สำนึกพลเมืองที่ก้าวข้ามข้อจำกัดของการอยู่คนละสถาบัน
คำรณ นิ่มอนงค์

ยามบ่ายของวันวานน้องๆไทยรัฐทีมส่งรูปภาพการทำกิจกรรม พร้อมทั้งข้อความสรุปสั้นๆมาให้ผมว่า "พี่อ้วนค่ะ ถึงตอนนี้พวกหนูทั้งทีม 5 คน จะแยกย้ายกันไปเรียนคนละโรงเรียนแล้ว แต่พวกหนูก็จะทำโครงการนี้ต่อ เพราะพวกหนูคือคนบางแก้ว จะแยกย้ายกันไปที่ไหนก็ยังคือคนบางแก้ว พวกหนูต้องทำโครงการนี้ให้สำเร็จ อย่างน้อยนี่คือความรับผิดชอบและสำนึกเล็กๆของพวกหนูที่อยากทำเพื่อชุมชนของหนูค่ะ"

­

เจอแบบนี้ผมเองถึงกับไปต่อไม่ถูก นี่คือเสียงสะท้อนที่น้องๆส่งผ่านมายังผม ที่ทำให้ผมรู้สึกอิ่มเอิบอย่างบอกไม่ถูก ที่ผ่านมาผมเจอปัญหากับน้องอีกหลายๆทีมเรื่องการที่น้องอยู่กันคนละโรงเรียนการมารวมกลุ่มจึงเป็นเรื่องยาก ทุกคนมีเวลาว่างไม่ค่อยตรงกัน แต่ตอนนี้น้องๆไทยรัฐทีมทำให้ผมเห็นว่าแค่มีใจที่อยากและพร้อมจะลงมือทำยังไงมันก็สามารถทำได้

และผมยิ่งตื้นตันมากขึ้นอีกเมื่อน้องอีกคนบอกผมว่า "วันนี้พี่กิ่งหัวหน้าทีมป่วยไม่ได้มาด้วย แต่พวกเราไม่ว่าพี่กิ่งหรอก เพราะว่าพี่เขาต้องป่วยจริงๆพี่เขาจึงมาไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือต้องตั้งใจทำกิจกรรมกันให้เต็มที่เพื่อทดแทนในส่วนของพี่กิ่งให้เราเดินก้าวต่อไปได้ด้วยกัน" โอ้โห ผมนี่มีความสุขจริงๆ

ผมจึงสรุปในมุมของผมว่า สำนึกพลเมือง ที่น้องแสดงออกให้เห็นนี้เกิดมาจาก
1.หัวจิตหัวใจและความตั้งใจของเด็กๆ
2.พี่เลี้ยงในพื้นที่เอื้อให้มีพื้นที่ทำกิจกรรมและกระตุ้นต่อเนื่อง
3.คนในชุมชนพร้อมสร้างการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มที่
4.ผู้ปกครองให้การสนับสนุน
5.พี่เลี้ยงส่วนกลางมีเครื่องมือและกระบวนการที่ดีที่สร้างการเรียนรู้ให้กับน้องๆ

­

­

สำหรับเด็กๆอาจมีรายละเอียดที่มากกว่านี้ที่ช่วยอธิบายว่าความรู้สึกของน้องๆแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่สำหรับผมตอนนี้ขออิ่มสุขกับช่วงเวลานี้ก่อนแล้วกันครับ