๑๕ ปีจากวิกฤตเศรษฐกิจ: เศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืนของสังคมไทย
นงนาท สนธิสุวรรณ

ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้จัดการประชุมวิชาการ เรื่อง ๑๕ ปี จากวิกฤตเศรษฐกิจ : เศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืนของสังคมไทย ณ อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน นี้ โดยมีวัตถุประสงค์ :

.. นำผลงานวิชาการด้านองค์ความรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของศูนย์ศึกษาฯ ให้แก่นักวิชาการ และประชาชนผู้สนใจทั่วไป

.. รวบรวมผลงานวิชาการเกี่ยวกับองค์ความรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม




ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายกสภาสถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้กล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา และของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งกำลังเผชิญอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่สะท้อนความเสื่อมโทรมในหลายมิติ ทั้งด้านการกระจายรายได้ที่มีความเหลื่อมล้ำมาก การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เหมาะสม ความไม่สมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองและชนบท ปัญหาค่านิยมและคุณธรรมที่ถดถอยลงอย่างชัดเจน ฯลฯ

ทางออกพื้นฐานในปัญหาเหล่านี้ คือการขับเคลื่อนความรู้ ความเข้าใจ และประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ลงสู่คนทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความสมดุลให้กลับคืนมาเป็นลำดับ ตามความเหมาะสมของภูมิสังคม ทั้งในเชิงปัจเจกและองค์รวม..



คณาจารย์ของศูนย์ศึกษาฯ ได้ร่วมกันอภิปราย ถึงการรับรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในช่วง ๑๕ ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงประเมินความพอเพียงของการประยุกต์ใช้และขยายผล ของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคองค์กรเอกชน และภาคการศึกษา ซึ่งต่างเห็นพ้องต้องกันว่า แม้จะได้เห็นแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมในหลายภาคส่วน แต่ยังต้องมีการพัฒนาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอีกมาก ด้วยการปลูกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตในวิถีแห่งความพอดี รู้เท่าทันกระแสโลก เพื่อวางรากฐานอันยั่งยืนของตนเองและสังคมต่อไป