​เวทีถอดบทเรียนโครงงานชุมชนของเยาวชนแกนนำ อบต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
สุทิน ศิรินคร

       น้องๆเยาวชนพากันทบทวนการคิดและทำโครงงานชุมชน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยภาพและศิลปะ สะท้อนให้เห็นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหนเมื่อไร ทำให้ทีมนักถักทอชุมชน รุ่น1 และรุ่น2 มองเห็นศักยภาพของน้องๆในด้านการคิดวิเคราะห์ และคิดเชื่อมโยงว่าเป็นอย่างไร

­

       หลังจากที่เยาวชนแกนนำ อบต.วัดดาว อ.บางปลาม้าจ.สุพรรณบุรี ได้ทบทวนการทำโครงงานคิดดีทำดีเพื่อพัฒนาตนเองครอบครัวและชุมชน ตามหลักสูตรนักถักทอชุมชนแล้วก็พากันถอดบทเรียนว่าได้เรียนรู้อย่างไรจากสิ่งที่ทำโดยใช้เครื่องมือผังความคิด(Mind Mapping) และประยุกต์ใช้หลักการจัดการความรู้(Knowledge management)

­

   

       น้องๆเยาวชน อบต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เมื่อได้ทบทวนและถอดบทเรียนโครงงานเรียบร้อยแล้ว โดยได้เรียนรู้ว่าความรู้ใดที่ตนเองรู้แล้ว ความรู้ใดที่ตนเองยังไม่รู้ ทักษะความสามารถใดที่ตนเองถนัด/เก่ง และต้องการพัฒนา เมื่อทำแล้วความรู้สึก/อารมณ์เป็นอย่างไรบ้าง ความคิด/มุมมองเปลี่ยนไปอย่างไร และนิสัยที่ต้องการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อให้มีข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อจึงชวนกันสำรวจชุมชน โดยเริ่มต้นสำรวจว่าใครอยู่หมู่ใด และแต่ละหมู่มีอะไรดี

­

­

       น้องๆเยาวชน ได้ร่วมกันตัดสินใจว่า จะไปสำรวจชุมชนหมู่ 2 โพธิตะควน มีประเพณีกำฟ้า มีกิจกรรมเผาข้าวหลาม และหมู่ 5 มีกิจกรรมจักสาน และหมู่ 3 มีกิจกรรมอาชีพการเกษตรคือการปลูกผักและทำผักเสี้ยนดอง โดยให้โจทย์น้องๆ เยาวชนแกนนำอบต.วัดดาว ฝึกทักษะการตั้งคำถามเอง อยากรู้อะไร สงสัยอะไรให้ถาม ซึ่งบางครั้งพี่นักถักทอชุมชนก็ช่วยกระตุ้นคำถามด้วยอย่างสนุกสนาน

­

­

       การศึกษา/สำรวจ/สืบค้นชุมชนเป็นเครื่องมือที่ดีในการฝึกฝนให้น้องๆ เยาวชน อบต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมประเพณีฯลฯ รวมทั้งได้ฝึกทักษะการตั้งคำถามจากสิ่งที่มองเห็นและสัมผัส หรือสงสัยใคร่อยากรู้ เป็นการพัฒนาทั้งการพูด การอ่าน การฟัง การเขียนหรือจดบันทึก

­

       หลังจากลงสำรวจชุมชนน้องๆเยาวชน อบต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ก็มาเล่าสู่กันฟังว่าได้เรียนรู้อะไรในหมู่2, หมู่ 3 และหมู่5 ซึ่งแต่ละกลุ่มย่อยจะทำโครงงานอะไรต่อเนื่อง พร้อมทั้งนำเสนอสิ่งที่อยากเรียนรู้และพัฒนาต่อไป 3 โครงงาน

1) โครงงานทำไข่เค็ม
2) โครงงานกำฟ้าจูเนียร์
3) โครงงานออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (ฟุตบอล/วอลเล่ย์บอล)

­

   

       กิจกรรมสุดท้ายที่เยาวชนแกนนำเยาวชน อบต.วัดดาว ภูมิใจเสนอคือ กีฬาฟุตบอลวัดดาวเอฟซี ซึ่งเป็นโครงงานเดิมของน้องๆ สร้างสีสรรค์ในการถอดบทเรียนได้เป็นอย่างดี โดยแบ่งนักกีฬา 3 รุ่น คละกันออกเป็น 2 ทีม และเปิดโอกาสให้เพื่อนหญิงที่ทำโครงงานเกษตรและโครงงานกำฟ้าฯลงเล่นด้วยเพื่อลงแข่งขันและถอดบทเรียนด้วยหลักการจัดการความรู้คือก่อนลงแข่งขันทั้งสองทีมจะต้องวางแผนก่อน ระหว่างเล่น ผู้จัดการทีมและผู้เล่นต้องสังเกตตนเองและเพื่อนและหลังแข่งขันเสร็จแล้วต้องถอดบทเรียน

­

­

       ปิยพันธ์ ศุภรัตน์ (น้องซอล) สะท้อนว่า ตนเองเป็นกัปตันทีมวัดดาวเอฟซี เป็นเยาวชนแกนนำรุ่น 2 โดยมีลุงนา (ทินารมย์ นักถักทอชุมชนรุ่น2 อบต.วัดดาว อ.บางปลาม้าจ.สุพรรณบุรี) เป็นโค้ชช่วยฝึกซ้อมตอนนี้เป็นพี่เลี้ยงให้รุ่น3 วันนี้มีการถอดบทเรียนโครงงานกีฬา "ผมเล่นตำแหน่งกองหลัง มีหน้าที่ป้องกันแนวรุกฝ่ายตรงข้าม ผมจึงต้องมีความรู้เรื่องการวางแผน ต้องมีทักษะการแปรลูก ที่ยังต้องฝึกซ้อมและพัฒนา รวมทั้งต้องฝึกฝนนิสัยอึดอดทนและใจเย็น"

­

       ทุกครั้งที่ทำกิจกรรม/โครงการ/โครงงานเสร็จสิ้นแล้ว ทีมนักถักทอชุมชน พี่เลี้ยงและวิทยากรกระบวนการของโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น(4ภาค) ระยะที่2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัวจะต้องชวนน้องๆ เด็กเยาวชน/เยาวชนแกนนำประเมินตนเอง 4 มิติได้แก่
1) ด้านความรู้ 2) ด้านทักษะ/ความสามารถ 3) ด้านความคิด ความรู้สึก/อารมณ์ และ 4) ด้านนิสัย
ว่าน้องๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง มีด้านใดที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยใช้เครื่องมือที่ช่วยให้น้องๆได้ใช้สมองซีกขวาและซีกซ้ายให้เกิดความสมดุล ผ่อนคลายและมองเห็นเรื่องการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและความหมายเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ได้ก้าวต่อไปอย่างต่อเนื่องยั่งยืน

­