สร้างวิสัยทัศน์ร่วมในการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนตำบลตะโหมด โดย ศิริชัย พรหมทอง
Webmaster

เรื่องเล่าจากภาคใต้/สภาลานวัดตะโหมด จ.พัทลุง 

ตอนที่ 2 : สร้างวิสัยทัศน์ร่วมในการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนตำบลตะโหมด

 

 

          จัดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนกับแกนนำสภาลานวัดตะโหมด/แกนนำชุมชน หลังจากที่ อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส. และหัวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) และชยุต อินทร์พรหม ผู้ประสานงานโครงการฯ พื้นที่ภาคใต้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนพดคุยกับแกนนำสภาลานวัดตะโหมด เพื่อแนะนำโครงการฯ ทำความรู้จัก และดูความสนใจของชุมชนที่มีต่อเด็กและเยาวชนไปแล้วเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553

 

          วันที่ 30 ตุลาคม 2553 จึงได้มีการจัดวงพูดคุยกับแกนนำสภาลานวัดตะโหมดอีกครั้ง เพื่อสานต่อภาพความฝันเรื่องการพัฒนาเด็ก เยาวชน และคนในชุมชนตะโหมดให้มีความชัดเจนมากขึ้น

 

          สำหรับแกนนำสภาลานวัดตะโหมดที่มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้แก่ คณะทำงานสภาลานวัด, ที่ปรึกษาสภาลานวัด, รองประธานสภาลานวัด, รองนายกฯเทศบาลตำบลตะโหมด, เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลตะโหมด, ครูโรงเรียนวัดตะโหมด, ครูโรงเรียนประชาบำรุง ฯลฯ 

 

          โดยเป้าหมายสำคัญของการพูดคุยในครั้งนี้คือ 1) สำรวจความสนใจ ความพร้อม และทุนทางสังคมที่มีของชุมชน 2) สร้างแรงบันดาลใจและวิสัยทัศน์ร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชน และ 3) กำหนดแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาเด็กและเยาวชนร่วมกัน

 

          ชุดคำถามที่ อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ใช้ในการเปิดประเด็นเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกับกลุ่มเป้าหมายคือ 3) เรามีเป้าหมายอะไร / อยากเห็นเด็กตะโหมดเป็นอย่างไร 3) ทุนที่มีของเราคืออะไร และ 3) จะมีต่อยอด หรือการจัดการต่ออย่างไร

 

          กระบวนการ “การจัดการความรู้” (KM) ที่โครงการฯ ประยุกต์ใช้กับพื้นที่/กลุ่มเป้าหมาย คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ หรือภาพความสำเร็จที่ต้องการเห็นร่วมกัน (Knowledge Vision) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เติมเต็มระหว่างกัน เพื่อหมุนเกลียว ยกระดับความรู้ในการทำงาน (Knowledge Sharing) และมีการรวบรวมความรู้ให้ชัดเจนเป็นระบบ (Knowledge Asset) เพื่อนำขุมความรู้นี้ไปใช้ต่อ โดยกระบวนการทำงานแต่ละขั้นตอน จะมีทั้งการใช้ความรู้ การสร้างความรู้ และการจัดการความรู้ก่อนทำ ระหว่างทำและหลังทำ และมีการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ที่หลากหลายร่วมกับเครื่องมือต่างๆ

 

          เปิดประเด็นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ลุงวรรณ ขุนจันทร์ รองประธานสภาลานวัดตะโหมด เปิดวงการพูดคุย โดยชี้ให้เห็นสถานการณ์การจัดการศึกษาในปัจจุบันว่า  “การจัดศึกษาของเราไม่เข้มแข็ง ทำให้การศึกษาของลูกหลานเราไม่พัฒนาเหมือนแต่ก่อน ประเทศเราน่าจะก้าวหน้าไปมากกว่านี้ แต่ตอนนี้เหมือนจะถอยหลังอยู่กับที่… 

 

          โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาควรจะนำเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสืบสาน ขณะนี้เรื่องภูมิปัญญากำลังจะสูญหายไป จะไปโทษเด็กอย่างเดียวก็ไม่ได้ ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราจะต้องมีการจัดการศึกษาทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน หากลูกหลานของเราไม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน แล้วใครจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาท้องถิ่นของเรา…”

 

อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ชวนคุยต่อยอดในเรื่องเดียวกันว่า 

          “สิ่งที่มีอยู่เดิมเป็นทุนที่ดีมากของชุมชน แต่สิ่งที่เราทำมา จะเห็นว่าเรายังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนได้อย่างเต็มที่ ขณะนี้เด็กกำลังเรียนรู้อย่างแยกส่วน ระหว่าง วิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาชุมชน และวิชาการ เด็กปัจจุบันไม่ได้เรียนรู้วิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาชุมชนเหมือนแต่ก่อน พอไปเรียนในโรงเรียนก็เรียนแต่วิชาการอย่างเดียว แต่พอไปเรียนก็เบื่อ ไม่อยากเรียน พอเด็กเอาดีไม่ได้สักวิชาเดียว เมื่อเขาอยู่ในสังคมก็เอาตัวไม่รอด เขาหยิบมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไม่สุขกาย ไม่สุขใจ… 

 

          เมื่อหันมาดูที่ชุมชน ขณะนี้วิชาชีวิตใครจะเป็นผู้สอน เพราะสมัยนี้พ่อแม่ต้องทำมาหากิน คนที่สอนลูกเราก็คือทีวี แล้วถามว่าเด็กได้อะไรจากทีวีบ้างหรือไม่ … 

 

          เมื่อทั้งวิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาการ วิชาชุมชน ไม่ได้บูรณาการกัน เราจึงต้องถอยกลับมาดูที่การจัดการศึกษาของเรา จะทำอย่างไร ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข… ที่เด็กไม่อยากไปเรียน เราต้องวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไร สังเกตว่าธรรมชาติของเด็กจะชอบเล่น เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาเล่นนำ เพื่อให้เด็กมีใจก่อน เมื่อใจมาก็จะเปิดรับ จากนั้นก็ค่อยใส่ความรู้เข้าไปให้เขา… 

 

          การศึกษามีทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ที่ผ่านมามี กศน.ที่สอนวิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาชุมชน แต่กศน. ก็นำเด็กเรียนรู้ไปไม่ถึงเป้าหมาย… เพราะฉะนั้นชุมชนต้องหันมาดูแลเรื่องการศึกษาของลูกหลาน เพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม เป็นผู้จัดการ”

 

          ลุงวิทูร หนูเสน แกนนำสภาลานวัดตะโหมด และเจ้าของสวนเกษตรวิถีพุทธ เสริมว่า “ปัจจุบันเด็กไม่ได้เรียนรู้ ไม่สนใจเรื่องราวของคนรุ่นพ่อแม่ ทั้งทางด้านภูมิปัญญา วิถีชีวิต และตอนนี้พ่อแม่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นครูคนแรกของลูกแล้ว เพราะพ่อแม่จะต้องทำมาหาเงิน เด็กจึงไม่ได้เรียนรู้เรื่องศีลห้าด้วย ไม่รู้จักวิธีการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ถูกต้อง… คนรุ่นเราเกิดก่อน เรามองเห็นอะไรดีและไม่ดีอย่างไร เมื่อเรามองเห็นแล้ว เราจะต้องเข้าแก้ไข มิฉะนั้น คนรุ่นลูกหลานของเราจะอยู่กันอย่างไร”

 

นอกจากนี้ แกนนำคนอื่นๆ ยังมีประเด็นในการแลกเปลี่ยนที่สำคัญ ดังนี้

          - พ่อแม่ไม่กล้าพูดกับลูก สอนให้ลูกเป็นเทวดา แล้วแต่ลูกจะเอาอะไร แต่ขอให้ลูกเรียนอย่างเดียว ผมไม่เคยเห็นพ่อแม่เรียกลูกให้ลุกขึ้นมาหุงข้าว ทำกับข้าวเลย พ่อแม่อยากให้ลูกรับข้าราชการ ทำงานบริษัท ไม่เคยคิดอยากจะให้ลูกมาทำอาชีพของตัวเอง ไม่เคยคิดว่าจะให้ลูกมาทำอาชีพของตัวเองให้ดีกว่าแต่ก่อนอย่างไร

          - เราต้องตระหนักว่าเราสอน 4 วิชาได้ดีแค่ไหน ลูกหลานของเราจึงมีปัญหา แล้วเรายังปล่อยเขาออกสู่สังคมที่มีปัญหา แล้วเขาจะเป็นอย่างไร

          - ชุมชนเริ่มแตกแยกแล้ว จะทำอย่างไรให้เราอยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข

          - ปัญหาสังคมต่างๆ เกิดขึ้นเพราะคนขาดศีลธรรมในใจ ขาดสติและปัญญาในการแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ไม่เป็น เราต้องมาช่วยกันคิดแก้ไขที่เด็กและเยาวชนของเรา

          - องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดการศึกษาอยู่แล้ว และพร้อมสนับสนุนการจัดการศึกษาของชุมชน  

          - เป็นโอกาสดีที่เราได้มานั่งคิดนั่งคุยกันหลายๆ รอบ ทำให้เกิดการคิดร่วมกัน และจะเกิดการขับเคลื่อนได้จริง

          - สิ่งนี้ เราจะต้องรีบทำ รีบต่อยอด เพื่อเกิดความต่อเนื่องไปสู่ลูกหลานในอนาคต

 

“กระแสสังคมไหลบ่ามาเหมือนกระแสน้ำเชี่ยว

 ถ้าเด็กตกน้ำ แล้วว่ายน้ำไม่เป็น ก็จะไหลตามน้ำไป ถ้าเขารู้จักว่ายหรือว่ายเป็น ก็ช้าจะหน่อย” 

อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์

 

          แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อต่อยอดจากหลักสูตรตะโหมดศึกษา สู่โรงเรียนชีวิต แกนนำสภาลานวัดตะโหมดมีความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษาของชุมชน ดังนี้

          - นำหลักสูตรตะโหมดศึกษาไปต่อยอด มีการเสริมวิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาชุมชน ให้แก่เด็กและเยาวชน เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน โดยต้องให้ชุมชนเรียนในสิ่งที่ชุมชนมี 

          - ระบบการศึกษาเป็นตัวแยกเด็กในชุมชนออกจากวิชาต่างๆ และแยกเด็กประถมออกจากเด็กมัธยม จะต้องมาวิเคราะห์ว่า ในหลักสูตรท้องถิ่นจะทำอย่างไรให้เด็กเกิดความกตัญญู จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็กยังเล็กๆ และเมื่อเด็กโตขึ้นมาอีกหน่อยจะต้องจัดหลักสูตรอะไร เนื้อหาแบบไหน ให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก 

          - ให้ความสำคัญกับหัวใจนักปราชญ์ คือ สุ จิ ปุ ลิ เพื่อให้เด็กได้พัฒนาตัวเอง

          - ปลูกฝังหลักธรรมที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ อิทธิบาท 4 (เครื่องสำเร็จตามประสงค์)

          - มีการนำชุมชนเข้าไปบูรณาการกับการศึกษาในระบบ ต้องมีเวลา(คาบเรียน)ให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องหลักสูตรของท้องถิ่น ระดับประถมเรียนเรื่องอะไรบ้าง และมัธยมเรียนเรื่องอะไรบ้าง 

          - สภาลานวัดเป็นศูนย์กลาง สร้างหลักสูตรขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนตะโหมด เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ ความเป็นของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ

          - มีการสำรวจทุนทางสังคม ทั้งผู้รู้ ครูภูมิปัญญาเรื่องต่างๆ แหล่งเรียนรู้ องค์ความรู้ที่มี เพื่อนำมาจัดการศึกษาให้แก่ชุมชน

          - โรงเรียนชีวิต (โรงเรียนคู่ขนานกับโรงเรียนในระบบ) จะต้องทำให้วิชาชีวิต วิชาชุมชน วิชาชีพ มีการบูรณาการกัน มีความสมดุลระหว่าง ๔ วิชา มีการกำหนดจุดหมายปลายทางคืออะไร และจะทำอย่างไรให้มีความยั่งยืน

          - การพัฒนาเด็กต้องทำตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) และให้เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ก่อนจะแต่งงาน ส่วนหนุ่มสาวที่จะแต่งงานกันจะมีแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างไรบ้าง (เมื่อมีลูกแล้ว จะเลี้ยงลูกยังไงให้รอด เมื่อรอดแล้วเลี้ยงให้โต ให้ได้รับการศึกษา เมื่อโตขึ้นแล้วให้เป็นคนดี เมื่อเขามีลูกก็เป็นพ่อแม่ที่ดีต่อไป) ตรงนี้เป็นวิชาชีวิตที่เราต้องใส่เข้าไปด้วย

          - มีการตั้งเป้าหมายในการจัดการศึกษาว่า ให้เด็กในชุมชนเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม (เด็กจบการศึกษามาแล้วเป็นคนดี) สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

          - มีการสอนเรื่องการละเล่นพื้นบ้าน สอนเรื่องภูมิปัญญา สอนเรื่องการทำอาชีพ และสอนให้คนคิดถึงอาชีพของตัวเอง คิดถึงชุมชนของตนเอง ฯลฯ 

          - ต้องมาคิดว่า จะทำอาชีพอะไร ให้ดินมีประโยชน์มากขึ้น เพราะคนเพิ่มขึ้นแต่แผ่นดินไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว

          - มีการทำปฏิทินชุมชน / ปฏิทินการเรียนรู้ เพื่อวางแผนว่าในแต่ละเดือนเราจะมีการจัดหลักสูตร/เนื้อหาเรื่องอะไรบ้าง และใครจะเป็นคนดูแลเด็กในช่วงเวลาต่างๆ 

          - ในการทำงานพัฒนาต้องไม่มองแยกส่วน ทั้งเรื่องเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ จะต้องทำไปพร้อมๆ กัน และทุกคนต้องช่วยกัน 

          - เด็กและเยาวชนจะดีได้ จะต้องเริ่มจากพ่อแม่ ควรจะให้เด็กและพ่อแม่ได้เรียนรู้ตัวแบบจากครอบครัวที่ประสบความสำเร็จด้วย

          - มีการวางแผนและเดินอย่างมีระบบ และดึงเด็ก เยาวชน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ทุกกลุ่ม ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก มีการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาร่วมกัน (เน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม)

          - อยากให้ทุกฝ่ายในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เปิดโกาสให้ทุกหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และขับเคลื่อนไปด้วยกัน แก้ปัญหาด้วยกัน โดยไม่ใช่เป็นการขับเคลื่อนเฉพาะคนวงใน(แกนนำ) แต่ต้องมีการบูรณาการกัน ใครทำอะไรในชุมชน ทุกคนต้องมีส่วนรับรู้ด้วย

          - ในชุมชนเราทำกิจกรรมมามากมาย แต่ทำแล้วเราไม่ได้ดึงมาใช้ ไม่ได้นำความรู้ไปใช้  เพราะเราไม่ได้จัดการความรู้ นำไปสู่การปฏิบัติ ถ้าเรามีการถอดบทเรียนออกมา เราจะรู้ว่าเราจะทำอะไรต่อไป

          - สุดท้าย ควรมีการประมวลผลในการทำงานร่วมกัน สรุปความรู้และบทเรียน มีการจัดการความรู้ จึงจะเกิดประโยชน์ร่วมกัน

 

     

 

          กำหนดเป้าหมาย และแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน แกนนำสภาลานวัดตะโหมดและโครงการฯ ร่วมกันกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาของชุมชน ดังนี้

1.ป้าหมายการจัดการศึกษา : ความสุข ความดี ความงาม ความจริง

          - จะมีชีวิตอยู่อย่างไรให้ “มีความสุข” (ฝึกให้เด็กรู้จักตั้งคำถามกับเด็กว่า เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร ถ้าเด็กเข้าถึงเป้าหมายของชีวิตได้ เขาก็จะเข้าถึงความสุขที่แท้ได้) 

          - การให้เด็กเข้าถึงคุณค่าของ “ความดี” มากกว่า ความเก่ง และการแข่งขันเพื่อเอาชนะ

          - การให้เด็กเข้าถึง “ความงาม” มีความอ่อนน้อม อ่อนโยน รู้จักเคารพนบน้อมผู้ใหญ่ และอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ

2. ชุดวิชาที่สำคัญ : วิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาการ วิชาชุมชน

          - วิชาชีวิต  (กำหนดนิยาม/ความหมาย, ขอบข่ายเนื้อหา/กิจกรรม, ผู้สอน ฯลฯ) 

          - วิชาชีพ  (กำหนดนิยาม/ความหมาย, ขอบข่ายเนื้อหา/กิจกรรม, ผู้สอน ฯลฯ)

          - วิชาการ  (กำหนดนิยาม/ความหมาย, ขอบข่ายเนื้อหา/กิจกรรม, ผู้สอน ฯลฯ)

          - วิชาชุมชน  (กำหนดนิยาม/ความหมาย, ขอบข่ายเนื้อหา/กิจกรรม, ผู้สอน ฯลฯ)

3. การจัดกระบวนการเรียนรู้ : มีการใช้ภาษา สื่อ กิจกรรม การปฏิบัติ ฯลฯ ผ่านวิธีการ หรือกุศโลบายที่หลากหลายตามความสนใจของผู้เรียน

          - วิเคราะห์จับแก่นว่าเนื้อหานี้ ความรู้คืออะไร แก่นของความรู้คืออะไร และจะถ่ายถอดอย่างไรให้ผู้เรียนเข้าถึงแก่นความรู้ (ถ้าผู้สอนเข้าถึงแก่นได้ ก็จะถ่ายทอดได้ ปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับยุคสมัย แต่แก่นของความรู้ยังอยู่)

4. ผู้จัดการเรียนรู้ : ชุมชน โดยมีองค์ประกอบ เช่น

          1) กรรมการชุมชน (ดูภาพรวม/เชิงนโยบาย)

          2) ครูใหญ่ (ดูภาพรวม/เชิงการบริหาร)

          3) ครูประจำวิชา : พ่อแม่ ผู้รู้ ครูภูมิปัญญา โรงเรียน วัด กศน. อนามัย ฯลฯ

          4)  ผู้ช่วยครู/ครูพี่เลี้ยง : แกนนำเยาวชน, สภาเด็กและเยาวชน

                    - เป็นพี่เลี้ยง พาน้องทำกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ ให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้

5. ผู้เรียน : เด็ก เยาวชน พ่อแม่ คนในชุมชน 

          - กำหนดกลุ่มเป้าหมาย เช่น
                    กลุ่มครอบครัว

                    กลุ่มเด็กและเยาวชน (แยกตามช่วงอายุ)

          - มีระบบการประเมินและตามผลการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียน

6. ผู้สนับสนุน : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          - ผู้ที่ผ่านหลักสูตรท้องถิ่นแล้ว จะมีการมอบประกาศนียบัตรหรือทุนการศึกษาให้

7. ปฏิทินการเรียนรู้ : มกราคม – ธันวาคม 

 

          วางแผนการขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชนของชุมชนตะโหมด แกนนำสภาลานวัดตะโหมดและโครงการฯ ร่วมวางแผนขับเคลื่อนงานเบื้องต้น ดังนี้

          1. แกนนำสภาลานวัดตะโหมด / แกนนำชุมชนตะโหมด พูดคุยกัน เพื่อจัดทัพจัดคน ใครจะมีบทบาททำอะไรบ้าง และต้องการให้โครงการฯ / สรส. หนุนเสริมเรื่องอะไรบ้าง

          2. จัดเวทีประชุมทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ปกครองของเด็ก คณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียน สภาลานวัดตะโหมด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ

          3. จัดทำหลักสูตร ให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน (ตามช่วงวัย / กลุ่มอายุ)

          4. หาเจ้าภาพกลุ่มเด็กแต่ละช่วงอายุ เป็นครูประจำการ 

                    1) กลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน กำหนดเป้าหมาย  เนื้อหา ผู้รับผิดชอบ 

                    2) กลุ่มเด็กประถม กำหนดเป้าหมาย  เนื้อหา ผู้รับผิดชอบ 

                    3) กลุ่มเด็กมัธยม กำหนดเป้าหมาย  เนื้อหา ผู้รับผิดชอบ 

          โดยเนื้อหาแต่ละระดับควรจะมีการส่งต่อกันด้วย (เชื่อมโยง/สอดคล้องกัน)

          5.กำหนดเป้าหมายแต่ละช่วงเวลา เช่น 

                    3 เดือน จะให้เกิดอะไร เด็กเป็นอย่างไร พ่อแม่เป็นอย่างไร

                    6 เดือน จะให้เกิดอะไร เด็กเป็นอย่างไร พ่อแม่เป็นอย่างไร

                    1 ปี จะให้เกิดอะไร เด็กเป็นอย่างไร พ่อแม่เป็นอย่างไร ชุมชนเป็นอย่างไร

                    ฯลฯ

 

          เมื่อผู้รู้เรื่องการศึกษา ผู้รู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งหลายมารวมตัวกัน ความคิดในการพัฒนาและแนวทางในการขับเคลื่อนก็เกิดขึ้น ซึ่งทุกคนต่างมีเป้าหมายสุดท้ายร่วมกันคือ ต้องการเห็น คนในชุมชนเป็นคนดี และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นั่นเอง

 

          กระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนในระดับตำบล หมู่บ้าน ของชุมชนตะโหมด เพื่อให้เป็นรากแก้วที่เข้มแข็ง  มีภูมิคุ้มกันต่อกระแสต่างๆ จากภายนอกที่เข้ามา มีความรู้และมีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต จนพัฒนาไปสู่ชุมชนเป็นสุขอย่างแท้จริง จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามในตอนต่อไป

 

ชยุต อินทร์พรหม, สิริลักษณ์ ยิ้มประสาทพร

โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค)

สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)