ประวัติความเป็นมา
เครือข่ายเยาวชนสืบสาน
ภูมิปัญญาเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเยาวชนกลุ่มต่างๆ
ที่ทำงานทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2548
ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)
เพื่อคลี่คลายวิกฤติปัญหาเยาวชนทิ้งบ้านเกิด และละทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่น
อันเป็นผลมาจากการพัฒนาของรัฐ และอิทธิพลของสื่อ ซึ่งทางเครือข่ายฯ
ได้ส่งเสริมให้เยาวชนทำงานด้านการสืบทอดภูมิปัญญาในพื้นที่ของ ตนเอง
และสนับสนุนเยาวชนที่มีกิจกรรมในพื้นที่อยู่แล้ว
เรียนรู้ภูมิปัญญาในท้องถิ่นของตนเอง
มีการจัดกระบวนการเรียนรู้นอกระบบให้เยาวชน และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
โดยแบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน คือ
๏ งานหนุนเสริมศักยภาพเยาวชน
โดยพี่เลี้ยง แกนนำเยาวชนจะจัดกระบวนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในชุมชน
โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ชุมชน ร่วมสนับสนุน การทำงาน
ดูแลให้คำปรึกษาการทำงานระดับกลุ่มเยาวชน
และหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพตามความเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
๏
งานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขยายผล ถ่ายทอดองค์ความรู้
เปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนแต่ละกลุ่มได้จัดกิจกรรมร่วมกันในระดับจังหวัด ภาค
และประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่ม
และโดยภาพรวมของการทำงานร่วมกันของกลุ่มเยาวชนต่างๆ
มีบริบทและกระบวนการทำงานซึ่งแต่ละภาค แต่ละกลุ่มมีความแตกต่างหลากหลาย
ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของกลุ่ม ทำให้กระบวนการขยายผลแบ่งออกเป็น 3
กลุ่มย่อยๆ คือ
- ขยายผลโดยแกนนำเยาวชนที่มีศักยภาพ
และมีความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
ผ่านการเรียนรู้ค้นคว้าด้วยตนเอง และการหาความรู้เพิ่มเติมจากพ่อครู
แม่ครูในท้องถิ่น และอาสาสมัครเองสามารถทำหน้าที่ถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ได้เลย
- ขยายงานเชิงประเด็นต่อยอดการทำงานเดิมของกลุ่ม
อาสาสมัครกลุ่มนี้ทำกิจกรรมต่อเนื่องอยู่แล้ว
และได้เพิ่มมิติการทำงานทางวัฒนธรรมในพื้นที่
เมื่อได้เข้าร่วมกับงานโครงการสืบสานภูมิปัญญา
- ขยายจำนวนกลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญากลุ่มใหม่ จากการสนับสนุนของโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา
๏
งานผลักดันเชิงนโยบาย เป็นการนำเสนอนโยบายการเรียนรู้ภูมิปัญญา
ต่อผู้เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย เพื่อให้มีผลเชิงนโยบายการศึกษาทั้งในระบบ
และนอกระบบ
วิสัยทัศน์
เรียนรู้รากเหง้า เท่าทันสังคม กำหนดวิถีชีวิตตนเอง
พันธกิจ
เสริมสร้างเยาวชนต้นแบบในวิถี พอเพียง ให้คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ เข้าถึงภูมิปัญญา ปรับประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และเหมาะสมกับสถานการณ์สังคมปัจจุบัน ตลอดจนสืบทอดภูมิปัญญาสู่เยาวชนรุ่นต่อไป พร้อมกับสนับสนุนให้มีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ชุมชน และผลักดันนโยบายการศึกษาทางเลือก
วัตถุประสงค์การดำเนินงาน
- เพื่อสร้างแบบอย่างกลุ่มเยาวชนต้นแบบในวิถีพอเพียง ที่มีการพัฒนาตนเองไปสู่ชีวิตที่พอเพียง
- เพื่อ สร้างกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนในเรื่องภูมิปัญญาจากผู้รู้ พ่อครูแม่ครูในท้องถิ่น สู่กระบวนการการพัฒนาชุมชนของกลุ่มเยาวชน ในวิถีพอเพียงร่วมกันอย่างบูรณาการ
- เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนกลุ่มต่างๆ ในการนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน
- เพื่อประสานพลังทางสังคม ร่วมผลักดันการปฏิรูปนโยบายการศึกษาทางเลือก และการประยุกต์ภูมิปัญญากับแนวทางวิถีพอเพียง
ผู้บริหารองค์กร
- นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ หัวหน้าโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา
รูปแบบการบริหารจัดการ
มี หัวหน้าโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา และคณะกรรมการเครือข่าย ซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละภาค ร่วมเป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีระบบการบริหารงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- งานด้านบริหารจัดการ ประกอบด้วย ทีมที่ปรึกษา ผู้ประสานงาน ฝ่ายระดมทุนและทรัพยากร งานประชาสัมพันธ์ งานพัฒนาข้อมูลและองค์ความรู้
- งาน ด้านการประสานงานภาค ได้แก่ ผู้ประสานงาน ฝ่ายการเงินและบัญชี ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างเครือข่ายส่วนกลาง กับเยาวชนและพี่เลี้ยง
ทั้งนี้ ทุก 6 เดือน จะมีการจัดประชุมกลุ่มเยาวชน เพื่อระดมความคิดเห็น และปัญหาจากพื้นที่ทั้งหมด มาสังเคราะห์ เสนอเป็นนโยบายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันกลุ่มพี่เลี้ยง และคณะกรรมการ ก็จะจัดประชุมทุก 3 เดือน เพื่อกำหนดแผนงานให้สอดคล้องกับนโยบาย ตลอดจนทบทวนการทำงานในช่วงที่ผ่านมา
เงื่อนไขความสำเร็จขององค์กร
- เป็นการ ศึกษาเรียนรู้เรื่องที่อยู่ในความสนใจของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องใกล้ๆ ตัว ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยใช้สภาพปัญหา หรือวิกฤติให้เป็นโอกาส
- การ รวมตัวกันเป็นเครือข่ายฯ ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ และศักยภาพในการทำงานมากขึ้น จึงหนุนเสริมให้เด็กมีบทบาท เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคมมากกว่าเดิม
- เยาวชนมีความตั้งใจในการ เรียนรู้จากพ่อครู แม่ครู และมีการเผยแพร่ หรือถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ชุมชน และเยาวชนด้วยกัน หลากหลายรูปแบบ ทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น
- มีสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเยาวชน
- พี่เลี้ยงให้อิสระแก่เยาวชนในการเรียนรู้ และคอยร่วมเรียนรู้ ให้คำปรึกษา ทำให้เกิดความผูกพันและใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
องค์ความรู้จากการดำเนินงาน
- ได้คู่มือการสืบค้นากเหง้า “ก่อเกิด”
- เด็ก และเยาวชนกลับไปให้ความสนใจกับความรู้ภูมิปัญญาในชุมชนของตนเอง เกิดความภาคภูมิใจในชุมชนและวิถีของตนเอง เป็นตัวเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เหมาะสมอย่างยิ่งระหว่างสังคมแบบ เก่ากับสังคมสมัยใหม่ มีการสืบทอดความรู้แบบดังเดิมด้วยวิธีการใหม่ๆ ให้กับเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีกระบวนการสอนใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคนเฒ่าคนแก่ เป็นการสร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้แก่เยาวชนในท้องถิ่น จึงช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ระหว่างคนเฒ่าคนแก่ กับเด็กรุ่นใหม่ และเติมเต็มช่องว่างของชุมชน
- โครงการ วิจัยรูปแบบการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลำโดมใหญ่ ของชุมชนตำบลไร่ใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการรวมตัวกันของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ตั้ง “กลุ่มเยาวชนลำน้ำโดม” เพื่อทำงานทั้งด้านฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติลำโดมใหญ่ และศึกษา สืบค้น สานต่องานด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือขององค์กร และชาวบ้านในชุมชน ในลักษณะของ “เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน”
- โครงการเรียนรู้ชุมชน เป็นการศึกษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น จากพ่อครู แม่ครู ตลอดจนถึงสภาพปัญหาของพื้นที่ในทุกด้าน และจัดทำคู่มือก่อเกิด ซึ่งเป็นชุดการเก็บข้อมูลของชุมชนอย่างง่ายๆ ประกอบด้วยแผนที่ทางวัฒนธรรม แผนที่ชุมชน ความรู้จากพ่อครูแม่ครู เศรษฐกิจชุมชน ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นในรอบปี ฯลฯ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกพื้นที่
- กิจกรรมจัดการเรียนรู้ จากพี่สู่น้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักรากเหง้าของตัวเอง เข้าใจในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ และเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ไม่หลงไปตามกระแสบริโภคนิยม ซึ่งปัจจุบันเยาวชนที่ทำกิจกรรม สามารถเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาไปสู่เด็กรุ่นใหม่ได้ ผ่านวิธีการเผยแพร่ที่หลากหลาย เช่น การแสดงดนตรี สาธิตภูมิปัญญา วัฒนธรรม จัดค่ายเรียนรู้ เป็นต้น
- กิจกรรมเยาวชนรักษ์เขาชะเมา เน้นการดูแลเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การเรียนรู้ธรรมชาติที่เขาชะเมา เรียนรู้จักป่าใกล้บ้าน ช่วยกันดุแลคลองโพล้ในนามนักสืบสายน้ำ ทำนาปลอดสารพิษ สร้างบ้านดินเป็นโรงเรียนโรงเล่นของเด็กในชุมชน เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชน ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น
ต้องการยกกระบวนการ เรียนรู้ภูมิปัญญา ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับภาค หรือศูนย์การศึกษาท้องถิ่น โดยพัฒนาการเรียนรู้จากมิติต่างๆ อาทิ เทคนิค ข้อมูล พลวัตการเปลี่ยนแปลง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับท้องถิ่น
เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา
ที่อยู่: 124 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ซอย 17 แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600
โทรศัพท์: 0-2437-9445
โทรสาร: 0-2437-9445
Email: calamelman2000@yahoo.com
Website: http://www.seubsan.net
|