ประวัติความเป็นมา
การเปลี่ยนแปลงด้านความเชื่อ
และศาสนาของชนเผ่าอ่าข่า ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมสูญหายไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันปัญหาหลักที่คนอ่าข่าประสบตลอดมา คือไม่รู้ภาษาไทย ทั้งภาษาอ่าน
และภาษาเขียน จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข่าวสาร และสิทธิต่างๆ ได้ ในปี
2524 ศูนย์เพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย
จึงเกิดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก และเยาวชนอ่าข่า
ได้มีที่พักอาศัยขณะที่ลงมาเรียนหนังสือในตัวเมืองเชียงราย
นอกจากนี้ยังได้ทำงานเชิงรุกด้านวัฒนธรรมชนเผ่า โดยเปิดเวทีชุมชน
ให้ผู้รู้และผู้สูงอายุมาพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาพิธีกรรมประเพณี วัฒนธรรม
ความเชื่อ ซึ่งไม่สอดคล้องกาลสมัยและกฎหมายลายลักษณ์อักษร
ตามสภาพการณ์ปัจจุบัน เพื่อแสวงหาทางออกในการสืบสานวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
รวมทั้งเริ่มจัดทำโครงการพัฒนาชุมชน โดยจัดตั้งทุนสนับสนุน
ด้านสืบสานวัฒนธรรมชุมชน และส่งเสริมเกษตรกรรม ฯลฯ และเมื่อปี 2532
จนได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอ่าข่า เชียงราย
และมีการเพิ่มกิจกรรมพัฒนาชนเผ่าอ่าข่า ตามความสามารถ ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ
ดังนี้
งานด้านการศึกษา เปิดบ้านพักรองรับเด็กและเยาวชนอ่าข่า
ที่เข้ามาเรียนหนังสือในเชียงราย 2 แห่ง คือ เขต อ.เมือง และ อ.แม่จัน
และเปิดศูนย์การศึกษาชุมชน ในพื้นที่ชุมชนอ่าข่า 14 ศูนย์
โดยร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และใช้หลักสูตร ศศช.
(หลักสูตรการศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขาปี 2524) ซึ่งสอนเด็ก เยาวชน
ผู้ใหญ่ในชุมชนชาวเขา โดยมีผู้ได้รับความรู้ประมาณ 1,500 คน
งานด้าน
ฟื้นฟูวัฒนธรรม และคุณภาพชีวิต
มีการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้หมู่บ้านสมาชิก
ฟื้นฟูศึกษาวัฒนธรรมโดยให้มีเจ้าหน้าที่ในชุมชน
จัดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อาวุโสและผู้รู้ท้องถิ่น
มีการจัดตั้งผู้อาวุโสเพื่อเยี่ยมเยียนหมู่บ้านอ่าข่าที่สืบสานวัฒนธรรม
และการช่วยแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมในชุมชนหรือระหว่าง
ต่างชุมชน
งานด้านพัฒนา ได้สนับสนุนการพัฒนาปัจจัยขั้นพื้นฐานอาทิ การต่อระบบน้ำประปา
ภูเขา
การพัฒนาสิ่งแวดล้อม งานสตรี งานผู้สูงอายุ งานสิทธิมนุษยชน
โดยตั้งเป็นเครือข่ายชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็ง และปี 2542
องค์กรเริ่มมีกระบวนการวิจัยงานด้านท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนมีกิจกรรมพัฒนา
ด้านต่างๆ ในท้องถิ่นและมีรายได้เสริม โดยใช้กระบวนการจัดการโดยชุมชน
งาน
เผยแพร่ข้อมูลอ่าข่าสู่สาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาข้อมูลของชนเผ่าอ่าข่า
ได้ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ แต่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นช่วงปี 2543
จึงเริ่มมีการบันทึกข้อมูลวิถีชีชีวิตอ่าข่าเป็นภาษาไทยโดยคนอ่าข่าเองเพื่อ
ใช้
เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเผยแพร่สู่สาธารณ ทั้งด้านสุขภาพ วัฒนธรรม
สิ่งแวดล้อม อาชีพ ศิลปะการเล่นพื้นบ้าน และปัญหายาเสพติด เอดส์ ฯลฯ
โดยประสานและนำเสนอผ่านภาคภาษาชาวเขากับสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย
จ.เชียงใหม่ กับสถานีวิทยุ 914 ของสำนักงานกองบัญชาการทหารสูงสุด อ.แม่จัน
จ.เชียงราย เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ
งานจัดทำหลักสูตรชนเผ่า
ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา สมาคมฯ
ได้เปิดศูนย์โรงเรียนวิถีชีวิตวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอ่าข่า
โดยจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับองค์ความรู้อ่าข่าที่เขียนขึ้น 11 หลักสูตร เช่น
หลักสูตรสมุนไพร หลักสูตรแพทย์พื้นบ้าน หลักสูตรอาชีพเกษตรที่สูง ฯลฯ
เพื่อใช้ในการฟื้นฟูภูมิปัญญาและใช้ในการสืบสานถ่ายทอด
งานเครือข่ายชนเผ่าอ่าข่าลุ่มน้ำโขง ได้เริ่มกิจกรรมสร้างเครือข่าย
และ
ได้ร่วมกำหนด ผลิตสื่อตัวอักษรอ่าข่า เพื่อการแลกเปลี่ยน ติดต่อสื่อสาร
รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และความรู้ทางการแพทย์พื้นบ้าน
ตลอดจนการพัฒนาด้านการศึกษา ระหว่างชนเผ่าอ่าข่าในเขตลุ่มน้ำโขง
เช่น ลาว พม่า จีน เวียดนาม มากขึ้น
วิสัยทัศน์
ส่งเสริมให้ชาวอ่าข่ามีความเป็นผู้นำ สามารถวางแผนวิเคราะห์ ตัดสินใจ และกำหนดทางเลือกพัฒนาชนเผ่าได้
พันธกิจ
พัฒนาศักยภาพคนอ่าข่า ด้วยการสร้างผู้นำเด็ก-เยาวชน เพื่อการทำงานด้านสืบสานชาติพันธุ์ พร้อมทั้งพัฒนาบทบาทสตรี และเชิดชูผู้สูงอายุให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ขณะเดียวกันยังสืบสาน อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม โดยเน้นพัฒนาด้านอาชีพและสิ่งแวดล้อม ให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และพึ่งพาตนเองได้ เพื่อยกระดับให้ชนเผ่าอ่าข่ามีสิทธิมีเสียง ได้รับการยอมรับจากสังคม มีศักดิ์ศรีตามกฎหมาย และระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังรณรงค์ผ่านสื่อประชา สัมพันธ์ต่างๆ ให้สาธารณ ชนเข้าใจชนเผ่าอ่าข่า และสร้างเครือข่ายชนเผ่าอ่าข่าลุ่มน้ำโขง ได้แก่ พม่า จีน ลาว ไทย เวียดนาม
วัตถุประสงค์การดำเนินงาน
- เพื่อส่งเสริมเด็ก เยาวชน ให้ได้รับการศึกษาไทยทุกระดับชั้น
- เพื่อให้ชนเผ่าอ่าข่าสามารถสืบสานชาติพันธุ์ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เข้าใจ เผ่าพันธุ์ตัวเอง
- เพื่อให้มีประเพณีที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ระหว่างคน กับธรรมชาติ
- เพื่อ สร้างผู้นำอ่าข่าในด้านต่างๆ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เพื่อ พัฒนางานอ่าข่าทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับลุ่มแม่น้ำโขง
- เพื่อสร้างเครือข่ายอ่าข่าให้เข้มแข็ง
- เพื่อพิทักษ์ ปกป้องสิทธิมนุษยชนตามกรอบรัฐธรรมนูญ และปฏิญาณ สากล
- เพื่อสร้างเด็ก เยาวชนอ่าข่า ให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ และกลับไปพัฒนาสังคม ช่วยเหลือชุมชนของตนเองมากขึ้น
ผู้บริหารองค์กร
- นายวุฒิไกร มอพ่า นายกสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอ่าข่า เชียงราย
- นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ผู้อำนวยการสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอ่าข่า เชียงราย
รูปแบบการบริหารจัดการ
มี คณะกรรมการที่ได้จากการเลือกตั้ง โดยมีนายกสมาคมฯ เป็นประธาน มีผู้อำนวยการ ฯ เป็นหัวหน้าฝ่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และประสานดำเนินงานพัฒนา โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ
- งานบริหาร ประกอบด้วย นายกสมาคม อุปนายก เลขานุการ เหรัญญิก ปฏิคม นายทะเบียน กรรมการ
- งาน พัฒนา มีผู้อำนวยการสมาคม หรือคณะอนุกรรมการ เป็นผู้ดูแลงานเฉพาะด้าน เพื่อให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายงานพัฒนาต่างๆ (อนึ่งฝ่ายงานต่างๆ จัดขึ้นตามสถานการณ์และสภาพปัญหาของชนเผ่าในเวลานั้นๆ และจัดตามงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธา) เช่น ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายงานด้านผู้สูงอายุ ฝ่ายงานสิ่งแวดล้อม ฝ่ายงานวิจัย ฯลฯ
ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีการประชุมร่วมกัน ระหว่างผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ชุมชนหมู่บ้านอ่าข่าในพื้นที่ภาคเหนือและสมาชิกสมาคม เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการ และทบทวนยุทธ์ศาสตร์การพัฒนา ซึ่งได้จัดเป็นแผนปฏิบัติงาน 3 ระยะ คือ แผน 1 ปี 3 ปี และ5 ปี ขณะที่ยุทธศาสตร์ ก็แบ่งเป้าหมายกว้างๆ ทั้งระยะ 3 ปี ระยะ 1 ปี โดยวิธีกำหนดแผนปฏิบัติการ จะได้จาก สมาชิกสมาคมฯ กับเจ้าหน้าที่รวบรวมปัญหาทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุม และผ่านการพิจารณาจากสมาชิกและกรรมการแล้ว เพื่อใช้ปฏิบัติในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งแผนปฏิบัติ จะกำหนดมาจากสถานการณ์ปัญหาชนเผ่า ส่วนคณะกรรมการบริหารมีภารกิจกำหนดนโยบาย วิเคราะห์ ปรับปรุง เพื่อให้ชุมชน และสมาชิก รับรองใช้เป็นแผนงานพัฒนาอ่าข่าต่อไป
- โครงการ เพื่อชีวิตเด็กและเยาวชนอ่าข่า ประเทศไทย มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนอ่าข่าได้รับการศึกษามากขึ้น ควบคู่ไปกับพัฒนาการด้านงานมวลชน ผ่านรูปแบบของการแสดงศิลปวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงละคร หรือฝึกความเป็นผู้นำ เมื่อโตขึ้นจะได้สนใจงานพัฒนา งานมวลชน และดูแลท้องถิ่นของตนเองได้
- โครงการ บ้านดิน เป็นงานการฝึกทักษะอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนอ่าข่า และสร้างความสามัคคี การฝึกฝนร่างกายให้มีความแข็งแรง รวมทั้งมีเป้าหมายต้องการให้หมู่บ้านชนเผ่า ซึ่งอยู่บนพื้นที่สูง ลดการใช้ทรัพยากรเพื่อปลูกสร้างบ้าน โดยหันมาใช้ดินในการเป็นวัสดุปลูกสร้าง อันเป็นการลดการใช้ต้นไม้ ทำลายป่า และส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดจนในอนาคตอาจเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้เพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนา ของคนชนเผ่าได้
- โครงการโรงพยาบาลอ่าข่า เป็นแนวคิดที่เกิดจาก การจัดตั้งศูนย์ศึกษาสุขภาพทางเลือกอ่าข่า-ฮาหนี่ Akha-Hani Alternative Medicine Learning Centre โดยให้เด็กเยาวชนที่กำลังศึกษาด้านการแพทย์นี้โดยตรง มาเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาแก้ไขปัญหาสุขภาพพื้นที่สูง และมาเป็นผู้สอนในศูนย์ฯ (โรงพยาบาลอ่าข่า)หลังจากเรียนจบแล้ว รวมทั้งสร้างกระบวนการผู้สูงอายุ ที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการแพทย์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมาใช้เป็น ประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งปัจจุบันการแพทย์พื้นบ้านของอ่าข่า เริ่มมีพัฒนาการใช้มากขึ้น เช่นการรักษาแบบกายภาคบำบัด การใช้สมุนไพร การรักษาด้วยพิธีกรรม ฯลฯ
- โครงการโรงเรียนป่าไม้อ่าข่า ป่าเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญของสิ่งมีชีวิต นอกจากเป็นห้องเรียนอันกว้างใหญ่ เป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตและแบคทีเรีย แมลง แล้ว ป่ายังเป็นแหล่งน้ำ อาหาร อากาศ จากตัวอย่าง ในการทำงานพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม และจัดกระบวนการศึกษาธรรมชาติให้กับกลุ่มเป้าหมาย ปรากฏว่าส่งผลให้ชุมชนหลายแห่งมีความตระหนักในการเพิ่มพื้นที่ป่ามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสมาคมฯ มีพื้นที่ศึกษา เรียนรู้ป่าไม้ ที่เกิดจากอนุรักษ์ และปลูกป่า ฯลฯ และยังพยายามที่จะขยายพื้นที่แหล่งเรียนรู้ให้กระจายมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ชนเผ่าอ่าข่าตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ยิ่งขึ้น
เงื่อนไขความสำเร็จขององค์กร
- ทุกหน่วยงานที่ทำงานกับพื้นที่สูง ให้ความร่วมมือกัน โดยเน้นเป้าหมายให้เด็กได้รับการศึกษา ส่งผลให้การศึกษาของชนเผ่าขยายตัวเร็วขึ้น
- มีการดึงผู้อาวุโส ซึ่งเปรียบเสมือนปราชญ์ท้องถิ่น เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้านด้วย
- ตัวอย่างความสำเร็จของเด็กและเยาวชนที่ผ่านกระบวนการของสมาคมฯ ทำให้เด็กรุ่นใหม่สนใจเรียนรู้ และร่วมกิจกรรมมากขึ้น
- หลักสูตรท้องถิ่น ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ของการศึกษาได้จริง
องค์ความรู้จากการดำเนินงาน
- ชุด หลักสูตรท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและชุมชนของเผ่าอ่าข่า เช่น วัฒนธรรมประเพณี คำสวด ภาษิตคำสอน อาหารเพื่อสุขภาพ สมุนไพร ฯลฯ
- สังคม แบบบริโภคนิยม ทำให้ชนอ่าข่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากที่เคยพึ่งพิงตนเอง ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ก็หันมาพึ่งวัตถุมากขึ้น นิยามของคำว่า “ยากจน” จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ ไม่มีที่อยู่ที่กิน แต่รวมถึงไม่มีรถ ไม่มีบ้านหลังใหม่ๆ ด้วย
- งานพัฒนาชนเผ่าอ่าข่า จะประสบผลสำเร็จได้ ต้องใช้กระบวนการความรู้ที่หลากหลาย มากกว่า“ปัจเจกความรู้” หรือรู้เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
รางวัลความสำเร็จ
- พ.ศ. 2534 ได้รับหนังสือประกาศเกียรติคุณ “ส่งเสริมกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงราย” จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดเชียงราย
- พ.ศ. 2534-2535 ได้รับการประกาศเกียรติคุณในการสร้างคนเพื่องานพัฒนา จาก Trent University Canada
- พ.ศ. 2539 ได้รับเกียรติบัตร “สนับสนุนการศึกษานอกโรงเรียน” จากผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงราย
- พ.ศ.2539 ใบประกาศจากองค์การช่วยเหลือผู้สูงอายุระหว่างประเทศ Help age
- international อังกฤษ ในฐานะมีบุคลากรและเป็นองค์กรช่วยเหลือผู้สูงอายุชาวเขา-พ.ศ. 2540-2541 สโมสรโรตารี่แม่จัน มอบเกียรติบัตรผู้ดำเนินงานพัฒนาสังคม
- พ.ศ. 2540 ได้รับหนังสือประกาศเป็นองค์กรทำงานช่วยเหลือพัฒนาในพื้นที่ความมั่นคง แม่จัน-แม่ฟ้าหลวง จากกองอำนวยการโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่แม่จัน-แม่ฟ้าหลวง
- พ.ศ. 2543 ได้ใบประกาศเป็นองค์กรพัฒนาชุมชนขั้นพื้นฐานในประเทศไทยจากสถานทูตออสเตรเลีย
- พ.ศ.2549 นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ได้รับรางวัลนักพัฒนาดีเด่น จากโรงเรียน ตชด.บ้านแสนใจ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
- พ.ศ.2550 นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น จากวัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่
สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอาข่า เชียงราย
ที่อยู่: เลขที่ 468 หมู่ 4 ต.ริมกก อ.เมือง เชียงราย 57100
โทรศัพท์: 0-5371-4250
โทรสาร: 0-5375-1079
Email: akhaasia@hotmail.com
Website: http://www.akhaasia.org
|