เมื่อเดี๋ยวนี้พลาสติกหาได้ง่ายกว่า งานจักสานที่ใช้วัสดุธรรมชาติเริ่มหายไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมชนบ้านสันตับ อ.บ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน กำลังเผชิญอยู่ ทั้ง ๆ ที่เป็นชุมชนที่มีผู้รู้ด้านจักสานเยอะมาก ทำให้เยาวชนสาวน้อยบ้านสันตับเต่า ลุกขึ้นมาปลุกพลังนักอนุรักษ์ คงเสน่ห์งานจักสานภูมิปัญญาของผู้เฒ่าผู้แก่ ในโครงการอนุรักษ์การจักสาน บ้านสันตับเต่า อ.บ้านโฮ่ง
เมื่อพวกเธอ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำให้พบว่าในหมู่บ้านมีผู้รู้งานจักสานอยู่ถึง 11 คน มีภูมิปัญญางานจักสานที่หลากหลาย ทั้งก๋วยสลาก กล่องข้าว สานสุ่มไก้ ซุ้มทางมะพร้าว ดอกกุหลาบใบเตย เข่ง หิง (สวิง) กระด้ง เปาะเห็ด (ตระกร้าหาเห็ด) ข้อง และไซ ซึ่งส่วนใหญ่นี้ไม่มีผู้สืบทอดองค์ความรู้ต่อ
พวกเธอจึงชักชวนเยาวชนในพื้นที่เป็นน้อง ๆ ม.ต้น ในหมู่บ้านมาร่วมเรียนรู้กิจกรรมจักสานได้ถึง 10 คน ถือเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของทีม แต่ที่มากกว่านั้นก็คือความสำเร็จส่วนตัว ที่สมาชิกในทีมแต่ละคนได้ฝึกฝนทักษะและประสบการณ์ในการทำงานจริง
“การได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ทำให้เราเห็นศักยภาพของตัวเองชัดว่าสามารถทำประโยชน์ได้เหมือนกัน จากเมื่อก่อนอยู่บ้านไปวัน ๆ เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้หรอก แต่วันนี้ไม่ใช่อีกแล้ว”
แพร เคยเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยความหวังในความสามารถของตัวเอง อยู่บ้านไปวัน ๆ เที่ยวเตร่กับเพื่อนตามประสาวัยรุ่น แต่หลังจากได้ทำโครงการ เธอรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์มากขึ้น และยังได้รู้จักศักยภาพตัวเองว่าสามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ จากเมื่อก่อนคิดแต่ว่าตัวเองทำไม่ได้แน่ๆ ก็เลยไม่ทำ แต่พอได้มีโอกาสทำ กลับเห็นว่าตัวเองทำได้ และมีความสามารถเหมือนแพ้คนอื่นเลย
แพร - ศิริพร บังคมเนตร
โครงการอนุรักษ์การจักสาน การประดิษฐ์ และงานฝีมือ
“เพิ่งรู้ว่าการได้พบปะและร่วมงานกับคนที่หลากหลายทั้งเพื่อนและคนในชุมชน ให้ประสบการณ์ชีวิตใหม่ ๆ นอกเหนือจากในห้องเรียนเยอะเลย”
เมื่อ “บีม” ได้มาทำงานร่วมกับเพื่อนๆ จัดกิจกรรมกับคนในชุมชน ได้พบปะคนมากขึ้น ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ นอกจากการเรียนในโรงเรียนค่ะ แล้วก็ได้ความรู้ใหม่ๆ มากขึ้นด้วย เช่น การถ่ายภาพ การทำวิดีโอ ซึ่งนำมาใช้กับการทำโครงงานที่โรงเรียนได้ รู้อย่างนี้ออกจากบ้านมาตั้งนานแล้ว
บีม - อภิชญา มูลรัตน์
โครงการอนุรักษ์การจักสาน การประดิษฐ์ และงานฝีมือ
“ก่อนนี้ก็เป็นเด็กที่เรียนอย่างเดียว ไม่ค่อยพูด แต่มาทำโครงการนี้กลายเป็นคนกล้าแสดงออก และมีทักษะในการเข้าหา พูดคุย กับผู้ใหญ่อีกด้วย”
จากเด็กเรียนที่ชีวิตปกติป้าหวง ออกไปเที่ยวไม่ได้ และไม่สนิทกับคนในชุมชน นิ้ง กลายเป็นคนกล้าแสดงออกมากขึ้น พอได้มาทำโครงการ นิ้งทำให้ป้าเห็นว่าเขาสามารถคุยกับผู้ใหญ่ได้ กล้าแสดงออกขึ้น จากเมื่อก่อนที่ไม่ค่อยคุยกับใคร
น.ส.บุชายา กองมา นิ้ง
โครงการอนุรักษ์การจักสาน การประดิษฐ์ และงานฝีมือ
ความเปลี่ยนแปลงของน้องๆ คือผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากการปลุกพลังบวกในตัวเอง ลุกขึ้นมาเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาชุมชน และส่งต่อสู่รุ่นต่อไปได้อย่างน่าชื่นชม สำหรับโครงการอนุรักษ์การจักสาน ของ สาวน้อยแห่งบ้านสันตับเต่า ที่น่าจะสามารถต่อยอดโครงการไปได้อีกไกลอย่างแน่นอน