เวทีความคิดจาก: โครงงาน "กระดาษหน้าที่สาม สร้างความงดงามให้สังคม"
ToRzz Apt

ตฤณ ธรรมเนียม หรือ “ตฤณ” ศิษย์เก่าโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี ผู้ริเริ่ม “โครงงานกระดาษหน้าที่สาม สร้างความงดงามให้สังคม” ชุมนุมจิตรประภัสสร หลังจากไปเข้าค่ายและมีโอกาสดูแลน้องๆ ผู้พิการทางสายตา จนเกิดคำถามในใจว่าจะมีวิธีการใดอีกหรือไม่ ที่ตัวเขาเองจะช่วยเหลือน้องๆ กลุ่มนี้ได้มากกว่าแค่ดูแลพวกเขาตามค่ายต่างๆ แล้วก็จบกันไป

“ผมได้มีโอกาสไปเข้าค่ายกับน้อง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ผมได้สัมผัสเขา ผมได้เข้าค่ายและได้ดูแลน้องจากบ้านคนตาบอด น้องบางคนมองไม่เห็นเลย บางคนก็ตาฝ้าฟาง ซึ่งผมได้ดูแลน้องคนหนึ่ง ผมพาน้องเขาไปทะเล น้องถามว่า“พี่ครับทะเลเป็นไงครับ” ผมงงเลย ไม่รู้จะตอบยังไง จะบอกว่าน้ำทะเลมันสีฟ้า น้องก็คงไม่เคยเห็น แต่น้องคงสามารถสัมผัสได้ ผมเลยให้น้องชิมน้ำทะเลครับ น้องบอกว่า “มันเค็มครับ” ทีนี้น้องถามว่า “พี่ครับ เรือเป็นไงครับ” คำถามนี้ ทำให้ผมหนักใจเลย เพราะผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร เลยตอบน้องเขาไปว่า “เรือนี่นะ มันก็แล่นไปบนน้ำเค็มๆ แล่นไปไหนมาไหนได้”

จากเหตุการณ์นี้ ผมจึงกลับมาทบทวนตัวเอง เราเป็นคนๆ หนึ่ง เราจะช่วยอะไรให้น้องได้บ้าง จะดูแลเขาต่อในค่ายถัดไปหรือ จะดูแลตลอดไปหรือ ควรจะทำอย่างไร ผมคิดอยู่นาน แล้วก็กลับมาดูที่โรงเรียน โรงเรียนมีกระดาษเยอะ เป็นกระดาษที่ใช้แล้วสองด้าน ผมคิดว่าผมจะทำอะไรได้บ้าง ทีนี้ผมได้ทราบมาว่ามูลนิธิคนตาบอดต้องการกระดาษมากเลย ตอนแรกเราเก็บกระดาษซึ่งมีเป็นจำนวนมาก มากเสียจนผมตกใจครับว่าทำไมมีกระดาษที่ไม่ได้ใช้เยอะขนาดนี้ ผมจึงคัดกระดาษออกมาเป็นสองส่วน ส่วนที่ดีกับส่วนที่ไม่ดี ส่วนไม่ดีคือเปื้อนน้ำหมึก หรือยับ เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ เราไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ ก็นำไปทำตุ๊กตาเปเปอร์มาร์เช่ เพื่อใช้ประดับให้ทิวทัศน์โรงเรียนสวยงาม หรือนำไปประดิษฐ์เป็นพวงกุญแจ แล้วนำไปขาย เพื่อเป็นรายได้เข้าโครงงาน นำมาใช้เป็นค่าเดินทางในการทำกิจกรรม ส่วนกระดาษที่ดีก็นำไปทำอักษรเบรลล์

เมื่อผมได้เรียนรู้อักษรเบรลล์ ผมมีความรู้สึกว่า มันใช่นะ เราสามารถช่วยน้องได้จากกิจกรรมนี้ คือมันเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ว่ากระดาษที่เราไม่ต้องการ แต่มันเป็นเหมือนกับแหล่งเรียนรู้ ให้น้องคนตาบอด ให้น้องได้เรียนรู้ และน้องจะได้ใช้ชีวิตในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่เหมือนคนอื่น”

“ตอนแรกคิดว่า ทำไมเราไม่เอาไปขาย กระดาษมันแพงขนาดนี้ แต่เราเอาไปเปลี่ยนมูลค่าแทนเงิน ผมว่ากระดาษช่วยคนได้นะ มันสามารถสอนให้เด็กคนหนึ่งที่พิการทางสายตาได้โอกาสเรียนรู้ แล้วอย่างน้อย เราก็เป็นคนหนึ่งครับที่มีโอกาสช่วยเหลือเขา”

อภิสรา เกตุนุติ หรือ “น้ำ” เผยเหตุที่มาเข้าร่วมโครงการนี้ว่า เกิดจากความประทับใจกับภาพกิจกรรมที่รุ่นพี่ทำ เพราะมันคือรอยยิ้มและความสุขจากใจทั้งจากผู้รับและผู้ให้ที่สัมผัสได้ จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ได้รับการสานต่อสู่รุ่นน้องชั้น ม.4

น้ำเล่าถึงแรงบันดาลใจที่เข้าร่วมโครงงานกระดาษหน้าที่สามให้เป็นสื่อการเรียนรู้ว่า “เริ่มจากเห็นเพื่อนทำ รู้สึกว่าเป็นการใช้เวลาว่างของเราให้เกิดประโยชน์ แล้วยังได้ช่วยเหลือคนตาบอด ยิ่งเมื่อได้ดูวิดีทัศน์ที่พี่ๆ เขาไปทำกิจกรรมมา เห็นน้องตาบอดเขาอ่านหนังสือ แล้วเขายิ้ม เขามีความสุข เราก็มีความสุขไปกับเขาด้วย”


“การที่เราได้สร้างความสุขให้กับคนอื่น เราก็ได้ความสุขนั้นกลับมาให้ตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าเราน่าจะไปช่วยเขา เป็นการเปิดโลกกว้างให้กับน้องมากยิ่งขึ้น”

“แม้ว่าน้องเขาจะมีตำราเรียนอยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำอะไรที่มันนอกเหนือไปจากที่มันมีอยู่ในตำราเรียน วิชาการ เช่น หนังสือนอกเวลา นิทาน หรือเรื่องเล่าประสบการณ์ เป็นการแบ่งปันความรู้สึก หรือสิ่งที่เราได้พบเห็น ทำให้น้องเขาสามารถเปิดโลกของตัวเองได้กว้างขึ้น และเรียนรู้เรื่องราวในสิ่งที่เขาไม่สามารถมองเห็น”

ครูบำเพ็ญ วชังเงิน ครูที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวออกตัวว่า “กิจกรรมนี้เริ่มที่เด็กค่ะ เด็กชุดหนึ่งที่เขาเข้าชุมนุมสิ่งแวดล้อม เขาอยากให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดี จุดเล็กๆ ที่เขาเห็นคือกระดาษที่ใช้แล้ว เขาจึงเก็บรวบรวมโดยขอรับบริจาคกระดาษ แล้วเอาไปวางไว้ตามห้องกลุ่มสาระต่างๆ ต่อมาในทีมงานของเขาดูทีวี เห็นว่ากระดาษหน้าที่สามสร้างประโยชน์ให้นักเรียนตาบอดได้ เขาก็รวมตัวกันขึ้นมา จากนั้นเดินทางเอากระดาษที่ใช้แล้วมาบริจาคที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ที่กรุงเทพฯ และเราได้มาเห็นคนที่มีจิตอาสาเยอะเลยที่นี่ กลุ่มหนึ่งพาเด็กเล่นดนตรี อีกกลุ่มพาเด็กเล่นกีฬา พาเด็กว่ายน้ำ อีกกลุ่มนั่งสอนหนังสือน้อง เราเลยคุยกันมาในรถว่า แค่เราเอากระดาษมาให้เขาเฉยๆ น้อยไปหรือเปล่าลูก เราน่าจะทำได้มากกว่านี้ เด็กๆ จึงคิดทำให้มันเป็นคุณค่า ทำเป็นอักษรเบรลล์ขึ้นมา

ลังจากนั้น เมื่อเราไปโรงเรียนสอนคนตาบอดรอบที่สอง เราจึงไปเรียนวิธีการทำอักษรเบรลล์ และเราถามอาจารย์ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดว่า “เด็กๆ อยากได้อะไร แล้วเราจะช่วยอะไรได้บ้าง” อาจารย์ท่านบอกว่า “ต้องการสื่อคำศัพท์ภาษาอังกฤษ” เมื่อเรียนเสร็จ นักเรียนเราก็กลับไปประชาสัมพันธ์ให้กับเด็กในโรงเรียนว่าใครที่สนใจ อยากเรียนรู้วิธีการทำอักษรเบรลล์ ให้หาเวลาว่างมาช่วยกันทำ ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และให้เด็กช่วยกันจัดการทำสื่อคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ในตอนแรกทำแยกระดับชั้นไปว่าเด็กระดับชั้นนี้ใช้คำศัพท์อะไร หลังจากช่วยกันทำได้สักระยะหนึ่ง เราก็มาช่วยกันสอนหนังสือน้องไปด้วย โดยแบ่งหน้าที่กัน กลุ่มหนึ่งอ่านหนังสือให้น้องฟัง แล้วทดสอบน้องด้วยว่าสิ่งที่เราอ่านให้เขาฟัง เขาเข้าใจไหม และอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นไปสอนที่ห้องเรียน เราทำอย่างนี้มาเรื่อยๆ เรามีกิจกรรมที่ให้ทำ แล้วตั้งโจทย์ให้เด็กไปคิดต่อ”

ครูประทีป เมืองงาม ในฐานะของครูผู้คลุกคลีอยู่กับการทำค่ายนักเรียน ให้ความเห็นถึงบทบาทหน้าที่ครูว่า “โรงเรียนต้องหลุดจากคำว่าสอนหนังสือให้ได้ก่อน เพราะครูมีหน้าที่สอนคนไม่ใช่สอนหนังสือ และมีบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการสร้างรากฐานลงไปสู่ชุมชนและสังคม เราจะเห็นว่าสมัยนี้เด็กเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ทั้งเรื่องการคิด การเรียนก็ดี การใช้ชีวิตก็ดี”

“ทุกครั้งที่ให้เด็กทำงานก็จะสอดแทรกหลักคิดพอเพียงเข้าไป โดยเฉพาะช่วงประเมินผลงานเด็ก เราจะไม่สอนว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร เพราะเด็กได้เรียนในห้องเรียนมากแล้ว เราจะประเมินผลเลยว่าเขาได้เอาไปใช้กับการทำงานอย่างไร แล้วเราจะไปเติมตรงนั้นว่า เขาคิดถูก คิดได้ครอบคลุมเนื้อหาควรกับงานที่เขาทำได้หรือไม่ ก่อนที่เด็กจะทำงานสักชิ้น เขาต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเขาอยู่ตรงไหน เขาควรจะทำงานใหญ่แค่ไหน แล้วควรใช้องค์ประกอบอะไรบ้างในการทำงาน เพราะฉะนั้น ในเมื่อเด็กคิดทำแบบนี้แล้ว เราก็จะเห็นว่างานทุกงานที่เด็กได้รับมาสำเร็จอย่างที่เขาต้องการ ตามศักยภาพที่เขาควรจะมี”

­

หน้าที่ครู คือ ต้องทำให้นักเรียนคิดให้ครบวงจรให้ได้ ตั้งแต่ให้เขาสร้างโครงการเอง วางแผนเอง ดำเนินการเอง สรุปผลและประเมินผลงานเอง บางครั้งเด็กทำไปแล้วอาจจะเสียของ แต่ครูถือว่า “ขาดทุนคือกำไร” ซึ่งกำไรก็คือ องค์ความรู้ที่เกิดกับเด็กที่ไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้

ครูประทีปเป็นตัวอย่างครูที่เล็งเห็นว่าเป้าหมายการสอนอยู่ที่ “การสร้างกระบวนการคิด ให้นักเรียนแสวงหาความรู้ เพื่อให้นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้” ด้วยการให้นักเรียนเรียนรู้จากการทำงานด้วยตนเอง เมื่อนักเรียนทำงานสำเร็จแล้ว การสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครูประทีป ก็โดยการให้เด็กถอดบทเรียนตัวเองว่างานชิ้นนั้นได้ใช้หลักคิดพอเพียงในกระบวนการคิดวางแผนงานอย่างไร นำไปสู่ความเข้าใจหลักปรัชญา และเห็นคุณค่า เพื่อน้อมนำสู่การปฏิบัติต่อไป