เยาวชนหมู่บ้านทาป่าตึงเหนือร่วมกันสืบสานศิลปะการฟ้อนก๋ายลายประกอบการตีกลองสะบัดชัย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของบรรพบุรุษที่สืบเชื้อสายยองและไทลื้อให้คงอยู่สืบไป
คลิกเพื่ออ่านต่อ

ชื่อโครงการ โครงการสืบสานก๋ายลายสะบัดชัยล้านนา บ้านป่าตึงเหนือ

กลุ่มเยาวชน กลุ่มหละอ่อนป่าตึงเหนือ ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

บริบทชุมชน เดิมทีบ้านทาป่าตึงเหนือ หมู่ที่ 14 ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ได้รับการอนุมัติแยกหมู่บ้าน จากบ้านทาป่าสัก หมู่ที่ 2 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2545 ซึ่งบ้านทาป่าสักก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2468 และมีวัดชื่อว่า วัดทาป่าสักดอนมูล คนส่วนใหญ่เชื้อสายยองและไทลื้อ ย้ายบ้านมาจากบ้านทาสองท่า มาตั้งอยู่บริเวณบ้านทาป่าสัก  ซึ่งมีพ่อหลวงหนานปิ๋น (สันกำแพง) เป็นครูอาจารย์วัดได้ภรรยาเป็นคนบ้านทาสองท่า จึงย้ายมาเป็นครอบครัวแรก ย้ายมาเพราะหาที่ทำกินใหม่ อาชีพในตอนนั้น ทำนา ทำไร่ ปลูกถั่ว และเริ่มสร้างอารามวัด ฉลองวิหาร ปัจจุบันบ้านทาป่าตึงเหนือ มีทั้งหมด 147 ครัวเรือน โดยมี นายพยนต์ เป็นพนัสสัก เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร เช่น เลี้ยงโคนม ทำนา ทำสวน และทำไร่ข้าวโพด เป็นต้น ชาวบ้านมีอุปนิสัยใจคอโอบอ้อมอารี คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆมากมาย รวมไปถึงเยาวชนก็จะมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเช่นกัน เช่น กิจกรรมเก็บและคัดแยกขยะภายในหมู่บ้าน  กิจกรรมเยาวชนจิตอาสา ทำดีด้วยหัวใจ และมีกลุ่มการแสดงศิลปะการฟ้อนล้านนา ถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายเยาวชนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงาม

ปัญหาและเป้าหมาย  เยาวชนหมู่บ้านทาป่าตึงเหนือ ได้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่ดีงามของบรรพบุรุษที่สืบเชื้อสายยองและไทลื้อ โดยมีการร่วมกลุ่มกันศึกษาและอนุรักษ์ศิลปะฟ้อนก๋ายลายประกอบการตีกลองสะบัดชัย ซึ่งดั้งเดิมฟ้อนก๋ายลายจะประกอบการตีกลองมองเซิง ซึ่งการฟ้อนก๋ายลาย เป็นฟ้อนในขบวนแห่ครัวทาน ฟ้อนเพื่อต้อนรับผู้ที่มาร่วมทำบุญ การฟ้อนเกิดจากความปีติยินดีของผู้ที่มาร่วมทำบุญ เช่น งานปอยหลวง งานปอยน้อย ก๋วยสลาก ดังนั้นเพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน เยาวชนหมู่บ้านทาป่าตึงเหนือ จึงได้จัดทำโครงการ “สืบสานก๋ายลาย สะบัดชัยล้านนา by หละอ่อนป่าตึงเหนือ” ขึ้น เพื่อจะทำให้เกิดการรวมตัวของเยาวชนในการแสดงความสามารถของเยาวชน เป็นการอนุรักษ์รักษาการฟ้อนก๋ายลาย และกลองสะบัดชัยให้คงอยู่ คนในชุมชนได้รับรู้เห็นการแสดงของเยาวชน สร้างความภาคภูมิใจในตัวเยาวชน และคนในชุมชน ซึ่งหากเยาวชนไม่มาทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจงานของชุมชน เที่ยวเล่นตามกระแสนิยมไป หลงลืมวัฒนธรรมชุมชน และนำสู่ทางอบายมุขได้ 

ผลและคุณค่าที่เกิดขึ้น 

1. ศิลปะการฟ้อนก๋ายลายและตีกลองสะบัดชัยได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

2. มีความสามัคคี เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ใจดีในหมู่บ้าน

3. เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมล้านนาดีงาม

4. เยาวชน มีความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับศิลปะการฟ้อนก๋ายลายและตีกลองสะบัดชัย

พี่เลี้ยงชุมชน นางจุไรลักษณ์ เป็นพนัสสัก

ทีมทำงาน กลุ่มหละอ่อนป่าตึงเหนือ ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

1. นางสาวธารีรัตน์ วงค์ใจ น้องแยม อายุ 18 ปี

2. นางสาวพรรณราย เสนาะคำ น้องแพน อายุ 18 ปี

3. นางสาวพรนภา นุนพนัสสัก น้องบีม อายุ 16 ปี

4. นางสาวภัคจิรา มหาไม้ น้องแยม อายุ 15 ปี

5. เด็กชายพิทักษ์พล เป็นพนัสสัก น้องดีน อายุ 13 ปี         


ย่อข้อมูลโครงการ
ความเคลื่อนไหวล่าสุด
เวทีความคิด
บุคคล/องค์กรที่เกี่ยวข้อง