น้องๆ แกนนำนักเรียน กลุ่มฮักนะเชียงยืน โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ได้แก่ รุ่น 1 ธีระวุฒิ ศรีมังคละ น้องส้ม เทวราชชิตี้ Anucha KongkaeoSam'Kitsada NasonKiatipol Polsiri ภายใต้การ coach ของครู เพ็ญศรี ใจกล้า
พวกเขายกเอาประเด็นปัญหาของเกษตรกร ที่ใช้สารเคมีในการปลูกแตงแคนตาลูป ทำเกษตรพันธะสัญญาของชุมชนบ้านแบก มาเรียนรู้นอกห้องเรียน หวังจะชวนชุมชนลดใช้สารเคมี ลดปัญหาสุขภาพ ลดการทำลายคุณภาพดิน
พวกเขา "เริ่มต้น" จากการลงชุมชนบ้านแบก เทียวไปเทียวมา พัฒนากรอบคำถาม เพื่อไป "สังเกต" "สืบค้น" "พูดคุย" กับ พ่อ-แม่ และน้องๆ เพื่อนร่วมโรงเรียน ย้อนกลับมารวมตัวกัน "คิดวิเคราะห์" ปัญหา- สาเหตุของการใช้สารเคมี ซึ่งพบ "ความเชื่อมโยง" โยงใย ซับซ้อนทั้งกลไกการตลาด ปัญหาปากท้อง ไปจนความรู้ความเข้าใจในการลดใช้สารเคมี และหันมาปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิถีอินทรีย์
เขาสนใจที่ "ข้อมูล" คุณภาพดิน และสุขภาพของชาวบ้าน จึงเที่ยวไปหา "ผู้รู้" ค้นหาว่าจะมีวิธีการตรวจวัด เก็บตัวอย่างดิน สังเกต ตรวจสอบ วิเคราะห์ คุณภาพดินได้อย่างไร พยายามหาวิธีตรวจสอบเลือด เพื่อที่จะชี้วัดว่าชาวบ้านมีความเสี่ยงต่อเคมีในเลือดหรือไม่
ตามมาด้วยการ "สังเคราะห์" "ทำสื่อ" ย่อยข้อมูลเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจของชาวบ้าน พวกเขาฝึกฝนตนเอง "ทำสื่อละคร" วางแผนการนำเสนอผล เพื่อสร้างความตระหนักต่อชาวบ้าน ฝึกการเป็น "วิทยากร" ออกแบบการเรียนรู้ จัดอบรมน้องๆ ให้เป็นอีกหนึ่งกำลังในการบอกต่อกับพ่อ-แม่คนในชุมชน -------แต่ปรากฏว่าคนในชุมชน ตระหนักดีอยู่แล้วถึงปัญหา ชุมชนสนใจว่า ทางออกเพื่อปรับปรุงบำรุงดินจะทำอย่างไร? จึงเป็นโจทย์ต่อมา
นานวันผ่านไป พวกเขาค่อยๆ "สร้างความสัมพันธ์" ลงพื้นที่บ่อยๆ กับพ่อ-แม่ เพื่อนๆ น้องๆ ในชุมชนบ้านแบก จนได้ แกนนำรุ่น 2 มาเป็นกำลังหลักช่วยดำเนินงาน จนทัศนคติของชุมชนที่ไม่เห็นด้วยกับที่เยาวชนมารณรงค์ให้ลดใช้สารเคมีด้วยสายตาที่ ผิด-ถูก กลับมาไว้ใจ และให้ความร่วมมือมากขึ้น
วันนี้ เยาวชนฮักนะเชียงยืน รุ่น 1 และ รุ่น 2 "หาข้อมูล" "ทดลองทำ" แล้ว "จัดเวทีชุมชน" นำเทคนิควิธีป้องกันตนเองด้วยการสวมชุดป้องกันเคมีที่ถูกต้อง การทำน้ำชารางจืด ขับสารพิษในร่างกาย และอบรมเทคนิควิธีการปรับปรุงบำรุงดินด้วย ปุ๋ยหมักอินทรีย์ น้ำหมักหน่อกล้วยเพิ่มแร่ธาตุในดิน น้ำหมักสะเดา ยูคา สาบเสือไล่แมลง น้ำหมักเหล้าขาว น้ำส้มสายชูไล่เพลี้ย ซึ่งชุมชนให้ความสนใจอย่างมาก
2 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งกลไก coaching จากพี่เลี้ยง กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน รัตนติกา เพชรทองมา Apple Apple วรรณา เลิศวิจิตรจรัส และทีมภาคีสิ่งแวดล้อมกว่า 10 ท่าน และ ครูเพ็ญศรี รวมทั้งเครือข่ายในพื้นที่ นอกพื้นที่ ที่บ่มเพาะ ทักษะ จนพบว่า น้องๆ เติบโตและพัฒนาตน พัฒนาการทำงาน จนเป็น "เยาวชนพลเมือง" ที่มีประสบการณ์จากการ "ลงมือทำ" เป็น คนรุ่นใหม่ ที่พร้อมจะเป็น "ผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลง" ชุมชน สังคมได้อย่างมีคุณภาพ