กระบวนการ workshop ครั้งที่ 1
ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่
ระยะที่ 1 (1 พ.ค. – 2 ก.ค. 57)
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
กระบวนการ Workshop ครั้งที่ 1 นี้ เป็นก้าวแรกของการขับเคลื่อนโครงการ “เสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่” โดยโครงการดังกล่าวมีความตั้งใจที่จะเปิดโอกาสและพื้นที่ให้เยาวชนนักศึกษาได้เรียนรู้ทำความเข้าใจสภาพปัญหาของคนในสังคม รวมถึงข้อเสนอ เพื่อแก้ปัญหาของภาคส่วนต่างๆ และสร้างสรรค์สื่อตามความสนใจ เพื่อมีส่วนร่วมในการใช้ความรู้เพื่อสร้างสังคมไทยที่น่าอยู่ร่วมกัน อย่างไรก็ตามการสร้างโอกาสและพื้นที่ให้แก่เยาวชนนักศึกษาเช่นนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากขาดการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนในด้านการผลิตสื่อและด้านการสื่อสารต่างๆ ดังนั้นวัตถุประสงค์อีกอย่างที่สำคัญของโครงการฯ คือ การเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกลไกสร้างเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนนักศึกษามีโอกาสได้เรียนรู้สังคมจากประสบการณ์ตรง จากนั้นสามารถใช้ความรู้ที่ผสมผสานระหว่างการเรียนในสถานศึกษาและจากประสบการณ์ทางสังคมผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ร่วมกัน ซึ่งอาจจะผลิตได้ทั้ง Info graphic, Animation หนังสั้นหรือสื่ออื่นๆ เพื่อสื่อสารสังคมผ่านภาคีเครือข่ายต่างๆ โดยโครงการฯ จะมีการเชื่อมประสานระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคีวิชาการเฉพาะประเด็น และภาคส่วนต่างๆ ที่ขับเคลื่อนสังคม เพื่อเกิดเครือข่ายคนทำงานที่สามารถผลิตสื่อที่เข้าใจง่าย และร่วมสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่ร่วมกัน
ในปีที่ 1 ของโครงการ “เสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่” จะแบ่งการขับเคลื่อนงานออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 มีระยะเวลาประมาณ 2 เดือน (พ.ค. – ก.ค. 57) ซึ่งจะเป็นการสร้างภาคีมหาวิทยาลัยต้นแบบที่ร่วมสร้างเสริมพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่โดยตลอดระยะเวลา 2 เดือนดังกล่าว จะมีกระบวนการ workshop จำนวน 3 ครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจสภาพปัญหาและบริบทของสังคมไทย และเรียนรู้เทคนิคการผลิตสื่อสร้างสรรค์ จากนั้นเป็นการร่วมลงมือทดลองผลิตสื่อจากทีมต่างๆของมหาวิทยาลัย และมีการติดตามการผลิตสื่อของทีมเยาวชนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีการประสานภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและผู้มีความรู้ด้านการทำสื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และสามารถให้คำแนะนำทั้งทางเทคนิคการผลิต และความเข้าใจเนื้อหาทางสังคมแก่นักศึกษาผู้ผลิตสื่อได้ และในช่วงสุดท้ายจะเป็นการนำเสนอผลงานของทีมต่างๆ และร่วมกันตัดสินผลงาน รวมทั้งมีการจัดแสดงผลงานของนักศึกษา ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 และมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ
หลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 จะมีการร่วมกันสังเคราะห์บทเรียนจากโครงการในระยะที่ 1 เพื่อร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนกระบวนการในระยะที่ 2 (1 กรกฎาคม 2557 ถึง 30 เมษายน 2558) โดยมีเป้าหมายที่จะขยายจำนวนเยาวชนนักศึกษา รวมทั้งภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการดังกล่าว เล็งเห็นว่าสถาบันการศึกษาเป็นสถาบันหลักที่สำคัญในการเป็นฟันเฟืองผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากสถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมและผลิตบุคลากรที่มีจิตอาสาและมีความเข้าใจภาพรวมปัญหาของสังคมไทย รวมทั้งข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาจากภาคส่วนต่างๆ ผ่านกระบวนการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ร่วมกับสังคมโดยตรง น่าจะเป็นกระบวนการสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาการสื่อสารสังคมจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจปัญหา พร้อมกับการปฏิรูปกลไกทางการศึกษาให้สนับสนุนระบบการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมซึ่งจะส่งผลยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการดีๆเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ โครงการฯจึงใคร่ขอเชิญชวนสถาบันการศึกษาเข้าร่วมโครงการฯดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้นำศักยภาพของตนเองมาทำจิตอาสาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมด้วยการผลิตสื่อสร้างสรรค์สังคมไทยที่น่าอยู่ร่วมกัน โดยจะมีการเผยแพร่สื่อที่ผลิตขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งส่งต่อให้ภาคีที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
วัตถุประสงค์
- เปิดพื้นที่ให้เยาวชนนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ความรู้เพื่อสร้างสังคมไทยที่น่าอยู่ร่วมกัน โดยมีโอกาสได้เรียนรู้ทำความเข้าใจสภาพปัญหาของคนในสังคม รวมถึงข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาของภาคส่วนต่างๆ และสร้างสรรค์สื่อตามความสนใจ
- เชื่อมโยงสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกลไกสร้างเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนนักศึกษามีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อสังคม ด้วยการผลิตสื่อ Info graphic, Animationหนังสั้นหรือสื่ออื่นๆเพื่อสื่อสารสังคมผ่านภาคีเครือข่ายต่างๆ
- เชื่อมประสานระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคีเฉพาะประเด็น และภาคส่วนต่างๆที่ขับเคลื่อนสังคม เพื่อเกิดเครือข่ายคนทำงานที่สามารถผลิตสื่อที่เข้าใจง่าย และร่วมสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่ร่วมกัน
- สังเคราะห์บทเรียนจากโครงการในระยะที่ 1เพื่อร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนกระบวนการในระยะที่ 2 ซึ่งจะขยายจำนวนนักศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานสื่อสารเพื่อสร้างสังคมน่าอยู่ร่วมกันต่อไป
กลุ่มเป้าหมาย
- นักศึกษาที่กำลังศึกษาด้านการสื่อสารประเภทต่างๆ ในระดับมหาวิทยาลัย และมีความสนใจเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมน่าอยู่ร่วมกัน จำนวน 40 คน
- อาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องการสื่อสาร หรือผลิตสื่อประเภทต่างๆ
- คณบดี อธิการบดีมหาวิทยาลัย ที่มีคณะที่เกี่ยวข้องกับการสอนเรื่องการสื่อสาร หรือผลิตสื่อประเภทต่างๆ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- เกิดการพัฒนาเยาวชน นักศึกษา ให้สามารถผลิตสื่อ Info graphic, Animationหนังสั้นและสื่อประเภทอื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่ และเป็นประโยชน์ต่อภาคีเครือข่ายทางสังคมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป
- เกิดกลไก/เครือข่ายสถาบันการศึกษาที่ร่วมสนับสนุนให้เยาวชนนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับสังคมโดยตรง และมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาการศึกษาที่เชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการด้านการสื่อสารตอบสนองปัญหาและความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง
- เกิดการเชื่อมโยงภาคีภาคส่วนต่างๆ อาทิ สถาบันการศึกษาด้านการสื่อสาร อาจารย์ เยาวชน นักศึกษา เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายวิชาการเฉพาะประเด็น เพื่อทำงานร่วมกันในการผลิตสื่อเพื่อสร้างสังคมไทยที่น่าอยู่ โดยเป็นกระบวนการที่เกิดการมีส่วนร่วม และตอบโจทย์สังคม