
วานนี้...ผมได้ให้ "เครื่องมือชวนคิด" กับน้องๆ เครือข่ายพลเมืองเยาวชน 11 กลุ่ม ที่ตั้งใจทำโครงการเพื่อพัฒนาเมืองสงขลา... บ้านเกิด ซึ่งสนับสนุนการเรียนรู้โดย สงขลาฟอรั่ม - มูลนิธิสยามกัมมาจล
เครื่องมือชวนคิดนี้คือ... หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ หลักความมีเหตุผล ความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน และหลักความรู้คู่คุณธรรม
คำถามคือ เครื่องมือชวนคิดนี้ เอามาประยุกต์ใช้ยังไงกับการทำโครงการ? คิดอย่างไร? ใช้อย่างไร? ใช้ตอนไหน?
● เอามาประยุกต์ใช้ยังไงกับการทำโครงการ?
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พูดง่ายๆ คือ "หลักคิดก่อนทำ" หลักวิเคราะห์ตนเอง นำไปใช้สำหรับวางแผนบริหารจัดการ ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเราสามารถชวนน้องวิเคราะห์โครงการของตนเอง และวางแผนก่อนที่จะทำโครงการจริง
● คิดอย่างไร?
- เริ่มจากคิดถึง "เหตุผล" และถามไปที่หัวใจตัวเราว่า ทำไมเราต้องทำโครงการนี้ ปัญหาที่เราจะทำโครงการสำคัญอย่างไร มีเหตุผล ความต้องการจำเป็นที่เหมาะสมอย่างไรที่ต้องแก้ไขเรื่องนี้
- คิดถึง "ความพอประมาณ" ว่าเรามีความสามารถที่พอดี เพียงพออย่างไร ในการคิดอ่านทำโครงการนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราประเมินกำลังความสามารถ และแรงสนับสนุนที่พอดี ที่จะทำโครงการนี้ได้สำเร็จ...
- คิดถึง "ภูมิคุ้มกัน" โดยจินตนาการไปในอนาคต และถามตัวเราว่า โครงการที่เรากำลังจะทำนี้ มันสามารถเกิด "ปัญหา" อะไรขึ้นได้บ้าง ทั้งปัญหาที่มาจากตัวเรา และปัจจัยภายนอกที่เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และ "แผนการ" ที่เราจะใช้เพื่อ "ป้องกันปัญหา" แต่ละข้อ
- คิดถึง "ความรู้" โดยคิดวิเคราะห์ว่า เราต้อง สืบค้น ค้นคว้าหาความรู้อะไร "ก่อนทำ" โครงการบ้าง เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาในเรื่องที่เราสนใจ
- คิดถึง "คุณธรรม" หรือ "ข้อตกลงร่วม" ของทีม ที่เราจะยึดมั่นไว้ร่วมกันของสมาชิก เพื่อให้การทำงานนั้นบรรลุเป้าหมาย เพราะโครงการเราต้องยุ่งเกี่ยวกับเนื้องานที่ต้องแก้ปัญหาตลอดเวลา เป็นการทำงานร่วมกันของคนหมู่มาก และยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง ที่ต้องมีความซื่อสัตย์ โปร่งใสในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
● ใช้อย่างไร? ใช้ตอนไหน?
วานนี้เราใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงให้น้องๆ ทั้ง 11 กลุ่ม ทดลองคิดวิเคราะห์ คิดวางแผน คิดให้รอบด้านก่อนทำโครงการจริง โดยใช้แรงบันดาลใจในการทำโครงการของเรามามองร่วมกันว่าจะทำให้งานบรรลุเป้าหมายอย่างไร จริงๆ แล้วหลักคิดนี้น้องสามารถนำมาใช้ "คิดก่อนทำ" ในทุกขั้นตอนของการทำโครงการ รวมทั้งใช้ในชีวิตการเรียน การตัดสินใจทำอะไรก็ตามในการดำเนินชีวิต
ทำไปทำมา น้องๆ บอกว่า ตอนแรกก็คิดว่ามันต้องยาก และเราไม่น่าจะทำได้ แต่พอได้ทดลอง "คิด" "ชวนกันตั้งคำถามตัวเอง" ร่วมกับเพื่อนแล้ว ก็ทำให้น้องเข้าใจโครงการของตัวเองมากขึ้น รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง มีความสุขที่ตัวเองวิเคราะห์ได้ และได้แลกเปลี่ยนการวิเคราะห์กับเพื่อนๆ ทำให้รู้จักโครงการของเพื่อนต่างกลุ่มมากขึ้น
ผมก็ได้แต่หวังว่า หลักคิดนี้จะช่วยให้น้องๆ ได้ติดตั้งทักษะ ที่จะนำไปใช้บริหารจัดการงาน บริหารจัดการเวลา และบริหารจัดการชีวิตให้ประสบความสำเร็จ
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร
14 ธันวาคม 2556
แนวคิดหลักปรัชฐาเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาโครงการ.pdf
ภาพบรรยากาศกิจกรรมเรียนรู้แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาโครงการ.pdf