กลุ่ม Doctor Kampong เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สาขาการพัฒนาชุมชน ที่สนใจเรียนรู้จากประเด็นปัญหาการแพร่ระบาดของโรคผิวหนัง (โรคหิด) ในพื้นที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จ.สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมดูแลเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดทำผิดกฎหมาย กว่า 400 ชีวิต ปัจจุบันเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ได้รับการรักษาโรคผิวหนังด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งยังไม่สามารถรักษาหรือยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้สภาพปัญหาดังกล่าว สร้างความทุกข์ทรมานจากอาการคันให้กับเยาวชนเป็นอย่างมาก
เยาวชนกลุ่มนี้ต้องการสร้างทางเลือกในการรักษาโรคหิดให้น้องๆ จึงริเริ่มดำเนินการศึกษาภูมิปัญญาการใช้พืชสมุนไพรรักษาโรคผิวหนัง สืบค้นความรู้จากอินเตอร์เน็ตพบว่ามีผู้แปรรูป "ขมิ้นชัน" เป็นสบู่รักษาโรคดังกล่าวได้ สอบถามข้อมูลจากป้าแนบหมอบ้านในชุมชน พบว่า "สมุนไพรทองพันช่าง" สามารถนำมาทำเป็นสบู่เหลว และสบู่ก้อนเพื่อรักษาโรคหิดได้ด้วย กลุ่มจึงช่วยกันหาพันธุ์ไม้สมุนไพรทั้ง 2 ชนิด มาทดลองปลูกแล้วนำมาแปรรูปเป็นสบู่สมุนไพร รวมทั้งทดลองใช้ด้วยตนเองเพื่อให้มั่นใจก่อนนำสบู่ไปให้เพื่อนเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ทดลองใช้ รวมทั้งวางแผนให้เพื่อนเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ทำแปลงปลูกพืชสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด ไว้ภายในสถานควบคุม เพื่อใช้แปรรูปเป็นสบู่รักษาโรคผิวหนังได้อย่างต่อเนื่อง
กลุ่มเยาวชน Doctor Kampong มีการทำงานด้วยความท้าทายหลายด้าน และผลักดันให้พวกเขาต้องฝึกฝนและพัฒนาทักษะชีวิตของตนเอง เช่น การยอมรับเข้าใจและเคารพให้เกียรติเพื่อนที่ก้าวพลาด การไม่รังเกียจเพื่อนที่เป็นโรคผิวหนัง การเสียสละเวลา อดทน มุ่งมั่น ใจเย็น ในการวางแผนขั้นตอนทำงาน การสืบค้นหาข้อมูล และการเข้าไปประสานงานในสถานควบคุมที่ยากต่อการเข้าออก การสร้างทีมที่ต้องอาศัยการปลุกปลอบขวัญกำลังใจกันเอง การทำงานให้สนุกไม่เครียดกับงานจนเกินไป รวมถึงฝึกจิตใจให้มองเห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่ตั้ง ฯลฯ การได้เรียนรู้จากเรื่องจริงสถานการณ์จริงที่ท้าทายเช่นนี้ จึงเสมือนเบ้าหลอมเยาวชนกลุ่ม Doctor kampong ให้เป็นพลเมืองตัวเล็ก หัวใจใหญ่ ที่กำลังส่องแสงให้กับสภาพปัญหาที่ถูกลืม