“พวกเราเห็นหมู่บ้านอื่นมีการรวมกลุ่มเด็ก ๆ มาทำกิจกรรม เราก็อิจฉาเขา หมู่บ้านเราควรจะมีแบบนี้บ้าง มารวมกลุ่มกันทำนั่นทำนี่ ได้ช่วยผู้ใหญ่ด้วย และอยากให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็ก ๆ ในหมู่บ้านนี้ดีจัง”
หลังจากนั้นจึงมีการพูดคุยถึงความถนัด ความสนใจ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน ทีมงานตัดสินใจที่จะนำ “ก๋ายลาย” และ “กลองสะบัดชัย” ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกในทีมมีความสามารถอยู่แล้วมารวมเป็นการแสดงชุดเดียวกัน ด้วยการฟ้อนก๋ายลายประกอบกับการตีกลองสะบัดชัย โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นการช่วยสืบทอดก๋ายลายของชาวไทลื้อ และการตีกลองสะบัดชัยของล้านนาไว้ รวมทั้งสร้างการแสดงก๋ายลายสะบัดชัยให้เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านป่าตึงเหนือด้วย แต่กว่าจะตกลงกันได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ตอนไปเวทีแรกๆ ผมยังไม่รู้สึกสนใจโครงการเท่าไร วแต่เมื่อได้ทำงานกับเพื่อนร่วมทีมบ่อยครั้ง เริ่มรู้สึกสนุกขึ้น โดยเฉพาะค้นพบว่าตัวเองชอบ การทำสื่อ ”
จากเด็กผู้ชายที่ถูกแม่บอกให้มาเข้าร่วมโครงการ ทำให้ดีนรู้สึกเบื่อหน่ายกิจกรรมที่ต้องทำ และไม่ค่อยอยากให้ความร่วมมือ แต่เมื่อได้ทำงานกับเพื่อนๆ ร่วมทีมบ่อยครั้ง เขาจึงรู้สึกสนุกขึ้น กระทั่งพบจุดเปลี่ยนในเวทีการทำสื่อที่ “ถูกจริต” กับเขาในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยี เพราะได้ลงมือถ่ายทำและตัดต่อด้วยตัวเอง
ดีน-พิทักษ์พล เป็นพนัสสัก
เยาวชนโครงการสืบสานก๋ายลายสะบัดชัยล้านนา
“เมื่อก่อนหนูจะพูดจาแบบขวานผ่าซากค่ะ ไม่ค่อยสนใจอะไร นึกอยากพูดก็พูดแต่เมื่อต้องทำกิจกรรมและต้องพบปะคนบ่อย ๆ เป็นบททดสอบให้ตัวเองต้องสื่อสาร และปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นคนที่พูดดีขึ้น”
แยม สาวน้อยแสนห้าวที่เคยพูดจาอย่างตรงไปตรงมา จนอาจเผลอทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี จนได้รับการแนะนำจากพี่เลี้ยงโครงการ เธอจึงใช้การทำกิจกรรมที่ต้องพบปะคนอื่นอยู่เนืองๆ เป็นบททดสอบทักษะการสื่อสารของตัวเอง แม้แรกๆ จะรู้สึกฝืนพอสมควร แต่เธอก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นคนที่พูดดีขึ้น ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์กับอื่นให้ดีขึ้นตามไปด้วย
แยม-ธารีรัตน์ วงค์ใจ
เยาวชนโครงการสืบสานก๋ายลายสะบัดชัยล้านนา
แม้ระยะเวลาการทำโครงการจะสิ้นสุดลง แต่ทีมงานบอกว่าจะยังไม่หยุดการทำงาน เพราะการอนุรักษ์ก๋ายลาย สะบัดชัยให้อยู่คู่ชุมชนบ้านป่าตึงเหนือจำเป็นต้องทำไปเรื่อยๆ และพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เยาวชนคนอื่นๆ จึงควรได้เข้ามาเรียนรู้เพื่อสืบสานและสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ตัวเองดังเช่นพวกเขาเช่นกัน