“ครัวแต่งดา” หรือ “เครื่องแต่งดา” เป็นสิ่งสำคัญที่คนในท้องถิ่นทางภาคเหนือมักใช้เป็นเครื่องสักการะและพานพุ่มที่ต้องใช้ในพิธีกรรม (ลักษณะคล้ายบายศรี) ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่กลุ่มเยาวชนจากบ้านจำขี้มด ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน พบว่าผู้รู้เรื่องครัวแต่งดาในชุมชนลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เมื่อเสียชีวิตไปก็ไม่มีคน สานต่อ ทำให้ปัจจุบันต้องไปจ้างชุมชนอื่นทำครัวแต่งดา ซึ่งมีราคาสูงกว่าทำเองมาก ทำให้เยาวชนบ้านจำขี้มดอยากเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ให้อยู่กับชุมชน
แต่สิ่งที่เยาวชนบ้านจำขี้มดได้เรียนรู้กลับไม่ได้มีเพียงองค์ความรู้ครัวแต่งดาเท่านั้น เพราะระหว่างเส้นทางการทำงาน ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองจนเกิดทักษะดีๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตของพวกเขาอย่างน่าสนใจ
“ยิ่งถามยิ่งได้รับความรู้กลับมาเยอะ แต่ถ้าไม่ถามก็จะไม่รู้อะไรสักอย่าง “ความกล้าแสดงออก” ทำให้เรากล้าลองคุยกับคนอื่น ก้าวข้าม “ความขี้อาย” ไปเลย
ชีวิตของเชียร์เปลี่ยนไปนับตั้งแต่วันที่เธอเริ่มลงไปสัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชน ที่ทำให้เธอก้าวข้ามกำแพงความขี้อายไปสู่การเป็นคนช่างซักช่างถาม จนได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เด็กสาวที่เคยอยู่ติดบ้าน จึงเริ่มติดใจที่จะออกนอกบ้านมาลองคุยกับคนอื่นในชุมชนมากขึ้น
เชียร์-พัชรินทร์ อุดมทิพย์
“ผมพบว่าตัวเองจัดการเวลาได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องทำหลายอย่าง และกลายเป็นว่าผมเล่นเกมน้อยลงไปเลย”
การมีภาระในการทำโครงการเพิ่มเข้ามาทำให้ อดีตเด็กติดเกมอย่าง “มิกซ์” เลือกที่จะเล่นเกมน้อยลง เพื่อแบ่งเวลาไปทำโครงการ เรียน และเล่นกีฬา ตอนนี้ทุกเย็นหลังเลิกเรียนเขาจะไปซ้อมกีฬาก่อนประมาณชั่วโมงหนึ่ง แล้วกลับบ้านมาทำการบ้าน กว่าจะได้เล่นเกมก็ตอนดึกๆ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ถ้าไม่ได้ซ้อมกีฬาก็ต้องใช้เวลามาทำโครงการนี้ จนเรียกได้ว่าหน้าจอคอมพ์สำคัญน้อยลงกว่าการออกไปเรียนรู้โลกภายนอกแล้ว
มิกซ์-ธนากุล ทองอิสสระ
“จากการที่มีโอกาสพูดในวงของโครงการหลายครั้ง ทำให้มีโอกาสปรับตัวเองให้เป็นคนกล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น”
ต้นหนาวคิดว่าลองทำตามคำชวนก็ไม่เสียหาย ต้นหนาวจึงตอบรับคำชวนของหมิว รุ่นพี่ในชุมชนเข้าร่วมโครงการ ที่กลายเป็นประตูแห่งโอกาสให้เธอได้มีเวทีฝึกพูด ฝึกแสดงความคิดเห็นทั้งในกลุ่ม ในวงสนทนากับเพื่อนๆ จากโครงการอื่น และการเป็นตัวแทนกลุ่มนำเสนอต่อหน้าคนหมู่มาก ซึ่งช่วยเปลี่ยนเธอให้กลายเป็นคนที่กล้าแสดงออกในที่สุด
ต้นหนาว-สุชาดา ศรีวิชัย
“สิ่งที่เรียนรู้มากที่สุดคือ “ความรับผิดชอบ” เพราะเรามีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องดูแลบัญชี และร่วมวางแผนการเงินกับเพื่อนๆ เหมือนได้บทเรียนใหม่ๆ มากกว่าที่วนเวียนอยู่ที่ “บ้าน” กับ “โรงเรียนสอนพิเศษ”
ชีวิตรูปแบบเดิมของใหม่ คือการเรียนและเรียน จนวันที่ตัดสินใจเข้ามาทำโครงการ เธอจึงขอพ่อแม่หยุดเรียนพิเศษเพื่อไปทำกิจกรรม ซึ่งพ่อแม่ก็ไม่ได้ห้าม เพราะมองว่า “วิชาชีวิต”ก็จำเป็นสำหรับลูกสาวของพวกเขาไม่แพ้วิชาการ การเปิดโอกาสของพ่อแม่ครั้งนั้นจึงทำให้ใหม่ได้เรียนรู้บทเรียน “ความรับผิดชอบ” และ “การวางแผน” จากการรับหน้าที่ดูแลบัญชีของโครงการ ที่ต้องจัดการและวางแผนการใช้งบประมาณร่วมกับเพื่อนๆ
ใหม่-ธีรนาฎ ขันนา
พอลองทำครัวแต่งดาไปเรื่อยๆ หนูพบว่าตัวเองมีความสามารถทางนี้ เลยตั้งใจว่าอาจจะใช้เป็นช่องทางสร้างรายได้อีกทางหนึ่งค่ะ”
การลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ทำให้หมิวพบว่าตัวเองมีศักยภาพในการทำครัวแต่งดา เมื่อได้รับคำชมจากผู้รู้และคนรอบตัว เธอจึงตั้งใจว่าจะพัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งนี้เป็นทั้งภูมิปัญญาสำคัญของชุมชนที่ควรสืบสาน และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพแก่ตัวเอง ได้
หมิว-แพรวสกุล ทองอิสสระ
ปัจจุบันหมิวและเพื่อนร่วมทีมไม่ได้เป็นเพียงคนเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวของครัวแต่งดาเช่นตอนแรกอีกแล้ว พวกเขากลายมาเป็นเรี่ยวแรงหนึ่งที่เคียงข้างผู้ใหญ่ในชุมชนช่วยกันทำครัวแต่งดาขึ้นมา ซึ่งนี่คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าภูมิปัญญาครัวแต่งดาจะอยู่คู่กับบ้านจำขี้มดต่อไปได้หรือไม่