แม้จะเติบโตมากับชายเลและป่าเลน แต่กลุ่มเยาวชนจากบ้านท่าน้ำเค็มใต้ ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล กลับบอกว่า พวกเขาแทบไม่รู้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผืนป่าชายเลนของบ้านเกิดที่เป็นสถานที่มีชื่อเสียงระดับจังหวัด เมื่อได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล พวกเขาจึงเห็นว่านี่น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ และส่งต่อความรู้เหล่านี้แก่น้องๆ รุ่นต่อไป
ก่อนที่พวกเขาจะส่งต่อความรู้เหล่านั้น เรามาดูกันว่าสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลาในการทำโครงการมีอะไรกันบ้าง
“ความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายกับหนูคือ “การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น”
นัซรอยอมรับว่าเมื่อก่อนเธอยึดความคิดของตัวเองเป็นหลัก ไม่เห็นด้วยก็พูดออกมาเลยว่า ทำไมไม่ทำแบบที่เราคิด สำหรับเธอเมื่อก่อนงานกลุ่มก็คืองานเดี่ยว ถ้าคิดจะทำแบบไหนก็ทำเองคนเดียว แต่พอฟังความคิดเห็นของเพื่อน เธอพบว่างานดีขึ้น เมื่อเรารับฟังแล้วนำความคิดของเพื่อนคนอื่นมาปรับกับของตัวเองได้ เธอยังนำกระบวนการทำงานนี้ไปใช้ในโรงเรียนด้วยและพบว่าการทำงานของเธอทำให้ความสัมพันธ์ของเธอและเพื่อนดีขึ้นด้วย”
นางสาวนัซรอ เหมซ๊ะ
โครงการ ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลนหลังการประกาศเขตอภัยทาน สู่การสร้างสำนึกรักษ์ป่าเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้
“เพราะเป็นประธานโครงการ ทำให้เราต้องพูด บอกกับตัวเองว่าเราต้องทำได้ เพราะถ้าเราทำไม่ได้ น้องคนอื่นๆ ก็ไม่มั่นใจเหมือนกัน”
แม้จะเป็นประธานกลุ่มเยาวชนของชุมชน และรับหน้าที่ประธานโครงการนี้ด้วย กีรีนบอกว่าที่ผ่านมาเขายังไม่สามารถเป็นผู้นำของคนอื่นได้ดีพอ เพราะไม่กล้าพูด แต่พอมาทำโครงการเหมือนกับสถานการณ์ทั้งหมดบังคับให้เขาต้องพูด จนก้าวข้ามความกลัวไปได้
“เดิมเป็นคนไม่กล้าพูดเลย ไม่กล้าถือไมค์ ถ้ามีคาบที่ครูให้นำเสนอก็จะโดดเรียนหรือไม่ก็ให้เพื่อนนำเสนอ แต่ตอนไปเสนอโครงการครั้งแรกโดนน้องๆ และพี่เลี้ยงให้ออกไปนำเสนอ เลยรวบรวมความกล้าบอกตัวเองว่า เราเป็นประธาน ต้องพูด อย่ายอมต้องทำให้ได้ เพราะถ้าเราทำไม่ได้ น้องๆ คนอื่นก็คงไม่มั่นใจเหมือนกัน”
นายสากีรีน เส็นสมมาตร
โครงการ ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลนหลังการประกาศเขตอภัยทาน สู่การสร้างสำนึกรักษ์ป่าเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้
“แต่ก่อนเวลาทำงานก็จะทำแค่หน้าที่ของตัวเอง เดี๋ยวนี้พอทำงานตัวเองเสร็จก็จะไปช่วยเพื่อนต่อ”
ซารอบอกกับเราว่าสิ่งที่ตนเองได้จากการทำโครงการนี้ที่เห็นได้ชัดคือ จิตอาสา จากเดิมเวลาทำงานกลุ่มจะคอยทำแค่หน้าที่ตัวเอง พอหน้าที่ตัวเองเสร็จเธอก็จะไม่สนใจคนอื่น แต่ตอนนี้ซารอยิ้มและบอกว่าเธอเปลี่ยนไปเมื่องานในหน้าที่ของตัวเองเสร็จจะรีบเข้ามาช่วยเพื่อนต่อ เพราะมองว่าเป็นงานของกลุ่มไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง หากงานเสร็จก็เป็นความสำเร็จร่วมกัน
นางสาวซารอ ทิ้งน้ำรอบ
โครงการ ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลนหลังการประกาศเขตอภัยทาน สู่การสร้างสำนึกรักษ์ป่าเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้
“แต่ก่อนเป็นคนขี้อายมากให้พูดก็ไม่ยอมพูด นำเสนอโครงการทีไรไปไม่เป็นทุกที แต่โครงการนี้ทำให้เราได้ฝึกการนำเสนอหลายครั้งจนเราชินและกล้าที่จะพูดโดยไม่เขินอาย”
เมื่อหนีไม่พ้นก็ต้องพูด เป็นหนทางที่ทำให้เล็กตัดสินใจที่จะหยิบไมค์และลุกขึ้นมาพูด จากที่พูดไม่ได้ เรียบเรียงไม่เป็นจนตอนนี้เล็กคนเก่าได้หายไปกลายเป็นเล็กคนใหม่ที่พูดจาฉะฉาน
“เดิมหนูขี้อายมากและไม่ค่อยมั่นใจค่ะ เวลาให้ออกไปนำเสนอทีไรไปไม่เป็นทุกที แต่พอมาทำโครงการ ทำให้เราได้ฝึกการนำเสนอหลายครั้ง เริ่มชิน พูดได้ไม่เขินอาย และได้นำทักษะการวางแผนไปใช้กับการเรียนด้วยค่ะ เช่น วางแผนนำเสนองานกลุ่ม แบ่งบทบาทหน้าที่กัน และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น”
เล็ก-ซอฮาบีย๊ะ เย็นจิต
โครงการ ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลนหลังการประกาศเขตอภัยทาน สู่การสร้างสำนึกรักษ์ป่าเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้
“เราอยากถ่ายทอดให้น้องๆ รู้ว่า เมื่อก่อนป่าชายเลนบ้านเราที่ไม่ได้อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างไร แล้วพี่ๆ ผู้ใหญ่ในชุมชนช่วยกันดูแลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์จนมีชื่อเสียงได้อย่างไร ไม่อยากให้สิ่งที่พี่ๆ ทำมาดีกว่า 10 ปีแล้วมาล่มที่เรา อยากให้คนมาสานต่อจากพวกเราไปอีกเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น”
เสียงสะท้อนถึงเป้าหมายที่ทีมงานมั่นหมายไว้ว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เกิดการสานต่อของกลุ่มเยาวชนรุ่นต่อไปที่มีใจรักษ์ป่าชายเลนเฉกเช่นพวกเขา แม้กิจกรรมที่ทำยังไม่เห็นปลายทางของการสานต่อ แต่สิ่งที่เห็นแล้วในวันนี้คือพัฒนาการของแต่ทีมงานที่เปลี่ยนไประหว่างทำกิจกรรม