...กำเนิดเพลงเรือแหลมโพธิ์...
เป็นที่น่าเชื่อว่าประเพณีการชักพระทางน้ำเป็นต้นกำเนิดการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ การชักพระทางน้ำเกิดขึ้นจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีพื้นภูมิอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำ ไม่มีเส้นทางบกอื่นใดอันอาจจะอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนรถหรือเลื่อนชักลากไปได้ จึงได้คิดหาวิธีอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนเรือชักลากไปแทน ซึ่งก็ทำให้ได้รับศรัทธาผลสมจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกัน
เรือพระทางน้ำนั้นก็ได้รับการประดับตกแต่งทั้งตัวเรือและนมพระ (พนมพระหรือมณฑปพระ) เช่นเดียวกับการชักพระทางบก บางทีอาจจะวิจิตรพิสดารกว่าเรือพระทางบกเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เรือพระ น้ำในสมัยโบราณบางลำใช้เรือยาวผูกขนานต่อติดกันถึง 3 ลำ เรือพระยิ่งลำใหญ่เท่าใดก็ยิ่งต้องอาศัยแรงชักลากจากฝีพายเรือชักลากมากลำขึ้นเท่านั้น ด้วยแรงศรัทธาและความเชื่อที่ว่า “เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก” กับความบันดาลใจในความวิจิตรงดงามด้วยศิลปะพื้นบ้านที่แข่งสีสันตัดกันลานตาของเรือพระ กับสีสันของเสื้อผ้าอาภรณ์และหน้าตาของสตรีเพศทั้งที่ไม่อาจไปร่วมในการชักพระ เพียงแค่มายืนส่งสลอนอยู่บนสองฝั่งคลองกับสตรีเพศที่ร่วมลำไปด้วยในกระบวนชักพระนั้น ทำให้คนพื้นบ้านภาคใต้ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผู้ที่มีอารมณ์ทางกาพย์กลอนสูงอยู่แล้วได้เกิดปฏิภาณเป็นถ้อยคำร้อยเรียงดังๆ ออกมาคนหนึ่งแล้วคนอื่นๆ ในกลุ่มก็มีอารมณ์ร่วมรับตามต่อๆกัน เมื่อเห็นว่าการร้องรับกันแบบนี้สนุกและทำให้เกิดพลังความฮึกเหิม เป็นสื่อร่วม กำหนดให้ลงฝีพายพร้อมๆกัน สามารถบรรลุถึงจุดหมายของกิจกรรมชักพระร่วมกันได้ ก็นิยมว่าเป็นสิ่งดี เป็นวัตกรรมแห่งสมัยที่ควรจดจำไว้ปฏิบัติอีกในคราวต่อๆไป จนกระทั่งพัฒนาเป็นเพลงเรือแหลมโพธิ์ในที่สุด
ในชั้นแรก เพลงเรือแหลมโพธิ์คงจะเป็นเพลงกลอนด้นหรือกลอนปฏิภาณที่มีความยาวไม่มากนัก อาจจะ 2-3 กลอน หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย ว่าร้องรับวนเวียนต่อกันไปตลอดทางทั้งขาไปและขากลับ เมื่อคิดขึ้นได้ใหม่ก็ค่อยเพิ่มกลอนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะเพลงเรือแหลมโพธิ์มิได้เคร่งครัดในรูปแบบมากนัก เพลงที่กลอนขาดไปก็ยังสามารถใช้เล่นได้ ต่อมาจึงได้เตรียมตัวล่วงหน้าจากความงามของเรือพระที่ได้สร้างขึ้นในปีนั้น จากประวัติความเป็นมาของการชักพระ จากคนสวยในหมู่บ้าน จากเหตุการณ์ที่ซุบซิบติดอันดับรอบปี เหล่านี้ทำให้เกิดเป็นเพลงกลอนผูกขึ้น เพลงเหล่านี้มักกลอนดี ความหมายดี มีความยาวมาก บางเพลง เช่น เพลงชมนมพระ ของนาย พัน โสภิกุล ซึ่งเป็นเพลงเก่าเพลงหนึ่งมีความยาวถึง 91 กลอน ทั้งนี้โดยนับจากจำนวนกลอนที่มีอยู่ตามที่ได้บันทึกไว้ เมื่อได้ศึกษารูปแบบและเรื่องราวแล้วเชื่อว่าเพลงนี้แต่เดิมยังจะต้องมีความยาวมากกว่านี้แน่นอน
16/1/56 โดย นางสาวจันทิรา รสเกิด