บทสรุป AAR การร่วมงาน TEP Forum 2019 ภาพใหม่การศึกษาไทย
โดย ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน สพป.ระยอง เขต 1
8 มิถุนายน 2562
ภาคเช้า
TEP Direction “ภูมิทัศน์ใหม่การศึกษา เพื่อการสร้างเสริมสมรรถนะเด็กไทย” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เลขานุการคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษา เป็นการสะท้อนผลการจัดการศึกษา คุณภาพเด็กไทย และทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้...
TEP Talk “๕ แรงบันดาลใจ สร้างสรรค์การศึกษาไทย” การจากบุคคลในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งครู นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และพระสงฆ์ ซึ่งแต่ละท่านได้มาสะท้อนประสบการณ์และความงอกงามของการจัดการศึกษา และการเรียนรู้ใหม่ที่สอดคล้องกับปัจจุบัน ที่ประทับใจคือ การสะท้อนการเรียนรู้อย่างมีความหมายและมีคุณค่าของนางสาวชุติกาญจน์ กนกกันทรากร นักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงท่วงที วาจา ลีลาการพูดที่ชวนติดตาม ซึ่งเป็นผลที่การจากการบ่มเพาะมาอย่างยาวนานและถูกวิธี อีกท่านที่พระทับใจคือ พระครูวิมลปัญญาคุณ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างโรงเรียนที่เน้นการเรียนรู้ผ่านของจริง ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจนเกิดนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญ บริหารจัดการโรงเรียนอย่างมีกลยุทธ์ มีขั้นตอนที่ง่ายและสามารถทำได้
TEP Sharing “ทิศทางการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย” เป็นการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีมุมมองกับการศึกษาไทย และทุกท่านก็เห็นตรงกันว่า มีความจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การศึกษาเป็นแรงพลักดัน หรือคานงัดที่สำคัญในการงัดประเทศไทยให้หลุดพ้นจากการติดหล่มด้านต่าง ๆ
ภาคบ่าย
TEP Group Discussion “ร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น ต่อเส้นทางการสร้างสมรรถนะเด็กไทย”
ห้องประชุมที่ ๕ : หลักสูตรการศึกษา : หลักสูตรฐานสมรรถนะ ห้องนี้มีการร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องความจำเป็นในการปรับปรุงหลักสูตรจากปัจจุบันที่เน้นการเรียนรู้แยกตามกลุ่มสาระวิชา และมีการประเมินผลตามตัวชี้วัด ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนในปัจจุบันนี้เกิดปัญหาด้านคุณภาพที่ไม่ตอบสนองโลกของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้หันมามองสมรรถนะ ซึ่งเป็นคุณภาพผู้เรียนใหม่ที่แท้จริง และสอดคล้องกับความต้องการของโลกปัจจุบัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากหลากหลายกลุ่มทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย สพฐ. ผู้ปกครอง เป็นต้น ผ่านกระบวนการ Why What How.
Why? เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
What? เปลี่ยนการเรียนการสอนให้สะท้อนสมรรถนะ และการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง Active
Learning
How? เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลง Mind set ของผู้บริหาร และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการจัด
การศึกษา เพื่อให้เห็นตรงกัน แล้วเริ่มลงมือทำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทุกระดับ
9 มิถุนายน 2562
ภาคเช้า
TEP Market place “ร่วมเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมอง ต่อยอดความรู้จากเครือข่าย
ห้องประชุมใหญ่ : เวทีนําเสนอแนวคิดโครงการ และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ๑๒ องค์กรของคนรุ่นใหม่ที่อาสาร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ได้มีโอกาสนั่งฟังการดำเนินการพัฒนาการศึกษาจากองค์กรต่าง ๆ ที่มุ่งมั่นค้นหา ทดลอง และสร้างโอกาสดี ๆ ทางการศึกษา และนำมาเสนอและแลกเปลี่ยนที่ประชุมใหญ่ และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่สำคัญระดับประเทศมานั่งรับฟังและเสนอแนะ ทำให้ได้แนวคิดและมุมมองดี ๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษา และทำให้รู้ว่ายังมีกลุ่มคนอีกมามายที่สนใจทำเรื่องการศึกษา นอกเหนือจากสถานศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ภาคบ่าย
นําเสนอผลสรุปแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาจาก ๗ ประเด็นหลัก (TEP PRESENT) ตัวแทนกิจกรรมนำเสนอทีมละ ๑ คน ประกอบด้วย ประเด็นที่ ๑ : หลักสูตรการศึกษา ประเด็นที่ ๒ : โรงเรียน ประเด็นที่ ๓ : ระบบผลิตและพัฒนาครู ประเด็นที่ ๔ : ปฐมวัย ประเด็นที่ ๕ : พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประเด็นที่ ๖ : การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งตัวแทนแต่ละกลุ่มก็ได้นำเสนอบทสรุปกับที่ประชุมใหญ่ที่ทุกคนมาร่วมรับฟัง และมีผู้ทรงคุณวุฒิมานั่งฟังมากมาย
เสนอข้อคิดเห็นต่อแนวทางการขับเคลื่อน โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รองประธานคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษาไทย และปาฐกถาพิเศษ “เด็ก เยาวชนไทย..ศักยภาพประเทศไทย” โดย นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษาไทย ซึ่งท้ายสุดท่านได้ให้คำคมสร้างพลังใจที่สำคัญคือ “ตื่นเถิดชาวไทย” ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ทางการศึกษา...
บทท้าย จากการเข้าร่วมประชุมสัมมนา TEP Forum 2019 ภาพใหม่การศึกษาไทย ที่ผ่านมานับว่าเป็นโอกาสดีที่สำคัญในการเปิดโลกทัศน์ของตนเองในมุมมองด้านการปฏิรูปการศึกษาของไทย ซึ่งมีความสำคัญ จำเป็นเร่งด่วนมากที่ต้องดำเนินการ แต่น่าเสียดาย ที่ผู้ที่มีหน้าที่หลักในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับสูงสุด คือกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงโรงเรียนในประเทศไทย ยังเห็นความสำคัญและการตื่นตัวในเรื่องนี้น้อยมาก แม้กระทั่งโรงเรียนในจังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่นวัตกรรมอย่างจังหวัดระยอง ก็ยังมองไม่เห็นใครลุกขึ้นมาทำอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าก็ตั้งใจว่าจะมุ่งมั่นปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่อยู่ในความรับผิดชอบ ตามบทบาทและหน้าที่อย่างดีที่สุด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และมีความสุข สนุกกับการทำงานที่เห็นการเปลี่ยนแปลง......
เจ้าหน้าที่ มูลนิธิสยามกัมมาจล
- 10 เดือนที่แล้ว
|
เจ้าหน้าที่ มูลนิธิสยามกัมมาจล
- 9 เดือนที่แล้ว
|
เจ้าหน้าที่ มูลนิธิสยามกัมมาจล
- 10 เดือนที่แล้ว
|