การประชุมทำแผนการขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนห้วยยอดโดย ศิริชัย พรหมทอง
รุ่งนภา จินดาโสม

เรื่องเล่าจากภาคใต้/พื้นที่เครือข่าย รร.ห้วยยอด จ.ตรัง 

 

ตอนที่ 2 การประชุมทำแผนการขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนห้วยยอด จ.ตรัง วันที่ 29 มีนาคม 2554 ณ โรงเรียนห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

 

          “โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค)” ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ให้มีขีดความสามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความสุข โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน หน่วยราชการ สถาบันการศึกษา และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ 

 

          หลังจากที่ โครงการฯ ได้ร่วมกับ โรงเรียนห้วยยอด จัดเวทีการประชุมผู้บริหารและครูโรงเรียนห้วยยอดและเครือข่าย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ไปแล้วนั้น มีหลายฝ่ายได้แสดงความสนใจในเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชน อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และหัวหน้าโครงการฯ จึงเชิญครูแกนนำโรงเรียนห้วยยอดมาประชุมพูดคุยกันอีกครั้ง เพื่อวางแผนการขับเคลื่อนงานร่วมกัน โดยในเวทีครั้งนี้จัดขึ้นเป็นการภายในเฉพาะครูแกนนำของโรงเรียนห้วยยอดก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างในการขยายผลไปยังโรงเรียนเครือข่ายอื่นของโรงเรียนห้วยยอดต่อไป

 

          อ.ทรงพล กล่าวว่า “ตอนนี้ที่เรากำลังขับเคลื่อน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงการพัฒนาโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล (world class) ฯลฯ หรืองานวิชาการ งานพัฒนาผู้เรียน งานอะไรต่างๆ ก็ตาม เราได้ทบทวนหรือไม่ว่า ผลที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นอย่างไร ดีที่สุดแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ดีที่สุด อะไรที่เป็นสาเหตุ อุปสรรค แล้วเราจะมีวิธีการพัฒนาอย่างไร

 

          เมื่อเราสอนเด็ก สัมฤทธิผลทางด้านนิสัยของเด็กเป็นอย่างไร ต้นเทอมเด็กนิสัยเป็นอย่างไร จบเทอมแล้วเด็กนิสัยเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือลดลง เราเคยวัดหรือไม่ ?

 

          เด็กจะทำอะไรก็ตาม ให้มีนิสัยที่แฝงฝังในเนื้อในตัวของเขาเอง เช่น ความพอเพียง ความมีเหตุผล และคุณธรรมต่างๆ อาทิ ระเบียบวินัย ความประหยัด ความขยัน ฯลฯ 

 

          หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเหมือนหลักธรรมะ แต่ถ้าจะให้ได้ผลจริงจะต้องฝึกเด็กให้ทำเป็นนิสัย (ให้เป็นนิสัยติดตัวเขาไป)

 

แล้วครูจะต้องออกแบบการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อฝึกให้เด็กเป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มีความรู้ มีคุณธรรม ?

 

          ถ้าเราอยากจะให้เด็กได้คะแนนดี เราจะต้องสร้างเครื่องมือ คือ การสอนวิชาควบคู่ไปกับการคัดนิสัยเด็ก ถ้าเด็กเรียนแล้วความประพฤติหรือนิสัยแย่ลง แน่นอนว่า ผลการเรียนย่อมจะแย่ลงตามไปด้วย

 

          คนสมัยก่อนไม่ได้เรียนสูง แต่ทำไมเขาเอาตัวรอดได้ คนสมัยก่อนมีวิชาชีวิตที่เข้มแข็ง เพราะเขาเรียนรู้จากวิถีชีวิต เขารู้ว่าที่ไหนมีผัก มีปลา รู้วิธีการจับปลา รู้ว่าช่วงไหนมีปลามาก ช่วงไหนมีปลาน้อย ฯลฯ ความรู้เหล่านี้ (การรู้ทุกข์ รู้ทุน) ทำให้เขาเอาตัวรอดได้ อยู่รอดได้ และคนสมัยก่อนทำอะไรก็จะมีเป้าหมายชีวิตที่แน่นอน

 

          แต่เด็กสมัยนี้ เรียนแต่วิชาการ เรียนแล้วเอาตัวไม่รอด ลอยเท้งเต้งอยู่ในสังคม เพราะที่ผ่านมา เราจัดการศึกษาแบบแยกส่วน และศาสตร์ก็ถูกแยกเป็นวิชาต่างๆ 8 กลุ่มสาระ เด็กถูกกำหนดให้เรียนความรู้ภายนอกมากมาย แต่ไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีความคิดที่จะพัฒนาตนเอง ต้องให้พ่อแม่หรือครูมาคอยบังคับจำจี้จ้ำไช เด็กไม่ได้คิดว่า ที่มาร่ำเรียนอยู่นี้เพื่อพัฒนาตนเอง 

 

ที่ผ่านมา การศึกษาไม่ได้ตอบเรื่องเป้าหมายชีวิตแล้ว และยังไม่ได้ตอบเรื่องคุณภาพชีวิตของเด็กด้วย

 

          อ.ทรงยกเรื่อง ปฏิญญาจอมเทียน (Jomtien Declaration) ที่เกิดขึ้นจากการประชุมระดับโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน เมื่อ พ.ศ. 2533 ที่จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี มาเล่าให้ครูฟังว่า “เป็นครั้งแรกที่มีการสร้างแนวทางในการพัฒนาการศึกษาเพื่อปวงชนร่วมกัน ปฏิญญาว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนนี้ เป็นการเตือนให้ระลึกว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน ทั้งหญิงและชายทุกวัยทั่วโลก มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หรือผู้ใหญ่ มีสิทธิที่จะสามารถได้รับประโยชน์จากโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ โดยความต้องการเหล่านี้ประกอบด้วย การเรียนรู้ทั้งที่เป็นเครื่องมือสำคัญ และสาระการเรียนรู้พื้นฐาน (วิชาที่ว่าด้วยความรู้ทักษะ ค่านิยม และทัศนคติ) ตามที่มนุษย์จะสามารถอยู่รอดเพื่อพัฒนาความสามารถของพวกเขา และนำไปใช้เพื่อการอยู่อาศัย และทำงาน หรือมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และอย่างมีศักดิ์ศรี ในการพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขา เพื่อตัดสินใจ ทราบและดำเนินการเรียนรู้ต่อไป ทั้งนี้ ขอบเขตของความต้องการการเรียนรู้พื้นฐานนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ วัฒนธรรม รวมไปถึงกาลเวลา

          จะเห็นว่า ปฏิญญาจอมเทียน เป็นประกาศปฏิญญาว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน มีหลักการว่า ประชาชนไม่ว่าเชื้อชาติใด ศาสนาใด และอายุเท่าใดจะต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน และการศึกษาดังกล่าวต้องเป็นการศึกษาที่ทำให้มนุษยชาติเกิดสันติภาพ มีความมั่นคง มีการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนา ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมได้ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรงต่างๆ ปัญหายาเสพติด ปัญหาโสเภณีเด็ก ปัญหาโรคเอดส์ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กที่ไม่สามารถจะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แต่เพียงลำพังได้ กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าว คือการสร้างชุมชนให้แข็งแกร่งที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาต่างๆ และการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ” (การประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ 10 วันที่ 22 - 24 มีนาคม 2554 ที่ โรงแรมโรยัล คลิฟ บีช จอมเทียน พัทยา โดยมีผู้นำจาก 55 ประเทศเข้าร่วม)

 

          จาก “ปฏิญญาจอมเทียน” ดังกล่าว อ.ทรงพล จึงหันกลับมาถามคำถามกับครูว่า “เมื่อครูจะต้องบูรณาการการเรียนการสอน ครูจะทำอย่างไร ?”

          - จะทำอย่างไรให้สิ่งที่สอนเชื่อมโยงกับ วิถีชีวิต 

          - จะทำอย่างไรให้สิ่งที่สอนนั้นกลายเป็น นิสัยของเด็ก

เพราะฉะนั้นครูจึง

          - ต้องสร้าง ตัวชี้วัด เพื่อวัดนิสัยเด็ก

          - ต้องสร้าง การมีส่วนร่วม ของทุกฝ่ายในชุมชน

 

เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ใน 4 วิชา คือ วิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาชุมชน วิชาการ 

          1) วิชาชีวิต (รู้เป้าหมายชีวิต รู้จักตนเอง รู้สิ่งที่ตนเองต้องพัฒนา รู้วิธีการ ฯลฯ) 

          2) วิชาชีพ (รู้วิธีในการสร้างฐานเศรษฐกิจบนทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ)

          3) วิชาชุมชน (รู้ทุกข์  รู้ทุนในชุมชน ฯลฯ)

          4) วิชาการ (รู้หลักการ รู้แนวคิด ทฤษฎี ฯลฯ)

 

          ตอนนี้ เด็กได้เรียนรู้วิชาการจากที่โรงเรียนแล้ว แต่อีก 3 วิชา จะต้องอาศัยความร่วมมือของบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

          อ.ทรงพล ยกตัวอย่าง วิชาชีวิตในบ้าน เช่น เด็กปอกไข่ มีไข่สองใบ ไข่ใบหนึ่งปอกแล้วติดเปลือก ส่วนอีกใบปอกแล้วไม่ติดเปลือก เป็นเพราะอะไร เมื่อเด็กถามพ่อแม่ พ่อแม่จะสอนลูกว่าอย่างไร หรือถ้าจะให้ลูกไปซื้อไข่ จะมีวิธีการสังเกตยังไงว่า เป็นไข่ใหม่ หรือไข่เก่า พ่อแม่จะสอนลูกว่าอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น พ่อแม่จึงเป็นครูคนแรกของลูก จะต้องเป็นคนปลุกปั้นลูกก่อนที่จะส่งไปให้ครูหรือโรงเรียน

ถ้าถามพ่อแม่ว่า 

 

ถาม     : ถ้าไม่ให้ลูกตัวเองติดยา ติดคุก ยินดีจะจ่ายเท่าไร

พ่อแม่  : ทุ่มหมดตัว

ถาม     : แล้วตอนนี้ ลูกยังไม่ติดยา ติดคุก ทำไมไม่ดูแลล่ะ

พ่อแม่  : ???

 

          เพราะฉะนั้น กรณีของพ่อแม่ ก็จะต้องมี “ห้องเรียนพ่อแม่” ด้วย โดยเอาเป้าชีวิตของลูกเป็นตัวตั้ง ถ้าลูกอยากจะเป็นพยาบาล พ่อแม่จะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง ส่วนชุมชน จะมีส่วนช่วยอะไรเด็กได้บ้าง เช่น แหล่งเรียนรู้ ผู้รู้ สถานีอนามัย อสม. ฯลฯ

 

          อ.ทรงพล ชี้ว่าจากการลงพื้นที่อำเภอห้วยยอดในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ที่ห้วยยอดมีแหล่งเรียนรู้ และทุนทางสังคมมากมาย เพราะฉะนั้น

          - โรงเรียนจะต้องทำหน้าที่สอนให้เด็กเกิด สัมฤทธิผลด้านการเรียน

          - และร่วมกับพ่อแม่และชุมชน ช่วยกันสอนให้เด็กเกิด สัมฤทธิผลด้านนิสัยของเด็ก

 

          ในการศึกษา เราต้องการทั้งสัมฤทธิผลด้านการเรียน และสัมฤทธิผลทางด้านนิสัยเด็ก เพราะนิสัยของเด็กย่อมมีผลต่อผลการเรียน กล่าวคือ เด็กที่มีนิสัยใฝ่เรียน ใฝ่รู้ ขยัน ย่อมมีผลสัมฤทธิผลด้านการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่ขยัน ไม่ใฝ่เรียนรู้ เป็นต้น

 

          อ.ทรงพล ตั้งคำถามว่า “เรื่องเนื้อหาวิชา เราจะต้องสอนแน่ แต่เรื่องนิสัยเราจะเอาอย่างไร ?” เพราะฉะนั้น ถ้าโรงเรียนหรือครู ช่วยกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ดีๆ เราจะสามารถเชื่อมโยงงานต่างๆ มาบูรณาการให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระเพิ่มแก่ครู และยังสามารถตอบโจทย์ของกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ ได้ ดังนั้น เราจะต้องมาช่วยกันติดตั้งเครื่องจักรในตัวเด็ก ทำให้เขามี “เป้าหมายชีวิต” มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ใน 4 วิชา

 

ตัวอย่าง การตั้งคำถามเรื่องเป้าหมายชีวิต

          - ในอนาคตอยากจะเป็นอะไร

          - ถ้าเราอยากจะเป็น…………ที่ดี จะต้องมีนิสัยอย่างไร

          - ถ้าเราอยากจะเป็น…………ที่ดี จะต้องมีความรู้ และทักษะ เรื่องอะไรบ้าง

          - แล้วเราจะฝึกตัวเองให้มีนิสัย มีทักษะ และความรู้นั้นได้อย่างไร

 

          ซึ่งเครื่องมือที่ครูสามารถใช้ในการฝึกเด็ก คือ วิธีการทำโครงงาน โดยจะต้องเอาเป้าหมายชีวิตของเด็กเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยบูรณาการสอดแทรกเนื้อหาที่ต้องการสอนเด็กเข้าไป เช่น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง CAS (Creativity, Action, Service) ฯลฯ

 

          สำหรับการวัดผลการเปลี่ยนแปลง เมื่อเราขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างแท้จริงแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะต้องทำให้

- ครูมีความสุขมากขึ้น
- ครูสอนง่ายขึ้น 
- เด็กมีความสุขมากขึ้น
- เด็กเรียนดีขึ้น
- เด็กมีความประพฤติที่ดีขึ้น เป็นต้น

 

          สำหรับการทำโครงงาน ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจ ความพร้อม ของครูและเด็ก เป็นตังตั้ง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณ เช่น ครูกลุ่มสาระละ 1 คน มี 1 โครงงาน หรือบูรณาการ 8 กลุ่มสาระ เรื่องอะไร และเด็กเกิดอะไร 

ซึ่งโรงเรียน พ่อแม่และชุมชน จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนบางอย่าง เช่น

          - มีแหล่งเรียนรู้ใหม่

          - มีกระบวนการเรียนรู้ใหม่ 

          - มีการบริหารจัดการใหม่

          - มีการบูรณาการ 8 กลุ่มสาระ เป็นต้น

 

แล้วเด็กจะได้รับการบ่มเพาะ เด็กจะเกิดผลการเปลี่ยนแปลงตนเอง 

 

     

 

          ผอ.สมจริง อินทรักเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยยอด เสริมว่า “สมัยก่อนการประปา ให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘น้ำ’ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘คน’ แต่ต่อมาการประปาก็เรียนรู้ว่า ถ้าอยากจะได้น้ำสะอาดต้องให้ความสำคัญกับคนต้นน้ำด้วย นอกจากประปาจะได้น้ำสะอาดแล้ว ยังจะได้เรื่องการอนุรักษ์น้ำด้วย เช่นเดียวกับโรงเรียน ถ้าจะทำเรื่องการพัฒนาเด็กเยาวชนของ จะต้องให้ความสำคัญกับครอบครัว พ่อแม่ด้วย และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย”

 

          ผอ.สมจริง ย้ำว่า “ในโรงเรียน เราจะต้องเลือกเด็กขึ้นมาเป็นแกนนำ (pilot project) ถ้าเราอยากจะขับเคลื่อนได้ดี เราจะต้องสร้างทีมนำก่อน ตามด้วยทีมประสาน และทีมทำ”

 

          อ.อุทัย ศรีเทพ รองผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยยอด แลกเปลี่ยนว่า “ครูต้องทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับเด็ก นอกจากนี้จะต้องทำหน้าที่เป็นแมวมอง คือ คอยจับตาดูเด็ก ถ้าเด็กคนไหนมีแวว (แววเด่น, แววด้อย) ก็ดึงเขาเข้ามาร่วมกิจกรรม เช่น เด็กที่ความประพฤติไม่ดี ติดเกมส์ นำมาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อปรับนิสัยของเขา โดยต้องมีทีมครู (ครูทำงานเป็นทีม) เช่น ครูที่ทำหน้าที่ฝึกทักษะและนิสัย ครูที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ พร้อมทั้งสอดแทรกคุณธรรมเข้าไป ซึ่งคิดว่า ในเทอมนี้ เมื่อมีประกาศผลสอบในครั้งนี้แล้ว เมื่อเราเห็นคะแนนของเด็ก เราก็เลือกเด็กเข้าร่วมโครงการ คิดว่าน่าจะทำในช่วงปิดเทอม เดือนเมษายนนี้เลย”

 

          อ.อุทัย ให้ข้อคิดว่า มนุษย์ที่แข็งแรงกว่า จะต้องช่วยมนุษย์ที่อ่อนแอกว่า ถ้าเราช่วยกัน ทุกคนจะชนะด้วยกันทุกคน

อ.ทรงพล เสนอว่า การพัฒนานิสัยเด็กจะต้องทำเป็นโครงงาน และบูรณาการ 8 กลุ่มสาระ โดยอาจจะทำเป็นโครงงาน ในนาม “โครงงานคิดดี ทำดี เพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน ถวายในหลวง 84 พรรษา” โดยมีการบูรณาการสอดแทรกทั้ง

- หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- CAS (Creativity, Action, Service) 
- จิตอาสา
- การจัดการความรู้ (KM)
- ฯลฯ

 

          ทั้งนี้ อาจจะมีการรับสมัครครูอาจารย์ที่สนใจ มีใจเข้าร่วมโครงการ โดยไม่เน้นปริมาณ โดยให้ครูทำเป็นผลงานวิจัยของครูด้วย โดย จะพาทำไปพร้อมกับโครงการ ในนาม “โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เรื่องการยกระดับสัมฤทธิผลการเรียนรู้และสัมฤทธิผลด้านนิสัยพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนห้วยยอด”

 

          อ.ทรงพล สรุปว่า จากการทำงานพัฒนามานาน พบว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนที่สำคัญ เพราะเป็นการให้สติปัญญาแก่คน

 

ถ้าโรงเรียนและครูทำสำเร็จ จะเป็นโมเดลการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญมาก 

          ซึ่งในต้นเดือนพฤษภาคม จะมีการนัดหมายเพื่อทำเวิร์คชอบครูที่สนใจ และทำวิจัยไปบนแผนการสอนพร้อมกัน

 

          กระบวนการทำงานของโครงการฯ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพื้นที่โรงเรียนห้วยยอดและเครือข่าย จ.ตรัง จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามในตอนต่อไป

 

สิริลักษณ์ ยิ้มประสาทพร

โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค)

สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)