พิธีมอบทุนและการพิจารณาความก้าวหน้าของการพัฒนาผลงานเยาวชนที่ได้รับทุนสนับสนุนต่อยอดผลงาน โครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" วันที่ 13 ธันวาคม 2556 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล เขตพญาไท กรุงเทพฯ
ด้วยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ดำเนินโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" โดยให้ทุนสนับสนุนต่อยอดพัฒนาผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้จริงให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงได้จัดพิธีมอบทุนสนับสนุนให้แก่เยาวชนทั้ง 7 ผลงานโครงการ ที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมกันนี้ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนจัดแสดงผลงานนิทรรศการ ในงานการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ประจำปี 2556 NECTEC Annual Conference & Exhibition 2013 ซึ่งประกอบด้วยการจัดแสดงผลงาน นิทรรศการ ผลิตภัณฑ์และสารสนเทศที่โดดเด่นด้านการวิจัย เพื่อให้เยาวชนผู้พัฒนาผลงานได้นำผลงานมาแสดงออกสู่สาธารณะ และรับฟังข้อเสนอแนะ ติชม จากผู้เข้าร่วมงานและผู้ชี่ยวชาญ นำไปพัฒนาผลงานให้บรรลุวัตถุประสงค์
พิธีมอบทุนและการพิจารณาความก้าวหน้าของการพัฒนาผลงานเยาวชนที่ได้รับทุนสนับสนุนต่อยอดผลงาน โครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" วันที่ 13 ธันวาคม 2556 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล เขตพญาไท กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้จัดพิธีมอบทุนสนับสนุนให้แก่เยาวชนทั้ง 7 ผลงานโครงการ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล เขตพญาไท กรุงเทพฯ ในการนี้ ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นผู้กล่าวแสดงความยินดีแก่เยาวชนที่ได้รับมอบทุน และนางรัตนา กิตติกร ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นผู้มอบทุนสนับสนุนการต่อยอดผลงานของเยาวชนในครั้งนี้
นับตั้งแต่ 7 ทีมเยาวชน ผู้พัฒนาผลงานด้านไอที ที่ผ่านคัดเลือกได้รับการสนับสนุนการต่อยอดผลงานจากโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ตั้งแต่มีนาคม 2556 จนถึงธันวาคม 2556 จนนำไปสู่การพัฒนาผลงานทั้ง 7 ผลงาน ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและผู้ใช้งานจริง ดังนี้
1. มหัศจรรย์อาณาจักรแมลง : ผจญภัย INSECTICA KINGDOMS
โดย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เกมจัดทัพวางแผนการรบในรูปแบบ 3D บน โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ช่วยฝึกการคิด วิเคราะห์ ฝึกไหวพริบ การวางแผนให้กับผู้เล่น
ผลงานก่อนเข้าร่วมโครงการ
•ไม่มีแผนธุรกิจ
•พัฒนาเป็นแบบจำลองของเกม ยังไม่ได้สร้างให้เป็นแอพพลิเคชั่นในระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต
ผลสำเร็จ
•ผลงานเสร็จสมบูรณ์ เป็นแอพลิเคชั่น จำหน่ายในระบบ iOSอยู่ระหว่างการนำเข้าระบบ Android
2. คาร์บอนคุงไลฟ์ Carbonkun : Life
โดย นักศึกษาคณะวิศกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา
แอพพลิเคชั่นออนไลน์เพื่อสิ่งแวดล้อมจำลองชีวิตประจำวันของมนุษย์ในการบริโภคสินค้าที่ทำให้เกิดคาร์บอน ทำให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกมไปพร้อมๆ กับได้รับข้อมูลความรู้ในการใช้คาร์บอน นำไปสู่การลดใช้คาร์บอน
ผลงานก่อนเข้าร่วมโครงการ
•พัฒนาแบบจำลองของเกม ยังไม่ได้สร้างให้เป็นแอพพลิเคชั่นในระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต
•ไม่มีแผนธุรกิจ
ผลสำเร็จ
•ผลงานเสร็จสมบูรณ์ อยู่ระหว่างนำเข้าระบบ Android เพื่อเป็นแอพลิเคชั่นให้ใช้งานได้ฟรี
3. กอไก่ ไรเดอร์ สื่อคัดลายมือเพื่อคุณหนู
โดย นายปองพล วงษ์คาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ
โปรแกรมฝึกฝนการคัดลายมือภาษาไทยบนแท็บเล็ต ภายใต้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยมีรูปแบบคล้ายเกม
ผลงานก่อนเข้าร่วมโครงการ
•พัฒนาแบบจำลองฝึกหัดการเขียน ก ไก่ สำหรับเด็ก
•ไม่มีแผนธุรกิจ
ผลสำเร็จ
•ผลงานเสร็จสมบูรณ์ เป็นเกมในระบบปฏิบัติการ Android ที่ผู้ใช้สามารถฝึกเขียนพยัญชนะได้ ก-ฮ เหมาะกับการเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก LD ทำให้ สวทช.เข้าร่วมต่อยอดโครงการต่อไป
4. faceBIZ : Connecting Business and People เครือข่ายสังคมออนไลน์ของธุรกิจ
โดย นักเรียนโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย
เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อธุรกิจที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถร่วมมือทำการค้า ทำกิจกรรมออนไลน์ ติดต่อสื่อสาร เลือกซื้อสินค้าผ่าน คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต ขายส่งกับคู่ค้า และขายปลีกกับลูกค้า ซึ่งจะเน้นธุรกิจการท่องเที่ยว
ผลงานก่อนเข้าร่วมโครงการ
•พัฒนาแบบจำลองเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อธุรกิจ
•แผนธุรกิจยังไม่สมบูรณ์
ผลสำเร็จ
•พัฒนาแอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์ที่ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น
•ได้แผนธุรกิจที่สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงแรม
•พร้อมเปิดตัวให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต ใช้งานได้จริงในเดือนก.พ. 2557
5. ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้า Podogram Analyzer
โดย นักศึกษาปริญาโท คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เครื่องมือตรวจวัดน้ำหนักแรงกดบริเวณฝ่าเท้า เพื่อใช้กับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของเท้าผิดปกติ เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาได้อย่างถูกต้อง ผู้ป่วยเบาหวาน ฯลฯ
ผลงานก่อนเข้าร่วมโครงการ
•พัฒนาเครื่องและโปรแกรมวิเคราะห์น้ำหนัก (PodogramAnalyzer) ที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้ป่วยเบาหวาน หรือคนทั่วไปมีลักษณะการยืนทิ้งน้ำหนักลงบนฝ่าเท้าผิดปกติอย่างไร
ผลสำเร็จ
•โรงพยาบาลแพร่เป็นตัวแทนจำหน่ายไปยังศูนย์คลีนิคผู้ป่วยโรคเบาหวานของโรงพยาบาลในเครือเพื่อวิเคราะห์ฝ่าเท้าของผู้ป่วย
•ร่วมธุรกิจกับ Hush and Puppies เพื่อพัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์แผ่นรองรองเท้าที่เหมาะสมกับลูกค้า จำนวน 10 สาขา
6. โปรแกรมสำหรับสร้างสรรค์ผลงานภาพเคลื่อนไหว 2 มิติ Animator
โดย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โปรแกรม Animator เป็นโปรแกรมสำหรับสร้างสรรค์ผลงานภาพเคลื่อนไหวสองมิติ ที่มีความสามารถในการสร้างภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบของ HTML5 ด้วยการวาดรูปและกำหนดการเคลื่อนไหวได้อย่างง่ายดายผ่านชุดเครื่องมือของโปรแกรม โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถในการเขียนโปรแกรมแม้แต่น้อย
ผลงานก่อนเข้าร่วมโครงการ
•สร้างโปรแกรมสำหรับสร้างสรรค์ผลงานภาพเคลื่อนไหว 2 มิติ โดยดึงจุดแข็งของโปรแกรมสร้างผลงานภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ
ผลสำเร็จ
•พัฒนารูปภาพพื้นฐานสำหรับให้ผู้ใช้งานเลือกใช้ได้เลย เพื่อให้การสร้างผลงานภาพเคลื่อนไหวได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
•พัฒนาแผนธุรกิจในการขยายผลไปสู่นักออกแบบมือสมัครเล่น หรือผู้ใช้งานทั่วไป
•ขยายผลไปสู่เจ้าของธุรกิจออกแบบต่างๆ เพื่อใช้โปรแกรมฯ นำเสนอผลงานกับลูกค้า
7. iORDER ระบบจดรายการสั่งสินค้าอัจฉริยะเพื่อองค์กรธุรกิจท้องถิ่น
โดย นายกมลวิทย์ สิริธนนท์สกุล
โปรแกรมบันทึกรายการสินค้าที่ลูกค้าสั่ง ทั้งยังส่งและรวบรวมรายงานผล และ Sync ข้อมูลไปตามที่ต้องการ
ผลงานก่อนเข้าร่วมโครงการ
•พัฒนาแบบจำลองระบบจดรายการสั่งสินค้า
•ไม่มีแผนธุรกิจ
ผลสำเร็จ
•พัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นในระบบ IOS ที่ใช้ได้จริงสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน
•พัฒนาให้สามารถจดจำรายการสั่งสินค้าของลูกค้าเดิมได้
•KK การค้า จ.สงขลา นำแอพพลิเคชั่นไปใช้งาน
เสียงสะท้อนต่อโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่"
นันทิพัฒน์ นาคทอง (ปาล์ม)
ผู้พัฒนาผลงาน โปรแกรมสำหรับสร้างสรรค์ผลงานภาพเคลื่อนไหว 2 มิติ Animator
"เป็นโครงการที่แปลกใหม่ ปกติการแข่งคือเอาโปรแกรมมาเทียบกัน มีกรรมการตัดสิน ได้รางวัลและจบไป แต่ว่าโครงการนี้เหมือนจากที่เราเคยแค่แข่งเพื่อรางวัล แต่นี่เป็นการแข่งเพื่อให้งานเราเป็นที่รู้จัก ให้โปรแกรมเราได้เอาไปใช้งานจริง มีประโยชน์ ไม่ใช่แค่กรรมการ 3-4 มาตัดสินงานเราแล้วก็จบ แต่นี่คือคนที่มาใช้งานเรา คือลูกค้าจะเป็นผู้ตัดสิน"
ยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ (อู๋)
ผู้พัฒนาผลงาน ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้า Podogram Analyzer
"เป็นโครงการที่ดีมากๆ สำหรับตัวโครงการนี้ เหมือนกับว่าเรามีคนที่พาเราไปข้างหน้าได้ ชี้ว่าเราควรไปทางไหน ในขณะที่ประสบการณ์เรายังมีไม่มาก ดังนั้น ถ้าเกิดมีโครงการแบบนี้ ต่อจาก NSC เป็นโครงการที่ดี เพราะโครงการที่แข่งและประกวดได้รับรางวัลมีแต่โครงการดีๆแต่ไม่ได้ถูกสานต่อ ในเรื่องของการพัฒนาต่อ หรือนำไปใช้งานจริง ซึ่งมันมีประโยชน์"