ชุมชนบ้านบางกล้วยนอก มีอาณาเขตพื้นที่ หมู่ที่ 3 บ้านบางกล้วยนอก ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง มีเนื้อที่ 3,700 ไร่ ลักษณะพื้นที่ราบติดกับภูเขาและทะเล จึงทำให้ชาวบ้านบางกล้วยนอก มีอาชีพเกษตรกรรม เพาะปลูกยางพารา และปลูกปาล์มน้ำมัน อาชีพประมงมีการออกจับสัตว์น้ำมาขาย
ชุมชนบ้านบางกล้วยนอก เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน มีประชากร 1,044 คน ประกอบด้วยครัวเรือนจำนวน 252 หลังคาเรือน เป็นประชากรเพศชาย 541 คน เพศหญิง 503 คน ชาวบ้านบางกล้วยนอกส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 95 และเป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 5 ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง เกษตรกรรม ค้าขาย และรับจ้างทั่วไปตามลำดับ ซึ่งอาณาเขตการติดต่อแบ่งออกได้ดังนี้ ทิศตะวันออกติดภูเขา / ทิศตะวันตกติดกับทะเล / ทิศเหนือ ติด หมู่ 4 บ้านควนไทรงาม ต.นาคา / ทิศใต้ ติด หมู่ 4 ต.กำพวน
คลิกเพื่ออ่านต่อ

หลักการและเหตุผล

        บ้านบางกล้วยนอกตั้งอยู่ในเขตการปกครองของหมู่ที่ ๓ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีจำนวนประชากรประมาณกว่า ๑,๔๑๖คน ประกอบด้วยครัวเรือนจำนวน ๒๗๗หลังคาเรือน มีการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอำเภอสุขสำราญ ลักษณะการทำประมงพื้นบ้านบริเวณอำเภอสุขสำราญในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนใหญ่เป็นการวางอวนลอยดักจับสัตว์น้ำได้มาจำหน่ายสร้างรายได้หลักของชุมชน การจับปลาแต่ละครั้งมีจำนวนปลาที่ไม่มีค่าทางเศรษฐกิจปะปนอยู่บ้าง เช่น ปลาแมวปลาหลังเขียว ปลาสีกุน ปลาแป้น ที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านจะทิ้งลงทะเล(ปลาตาย)หรือไม่ก็นำมาทำปุ๋ยสำหรับสวนผลไม้ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่คุ้มประโยชน์ จากกรณีดังกล่าวชุมชนบ้านบางกล้วยนอกได้นั่งปรึกษาหารือเรื่องการแปรรูปจากทรัพยากรสัตว์น้ำที่เหลือจากการบริโภคและไม่สามารถจำหน่ายได้ เช่น ปลาหลังเขียว ปลาแมว ฯลฯ นำมาแปรรูปเป็นน้ำปลา จึงได้เป็นที่มาของน้ำปลาบ้านบางกล้วยนอก

        กลุ่มผลิตน้ำปลาบ้านบางกล้วยนอกได้ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในศึกษาเรียนรู้การผลิตน้ำปลาภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการผลิตน้ำปลาและการเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืนของชุมชนบ้านบางกล้วยนอกหมู่ ๓ ต.นาคา กิ่ง อ.สุขสำราญ จังหวัดระนอง เมื่อปี ๒๕๔๙ ทำให้ทางกลุ่มมีชุดประสบการณ์และข้อมูลองค์ความรู้ในขั้นตอนกระบวนการในการผลิตน้ำปลาที่เชื่อมโยงกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นส่วนผสมของน้ำปลา เช่น ปลา อ้อย สัปปะรด ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ มีอยู่ในชุมชน และผ่านกระบวนการสืบค้นความปลอดภัยจากสารเคมีไม่มีสารตกค้าง น้ำปลาบางกล้วยนอกที่มาจากการผลิตจากปลาที่เหลือใช้สามารถนำมาบริโภคได้ จำหน่ายได้ ผู้ที่บริโภคมั่นใจในกระบวนการผลิตที่มีความสะอาด และผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพโดยชุมชนมีส่วนร่วมผ่านเวทีประเมินคุณภาพของน้ำปลา โดยเปรียบเทียบจากน้ำปลาที่มาจากนอกพื้นที่ น้ำปลาบ้านบางกล้วยนอกได้ที่ ๑ ในเรื่องของรสชาติ แต่สี และความใสควรปรับปรุง

ชุมชนมองว่า น้ำปลามีความสำคัญกับชุมชน เพราะทุกครัวเรือนที่มีการบริโภคน้ำปลา มีแค่ ๒ ครัวเรือนที่ไม่บริโภค เพราะไม่มั่นใจในกระบวนการผลิตจากภายนอก ซึ่งต้องเสียค่ารายจ่ายในการซื้อน้ำปลาจากนอกพื้นที่ เป็นจำนวนเงิน ๖,๖๕๗ บาท/เดือน/ ๑๙๑ ครัวเรือน และ ๗๙,๘๘๔ บาท/ปี (ข้อมูลจากการสำรวจการบริโภคน้ำปลาในครัวเรือน เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๐) แค่น้ำปลาอย่างเดียวก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง ที่ผ่านมาแม้ทางทีมจะขาดความต่อเนื่องในกระบวนการผลิตน้ำปลา แต่การผลิตน้ำปลาของชุมชนในครั้งนั้นก็มีผลหลายอย่างที่เกิดขึ้น ได้แก่ ๑) เกิดกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรม โดยกลุ่มแม่บ้าน๒) การบริหารจัดการ การแบ่งบทบาทหน้าที่ของทีมงาน ๓)ข้อมูลการบริโภคน้ำปลาในครัวเรือน ๔)องค์ความรู้ในการหมักน้ำปลา ขั้นตอน กระบวนการ ๕)แหล่งที่มาของวัตถุดิบ จากการเชื่อมโยงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ๖)การประเมินคุณภาพของน้ำปลา ด้าน กลิ่น สี รสคุณค่าทางอาหาร ๗)การบรรจุภัณฑ์ ขวด ฉลาก๘)การตลาด ทางชุมชนให้การยอมรับและเป็นที่ต้องการของชุมชนในการบริโภค ๙) เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในและนอกชุมชน

       ส่วนสภาพปัญหาที่เจอในกระบวนการผลิต๑)ทางกลุ่มยังขาดประสบการณ์ในกระบวนการผลิต เช่น กระบวนการกลั่นกรองที่มีความเร็วขึ้น๒)อุปกรณ์ที่ใช้เกิดการชำรุดเสียหาย เช่นโอ่ง๓)โรงเรือนที่ทำอยู่ไม่มิดชิด ทำให้กระบวนการผลิต เช่นการกลั่นกลองมีความยาก และต้องใช้เวลา๔)การบรรจุภัณฑ์ เช่น ขนาดของขวดที่มีขนาดเดียวคือขนาดใหญ่ ฉลากที่ผ่านมาใช้กระดาษที่ ปริ้นท์มาจากคอมพิวเตอร์ จึงฉีกขาดง่ายไม่คงทน

      อาจกล่าวสรุปได้ว่า กระบวนการทำงานของชุมชนบ้านบางกล้วยนอก มีประสบการณ์การ มีฐานข้อมูลที่มาจากการวิเคราะห์ชุมชน มีการขับเคลื่อนของกลุ่มคนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นในการดึงกลุ่มคนทั้งสามฐานทรัพยากรธรรม ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและมีกระบวนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และจากองค์ความรู้ของชุมชนในเรื่องกระบวนการผลิตน้ำปลา ชุมชนได้เล็งเห็นว่า หากมีการขยายองค์ความรู้กระบวนการผลิตน้ำปลาสู่ครัวเรือน และสร้างกระบวนการถ่ายทอดกระบวนการผลิตน้ำปลาสู่เด็กเยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่สนใจให้สามารถหมักน้ำปลาไว้บริโภคในครัวเรือนได้ รวมทั้งยังเล็งเห็นว่าการผลิตน้ำปลาของชุมชนบ้านบางกล้วยนอกยังสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้จากวัตถุดิบในท้องถิ่นจากครัวเรือนไปสู่วิสาหกิจขนาดย่อย สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อีกด้วยเป็นที่มาเป้าหมายของชุมชนในการขับเคลื่อนภายใต้โครงการกระบวนการผลิตน้ำปลา โดยใช้ข้อมูลความรู้เป็นฐานเพื่อสร้างอาชีพทางเลือกของชุมชนบ้านบางกล้วยนอกต่อไป

วัตถุประสงค์

  • 1.เพื่อการพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตน้ำปลาจากวัตถุดิบในท้องถิ่นจากครัวเรือนไปสู่ วิสาหกิจขนาดย่อย
  • 2.เพื่อการขยายองค์ความรู้กระบวนการผลิตน้ำปลาสู่ครัวเรือน
  • 3.เพื่อถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้การผลิตน้ำปลาสู่เด็ก/เยาวชน คนรุ่นใหม่

ขอบเขตดำเนินการ

พื้นที่หมู่ที่ ๓ บ้านบางกล้วยนอก

ขั้นตอนการดำเนินงาน

แผนการผลิต

1. พัฒนาศูนย์เรียนรู้/ปรับปรุงและพัฒนาโรงเรือนให้มีความมิดชิด

2. ศึกษาดูงานกระบวนการผลิตและการจัดการกลุ่มสู่วิสาหกิจชุมชน

3. เวทีอบรมการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายของต้นทุนการผลิตให้กับสมาชิกในกลุ่ม

4. จัดซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบในการผลิตน้ำปลา

5. เก็บข้อมูลต้นทุนในการหมักน้ำปลา เช่น ปลาหลังเขียว อ้อย สับปะรดเพื่อกำหนดกำลังการผลิต

6. ปฏิบัติการหมักน้ำปลา

7. เก็บข้อมูลการย่อยสลายของน้ำปลา กลิ่น สี รส๓ เดือน/ครั้ง

8. ศึกษาข้อมูลการพัฒนาสูตรเชิงเปรียบเทียบ

9. ศึกษากระบวนการตรวจสอบคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการของน้ำปลา

แผนการบริหารจัดการ

  • 1. เวทีประชุมประจำเดือน เตรียมความพร้อมวางแผนการดำเนินงาน การแบ่งบทบาทหน้าที่ของทีม และการกำหนดกฎระเบียบร่วมกัน

แผนการตลาด

  • 1.เก็บข้อมูลร้านค้าที่มีอยู่ในชุมชนและเครือข่ายนอกชุมชน
  • 2.ศึกษาการออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์น้ำปลา

แผนการถ่ายทอดองค์ความรู้

1. เวทีถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการผลิตน้ำปลาสู่ครัวเรือน

แผนงานการจัดการทรัพยากรที่เป็นส่วนผสมของน้ำปลา

1. รณรงค์การใช้พื้นที่ว่างในแปลงเกษตรโดยการปลูก อ้อย สัปปะรด และการขยายพันธุ์และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพในการบำรุง

2. เก็บข้อมูลปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำปลาที่เหลือใช้ในชุมชนและทรัพยากรที่เป็นส่วนผสมของกระบวนการหมักน้ำปลา

3. เวทีถอดบทเรียนในการดำเนินกระบวนการผลิตน้ำปลา

4. เวทีนำเสนอผลการดำเนินงาน

5. จัดทำรายงานผลการดำเนินงาน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ผลที่คาดว่าจะได้รับเมื่อสิ้นสุดโครงการ (Output)

  • 1. เกิดการพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตน้ำปลาจากวัตถุดิบในท้องถิ่นจากครัวเรือนไปสู่วิสาหกิจขนาดย่อย

2. เกิดการขยายองค์ความรู้กระบวนการผลิตน้ำปลาสู่ครัวเรือน

3. เกิดถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้การผลิตน้ำปลาสู่เด็ก/เยาวชน คนรุ่นใหม่

ผลที่คาดว่าจะได้รับหลังสิ้นสุดโครงการ (Outcome)

เกิดการตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากร และวัตถุดิบในท้องถิ่นสู่การเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรโดยใช้ข้อมูลความรู้เป็นฐานเพื่อสร้างอาชีพทางเลือกของชุมชนบ้านบางกล้วยนอก และเกิดการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้

  



           กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของชุมชนบ้านบางกล้วยนอกที่ผ่านมา ตั้งอยู่บนพื้นฐานการสร้างคน และเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ๓ ฐาน ระบบนิเวศ  ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ (ทั้งระบบ) ที่ชุมชนมองว่าเป็นระบบนิเวศที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน  เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน  และการเสริมสร้างความสามารถที่จะจัดการกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ของตนเองในอนาคต รวมทั้งการมีความสามารถเพียงพอสำหรับการตั้งรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ไปของระบบนิเวศ  ภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  กิจกรรมและกระบวนการงานวิจัยของชุมชน  การดำเนินงานในระยะต่อไป กระบวนการทำงานของทีมวิจัยชุมชนบ้านบางกล้วยนอก เป็นการส่งเสริมให้ระบบการเรียนรู้  ที่ถูกสร้างไว้ในระยะที่ผ่านมากระบวนการศึกษาเรียนรู้ จะต้องสามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป  โดยเน้นที่การเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถให้กับ คน ในชุมชน ในด้านระบบคิด  การดูแลรักษาทรัพยากรป่าชายเลนตลอดถึงทรัพยากรชายฝั่ง  การดูแลทรัพยากรป่าต้นน้ำ  การทำเกษตรกรรมยั่งยืน  เชื่อมโยงความร่วมมือ  ความรู้สู่เพื่อนชุมชนอื่นๆ ถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ เยาวชน คนรุ่นใหม่ เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ  ให้เกิดการสืบทอดงานต่อไปในชุมชน

­

ดาวน์โหลด : 1.โครงการแนวทางการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำปลาบ้านบางกล้วยนอก

                   2.เอกสารโครงการย่อยเพื่อพัฒนาแผนงานชุมชนบ้านบางกล้วยนอก

ย่อข้อมูลโครงการ
ความเคลื่อนไหวล่าสุด
เวทีความคิด
บุคคล/องค์กรที่เกี่ยวข้อง