กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาโครงการเยาวชนแกนนำ รอบที่ 2
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

     การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโครงการของเยาวชนแกนนำ รอบที่ 2 วันที่ 21-22 กันยายน พ.ศ.2555 จัดขึ้นเพื่อพัฒนาระบบคิดของเยาวชนแกนนำให้สามารถคิดอย่างมีเหตุมีผลและพัฒนาโครงการที่ผ่านการพิจารณาของกลุ่มเยาวชนแกนนำทั้ง 9 โครงการให้สามารถนำไปดำเนินการได้จริง

­

วัตถุประสงค์ 


  1. เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตด้านการคิด 
  2. เพื่อพัฒนาโครงการของเยาวชนแกนนำรอบที่ 2 รวม 9 โครงการ 
  3. เพื่อประเมินทักษะชีวิตเยาวชนและจิตสำนึกพลเมือง (Pre-test)

­

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

      การจัดกิจกรรมในภาพรวมพบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ในด้านการฝึกกระบวนการคิดเชิงระบบ กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองและสามารถพูดคุยสื่อสารกับผู้อื่นได้ ซึ่งทำให้โครงการของพวกเขามีความชัดเจนมากขึ้น เพราะได้แลกเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้การทำโครงการที่เป็นขั้นตอน รู้ถึงผลกระทบของปัญหาและวิธีการแก้ปัญหานั้นๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกระบวนการเรียนรู้เปิดโอกาสให้เยาวชนมีการแลกเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติในการทำโครงการของตนเองอย่างอิสระ มีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาจึงทำให้เยาวชนสามารถเข้าใจประเด็นปัญหาของกลุ่มตนเองตรงกัน สามารถเลือกประเด็นปัญหาที่กลุ่มสามารถทำได้จริงและมีการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอนได้อย่างชัดเจน มีวิธีการบริหารงบประมาณ โดยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และจัดเก็บหลักฐานการใช้จ่ายเงินทุกครั้งเพื่อความโปร่งใส ซึ่งโครงการส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการงบประมาณให้เพียงพอกับทุนที่ได้รับการสนับสนุน

­

­

      ทั้งนี้กลุ่มเยาวชนได้สะท้อนถึงประโยชน์และสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างหลากหลายดังความคิดเห็น

­

      นางสาวสุนารี หมัดอะดั้ม กลุ่มสิงห์สมุทร “ได้การคิดที่เป็นระบบมากขึ้นและได้เรียนรู้ถึงการทำโครงการที่ถูกต้อง ได้รู้จักกระบวนการทำงานที่ดี กล้าแสดงความคิดเห็นและมีความเป็นผู้นำมากขึ้น”


      นายนัสรอน ใบหมุด กลุ่ม CD Adventure “กระผมคิดว่า ในการเข้าประชุมเพื่อพัฒนาโครงการในครั้งนี้ ทำให้กระผมได้รับแนวคิดใหม่ ได้แลกเปลี่ยนความคิด และ เรียนรู้ในการจัดทำโครงการที่เป็นขั้นตอน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาในการเรียน”



      นางสาวชุติพร สุวรรณ กลุ่มสองมือสร้างฝัน “ได้รู้จักกระบวนการคิดที่เป็นขั้นตอนและละเอียดรอบคอบ ฝึกการมีวินัย มีระเบียบ และกล้าแสดงออก การสร้างมิตรภาพ การทำงานกันเป็นหมู่คณะ ความสามารถในการพูด การฟัง การคิด”


      นางสาวขวัญฤทัย ปานนุ้ย กลุ่มมะนาวหวาน “ได้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันและเกิดพัฒนาโครงการของกลุ่ม ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น”


      นางสาวนีรชา ประสาวรรณ กลุ่มสภาเด็กและเยาวชน ต.ปริก อ.สะเดา “ได้รู้จักการแก้ปัญหา แล้วได้รู้ถึงสาเหตุว่าทำไม ได้ฝึกทักษะกระบวนการคิดรอยหยักของสมองมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญ คือประสบการณ์ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ จริงๆ”
   

      จากความคิดเห็นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้เยาวชนส่วนใหญ่ได้รับความรู้และเข้าใจถึงประโยชน์ที่แฝงอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ได้ลึกซึ้งกว่าการจัดกิจกรรมพัฒนาโครงการเยาวชน รอบที่ 1 สามารถทบทวนตัวเองได้ว่าเกิดการพัฒนาในด้านใดบ้าง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ถูกปรับให้มีความกระชับและตรงประเด็นมากขึ้น รวมทั้งเยาวชนที่มาเข้าร่วมหลายกลุ่มกำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยจึงทำให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ได้เร็วกว่าเยาวชนแกนนำ รอบที่ 1 และมีทักษะในการสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ความคิดของตนเองได้ดี

­

­

      รวมถึง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ความเห็นว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาโครงการ เยาวชนแกนนำเป็นโครงการที่ดีและเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ดังความคิดเห็นของ

­

     นางศลิมา มานะศิริ ครูที่ปรึกษา กลุ่มจิตใสอาสา “ขอบคุณสำหรับเวทีที่เปิดโอกาสให้เด็กได้สานฝัน และทำกิจกรรมตามฝันของตนเอง”

­

      นายณัฐพงศ์ ราชบุญ ตัวแทนที่ปรึกษากลุ่ม CD Adventure ให้ความคิดเห็นว่า “ขอให้มีโครงการดีๆ อย่างนี้ตลอดไป และเป็นโครงการที่ตอบสนองความสามารถของผู้เข้าอบรม”



      นายวรรณจกร มีชัย กลุ่มสำนึกรักถิ่นเกิด ซึ่งรู้สึกว่า “โครงการดีมากรู้ถึงประเด็นในการทำโครงการ เราสามารถหาปัญหาของโครงการได้จริงๆ”


       แต่ทั้งนี้ยังมีเยาวชนหลายคนให้ความเห็นว่ากระบวนการเรียนรู้มีเวลาให้น้อยเกินไปในบางช่วงของการทำกิจกรรมจึงตามไม่ทัน ซึ่งทางคณะทำงานจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปปรับปรุงการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป

­

­

      ข้อเสนอแนะจากคณะทำงานสงขลาฟอรั่มและวิทยากรประจำกลุ่มย่อย จัดกิจกรรม ซึ่งมีข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป ดังนี้


1. ช่วงนันทนาการและแนะนำตัวยืดเยื้อเกินไป ควรปรับให้กระชับขึ้นและให้ความสำคัญกับเยาวชนมากขึ้น หรือให้ลองจัด WS รูปแบบนันทนาการใหม่ๆ ที่จะมาเสริมศักยภาพของวิทยากรและคณะทำงาน เช่น ดนตรีบำบัด เป็นต้น

2.  ผู้เข้าร่วมประชุมที่มาในฐานะที่ปรึกษาโครงการเยาวชนต้องประสานให้ชัดเจนว่ามาเข้าร่วมได้กี่คน

3.  ช่วงจุดประกายความคิดให้ลำดับกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้

  • Power point สถานการณ์เด็กและเยาวชน ศตวรรษที่ 21 กับพันธกิจอันสำคัญของภาคประชาสังคม
  • คลิป VDO สร้างแรงบันดาลใจ
  • กิจกรรม Check in จุดประกายความคิด

­

4.  จดบันทึกรายละเอียดการทำงาน บรรยากาศในกลุ่มย่อย เพื่อนำมาใช้ในการถอดบทเรียน

5. ให้จับตามองทักษะชีวิตด้านที่ 4 การสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพ ระหว่างวิทยากรประจำกลุ่มย่อยกับเยาวชนแกนนำ

6. ตัดช่วงกรอกข้อมูลโครงการลงแบบฟอร์มออก เพื่อให้มีเวลาทำกิจกรรมในช่วงรับฟังข้อเสนอแนะ จากคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และครูที่ปรึกษาโครงการเยาวชนเพิ่มขึ้น

7. ช่วงพูดคุยกับครูที่ปรึกษาโครงการเยาวชนควรจัดห้องแยกต่างหาก เพื่อไม่ให้รบกวนการทำกิจกรรมของเยาวชน

­

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ