"ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านเปลี่ยนตามไปด้วย จากบ้านที่เคยเป็นรั้วไม้กลายเป็นรั้วปูน ผักพื้นบ้านที่เคยขึ้นตามริมรั้วบ้านก็ไม่ค่อยมีให้เห็น อีกทั้ง ชาวบ้านก็ไม่ค่อยปลูกผักไว้กินเองเหมือนเมื่อก่อน และหันไปซื้อผักจากตลาดนอกชุมชนมากินแทน"
.
นี่เป็นที่มาที่ทำให้ “น้องไอซ์” หรือ นายนวมินทร์ อิ่นมะโน แกนนำเยาวชนโครงการแนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูผักพื้นบ้าน บ้านดอนใหม่ ต.พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน รวมตัวกับเพื่อนๆ ทำโครงการนี้ขึ้นมาอย่างจริงจัง เพื่อต้องการให้คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของการปลูกผักพื้นบ้าน ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ผักพื้นบ้านที่มีอยู่ในชุมชนให้คงอยู่ต่อไป
“น้องไอซ์” เป็นแกนนำเยาวชนจังหวัดน่าน เคยทำโครงการมาแล้ว 2 ปี และปีนี้เป็นปีที่ 3 ซึ่งการทำงานปีนี้ จึงเป็นสิ่งที่ท้าท้ายความสามารถของเขาไปอีกขั้น เพราะสองปีที่ผ่านมา เขาเป็นเพียงสมาชิกในโครงการเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก
.
แต่ในปีนี้เขาได้รับหน้าที่เป็น"รองหัวหน้าโครงการ" ที่มีความตั้งใจว่า เขาจะนำประสบการณ์จากการที่เคยทำโครงการมาแล้ว มาพัฒนาการทำงานในปีนี้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อชุมชนของเขาและเพื่อแสดงให้เห็นพลังและศักยภาพของเยาวชนจังหวัดน่าน
.
“ผมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองน่าน เกิดและเติบโตที่เมืองน่าน อยากให้คนภายนอกรู้ได้เห็นว่าเด็กน่านก็มีศักยภาพเหมือนกับเด็กจากที่อื่นๆ เราก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อยากพัฒนาชุมชน อยากเป็นแกนนำ นำพาน้องๆ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชุมชนของเราเท่าที่ทำได้”
"ปีแรกที่ทำโครงการ เราทำเรื่องขยะในโรงเรียน ปีที่สองก็รวมกลุ่มกันขยายไปทำเรื่องขยะในชุมชน รุ่นพี่ที่เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่ปีแรกๆ ตอนนี้ก็เรียนจบแยกย้ายไปเรียนต่อในต่างจังหวัดกันหมดแล้ว"
.
"เราที่เป็นรุ่นน้อง รู้สึกว่าไม่อยากให้การทำงานที่ผ่านมาสูญเปล่าเพียงเพราะหมดคนทำงาน จึงหันไปชวนเพื่อนและรุ่นน้องในชุมชนรวมกลุ่มกันทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อสานต่องานพัฒนาหมู่บ้านและสร้างรุ่นน้องขึ้นมาทำงานต่อไป"
.
"ในการทำงานที่ผ่านมา ทำให้เราพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อก่อนผมจากคนที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ตอนนี้ก็มีความกล้าที่จะแสดงทุกอย่างออกมา แต่ก็ยังคิดว่า ตัวเองยังไม่เก่งพอ ยังต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไป"
“ช่วงที่เรารวมกลุ่มกันทำงาน มีการพบปะนัดหมายวางแผนงาน พวกเราถูกผู้ใหญ่ในหมู่บ้านมองว่าเรารวมตัวกันทำในเรื่องไม่ดี แต่พอเราทำโครงการไประยะหนึ่ง เราขอเข้าร่วมนำเสนอโครงการต่อที่ประชุมของหมู่บ้าน ได้ชี้แจงโครงการ ต่อคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนเปิดรับและเข้าใจสิ่งที่เราทำเพื่อชุมชน การที่เราลงไปสัมภาษณ์ขอข้อมูล เขามองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ แต่พอมีการจัดเวทีคืนข้อมูลชุมชนก็เกิดความเข้าใจและได้รับความร่วมมือจากคนในหมู่บ้านมากขึ้น”
.
#ภายใต้โครงการแนวทางการขับเคลื่อนกลไกการทำงานเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่จังหวัดน่าน
#ดำเนินการโดย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดน่าน
#สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)