ข้าพเจ้าได้รับการชักชวนจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้เข้าร่วมฟังและแสดงความเห็นใน " Morning Dialogue " ซึ่งเป็นการประชุมเชิงวิชาการสู่การปฏิบัติภายในมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างคนทำงานพัฒนาเยาวชน ที่จัดขึ้นช่วงเช้าเดือนละสองครั้ง โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ร่วมรับฟังและให้ความเห็นในช่วง AAR ด้วย
ในการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คุณศุทธิวัต นัสการ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ถอดบทเรียน เมื่อออกสนามไปเป็นพี่เลี้ยงโครงการเครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่ ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตจากเมืองสู่ท้องถิ่น และยึดการทำเกษตรแบบอินทรีย์เป็นอาชีพ โดยจัดตั้งบริษัทธัญญเจริญผลในรูปแบบของกิจการเพื่อสังคม ที่มุ่งหวังพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน และความมั่นคงทางด้านอาหาร
คุณศุทธิวัต ยอมรับว่า เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยงในโครงการนี้ ตนเองไม่มีความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์อย่างลึกซึ้งมากนัก แต่ได้ใช้ทักษะของการเป็นที่ปรึกษา ที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ทีมงานโครงการในการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการกระตุ้นให้คิดวิเคราะห์และแสวงหาคำตอบร่วมกัน ในขณะเดียวกันต้องใช้ศิลปะการโน้มน้าวใจ ให้ทุกฝ่ายลดอัตตาการถือตัวตน เพื่อสร้างความประนีประนอมระหว่างเครือข่าย เพื่อร่วมมือกันทำงานบรรลุสู่เป้าหมายตามที่ต้องการ และที่สำคัญอย่างมากคือ พี่เลี้ยงต้องมีทักษะในการตั้งคำถาม เพื่อจุดประกายให้ผู้ทำงานรู้จักคิดคำตอบที่เป็นไปได้ในการปฎิบัติและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกรณีอื่นต่อไปได้ด้วย นอกจากนี้ พี่เลี้ยงต้องมีความสามารถในการประเมินสถานการณ์และศักยภาพของทีมงานโครงการ เพื่อปรับลดความคาดหวังในการทำงาน แต่หาทางเพิ่มศักยภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนา โดยมุ่งเน้นให้เกิดการประเมินตนเองหรือถอดบทเรียนการทำงานเป็นระยะ เพื่อให้เกิดการยอมรับจุดอ่อน-จุดแข็ง เพื่อเติมเต็มช่องว่างสู่การปรับปรุงงานต่อไป
ในการประชุมเช้าวันครั้งที่สอง เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ คุณกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร และคุณอุบลวรรณ เสือเดช ในฐานะผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้เล่าถึงประสบการณ์ในบทบาทการ Coaching ให้ผู้จัดการโครงการและทีมของ ๓ องค์กร คือ โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โครงการกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน และโครงการต้นกล้าในป่าใหญ่ โดยในขั้นตอนของกระบวนการ EE (Empowerment Evaluation) ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ ๓ องค์กร ได้วิเคราะห์และประเมินกิจกรรมพัฒนาเยาวชนในระยะที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวิธีการพัฒนาเยาวชนระหว่างกัน นอกเหนือจากให้สงขลาฟอรั่ม และมูลนิธิกองทุนไทย ได้ปรับและนำเสนอแผนงานของโครงการปีที่ ๒
ตามแนวคิดของกระบวนการ EE ดำเนินการเป็น สามขั้นตอน คือ (๑) ทบทวนเป้าหมายและตัวชี้วัดผลลัพธ์ของโครงการ (๒) ประเมินผลลัพธ์ของโครงการตาม KRA (Key Result Area) KPI (Key Performance Index) และขั้นตอนที่ ๓ ประเมินกิจกรรมโครงการและวางแผนกลยุทธ์ ทั้งนี้ ในส่วนของการประเมิน KRA นำเสนอโดยใช้เครื่องมือแผนผังใยแมงมุม ทำให้เห็นภาพรวมของผลงาน ของประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร
ด้วยท่าทีเชิงบวกของคุณกิตติรัตน์ และคุณอุบลวรรณ ที่โน้มน้าวให้ภาคีทั้ง ๓ องค์กร ดำเนินกิจกรรมประเมินตนเอง ด้วยความเข้าใจกระบวนการร่วมกันอย่างชัดเจน และการตั้งคำถาม เพื่อชวนคิดตลอดเส้นทางการทำงาน สามารถทำให้แต่ละองค์กรชี้จุดแข็ง-จุดอ่อน ด้วยตนเองอย่างเป็นที่ยอมรับได้ นำไปสู่การร่วมกันคิดแก้ปัญหา และแลกเปลี่ยนผลสำเร็จการทำงาน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ และพัฒนาต่อยอดต่อไป
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การทำงานลักษณะนี้ เป็นรูปแบบหนึ่งของ Interactive Learning ที่สร้างปัญญาและพลังขับเคลื่อน เพื่อดึง tacit knowledge หมุนออกมาเป็นเกลียวคลื่น หนุนเสริมการทำงานเป็นระลอก
ข้าพเจ้า ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การทำงานพี่เลี้ยง และการ Coaching โครงการ สมควรต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ทั้งที่เป็น Knowledge และ Knowhow ซึ่งสั่งสมมาจากความรู้ และประสบการณ์การทำงานที่นำสู่ผลสัมฤทธิ์ ทั้งเชิงศาสตร์และศิลป์ บนความมีส่วนร่วมของผู้ดำเนินโครงการและทีมงานผสมผสานกันไปอย่างราบรื่น
ในช่วง AAR ผู้ร่วมงานด้านต่างๆของมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ยอมรับการทำงานเชิงรุกของประสบการณ์ดังกล่าวทั้งสองกรณี ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในงานและชีวิตประจำวันต่อไป