จากสาหร่ายขนนก และปูดำ เครื่องมือที่นำไปสู่การจัดการทรัพยากรป่าชายเลนบ้านในทอน
บ้านในทอนต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ป่าชายเลนจำนวน 12,000 กว่าไร่ ชุมชนมีโอกาสได้ทำงานวิจัยอนุรักษ์ป่าชายเลน ทำให้คนในชุมชนได้เรียนรู้คุณค่าเห็นความสำคัญของป่าชายเลนมากขึ้น แต่ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการดังกล่าวการมีส่วนร่วมในการปกป้องป่าชายเลนไม่คึกคักดังที่ผ่านมา ชุมชนจึงต้องมาช่วยกันคิด ช่วยกันอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรควบคู่ไปกับการที่ชาวบ้านยังสามารถประกอบอาชีพ มีรายได้จุนเจือครอบครัวได้ด้วย
คลิกเพื่ออ่านต่อ

หลักการและเหตุผล

บ้านในทอนมีทรัพยากรที่สำคัญ คือ ป่าชายเลนจำนวน 12,000 กว่าไร่ หลังการยกเลิกการให้สัมปทาน ชาวบ้านส่วนใหญ่หันไปประกอบอาชีพอื่นๆ แทนอาชีพประมง และต่อมาชุมชนได้ทำงานวิจัยอนุรักษ์ป่าชายเลน ทำให้คนในชุมชนได้เรียนรู้คุณค่าเห็นความสำคัญของป่าชายเลนมากขึ้น ขณะเดียวกันป่าชายเลนบ้านในทอนกลับมาสวยงาม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ในน้ำ บนบก ในอากาศ สัตว์น้ำมีปริมาณมากขึ้น กุ้งกุลาดำตัวโตๆ กุ้งแชบ๊วยสีขาวอมชมพู ปูดำก้ามใหญ่ ปลากะพงแดง กะพงขาว ปลาเก๋าสีสวยรสชาติอร่อยราคาแสนแพงหาได้ที่นี่ สาหร่ายขนนกซึ่งอุดมไปด้วยแคลเซียม หาได้ทั้งปี ลำคลองเป็นแหล่งหลบภัยมรสุมของโลมาสีชมพู ป่าเป็นที่พักพิงของนกหนีหนาว แต่เมื่อหันกลับมามองตัวเองพบว่า รุ่นใหม่และผู้หญิงได้ออกไปทำงานนอกหมู่บ้านมากขึ้น และเหลือคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ประกอบอาชีพประมง ในขณะที่บ้านในทอนกำลังจะเป็นที่รองรับการท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์กำลังจะถูกเปิดอย่างเป็นทางการ เริ่มมีคนภายนอก นายทุน นักธุรกิจเข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้น

จากการวิเคราะห์ร่วมกันของชุมชน เห็นว่า หลังจากโครงการวิจัยเสร็จสิ้นไป กิจกรรมเพื่อส่วนรวมในชุมชนน้อยมาก ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำมาหากิน จึงเห็นว่าหากมีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมตอบสนองความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านที่เป็นงานเชิงอนุรักษ์ ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางในการประกอบอาชีพให้กับคนในชุมชนได้ด้วย จึงเห็นว่า สาหร่ายขนนก และปูดำ น่าจะใช้เป็นเครื่องมือให้คนในชุมชนหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันทำสิ่งดีๆ เพื่อปกป้องชุมชน ให้คนในชุมชนหันกลับมาเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้ง โดยใช้ทรัพยากรบนทุนเดิมที่มี เป็นสิ่งที่เหมาะสม และน่าจะสามารถนำไปสู่ความเข้มแข็งมั่นคงทั้งด้านอาหาร และคุณภาพชีวิต เกิดความยั่งยืนในการจัดการในระยะยาว

วัตถุประสงค์

  • 1.เพื่อศึกษาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก และปูดำ เพื่อเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การจัดการทรัพยากรป่าชายเลนบ้านในทอนให้สามารถเป็นฐานอาชีพ ฐานรายได้ และฐานอาหารสำหรับคนในชุมชน
  • 2.เพื่อพัฒนาให้เกิดแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติป่าชายเลนบ้านในทอน

พื้นที่ดำเนินการ

บ้านในทอน หมู่ 11 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

กลุ่มเป้าหมาย

คนในชุมชนบ้านในทอน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ

แผนการดำเนินงาน

1.ทดลองเพาะเลี้ยงสาหร่าย

·ประชุมทีม และผู้เกี่ยวข้อง

·ศึกษาข้อมูล ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสาหร่ายขนนก และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

·ศึกษาแนวสาหร่าย ที่อยู่ กันแนวเขตเพื่อทำแปลงทดลอง

·ศึกษาดูงาน

·สรุปบทเรียนจากการดูงาน

·ทำกระชังทดลองเลี้ยงสาหร่าย

·ทำไปศึกษาไป ทำไปเรียนรู้ไป

·ประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่ทราบ

·เชิญนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ในพื้นที่

·สรุปบทเรียน การทดลอง

·เวทีนำเสนอ “สาหร่ายกินได้ทุกวัย”

2.แปลงเลี้ยงปูดำแบบเปิด

·ประชุมทีม วางแผนการทำงาน

·ประชุมผู้ประกอบอาชีพจับปู

·ประสานหน่วยงาน ขอพันธุ์ปู ประสานคนหาปู ซื้อพันธุ์ปู

·ศึกษาดูงาน

·จัดเวทีสรุปผลการศึกษาดูงาน

·เตรียมบ้านให้ปู กันแนวเขต ทำเครื่องหมาย ขึ้นป้าย “บ้านปูดำชุมชนบ้านในทอน”

·จัดกิจกรรม “วันปล่อยปู”

·จัดกิจกรรม “เฝ้าระวัง” สังเกต บันทึก การเจริญเติบโตของปู

·จัดประชุมสรุปผลการปล่อยปู

3.ถอดบทเรียน 2 ครั้ง ปรับ ทบทวน การทำงาน หาวิธีดำเนินงานที่เหมาะสม

4.จัดเวทีเผยแพร่ “ตกปู กินสายบ้านในทอน”

5.ประชุมติดตามความคืบหน้า เดือนละครั้ง (12 เดือน)

6.จัดทำรายงาน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • 1.คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้ เห็นคุณค่า และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทรัพยากรป่าชายเลนของชุมชน
  • 2.ทรัพยากรป่าชายเลนบ้านในทอนสามารถเป็นความมั่นคงในด้านอาชีพ รายได้ และแหล่งอาหารสำหรับคนในชุมชน
  • 3.ป่าชายเลนบ้านในทอนสามารถแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติสำหรับคนในและนอกชุมชน รวมทั้งรอบรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในระหว่างจัดเตรียมข้อมูล

ย่อข้อมูลโครงการ
ความเคลื่อนไหวล่าสุด
เวทีความคิด
บุคคล/องค์กรที่เกี่ยวข้อง