การศึกษาแบบไหน
ที่สังคมไทยต้องการ
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2559 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนา “การศึกษาแบบไหน ที่สังคมไทยต้องการ” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ Thai Civic Education และโครงการเด็กเล่าเรื่องการศึกษา (สมัชชาเครือข่ายปฎิรูปการศึกษา และกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท) โดยการสนับสนุนจาก มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ต (FES) และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เป็นกิจกรรมที่ล้อมวงส่งเสียง ชวนเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ คุยในเรื่องของการศึกษา โดยเชิญ speakers จากหลากหลายที่ ต่างรุ่น ต่างวัย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวเอง แต่ละคนจะบอกเล่าเรื่องราวด้านการศึกษา ผ่านประสบการณ์และเหตุการณ์ที่ตัวเองประสบพบเจอมา เช่น
ความแตกต่างในระดับของการแข่งขันเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในระบบการศึกษาระหว่างโรงเรียนในต่างจังหวัดและโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร อัลฟ่า นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเล่าว่า ตนเองเป็นนักเรียนต่างจังหวัดที่อยากเข้ามาเรียนในกรุงเทพ แต่เมื่อเข้ามาเรียนแล้วเจอการแข่งขันที่สูง จนมีความคิดว่าไม่อยากเรียนในระบบการศึกษาไทย เพราะตัวเองถูกการศึกษาไทยถ่วงเอาไว้ อัลฟ่าอธิบายเสริมในประเด็นที่บอกว่าถูกการศึกษาถ่วงเอาไว้ว่า เขาไม่ได้เรียนในสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ เขาต้องเข้ามาเรียนในวิชาที่บังคับเอาแต่เกรด ต้องจัดสรรเวลาว่างไปเรียนพิเศษเพื่อที่จะต้องตามเพื่อนคนอื่นให้ทัน แทนที่จะเอาเวลานั้นไปศึกษาหรือเรียนรู้ในความสนใจของตัวเอง เมื่อผมฟัง ผมไม่ปฏิเสธการแข่งขันในระบบการศึกษานี้เลย เพราะตัวผมเองก็ผ่านการแข่งขันแบบนี้เพื่อที่ตัวเองจะมีที่ยืนในระบบการศึกษาต่อไป แต่ผมกลับตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในระบบการศึกษา จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการแข่งขันที่สูง จนต้องมีการคัดเลือกว่าใครแพ้หรือใครชนะ ซึ่งหากใครชนะก็สามารถอยู่ในระบบการศึกษาและต่อยอดอนาคตของตัวเองต่อไปได้ ส่วนคนที่แพ้ก็อาจจะต้องจำยอมออกจากระบบการศึกษาไป ฟังดูเหมือนว่าระบบการศึกษาเป็นของคนใดคนหนึ่ง(ที่แข่งขันชนะ) แทนที่จะเป็นระบบพื้นที่ที่คนในสังคมทุกคนเป็นเจ้าของและสามารถเข้าถึงได้
อัลฟ่า นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ความแตกต่าง(ทางกายภาพ)ของผู้เรียนที่ทำให้เกิดความแตกต่างของการจัดการเรียนรู้ในระบบการศึกษา บางโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันมีอีกหลายๆโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่เข้าถึงกลุ่มผู้เรียนนี้ได้เลย ไอซ์ นิสิตจบใหม่จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นผู้บกพร่องทางการมองเห็น แต่ได้เรียนในโรงเรียนปกติทั่วไป การเรียนก็เหมือนนักเรียนคนอื่นๆ ไอซ์บอกว่า เขาโชคดีที่เจอสังคมดี มีเพื่อน ครู คอยช่วยเหลือและเติมเต็มสิ่งที่เขาจำเป็นต้องรู้ และสามารถนำไปใช้ได้เหมือนนักเรียนคนอื่นๆ จนทำให้การบกพร่องทางการมองเห็นไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้เลยแม้แต่นิดเดียว ทำให้ตอนนี้เขาเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนแห่งหนึ่ง คำถามก็คือ แล้วคนที่บกพร่องทางร่างกายคนอื่นๆ พวกเขาได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาแบบที่ไอซ์ได้รับหรือเปล่า มีระบบการศึกษาที่รองรับเขามากน้อยเพียงใด ถ้ารับเขาเข้าไปในระบบแล้ว การจัดการเรียนรู้และการดูแลเทียบเท่ากับนักเรียนคนอื่นๆหรือไม่ ถ้าไม่มีการจัดการเรียนรู้ที่รองรับเขา เขาจะต้องออกจากระบบการศึกษาหรือเปล่า ซึ่งจริงๆแล้วพวกเขาสมควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีความแตกต่างในด้านอะไรก็ตามระหว่างที่ผมมีคำถามกับตัวเองอยู่นั้น ครูยีราฟ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง จากโครงการ Teach for Thailand เสริมประเด็นขึ้นมาว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้นักเรียนไม่ว่าจะเป็นนักเรียนปกติหรือต้องการความช่วยเหลือพิเศษนั้นเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน คือ การดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ครู และเพื่อนๆ ที่จะคอยช่วยเหลือให้นักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพซึ่งผมเห็นด้วยอย่างเต็มหนึ่งร้อยเปอเซนต์
ครูไอซ์ นิสิตจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ครูยีราฟ Teach for Thailand
การวัดและการประเมินผลที่ผลออกมาไม่สะท้อนการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง เราอาจจะเคยได้ยินว่าเกรดเป็นเพียงตัวเลข หรือได้ยินว่าถ้าได้เกรดดีจะเป็นบันไดขั้นแรกในการเรียนต่อ หรือประกอบอาชีพ สองแนวคิดนี้ไม่ได้ถูกหรือผิดซะทีเดียว โดยเฉพาะวิชาที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรอย่างวิชาศิลปะ วิชาศิลปะเป็นวิชาที่นักเรียนจะต้องแสดงออกถึงความสร้างสรรค์ทางความคิด แล้วสื่อสารออกมาในรูปแบบต่างๆให้ผู้รับสารได้ชื่นชม และตีความแตกต่างกันออกไป การตีความที่แตกต่างถือเป็นจุดเด่นของการสร้างผลงานศิลปะ ภูมิ นักเรียนสายวิทย์-แพทย์ ที่ผันตัวเองมาเป็นนัดวาดการ์ตูนเล่าประสบการณ์ในการเรียนวิชาศิลปะว่า ตอนเขาเรียนวิชาศิลปะ เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรของเขาในการทำงานและส่งครูประจำวิชา แต่กลับได้รับการตอบกลับว่าเป็นการลอกงานคนอื่นมาส่ง ทำให้ได้เกรดในวิชาศิลปะต่ำ ขณะเดียวกันเพื่อนร่วมห้องของเขา วาดภาพจากการดูแบบที่ค้นหาจากอินเตอร์เน็ตมาส่งกลับได้รับคำชื่นชม และได้เกรดที่ดีกว่าเขา เขาคิดว่าประเทศไทยตัดสินเกรดวิชาศิลปะ จากการวาดภาพสวยหรือไม่สวย ระบบประเมินแบบนี้ไม่ได้ทำให้เรามีความคิดสร้างสรรเลย ซึ่งส่งผลต่อแนวคิดคนหลายๆคนที่ว่า ศิลปะมันต้องสวย นอกจากการประเมินจากความสวยแล้ว ภูมิเล่าต่อว่า ปัญหาคือเมื่ออะไรแปลกตาไปจากครู กลับกลายเป็นสิ่งไม่ดี ไม่เห็นถึงความงอกงามทางความคิดที่เกิดขึ้น แต่กลายเป็นการตัดคะแนน กระติ๊บ นักเรียนแลกเปลี่ยนเสริมต่อว่า ตอนที่เขาไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศเดนมาร์ค การประเมินการเรียนรู้ หรือตรวจการบ้านที่ประเทศเดนมาร์คนั้น ครูจะไม่ตรวจโดยตรง แต่จะใช้วิธีการให้แต่ละคนออกมาเล่าสิ่งที่แต่ละคนได้ทำมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆคนอื่น ทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ ผมเก็บสิ่งที่ภูมิและกระติ๊บเล่ามาคิดต่อว่า สังคมไทยเราต้องการเยาวชนที่มีคุณภาพ แล้วอะไรคือสิ่งที่วัดว่าเยาวชนที่ผ่านระบบการศึกษาที่มีการประเมินที่ไม่ได้ประเมินจากการเรียนรู้ที่แท้จริง เมื่อเขาออกสู่สังคมแล้ว เขาจะพร้อมที่จะใช้ความรู้ที่เขามีพัฒนาตัวเอง และรับใช้สังคมได้อย่างมีคุณภาพหรือไม่ เราอาจจะต้องกลับไปมองที่ระบบการประเมิน ที่จะต้องวัดและสามารถบอกได้ถึงจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาของผู้เรียน เพื่อที่เขาสามารถประเมินศักยภาพตัวเองในการนำไปใช้ในสังคมได้ต่อไป
ภูมิ นักวาดการ์ตูน
กระติ๊บ นักเรียนแลกเปลี่ยน และเลขาธิการ
ความไม่เข้ากันของแนวคิดในรูปแบบการจัดการเรียนรู้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไหนที่จะเหมาะสมและสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด ยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญในปัจจุบัน เพราะนักการศึกษาหลายๆคนมีแนวคิด และรูปแบบที่คิดว่าจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์เป็นของตนเอง บ้างที่เห็นพ้องต้องกันในรูปแบบนั้นๆ บ้างก็เห็นต่าง ตามบริบทหรือประสบการณ์ที่แต่ละคนได้เรียนรู้มา หรือแม้กระทั่งผู้บริหารโรงเรียนก็พยายามคิดวิสัยทัศน์ที่จะทำให้โรงเรียนในความรับผิดชอบของตนเองเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด ที่จะดึงนักเรียนจำนวนมากเข้ามาเรียน เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนในอนาคต สังเกตมั้ยครับว่า ทั้งรูปแบบ วิธีการ วิสัยทัศน์ที่ผมเอ่ยมาข้างต้น ไม่มีช่องหรือตัวอักษรไหนเลยที่มีคำว่า ผู้เรียน เป็นคำตั้งต้นในการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองเลย การเรียนรู้ส่วนใหญ่ถูกติดตั้งและวางแบบฟอร์มมาตั้งแต่แรก รอเพียงผู้เรียนเข้ามาหยิบ และเรียนรู้ไปตามแนวทางนั้นๆ ครูกั๊ก ครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. เล่าว่า ที่ใครๆเขาบอกว่าให้สอนตามความต้องการของผู้เรียน แต่ก็ยังตัดสินการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ ข้อสอบ ONET นั่นเอง และยังมีความขัดแย้งของพรบ.การศึกษาที่บอกว่า “จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล*” กับความต้องการของรัฐบาลที่อยากเห็นนักเรียนไทยมีผลคะแนนการสอบ ONET ที่สูงขึ้น ครูกั๊กเล่าต่อว่า เรามีความต้องการที่จะทำให้เด็กเป็นที่ต้องการของรัฐ แต่เราไม่ได้ถามตัวเด็กเลยว่า พวกเขาต้องการหรือเปล่า ในขณะที่ผู้ใหญ่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แล้วทำไมเมื่อเด็กต้องการกลับแสดงออกมาไม่ได้ สาเหตุนี้ทำให้ครูกั๊กได้เลือกใช้รูปแบบการสอนที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกอย่างเต็มที่ ให้พวกเขาแสดงความต้องการว่าพวกเขาคิดว่าวิธีไหนที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รู้จักประเมินตัวเอง ครูกั๊กเชื่อว่า เด็กแต่ละคนรู้ว่าการเรียนรู้ของตัวเองอยู่ในระดับไหน สิ่งไหนที่ทำได้ดี สิ่งไหนที่ต้องพัฒนาเพิ่ม ประเมินเพื่อต่อยอดในอนาคต อะตอม ครูอนุบาล โรงเรียนสังกัดเทศบาล เสริมต่อจากครูกั๊กว่า ทั้งหมดมาจากระบบที่ครูต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาก็ต้องทำตามหน่วยเหนืออีกที จะเห็นว่า สุดท้ายแล้วเด็กไม่ได้เรียนในสิ่งที่จำเป็น และตรงตามความต้องการของตัวเอง
ครูอะตอม ครูอนุบาล โรงเรียนสังกัดเทศบาล
ครูกั๊ก ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนสังกัด สพฐ.
ปัญหาด้านการศึกษาเป็นปัญหาที่ท้าทายไม่เฉพาะแต่เพียงนักการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ท้าทายคนไทยทั้งประเทศ ว่าเราจะช่วยกันหาทางออกให้กับปัญหานี้ได้อย่างไร เราอาจไม่มองหาวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา เราอาจไม่มองไปที่ระดับนโยบายที่กว้างเกินกว่าที่เด็กจะเอื้อมถึง หรือแม้กระทั่งสามัญชนอย่างเราก็เอื้อมไม่ถึงเช่นกัน สิ่งที่พวกเราสามารถช่วยได้ตอนนี้คือ อย่าปล่อยให้ชุดการศึกษา จบสิ้นแค่ในห้องเรียน ให้ทุกๆที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ไม่ทำให้ระบบการศึกษาเป็นระบบแห่งการลุ้นโชค ที่หากใครโชคดีก็จะได้อยู่ในระบบการศึกษาต่อไป ส่วนคนที่โชคร้ายต้องพาตัวเองออกมาจากระบบการศึกษา ล้มเลิกแนวคิดเหล่านี้ และหันมาลงมือช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาการศึกษาที่ส่งเสริมให้เกิดเยาวชนที่ดี มีคุณภาพ มีจิตสำนึก และรับใช้สังคม
สุดท้าย ขอบคุณโอกาสที่เข้ามา ให้ผมได้มานั่งฟังเสวนาในครั้งนี้ ผมได้แนวคิด แนวทาง รวมไปถึงคำถามอีกมากมายที่ผมจะต้องค้นหาคำตอบ ซึ่งบางส่วนในบทความมาจากความคิดเห็นส่วนตัว ประสบการณ์ที่พบเจอ แต่ทั้งหลายเหล่านี้เพื่อนำไปต่อยอดในงานพัฒนาเด็กและเยาวชนของผมให้ดีขึ้นต่อไป คำถามทิ้งท้ายที่ผมอยากจะฝากให้คนที่เข้ามาอ่านได้ลองคิดเล่นๆก็คือ "สังคมแบบไหน ที่การศึกษาไทยต้องการ"
เรียนรู้อย่างมีคุณค่า และเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ศุภเกียรติ ยมบุญ
4 กรกฎาคม 2559