โครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เพื่อปฏิรูปการศึกษา
โครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เพื่อปฏิรูปการศึกษา
กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เวที 21st Century Skills กับการปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

      เราเชื่อว่า ครูดีๆ “ครูเพื่อศิษย์" มีอยู่มากมาย ถ้าครูดีๆ มารวมตัวกันได้ ครูหลายๆ พื้นที่มาร้อยเรียงกันจนเป็นเครือข่าย “ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Communities)" มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการสอนดีๆ การดูแลลูกศิษย์ดีๆ ....พลังของครูจะเพิ่มขึ้น ครูจะพัฒนาตัวเอง สามารถพัฒนาเด็ก ปฏิรูปการศึกษาได้โดยไม่ต้องรอนโยบายมาเปลี่ยนแปลง

      ความจริงของศตวรรษที่ 21 คือ สังคมเปลี่ยน เด็กก็เปลี่ยน ทักษะที่ต้องการในการดำรงชีวิตของคนก็เปลี่ยน ฉะนั้นการเรียนรู้ต้องเปลี่ยน, การสอนเด็กแบบเดิมไม่ได้ผล ดังนั้นครูต้องไม่เน้นสอน(ไม่ใช่ผู้สอน) แต่เน้นออกแบบกระบวนการเรียนรู้ จัดกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL(Project Based Learning หรือ Problem Based Learning หรือ Process Based Learning) สร้างแรงบันดาลใจ เน้นเป็นโค้ช จะทำให้เด็กไทยได้เรียนรู้มากกว่าองค์ความรู้ในวิชาที่สอน เป้าหมายสุดท้าย คือ เด็กมีทักษะในอนาคต 21st Century skills

       ดังนั้น “โครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์” ภายใต้ความร่วมมือของ มูลนิธิสดศรี- สฤษดิ์วงศ์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงขอเริ่มจากจุดเล็กๆ ค้นหาและเชิญชวนครูเพื่อศิษย์ มาร่วมสร้างเครือข่ายชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของตัวครูเอง พัฒนากระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL เพื่อสร้างเด็กไทยให้มีทักษะในอนาคต 21st Century Skills

วัตถุประสงค์

1.สร้างความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ ของชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (PLC: Professional Learning Community) แก่ ครู, ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้สนับสนุนในพื้นที่

2.ร่วมมองศักยภาพเด็กไทยในอนาคต เป้าหมายคือ สร้างทักษะอนาคตในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills)

3.เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Project-Based Learning (PBL) ของครูเพื่อศิษย์ เพื่อสร้างทักษะอนาคต 21st Century Skills

กลุ่มเป้าหมาย : ครูที่มีใจรักการพัฒนาเพื่อศิษย์ (ครูเพื่อศิษย์), ผู้บริหารสถานศึกษา, ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา, นักวิชาการศึกษา, ผู้สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่  

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

1.ครู, ผู้บริหาร, ผู้สนับสนุน ได้เปิดโลกทัศน์เห็นวิธีคิดใหม่ๆ เห็นเป้าหมายร่วมกันของการพัฒนาเด็กไทยให้มี อนาคต 21st Century Skills ด้วยกระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์

2.ครูได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนครูที่มาฝึกแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ได้ความมั่นใจและมีความเชื่อว่าถ้ามีการช่วยกันไปได้ไม่โดดเดี่ยว

3.ผู้บริหารถูกกระตุ้นให้เห็นว่าต้องสนับสนุนการสร้างแรงบันดาลใจให้ครู วางนโยบายที่เอื้อ หรือช่วยการจัดการเวลาของครู และสนับสนุนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (PLC)

4.จากการตีความและวิเคราะห์ทักษะอนาคตใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ จากเรื่องเล่าของครูผู้เข้าร่วม 32 คนที่เล่าเรื่อง พบว่า ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เป็นทักษะเด่นที่ครูผู้สอนคุ้นเคยและนิยมนำมาใช้จัดกระบวนการเรียนรู้มากที่สุด รองลงมาได้แก่ทักษะการยืดหยุ่นและปรับตัว ส่วนทักษะความคิดริเริ่มและการกำหนดชีวิตตนเอง, การเพิ่มผลิตภาพและความพร้อมรับการตรวจสอบ, ความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบ, ความคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ไขปัญหา เป็นทักษะเด่นที่ครูผู้สอนนำมาจัดกระบวนการเรียนรู้มากเป็นลำดับที่สาม ทักษะสุดท้ายคือ ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม แต่การตีความความหมายของทักษะและความเข้าใจใน “ทักษะอนาคตใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑”หรือ 21st Century Skills ที่คุณครูใช้ ยังเป็นความหมายตามความเข้าใจที่แต่ละคนเคยมีประสบการณ์มาก่อน จึงอาจยังไม่ใช่ความเข้าใจตามความหมายที่ถูกต้องนัก(บทสังเคราะห์การตีความทักษะอนาคตใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ อยู่ในภาคผนวก ก. และบันทึกเวทีฯในรายงานความก้าวหน้าโครงการงวดที่ 1) เนื่องจากคุณครูเพิ่งเข้ามาเรียนรู้เรื่องนี้ใหม่ในเวทีครั้งนี้ คือ ได้ฟังเรื่อง 21st Century Skills ครั้งแรกจากการพูดของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และยังไม่เกิดการใคร่ครวญ ตกผลึกนิยามเดิมกับนิยามใหม่จนกระทั่งสามารถที่จะระบุออกมาได้อย่างมั่นใจ

        อย่างไรก็ตาม เมื่อมองเรื่องเล่าทั้ง 32 เรื่องโดยใช้แก่นวิชาหลักมาเป็นเกณฑ์จะพบว่า แก่นเนื้อหาวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเล่ามากที่สุดได้แก่ การอ่าน และศิลปะการใช้ภาษา ลำดับถัดมาได้แก่ ศิลปะ (20 เรื่อง) คณิตศาสตร์ (13 เรื่อง) วิทยาศาสตร์ (11 เรื่อง) ระบบการปกครองและหน้าที่พลเมือง (11 เรื่อง) เศรษฐศาสตร์ (8 เรื่อง) ภาษาต่างประเทศ (6 เรื่อง) ประวัติศาสตร์ (7 เรื่อง ) ภูมิศาสตร์ (3 เรื่อง) ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าภาษาไทย หรือภาษาแม่ เป็นแก่นแกนของการเรียนรู้ โดยมีศิลปะเป็นตัวสร้างสุนทรียภาพให้กับการเรียนรู้ ส่วนวิชาที่คุณครูและนักเรียนมีความรู้จักน้อยที่สุดคือวิชาภูมิศาสตร์ ซึ่งภูมิศาสตร์เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับความเข้าใจในสังคมและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง และเป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดความเข้าใจในธรรมชาติ ความเข้าใจในตัวเอง ความเข้าใจในผู้อื่น ความเข้าใจในข้อจำกัด และความเข้าใจในที่มาของความแตกต่างความหลากหลายทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ดังนั้นการจะพัฒนาความเข้าใจในทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูยังมีความคุ้นชินน้อย (พบเรื่องเล่าที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับทักษะนี้เพียง 3 เรื่อง) ดังนั้นจึงอาจจำเป็นต้องทำให้ครูเห็นความสำคัญของภูมิศาสตร์ และควรพัฒนาความเข้าใจในเรื่องภูมิศาสตร์ของครู เพื่อประโยชน์ในการสร้างทั้งครูและนักเรียนให้มี “ทักษะอนาคตใหม่” ต่อไป

5.ผลการติดตามหลังจบเวที พบว่ามีหลายคนที่กลับไปพยายามเริ่มต้นสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในพื้นที่ตัวเอง เช่น สพป.สุพรรณบุรี เขต2, จ.มหาสารคราม, รร.กงไกลาศวิทยา จ.สุโขทัย และเครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ออนไลน์  

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ