เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มแนวคิดเครื่องมือในการทำงานกับชุมชน โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ครั้งที่ 3 วันที่ 24 – 26 กันยายน 2557 ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) สนับสนุนโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
...เริ่มนักถักทอชุมชนครั้งที่ 3 ที่เทศบาลเมืองปากพูน
“โครงการนักถักทอชุมชนมีหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้ามาร่วม มีการอบรมเจ้าหน้าที่ข้าราชการซึ่งต้องดูแลพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ขอให้การแก้ไขปัญหาเรื่อง “เยาวชน” อยู่ใน “หัวใจ” ของทุกท่าน ขอให้ผู้เข้าร่วมอบรมนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดแนวทางในการทำงานเพื่อช่วยกันทำงานของสังคม เพื่อประโยชน์สุขของชุมชน บ้านเมือง และประเทศชาติ” นายแมน พิกุลจร รองนายกเทศมนตรีเมืองปากพูน
ช่วงเช้า “อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์” ผอ.สรส. วิทยากร ได้ให้โจทย์นักถักทอชุมชนในแต่ละอบต. “ถอดบทเรียน” กิจกรรมการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว ที่ผ่านมา อบต.ละ 1 กิจกรรม เพื่อจะได้นำมาเรียนรู้ร่วมกัน
ทีมแรกจากเทศบาลเมืองปากพูน นำเสนอกิจกรรมการพัฒนาเด็ก ได้แก่โครงการปั่นจักรยานกำจัดขยะรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นการรวมคนในชุมชนทั้งกลุ่มแกนนำชุมชน เยาวชน ผู้สูงอายุ จำนวน 40คน ได้ทำกิจกรรมร่วมกันในทุกเช้าวันเสาร์ โดยใช้เสียงดนตรีนำขบวนให้ชุมชนรู้ว่าโครงการฯ นี้มาแล้ว เพื่อช่วยทำความสะอาดถนน วัด มัสยิด สิ่งที่พบทำให้เยาวชนที่เกิดปัญหา เป็นโอกาสที่ทำให้เทศบาลได้ทำงานกับเด็กอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญได้มีการสอนให้เด็กว่ายน้ำ ได้รับเสียงสะท้อนจากชุมชน โดยเฉพาะการทิ้งขยะไม่เป็นที่ของผู้ใหญ่ทำให้เกิดความละอายไม่กล้าทิ้งขยะบริเวณหน้าวัด เกิดความสะอาดมากขึ้น เพราะเห็นเยาวชนต้องมาเก็บ ทำให้เกิดการปลูกฝังนิสัยการรักความสะอาดในชุมชน อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ แนะนำ หลังทำกิจกรรมทุกครั้งควรจะต้องถอดบทเรียนเพื่อให้รู้ผลของกิจกรรมนั้นๆ ได้ชัดเจนขึ้น
ทางอบต.กลาย ได้นำเสนอโครงการเยาวชนต้นกล้าอาสาพัฒนาตำบลกลาย ที่มีเยาวชนเข้าร่วมถึง 120 คน ผลที่ได้ทำให้เยาวชนกล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น
องค์การบริหารส่วนตำบลเขาคราม ได้จัดค่ายเยาวชนห่างไกลยาเสพติด ใช้เวลา 1 วัน มีเยาวชนเข้าร่วม
60 คน ทำให้เยาวชนได้รู้โทษและผลของยาเสพติดมากขึ้น ประเด็นยากทำพยายามสร้างคือการสร้างเครือข่ายต่อต้านยาเสพติดเพื่อจะเป็นแนวร่วมในการป้องกัน
องค์การบริหารส่วนตำบลอินคีรี อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช
ได้นำเสนอโครงการสำรวจพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่อันตรายต่อความเข้มแข็งของครอบครัว
จากปัญญาเยาวชนในพื้นที่จึงเกิดโครงการนี้ ผลสรุปของโครงการทำให้เกิดการแก้ปัญหาขึ้นในครอบครัว
มีการพูดคุยกับผู้ปกครองมากขึ้น หลังถอดบทเรียนแม่บอกว่าอยากให้ลูกเป็นอย่างไร และลูกอยากให้แม่เป็นอย่างไร จึงทำให้เกิดการพูดคุยกันมากขึ้น
องค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว อ.ท่าศาลา จัดโครงการสังคมปลอดภัย สุขใจทั้งครอบครัว เพื่อให้พ่อ แม่ เยาวชนได้ตระหนักถึงพิษภัยยาเสพติดและสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในครอบครัว เน้นให้เด็กกลุ่มเสี่ยงและผู้ปกครองเข้าใจเรื่องยาเสพติด เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายป้องกันยาเสพติด มีกิจกรรมพาไปดูผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดวัดไม้เสียบเพื่อให้เห็นภาพจริงจะได้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้
เทศบาลตำบลโพธิ์เสด็จ อ.เมือง นำเสนอโครงการชุมชนสะอาดปราศจากโรค
เกิดจากปัญหาขยะล้นตำบล จึงรวบรวมกลุ่มเยาวชนมาร่วมกันเก็บขยะตามสถานที่สาธารณะทำให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญขยะลดลง
ก่อนปิดช่วงเช้า..
อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้เติมความรู้ให้กับนักถักทอชุมชน มีสิ่งที่ควรคิดก่อนทำกิจกรรมดังนี้
1.เป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเยาวชนให้มีความชัดเจน
2.ได้เพิ่มพูนความรู้ให้กับเยาวชนเรื่องใดบ้าง
3.เยาวชนได้ฝึกทักษะอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง
4.กิจกรรมที่ทำได้ช่วยปลูกฝังนิสัยให้เยาวชนเป็นอย่างไร
5.มีการประเมินผล
เริ่มช่วงบ่ายหลังมีกิจกรรมสันทนาการเพื่อเรียกความตื่นตัว...
อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผอ.สรส. วิทยากร ได้ให้โจทย์ข้อที่สอง
โจทย์ในการถอดบทเรียน “ศูนย์พัฒนาครอบครัว ตำบล” มีรายละเอียดดังนี้
1.เป้าหมายของศูนย์พัฒนาครอบครัวคืออะไร
2.การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวที่ผ่านมา บรรลุ หรือไม่บรรลุ เพราะอะไร
3.ปัจจัย เงื่อนไข สำคัญที่ทำให้ศูนย์ครอบครัวไม่บรรลุเป้าหมายคืออะไร
4.ถ้าไม่บรรลุต้องแก้ไขปรับปรุงอะไร
นักถักทอชุมชน เริ่มทำตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย
ช่วงบ่าย...ได้มีเจ้าหน้าที่จากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA นำทีมโดยนายอำนวย ชูหนู เดินทางมาดูการอบรมและให้กำลังใจบรรดานักถักทอชุมชน โดยมีความตอนหนึ่งว่า...
“..ผมคิดว่าองค์กรของผมมีประโยชน์กับอบต.มาก เมื่อก่อนทำกิจกรรมเขย่าจากข้างล่าง(ชุมชน) และนำขึ้นไปหาอบต.แต่ตอนนี้มีหลักสูตรนักถักทอที่จะช่วยเขย่าจากข้างบน(นโยบาย-ภาครัฐ) ลงมาด้วย สิ่งหนึ่งงานของเราเหมือนกันคืองานดูแลชุมชน พัฒนาชุมชน การสร้างคนให้มีจิตอาสาในชุมชนต้องให้พวกเขาได้มีบทบาทที่แท้จริงจะทำให้พวกเขามีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป...”
เริ่มเช้าวันที่สอง นักถักทอชุมชน จากเทศบาลเมืองปากพูน ในฐานะเจ้าภาพพาเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมอบรมฯ ชมวิถีชีวิตชาวประมงชายฝั่งและชมป่าชายเลนปากพูน ต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
โดยอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสรส. ได้ให้โจทย์ในการลงพื้นที่ดูงานครั้งนี้ว่าถ้าเราจัดกิจกรรมให้เยาวชนได้ทำ จะออกแบบกิจกรรมใดบ้างให้เข้ากับพื้นที่เรา โดยใช้ป่าชายเลนปากพูนเป็นแหล่งเรียนรู้..
นำเสนอความคิดการจัดกิจกรรม
จากการเรียนรู้ได้เห็นป่าชายเลนปากพูน ทำให้นักถักทอชุมชนทั้ง 6 พื้นที่ ได้แนวคิดในการออกแบบกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้ ประมวลแล้วคล้ายๆ กันคือ การออกแบบกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้และปลุกสำนึกรักบ้านเกิดทั้งรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลน และวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน โดยจะออกแบบให้มีทั้งบรรยายให้ความรู้และพาลงพื้นที่โดยมีปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของป่าชายเลน การปลูกป่าชายเลน และการทำประมงพื้นบ้าน โดยมีการพาลงพื้นที่ สร้างเครือข่ายเยาวชน ประสานกับโรงเรียนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และสุดท้ายถอดบทเรียนเพื่อจะได้รู้ว่ากิจกรรมที่ทำนั้นบรรลุเป้าหมายหรือไม่
ทำให้เห็นว่าจากการอบรมนักถักทอชุมชน ให้มีทักษะในการออกแบบกิจกรรมให้กับเยาวชนนั้น นักถักทอชุมชนสามารถออกแบบกิจกรรมได้เป็นอย่างดี
อ.ทรงพล ได้เติมว่าให้ตั้งเป้าว่าจะสร้างแกนนำเยาวชนใครบ้าง และให้แกนนำเยาวชนเป็นผู้สืบค้นความรู้เพื่อเป็นมักคุเทศน์ที่จะถ่ายทอดความรู้ต่อได้ เป็นการฝึกเยาวชนให้รู้จักคิด สืบค้น ทำงานเป็นระบบ และให้จัดแสดงผลงานในรูปแบบของโปสเตอร์ ภาพถ่าย จะช่วยให้กิจกรรมสมบูรณ์ขึ้นเพราะเยาวชนได้ทำกิจกรรมในการพัฒนาตนเอง
“ถือคติว่าค่าของคน ต้องอยู่ที่ผลงาน”
นรา หนูทอง นักถักทอชุมชนปี 2 อบต.อินคีรี จ.นครศรีธรรมราช
อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ให้บัตรคำ 15 นิสัย โดยให้นักถักทอชุมชนให้ความหมายของคำนั้นๆ นิสัยได้แก่ กตัญญู สะอาด มีเหตุผล ขยัน รอบคอบ วางแผน มีภูมิคุ้มกัน ใฝ่รู้ เรียนรู้ รู้จักประมาณตน สามัคคี มีน้ำใจ รอบคอบ ประหยัด สุภาพ ซื่อสัตย์ อดทน ตรงเวลา มีวินัย คิดว่าตรงไหนคือจุดอ่อนต่อความสำเร็จที่ได้วางไว้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนมากสะท้อนออกมาเป็นเสียงเดียวกันคือเรื่องของความประหยัด
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อ.ทรงพล บอกว่าสามารถนำกระบวนการแบบนี้ไปใช้กับการสร้างแกนนำเยาวชนในพื้นที่ได้
อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ให้เทคนิคในการสร้างทีมแกนนำเยาวชนในพื้นที่ โดยแนะนำให้จัดกิจกรรมไปสู่การเรียนรู้ สิ่งที่จะทำให้สามารถจัดกิจกรรมได้ดีต้องมีการเตรียมตัว เตรียมข้อมูล และเตรียมกระบวนการก่อน จากนั้นทำเป้าหมายให้ชัดแล้วค่อยออกแบบกระบวนการ เขียนแผนให้ชัดเจน ทางอ.ทรงพลได้ให้สมุดบันทึกการเรียนรู้ พลังเยาวชน พลังท้องถิ่น ไปเป็นเครื่องมือให้กับแกนนำเยาวชนอีกด้วย
วันสุดท้าย อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผอ.สรส. ได้ฉายวิดีทัศน์การพัฒนาแกนนำเยาวชน ที่ ต.หัวไผ่ จ.สุพรรณบุรี เป็นตัวอย่างของการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่จนประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักถักทอชุมชนภาคใต้ทั้ง 6 พื้นที่นำกระบวนการของต.หัวไผ่นี้ไปปรับใช้กับพื้นที่ตัวเองต่อไป
"การให้พูดชมหรือเชียร์เด็กๆ ที่มาร่วมทำกิจกรรม จะทำให้เด็กๆ มีกำลังใจที่จะทำงานเพื่อชุมชนต่อไป" อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ (ผอ.สรส.)
เพราะ “โครงงาน” เป็น “เครื่องมือ” สำคัญที่นักถักทอชุมชนไป “พัฒนาเด็กและเยาวชน” ในชุมชนได้ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ จึงได้ขยายความหมายของโครงการเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนดังนี้ โครงงาน (Project Approach) คือ กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ ทำการศึกษาค้านคว้าและฝึกปฏิบัติด้วยตนเองตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจ โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือกระบวนการอื่นๆ ไปใช้ในการศึกษาหาคำตอบ (ตั้งคำถาม สังเกต สืบค้น ทดลอง ประเมินผลฯลฯ) โดยมีครูผู้สอน (พี่เลี้ยง) คอยกระตุ้น แนะนำและให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การเลือกหัวข้อที่จะศึกษา ค้นคว้า การจัดทำแผน กำหนดเป้าหมาย ขั้นตอนการดำเนินงานและการนำเสนอผลงาน
อ.ทรงพลได้ให้โจทย์กับนักถักทอชุมชน ให้แต่ละอบต.วางแผนการทำโครงการสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อนำเสนอในวันเด็กปี 2558 นี้
การฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์และวางแผนงานเพื่อไปสู่การกำหนดเป้าหมาย แนวทาง ขั้นตอนการขับเคลื่อนงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น โดย อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้เน้นย้ำให้นักถักทอชุมชน รุ่น 2 โซนภาคใต้ ตระหนักเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาแกนนำเยาวชน ตั้งแต่การสรรหาแกนนำ การจัดค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนและทำโครงงานที่แกนนำเยาวชนถนัดและสนใจ เพื่อทำฐานการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนรุ่นน้องในแต่ละตำบล ด้วยวิธีการสืบค้นหาความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือทุนที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งการสรรหาพี่เลี้ยง การจัดเวทีพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยง การสรรหากรรมการพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว การพัฒนาความเข้มแข็งของกลไก (แกนนำเยาวชน พี่เลี้ยงและกรรมการ) และการสนับสนุนของกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน วางแผนหาวิธีการจัดการและสนับสนุนการขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบต่อเนื่องยั่งยืน
เปิดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของนักถักทอชุมชนทั้ง 6 ตำบล โซนภาคใต้ในประเด็นการสรรหาแกนนำเยาวชน ด้วยการจัดการทุนทางสังคมเดิมที่มีอยู 2 วิธีการในการสรรหาแกนนำเยาวชน ดังนี้
1) นักถักทอชุมชน มองเห็นทุนทางสังคมเดิมที่มีอยู่ในแต่ละตำบลคือ มีแกนนำเยาวชนประจำหมู่บ้าน ตามฐานการเรียนรู้กลุ่ม ชมรม คณะกรรมการนักเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา/มํธยมศึกษา เช่น ทม.ปากพูน ทต.โพธิ์เสด็จ อบต.เขาคราม อบต.อินคีรี
2) นักถักทอชุมชน มองเห็นทุนทางสังคมเดิมที่มีอยู่ประจำหมู่บ้าน คือ พี่เลี้ยง โดยจะให้พี่เลี้ยงเป็นผู้สรรหาแกนนำเยาวชนในแต่ละหมู่บ้านเอง เพราะมีความใกล้ชิดจะทราบว่าเด็กเยาวชนคนใดมีศักยภาพ เช่น อบต.กลาย อบต.สระแก้ว
“การสร้างเครือข่ายก็เหมือนกล้วย จากหนึ่งลูก สองลูก ก็กลายเป็นหวี เครือข่ายก็จะมีความเหนียวแน่นได้โดยการช่วยเหลือกัน”
นายเอกมล พลับช่วย(เอก) นิติกร ทต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
ข้อคิดสุดท้ายของเวทีครั้งนี้ จากอ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ อาทิ
“การทำโครงการขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญคือการจัดการความเสี่ยง เป็นการคิดรอบสอง รอบสาม จะทำให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น และนำไปสู่เป้าหมายได้มากขึ้น”
“เราไม่ทำกิจกรรมเพื่อกิจกรรม แต่ทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กเยาวชน ให้ได้ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์” อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผอ.สรส.
“การทำแผนพัฒนาเด็ก ครอบครัว จะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร โดยมีเป้าหมาย ให้เด็กเยาวชนเวลาว่าง ทำกิจกรรที่เป็นประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และชุมชนอย่างต่อเนื่อง”
โดยโจทย์ครั้งนี้เป็นการบ้านให้นักถักทอชุมชนไปคัดเลือกพี่เลี้ยงและแกนนำเยาวชนมานำเสนอในครั้งต่อไป พบกันที่องค์การบริหารส่วนตำบลกลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กับ HOW TO เรื่องการติดตามประเมินแบบเสริมพลัง