โครงการสร้างเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมนท้องถิ่น (4 ภาค)
เรื่องเล่าจากพื้นที่...
“โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย” กับ การเลี้ยงลูก 3 แบบ (ลูกรัก ลูกทาส และเพื่อน)
จากเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านไสต้นทง อ.พระพรหม จ. นครศรีธรรมราช
ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2554
โดย อารีย์ เหมะธุลิน
ผู้ประสานงานภาคกลาง
“หรีดหริ่งเรไรร้องระงมมา ชมแสงจันทราว่าเพลานอน ราตรีนี้มีเราเพียงสองคน ผ่านความทุกข์ทนตรากตรําทํางาน นอนเถิดลูกรัก พักผ่อนให้สบาย จงเก็บเรี่ยวแรง ไว้ต่อสู้ต่อไป ยุงเหลือบริ้นไร ไต่ตอมให้ทนเอาหน่อย จงอย่าน้อยใจว่าเรายากจน เอาความทุกข์ทนนี้เป็นบทเรียน กว่าลูกจะโตหนทางยังไกล ไม่ต้องเสียใจถึงใครนินทา มารดาเจ้าไปดี มีความสุขสบาย มีพ่อเพียงคนเดียว อย่าไปนึกเสียใจ มีลูกเพียงคนเดียว พ่อจะไม่มีแม่ใหม่ เรียนเข้าไปลูก ถึงลูกจะเรียนโรงเรียนวัด พ่อไม่มีเงินยัดลูกไปโรงเรียนดีดี ลุยเข้าไปลูก เรียนเข้าไปให้มันได้เสีย ไม่ต้องมีแป๊ะเจี๊ยะไม่ต้องเสียใจหรอก...จงภาคภูมิใจในความยากจน พ่อไม่ใช่คนขี้โกงขี้กิน คนเรามีค่าใช่เพียงทรัพย์สิน เราเกิดบนดินควรทดแทนคุณ ใฝ่คุณธรรม ทําแต่ความดี มีอิ่มมีพอ ขออย่าสะสม ช่วยเหลือผู้ทุกข์ตรม สมหวังดังพ่อตั้งจิต”
คนที่อายุ 30 ขึ้นไป คงจะเคยได้ยินเพลงนี้กันบ้าง เพลงนี้ชื่อว่า “ลูกหิน” เป็นผลงานเพลงของวงคาราบาว ที่แม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปปานใด แต่เนื้อเพลงนั้นยังคงตรึงใจเราท่านได้เสมอ ที่ผู้เขียนหยิบยกเพลงนี้ขึ้นมา ก็ด้วยว่า เนื้อเพลงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยด้วยในระหว่างการเข้าร่วมเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน ไสต้นทง อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2554
“อุบล สุขสำราญ” อดีต คือ ชายหนุ่มที่ต้องตกพุ่มหม้าย ในวัยเพียง 35 ปี และต้องตรากตรำทำงานหนักพร้อมทั้งเลี้ยงดูลูกน้อย 2 คน มาเพียงลำพัง ด้วยว่าภริยามาด่วนเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร
คุณลุงได้เล่าประสบการณ์ “การเลี้ยงดูลูก” ในฐานะ “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” (ผู้ซึ่งต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกมาเพียงลำพังคนเดียว) ในขณะที่ลูกน้อยทั้ง 2 มีอายุได้เพียง 5 ขวบ และ ขวบเก้าเดือน ตามลำดับ
แม้ว่า จะโศกเศร้างเสียใจกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของภริยา หากแต่ท่านไม่มีเวลาคร่ำครวญมากนัก ด้วยภาระที่ต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูกน้อยทั้งสอง ไปพร้อม ๆ กับการทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง ต้องทำตัวเองให้เป็นทั้ง “พ่อและแม่” ของลูกไปพร้อมกัน ท่านว่า เมื่อวาน (29 พฤษภาคม 2554) ผมติดใจกับคำถามชวนคิดของ “อาจารย์ทรงพล” (ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข: สรส.) ที่ว่า “ขณะนี้ เรามั่นใจในอนาคตของลูกหลานเราแล้วหรือไม่ ว่า เขาจะอยู่รอดปลอดภัยภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัฒน์...?”
ลุงบลพูดว่า “สำหรับลูกบ้านอื่นนั้น ผมไม่รู้หรอก แต่ว่า ถ้าเป็นลูกบ้านผมนั้น ผมมั่นใจ...คนโตปัจจุบันแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ส่วนอีกคนจบปริญญาโท รับราชการอยู่ที่กระทรวงการพลังงาน ที่กรุงเทพฯ ลูก ๆ ทั้งสอง แม้จะอยู่ห่างกัน แต่ก็จะโทรศัพท์มาถามสารทุกข์ สุกดิบ พร้อมกับหาโอกาสแวะเวียนมาเยี่ยมเสมอ ๆ ผมเลี้ยงลูกมาคนเดียวตั้งแต่ลูก ยังเล็กๆเพราะแม่เขาตาย”
เมื่อผู้เขียนได้ยินดังนั้น ก็ไม่รีรอที่จะถามถึงกลเม็ดเคล็ดลับในการอบรมเลี้ยงดูลูกของท่าน ซึ่งคุณลุงก็ยินดีเล่าให้ฟังด้วยความเต็มใจ เราลองมาดูกันค่ะว่า “หนุ่มใต้” อย่างคุณลุง จะมีวิธีเลี้ยงลูกต่างจากพ่อแม่คนอื่นหรือไม่ อย่างไร
“วิธีการเลี้ยงลูกของผมอาจต่างจากพ่อแม่ โดยทั่วไปอยู่บ้างเล็กน้อย นั่นคือ ผมเลี้ยงลูก 3 แบบ ใน 3 ช่วงวัย คือ
1) ตั้งแต่ 1 ขวบ จนถึง 5 ขวบ เลี้ยงลูกอย่างลูก
2) ตั้งแต่ 6 ขวบ จนถึง 15 ปี เลี้ยงลูกอย่างทาส
3) ตั้งแต่ 15 ขวบ จนถึงปัจจุบัน เลี้ยงลูกอย่างเพื่อน”
คุณลุงพูดด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใส ดวงตาฉายแววแห่งความสุขอย่างเห็นได้ชัด ราวกับว่า ภาพในอดีตได้พรุดขึ้นตรงหน้าของท่านอีกครั้ง นอกจากนั้น ท่านยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า มีเพื่อนบ้านบางคนเคยตั้งคำถามว่า “เลี้ยงลูกโหดเกินไปหรือเปล่า” เราลองฟังดูนะคะว่า ทำไมถึงมีคนตั้งคำถามเช่นนั้นกับท่าน
ช่วงแรก ที่ลูกอายุ 1 ขวบ – 5 ขวบ นั้นคุณลุงเลี้ยงลูก “อย่างลูก” นั้นหมายความว่า ท่านได้ให้การเลี้ยงดูลูกน้อยเป็นอย่างดี เหมือนพ่อแม่โดยทั่ว ๆ ไป ทั้งเรื่องข้าวปลาอาหาร การอบรมบ่มนิสัยให้ลูกเป็นคนดี คอยให้ความรัก/อบอุ่นกับลูกอย่างเต็มที่ มิให้เขารู้สึกว่า “ขาดแม่” คอยให้ความรักความอบอุ่น เหมือนดังเช่นครอบครัวอื่น ๆ ความเหน็ดเหนื่อยจากการตรากตรำทำงานนอกบ้าน มิได้เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ลูกเลยแม้แต่นิดเดียว ในวัยนี้ลูกก็จะเติบโตสมวัย อารมณ์เบิกบาน มีพัฒนาการตามวัย
ช่วงที่สอง วัย 6 ขวบ – 15 ปี คุณลุงจะเริ่มเลี้ยงลูก “อย่างทาส” คำว่า “ทาส” นั่นหมายถึง การฝึกให้เขา “ใช้แรงงาน” เพื่อแลกกับ “ข้าวปลาอาหาร การศึกษาเล่าเรียน ตลอดจน สิ่งของที่ต้องประสงค์” เป็นการฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง โดยสอนให้ลูกรู้จักช่วยทำงานบ้าน เช่น ปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือน การหุงหาอาหาร การช่วยงานในไร่สวน หรือ แม้กระทั่งการรับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามแต่กำลังของเด็กน้อยจะพอทำได้ เด็กในช่วงวัยดังกล่าว เป็นวัยเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น เป็นช่วงวัยที่กำลังจะเจริญเติบโต และก้าวเข้าสู่ “วัยรุ่น” สอนให้เขาเห็นคุณค่าของเงิน รู้จักมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และ ช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อที่ภายภาคหน้า เขาจะเป็นที่ยอมรับ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสง่าผ่าเผย
ช่วงที่สาม วัยตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะเลี้ยงลูก “อย่างเพื่อน” เพราะลูกก้าวเข้าสู่ “วัยรุ่น” อย่างเต็มตัว ซึ่งช่วงวัยนี้ เด็กอยากรู้ อยากเห็น อยากทดลอง โอกาสจะหลงผิดไปตามสิ่งยั่วยุทั้งอบายมุข ยาเสพติด หรือ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ดังนั้น ช่วงวัยนี้ คุณลุงเล่าว่า ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ พ่อแม่ต้องทำตัวให้เป็นเพื่อนกับลูก คอยถามไถ่ทุกข์สุก และความเป็นไปของลูกเสมอ แม้กระทั่งการคบเพื่อนต่างเพศ ก็จะถามว่า “เป็นเพื่อนกัน” หรือ “เป็นมากกว่าเพื่อน” ซึ่งถ้าหากเป็นมากกว่าเพื่อน พ่อแม่ก็จะต้องคอยทำหน้าที่แนะนำ เป็นที่ปรึกษาให้กับลูกได้ (ช่วงวัยนี้ ต้องทำให้ลูกไว้วางใจว่า “พ่อแม่” คือ “เพื่อน” ที่เขาสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง เราก็จะสามารถสอนและตักเตือนให้เด็กได้คิดแยกแยะดีชั่วด้วยตัวเอง
นอกจากนั้น คุณลุงยังได้เล่าว่า “ก็เอาความทุกข์ยากของตัวเองนี่แหละสอนลูก เป็นตัวอย่างใกล้ตัวลูกมากที่สุด เราในฐานะของ”พ่อ” ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่าง หรือ “เบ้าหล่อ” ที่ดี ทั้งใน “ครอบครัว” ความเป็น “พ่อ” ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกและเลี้ยงเขาให้เติบโตเป็นคนดี ใน “ชุมชน” เราก็ต้องทำหน้าที่ “ลูกบ้าน” หรือ “ผู้นำชุมชน” ที่ดี ซึ่งปัจจุบันคุณลุงก็ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนบ้านในการเป็นหน้าที่ผู้นำชุมชน ทำให้ท่านต้องสวมหมวกหลายใบ ทั้งหมวกของ “ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน” , “อสม” , “คณะกรรมการการศึกษาของชุมชนท่าเรือ ฯลฯ ดังนั้น คุณลุงอุบล จึงเป็นท่านหนึ่งที่ชุมชนท่าเรือให้ความเคารพนับถือ และยกย่องเป็นบุคคลตัวอย่างท่านหนึ่ง แต่ถึงกระนั้น ท่านก็ยังคงดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่าย
กับคำพูดที่ว่า บ้านผมเป็นบ้านหลังเดียวในชุมชนท่าเรือ ที่ยังเป็นบ้านเก่าหลังเล็ก ๆ หลังคายังคงมุงด้วยจาก ลูก ๆ อยากสร้างบ้านใหม่ หลังใหญ่โตสวยงามให้ผม แต่ผมบอกลูกว่า “ความสุข” ของพ่อใช่มาจากบ้านหลังใหญ่โต หากแต่ความสุขของพ่อเกิดจาก “ความพอเพียง” ดังนั้น บ้านหลังเล็กนี้พ่อก็มีความสุขได้ด้วยหัวใจที่พอเพียง และยิ่งไปกว่านั้น สุขใดจะดีและเหนือไปกว่า การที่พ่อได้เห็นลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณธรรม มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นเป็นไม่มี
เป็นบทสรุปที่ดีของการจบบทสนทนาของเรา ดังนั้น ผู้เขียนคงมิต้องสรุปให้ท่านผู้อ่านฟัง แม้ชายผู้นี้ จะจบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (การศึกษาภาคบังคับในสมัยนั้น) แต่ท่านก็ได้ให้ “แก่น” ในการเลี้ยงลูก และ การดำเนินชีวิตของผู้ที่ทำหน้าที่“เบ้าหล่อ” ที่ดีท่านหนึ่ง