เมื่อเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะสืบสานภูมิปัญญามโนราห์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้คงอยู่ มีความเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากมโนราห์ในจังหวัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการรำ ทำชุด ทำเทริด ทำหน้าพราน และดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ อีกทั้ง เปิดพื้นที่ให้เยาวชนในชุมชนได้มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความสุขและความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน
.
จึงทำให้ “โนราห์บอม” หรือ นายภัทศรุท ประเสริฐ แกนนำเยาวชนโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด ตำบลทุ่งหลวง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมตัวกันกับเพื่อนๆ และน้องๆ กลุ่มเยาวชนมโนราห์บ้านปากลัด จัดทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อร่วมกันสืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านมโนราห์ของบ้านปากลัดให้คงอยู่ต่อไป โดยมีครูภูมิปัญญาในชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพวกเขา
“เกือบจะทุกบ้านในอำเภอเวียงสระจะมีบารมีของพ่อแม่ตายายที่คอยปกปักษ์รักษา แต่ไม่มีคนรุ่นหลังคอยสืบทอด คนที่สืบทอดปัจจุบันนี้ก็อายุเยอะประมาณ 80-90 ปี ศิลปะวัฒนธรรมมโนราห์ก็เริ่มสูญหายไปบ้าง และคนที่จะเข้าใจอัตลักษณ์ของอำเภอเวียงสระก็มีน้อยมาก จึงทำให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องมโนราห์จะหันไปศึกษามโนราห์ของจังหวัดพัทลุง เพราะถือเป็นต้นกำเนิดมโนราห์ แต่ไม่ได้ศึกษาอัตลักษณ์ความเป็นมาของมโนราห์จังหวัดสุราษฎร์ธานีว่าเป็นอย่างไร...เราจึงอยากดำรงรักษามโนราห์จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่เป็นของเราไว้ อยากให้เยาวชนในชุมชนมาร่วมกันฝึกฝนศิลปะการแสดงมโนราห์ของบ้านเราให้คงอยู่สืบไป”
“ในการทำงานร่วมกันในทีม ก็มีปัญหาบ้างในบางครั้ง เช่น การเสนอความคิดในการทำงาน บางครั้งพวกเราก็คิดต่างกันบ้าง แต่พวกเราก็รับฟังความคิดของทุกคน เราใช้วิธีการเลือกทีละแนวคิด มาลองผิด ลองถูก อันไหนใช้ได้เราก็จะใช้ อันไหนลองแล้วทำไม่ได้เราก็จะได้รู้ และก็ช่วยกันค้นหาวิธีการอื่นต่อไป พวกเราจะเรียนรู้แนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันและเราจะไม่ทะเลาะกัน เพราะในทีมของเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก”
“นอกจากการได้เรียนรู้เรื่องมโนราห์กับครูภูมิปัญญาหลายๆ ท่าน ทั้งในพื้นที่อำเภอเวียงสระและอำเภออื่นๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว พวกเรายังไปขอเรียนรู้กับครูภูมิปัญญาอีกหลายท่านในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุงอีกด้วย ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวและอัตลักษณ์ของมโนราห์จังหวัดอื่นๆ และก็ทำให้เราเห็นว่ามโนราห์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็มีการแสดง การละเล่นที่ไม่เหมือนกันกับที่อื่นๆ เรามีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่เป็นของตัวเอง และนี่จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้พวกเราอยากจะศึกษาเรื่องราวของมโนราห์ให้มากขึ้น เพื่อเราจะได้สืบสานภูมิปัญญามโนราห์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้คงอยู่กับบ้านเราต่อไป”