 น้องนัทจึงได้เตรียมความพร้อมฝึกความถนัดของตนเองก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย น้องนัทเล่าว่า ตอนนั้นตนเองได้เข้าไปอยู่ชมรมศิลปะ เพื่อไปฝึกฝนทักษะการวาดรูปและอยากเป็นตัวแทนโรงเรียนเพื่อแข่งขันวาดรูป เพราะจะได้มีผลงานที่สามารถนำไปยื่นเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้

แต่ด้วยความที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ทำให้เจอโจทย์ที่ท้าทาย การเป็นตัวแทนโรงเรียนในการไปแข่งขันวาดรูปก็ยากขึ้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากจะเก็บสะสมผลงานและเกียรติบัตร เพื่อนำไปยื่นเข้าเรียนในคณะสถาปัตย์ฯ น้องนัทจึงเปลี่ยนสายไปลองแกะสลักดู ทั้ง ๆ ที่น้องนัทเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์การแกะสลักมาก่อน และก็ไม่เคยจับมีดแกะสลักเลยสักครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่า พอได้ลองทำก็รู้สึกว่ามันสนุกดี น้องนัทจึงได้ฝึกฝนไปเรื่อยๆ จนได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันแกะสลัก และก้าวไปสู่ตัวแทนในระดับภาค กลายเป็นว่าน้องนัทก็ได้ค้นพบความถนัดของตนเองอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ตนเองสามารถนำไปใช้ในการยื่นเรียนต่อในคณะสถาปัตย์ฯ ได้

ตลอดระยะเวลาก่อนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย น้องนัทจะหมั่นหาความรู้ให้ตัวเองอยู่เสมอ เพราะการเรียนสถาปัตย์ฯ อาศัยความสามารถเฉพาะตัวที่จะต้องฝึกฝนอย่างหนัก แต่ด้วยความที่ทางบ้านมีอุปสรรคในเรื่องของทุนทรัพย์ ทำให้ไม่สามารถไปเรียนคอร์สวาดรูปได้แบบเพื่อนคนอื่น ๆ น้องนัทจึงพยายามที่จะขวนขวายหาความรู้ใน Youtube เพราะสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ฟรี และช่วงปิดเทอมน้องนัทก็จะไปหางานพาร์ทไทม์ทำเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวด้วย

น้องนัทเล่าว่า สิ่งหนึ่งที่น้องนัทเชื่อก็คือ‘การที่เราคิดและลงมือทำจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จ และยิ่งรู้ว่าตัวเองยังขาดทรัพยากรส่วนไหนไป เราก็พยายามหาสิ่งนั้นมาเติม เช่น ไม่มีทุนทรัพย์ในการเรียน ช่วงปิดเทอมก็ไปหางานพาร์ทไทม์ทำ แทนที่จะเราจะไปเที่ยวเล่น แต่เราได้หาเงินมาเก็บเงินไว้ให้ตนเองเรียนและเป็นการช่วยเหลือครอบครัวอีกทางหนึ่ง’

และแล้วความพยายามนั้นก็ไม่ศูนย์เปล่า เพราะน้องนัทได้เข้าเรียนในคณะสถาปัตย์ฯ ที่ตนเองอยากเรียนได้จริง ๆ แต่เส้นทางชีวิตของคนเรา ก็คงไม่ได้โรยด้วยกรีบกุหลาบ เฉกเช่นเดียวกับเส้นทางชีวิตของน้องนัทในช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัย น้องนัทต้องใช้ความอดทน ความพยายามอย่างหนักในการเรียนรู้ และการจัดการเวลาตัวเองไปพร้อมกัน ‘ตอนปี 1 โดนคัดเลือกให้เป็นเชียร์ลีดเดอร์คณะ เหนื่อยมาก จากที่เลิกเรียนประมาณ 5-6 โมงเย็น พอเรียนเสร็จต้องรีบกลับมาห้อง แล้วก็ไปซ้อมลีดต่อด้วย บางวันเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสอง ตีสามถึงจะเลิกซ้อม กลับมาก็ต้องทำงานตัวเองอีก พอปี 2 ขึ้นไป ยิ่งเรียนสูงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเหนื่อย เพราะต้องคิดรอบด้านมากขึ้น เพราะงานสถาปัตย์ฯ เป็นงานที่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและความปลอดภัยของคน มันต้องคำนึงถึงหลายๆ อย่าง’

การที่น้องนัทได้เล่าถึงความอดทนและพยายามที่มีมากกว่าคนอื่นๆ ในการใช้ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัย ทำให้เห็นชัดว่าน้องนัทเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้ ถึงแม้ว่าระหว่างทางจะมีอุปสรรคและความยากในชีวิตก็ตามแต่น้องนัทก็ผ่านมันมาได้เสมอ

เส้นทางการเรียนสถาปัตย์ฯ ที่เชื่อมโยงความทรงจำการทำงานกับชุมชน

ในช่วงปี 4 ของการเรียนสถาปัตย์ฯ น้องนัทจะต้องไปฝึกงาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ชีวิตได้โคจรกลับไปเชื่อมโยงกับการทำงานเพื่อชุมชนอีกครั้ง เพราะน้องนัทเลือกไปฝึกงานที่สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งตนเองได้ศึกษารายละเอียดมาแล้วว่า สถาบันอาศรมศิลป์นั้นเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อชุมชนและสังคม และไลฟ์สไตล์ของการทำงานก็มีการลงชุมชน มีแนวคิดหลักเกี่ยวกับการทำงานที่คำนึงถึงบริบทชุมชน ซึ่งตรงกับ Passion เดิมของตนเองอยู่แล้วที่อยากทำงานเพื่อชุมชนและสังคม เลยทำให้น้องนัทตัดสินใจไปฝึกงานในสถานที่แห่งนี้

นอกจากเป้าหมายหลักๆ ที่อยากทำงานเพื่อชุมชนและสังคมแล้ว อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือน้องนัท ‘อยากใช้เวลาตรงนี้ในการแสวงหาความรู้ที่ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน และอยากค้นหาตัวเองว่า เราชอบทำงานด้านนี้จริงๆ ใช่ไหม เพราะหลังจากนี้คือชีวิตการทำงานจริงที่จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต

ออกแบบบ้านให้ครอบครัว ออกแบบชุมชนเพื่อศรีสะเกษ

เหตุผลสำคัญของการเลือกเรียนสถาปัตย์ฯ ที่นอกจากเป็นความชอบและความถนัดของน้องนัทแล้ว คือ การมีความฝันที่อยากจะสร้างบ้านหลังสวย ๆ ให้ครอบครัวอยู่ เพราะตนเองรู้สึกว่า ถ้าเราจะมีบ้านซักหลัง เราอยากเป็นคนออกแบบเอง ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นความฝันหลักที่น้องนัทอยากทำให้เกิดขึ้นจริงมากที่สุด

นอกจากฝันที่อยากจะมีบ้านหลังสวย ๆ ให้กับครอบครัวแล้ว น้องนัทยังเล่าอีกว่า ถ้ามีโอกาสคงจะได้กลับไปทำอะไรเพื่อบ้านเกิดของตนเอง อาจจะช่วยออกแบบบ้านหรืออาคารแนวอนุรักษ์ต่าง ๆ ที่ไม่สร้างปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น