โครงการ ผลิตฝ้ายเส้นด้ายและการย้อมสีธรรมชาติ เยาวชนบ้านไม้สลี ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหว้า จ.ลำพูน
พรรณมาลี พานทวีป

“การทอผ้า “ เป็นวิถีชีวิตของชาวปกาเกอญอที่สืบทอดกันมายาวนาน โดยเฉพาะแม่ที่ส่งต่อความรู้ให้แก่ลูกสาว สาว ๆ ปกาเกอญอจะต้องทอผ้าเป็น ทำให้ประสบการณ์ในชีวิตของเด็กสาวบ้านไม้สลี ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน จะเห็นครอบครัว แม่ๆ น้าๆ ยายๆ ทอผ้าอยู่เป็นประจำ แต่หนึ่งในขั้นตอนที่น่าสนใจคือ “กระบวนการผลิตเส้นฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ” ปัจจุบันในชุมชนไม่ได้ผลิตฝ้ายแล้ว ต้องซื้อจากข้างนอก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เยาวชนบ้านไม้สลี อยากที่จะเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตเหล่านี้ และอยากส่งต่อความรู้ให้เยาวชนรุ่นใหม่ ๆ ที่อยู่ในชุมชน เพื่อที่จะสามารถเรียนรู้การผลิตผ้าทอได้อย่างครบวงจร

เมื่อเรียนรู้และลงมือทำแล้ว เยาวชนบ้านไม้สลีก็พบว่าขั้นตอนการผลิตฝ้ายนั้นไม่ง่ายเลย แต่การเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติ ทำให้เห็นคุณค่าของ “ผ้า” ที่กว่าจะได้เส้นด้าย ต้องใช้เวลาและสมาธิอย่างสูง....และยังบทเรียนสำคัญอีกหลายบทเรียนที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานร่วมกันกับเพื่อนหลายวัย และผู้ใหญ่หลายคนอีกด้วย

­

­

“การปั่นฝ้ายถือว่ายากเย็นที่สุด เพราะเราหัวร้อน หลัง ๆ ก็แค่ฝึกไปเรื่อย ทำอันนี้ไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่นก่อน อารมณ์ดีแล้วค่อยกลับมาทำใหม่ ทำจนกว่าจะทำได้”

ปูเป้ เด็กหัวร้อนที่ต้องมาทำงานที่ใช้ใจเย็นสุดๆ เธอบอกว่าต้องลงน้ำหนักมือ มือขวาต้องหมุนวงล้อ มือซ้ายต้องค่อย ๆ ดึง ต้องมีจังหวะว่าต้องดึงประมาณไหน ตอนมาฝึกวันแรก มันเบี้ยวไปนั่นมานี่ จนยายที่เป็นคนสอนบอกว่า เด็กคนนี้อย่างไรนะ สอนยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เธอต้องมุ่งมั่นฝ่าด่านปั่นด้ายซึ่งเป็นด่านที่ยากที่สุดไปได้ ก็เพราะเธอเห็นว่าคนอื่นยังทำได้เลย เธอจึงพยายาม

ปูเป้- ธัญญารัตน์ ใหม่แก้ว
โครงการผลิตฝ้ายและการย้อมสีธรรมชาติ

­

“จริง ๆ แล้วปั่นฝ้ายมีเทคนิคนิดหน่อย เวลาดึงอย่าให้มือเบี้ยว ทำมือตรง ๆ และต้องบีบฝ้ายไว้ให้มันหมุนตัว เพราะว่าถ้าเรายิ่งดึงไกล มันจะเป็นเส้นเล็ก ๆ และไม่ขาด อีกเทคนิคที่เรียนรู้เพิ่มมาคือ ต้องมีสติ ใจเย็น เดี๋ยวได้เอง”

มีคนถาม ลี้ ว่าทำไมไม่ออกแบบโครงการโดยข้ามขั้นตอนการผลิตเส้นฝ้ายไปสู่การย้อมสีเลย เพราะมันยาก แต่เธอบอกว่า ถ้าทำแบบนั้นเยาวชนจะไม่รู้จักกระบวนการทอผ้าของชุมชนอย่างแท้จริง ยิ่งพอรู้ว่าไม่ค่อยมีใครปลูกฝ้าย ลี้ ยังคิดที่จะชวนชาวบ้านปลูกฝ้ายควบคู่กันไปอีกด้วย

ลี้-จิณณพัต สุขหู
โครงการผลิตฝ้ายและการย้อมสีธรรมชาติ

­

จากความพยายามพวกเขารวบรวมสมาชิกได้ 13 คน หากเข้าฝึกฝนที่ห้องเรียนทอผ้าจนเกิดความชำนาญ ก็จะสามารถสืบสานการทอผ้าของชุมชนได้ในอนาคต

สิ่งที่จะต้องดำเนินงานต่อไปคือ แปร “องค์ความรู้” ด้านการ “ผลิตเส้นฝ้าย” ออกมาเป็นรูปเล่มสำหรับการฝึกน้อง ๆ รุ่นต่อไป เตรียมพร้อมไว้เผื่อพี่ ๆ ต้องแยกย้ายออกนอกชุมชน

อีกทั้งโครงการครั้งนี้ทำให้ชุมชนค้นพบแนวทางการสานต่อการทอผ้า ด้วยเพราะเป็นครั้งแรกที่เยาวชนในพื้นที่เกิดความรู้สึกอยากทอผ้าด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากอดีตที่ต้องบอกให้ทำ