ครู... คือ ผู้ลากเส้นความคิด กระตุ้นจิตผู้เรียนให้อยากรู้ และตั้งคำถาม เพื่อค้นหาคำตอบร่วมกัน
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

ผมเคยไปเที่ยววัดหนองบัว ชุมชนหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ครั้งหนึ่ง โดยการชวนของพี่กุ๊ก อัญชัน บางกอกฟอรั่ม อาจารย์ยุทธภูมิ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จ.น่าน ครั้งทำโครงการศิลปะกับการสร้างสำนึกรักษ์ป่าต้นน้ำของเยาวชน ตอนนั้น ไปกราบพระและไปดูวิถีชุมชนเก่า ที่พิพิธภัณฑ์บ้านไทยลื้อ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชนนี้ จำได้ว่าประทับใจมาก เพราะมีของดีทั้งจิตรกรรมฝาผนัง ผ้าทอลายน้ำไหล รวมทั้งกลุ่มอาชีพอาหารโปรด "ไกยี" สาหร่ายน้ำจืดไว้สำหรับจิ้มกับข้าวเหนียวกิน อร่อยอย่าบอกใคร



­

เมื่อวานนี้ เป็นการโชคดีมากที่ผมได้มีโอกาส เจอแกนนำเยาวชนกลุ่ม "บ้านหนองบัว" ได้แก่ ชัด เบส ตาร์ ปิ่น ปลื้ม แป๋ม คนรุ่นใหม่ลูกหลานของชุมชน ที่สมัครเข้าร่วมพัฒนาตน เรียนรู้ชุมชน และทำโครงการเพื่อพัฒนาชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชน จ.น่าน (ฮ่วมสร้างละอ่อนเมืองน่าน สำนึกพลเมืองเพื่อฮักถิ่นเกิด) โดย พระอาจารย์สมคิด และทีมครูฝึก หรือ Coach จาก มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ)


ทำให้ผมได้ "เรียนรู้ชุมชนๆ ไปพร้อมๆกับน้อง"




จากการลงกลุ่มย่อยเพื่อชวนเยาวชน "ทำกระบวนการทางความคิด" ผ่านการให้โจทย์ทำ "แผนที่ชุมชน" เพื่อชวนคิดวิเคราะห์ของ พี่กบ วิทยากร และวิเคราะห์ทุกข์ และทุนของชุมชน ผมค่อยๆ ตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจชุมชนร่วมกัน ชวนน้องคิดไป วาดรูปไป ระบายสีไป จากความทรงจำของเด็กๆ ดังนี้

1) ถ้าพูดถึงชุมชนหนองบัว อะไรเป็นจุดเด่น

2) บ้านหนองบัวมีถนนหนทางอย่างไร

3) บ้านของน้องๆ ตั้งอยู่ตรงไหนบ้าง

4) พ่อแม่น้องๆ ทำอาชีพอะไร ทำอาชีพที่ไหนในชุมชนนี้

5) ฐานทรัพยากร ป่าไม้ แม่น้ำ ที่นา อยู่ตรงไหน

6) เวลาคนในชุมชนมารวมตัวกันพูดคุย ประชุม ทำพิธีกรรม วัฒนธรรม ประเพณี มารวมตัวที่ไหน ทำอะไรบ้าง

7) ในชุมชนมีสถานที่สำคัญๆ อะไร อยู่ตรงไหนบ้าง เช่น วัด ตลาด โรงเรียน พื้นที่สาธารณะ แหล่งเรียนรู้ชุมชน

8) มีกลุ่มอาชีพ ที่พ่อแม่ เรารวมตัวกันทำอาขีพหารายได้อย่างไรบ้าง

9) พื้นที่เสี่ยง ที่เยาวชนรวมตัวกันมีไหม ทำอะไร ใครบ้าง

10) บ้านของบุคคลสำคัญ เช่น ผู้นำชุมชน ครู หมอพื้นบ้าน คนเฒ่าคนแก่ บ้านที่ทำงานอาชีพ ปลูกฝ้าย ทอผ้ามีไหม อยู่ตรงไหน


จากนั้นเมื่อน้องๆ ได้วาดภาพจนเสร็จแล้ว พี่ก็ยังชวนถาม ชวนวิเคราะห์ถึง ทุกข์ และทุนของชุมชน โดยเขียนความคิดลง post-it ติดลงไปบนแผนที่แต่ละจุด ดังนี้

1) ต้นทุน และปัญหา ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีไหม อย่างไร

2) ต้นทุน และปัญหา ทางเศรษฐกิจ การค้า ตลาด หนี้สินและการอาชีพ มีไหม อย่างไร

3) ต้นทุน และปัญหา ทางวัฒนธรรมประเพณี มีไหม อย่างไร

4) ต้นทุน และปัญหา ทางสังคม มีไหม อย่างไร


ผมได้เรียนรู้ว่า "คำถาม" จะช่วย สร้างความอยากรู้ ให้เรารู้จักชุมชนของเรา ไปพร้อมกัน "คำถาม" จะช่วย "ต่อภาพความคิด" สร้างภาพชุมชนของเราขึ้นมา จากความทรงจำ ยิ่งสมาชิกในกลุ่มมีหลายคน เรายิ่งมองเห็นชุมชนของเราหลากหลายมุมมากขึ้น เพราะแต่ละคนต่างสัมผัสชุมชนในมิติที่แตกต่างกัน "คำถาม" จะชวนคิดวิเคราะห์ ให้เรามองเห็นชุมชนตามความเป็นจริง เห็นจุดแข็ง จุดอ่อนของชุมชน ว่าเราคิดเห็นอย่างไร ในมุมมองจองเยาวชน นำไปสู่โจทย์ที่เราเห็นว่า เราตะใข้ศักยภาพในการ "ลงมือทำ" อะไรเพื่อชุมชนของเราได้


­

ผมได้เรียนรู้ว่า "การฟังความคิด" ของเพื่อน ทำให้เรา "เชื่อมโยงความคิด" ซึ่งกันและกัน ฟัง และคิดต่อ ฟัง และคิดต่อ ทำให้เราได้รู้จักชุมชน ทั้งในเชิงลึก และมุมกว้าง


ผมได้เรียนรู้ว่า "คำถาม" ไม่จำเป็นต้องตั้งจากครูเท่านั้น คำถามตั้งได้จาก "ผู้เรียน" เมื่อไรที่ผู้เรียนตั้งคำถามเป็น ความอยากรู้ก็จะเกิดขึ้นในจิต การเรียนรู้ก็จะได้ถูกติดตั้งความคิดขึ้นมาในใจของผู้เรียนอย่างสมบูรณ์


วันนี้ทำให้ชุมชนหนองบัว จากการไปเที่ยวของผม ได้เกิดจินตภาพจากภายในจิต ทำให้ผมผูกพันกับเยาวชน และคนในชุมชนบ้านหนองบัวมากขึ้น ประหนึ่งว่า ผมเองก็เป็นคนหนึ่ง ที่เป็นลูกหลานของชุมชนหนองบัวเช่นกัน