กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ประชุมเชิงปฏิบัติการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ผ่านกรณีการพังทลายของหาดสงขลา
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

       กิจกรรมสื่อสารสาธารณะ ผ่านกรณีการพังทลายของหาดสงขลา มีวัตถุประสงค์สำคัญจัดกระบวนการเรียนรู้จากปัญหาให้กับเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลา จำนวน 35 คน โดยให้พวกเขาเรียนรู้จากห้องเรียนแลเล แลหาด ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน พ.ศ.2555 และฝึกความเป็นนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์ พร้อมกับการลงสำรวจห้องเรียนหาดชลาทัศน์ หาดสมิหลา และหาดแหลมสนอ่อน ซึ่งกิจกรรมนี้ได้สร้างการเรียนรู้ การคิดนอกกรอบ ความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าของพื้นที่สาธารณะ


วัตถุประสงค์


  1. เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้จากปัญหา กรณีการพังทลายของหาดสงขลาให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับการสรรหาจากครูและผู้นำชุมชน
  2. เพื่อสื่อสารสาธารณะกับเครือข่าย เด็กและเยาวชนในจังหวัดสงขลาและสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา

กำหนดการและรายงานผล
03
มิถุนายน
2012
ประชุมเชิงปฏิบัติการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ผ่านกรณีการพังทลายของหาดสงขลา ณ ห้อง onstage โรงแรมราชมังคลา พาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท สงขลา
09.00 - 09.30 น.
กล่าวเปิด และชี้แจงโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดย คุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม
09.30 - 10.00 น.
รู้จักประวัติเมืองสงขลาโดย ดร.จเร สุวรรณชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
10.00 - 12.00 น.
กระบวนการปลูกจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ผ่านเรื่องการพังทลายของหาดสงขลา โดย อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
กิจกรรมจับคู่เล่าสู่กันฟัง...ให้เยาวชนจับคู่สนทนากัน ภายใต้โจทย์
1.เมื่อตนเองได้ชมวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ได้เห็นรากเหง้าของเมือง ภาพ ของตัวเมือง ตนเองรู้สึกอย่างไร
2.เคยไปเที่ยวจังหวัดอื่นใดในประเทศบ้างที่มีลักษณะเหมือนสงขลา ยกมา 1 จังหวัด ถ้าไม่มีจังหวัดใด สิ่งนี้บอกอะไรเราบ้าง
เยาวชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มใหญ่
เยาวชนทบทวนประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเอง ภายใต้โจทย์
- ทวด(ชาย/หญิง)ของเราชื่ออะไร อยู่อำเภออะไร ทำมาหากินอะไร ต้นตระกูลมีใครบ้าง(สาแหรก)
- ปู่ ย่า ตา ยาย ของฉันชื่ออะไร ทำมาหากินอะไร อาชีพ ประวัติ อยู่ที่ไหน
- สถานที่เกิดของเรา(ตัวเยาวชน) หมู่บ้านของเรา อยู่ตำบล/อำเภออะไร บรรยากาศของชุมชน บ้านเรือน (ประวัติศาสตร์ชุมชน) ภูมิประเทศ เทศกาลงานในชุมชน ธรรมชาติ ช่วงเวลาที่มีความสุขในวัยเด็กทำอะไร กับใคร
- วาดภาพบรรยากาศทั้งหมดที่เรารับรู้ได้จากกลุ่มสนทนาอย่างสร้างสรรค์ และเขียนเรื่องเล่าประกอบภาพ
- แลกเปลี่ยนความคิด/ความรู้สึกของเยาวชนในเวทีวงใหญ่
สรุปการเรียนรู้ ความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับเมืองสงขลา
13.00 - 17.00 น.
กิจกรรมให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหาดสงขลาและร่วมวางแผนการสำรวจหาดสงขลา โดย ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และจัดกระบวนกลุ่มย่อยโดยคุณสมศักดิ์ ชูช่วยคำ และคณะทำงานสงขลาฟอรั่มเป็นพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม
1.ศึกษาลักษณะภูมิศาสตร์ของหาดสงขลาโดยใช้วิธีการเรียนรู้ 3 ห้องเรียน (หาดชลาทัศน์ หาดหน้าราชมงคล หาดสมิหลา) ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร แบ่งกลุ่มเยาวชน 7-8 คน
2.กลับมาทบทวนความรู้ที่ได้จากการลงภาคสนาม
19.00 - 21.00 น.
นำเสนอผลการสำรวจ ตอบข้อซักถาม และนันทนาการที่สร้างสรรค์ โดยวิทยากรหลัก 3 ท่าน (อ.ชัยวัฒน์/ดร.สมปรารถนา/คุณสมศักดิ์และคณะทำงาน)
กิจกรรมสถานีการเรียนรู้ 6 สถานี
1.หาดทรายพังทลายเนื่องจากสาเหตุใด
2.คลื่นเกี่ยวพันกับหาดหาดทรายอย่างไร
3.คิดว่าทรายที่แหลมสนอ่อนมาจากไหน
4.ผลของกระสอบทรายและกองหินที่มีต่อหาดทราย
5.หาดทรายมีคุณค่าอะไรบ้าง
6.การพังทลายของหาดทรายส่งผลต่อมนุษย์หรือไม่ อย่างไร
สรุปกิจกรรมการเรียนรู้ห้องเรียนหาดทราย โดย ดร.สมปรรถนา ฤทธิ์พริ้ง
04
มิถุนายน
2012
ประชุมเชิงปฏิบัติการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ผ่านกรณีการพังทลายของหาดสงขลา ณ ห้อง onstage โรงแรมราชมังคลา พาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท สงขลา
09.00 - 12.00 น.
กระบวนการสื่อสารอย่างมีพลังจากความรู้ความเข้าใจเรื่องหาดทรายและผลิตสื่อเพื่อใช้ในการรณรงค์ในวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยคุณศุ บุญเลี้ยงและคณะพี่เลี้ยง
กระบวนการทำงานเป็นทีม
1.เยาวชนแบ่งกลุ่มตามอัธยาศัยและตั้งชื่อกลุ่มของตนเอง
2.เยาวชนพิจารณาตั้งชื่อกลุ่มใหม่อีกครั้งโดยให้เขียนลงในกระดาษ และให้เยาวชนแต่ละกลุ่มออกไปนำเสนอชื่อกลุ่มในเวทีวงใหญ่
3.เยาวชนเขียนชื่อ 5 ชื่อลงบนกระดาษใหม่อีกครั้ง และนำออกไปติดไว้หน้าห้องที่ใดก็ได้ให้ทุกคนเห็นชัดเจน โดยเยาวชนแต่ละกลุ่มมีการตั้งกติกาคัดชื่อออกให้เหลือ 5 ชื่อ
4.เยาวชนคัดเลือกชื่อกลุ่มให้เหลือเพียง 2 ชื่อ โดยใช้วิธีการถกเถียงกัน และนำเสนอชื่อโดยเลือก 1 ชื่อปิดตรงหน้าผาก และอีก 1 ชื่อปิดตรงอวัยวะส่วนใดก็ได้บนร่างกาย
กิจกรรมการเรียนรู้ผ่านสื่อเพลงและภาพ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อความหมายของป้าย/ข้อความต่างๆ บนพื้นที่สาธารณะ (สัญญะของข้อความ)
13.00 - 17.00 น.
เยาวชนออกแบบกิจกรรมรณรงค์ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” โดยใช้กระบวนการกลุ่มคัดเลือกถกเถียง และออกแบบด้วยตนเอง ทำให้น่าสนใจและสะเทือนใจแบบคิดนอกกรอบ
05
มิถุนายน
2012
ประชุม เชิงปฏิบัติการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ผ่านกรณีการพังทลายของหาดสงขลา ณ หาดชลาทัศน์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
09.00 - 12.00 น.
ร่วมพิธีเปิดวันสิ่งแวดล้อมโลก จัดโดยเทศบาลนครสงขลา ว่าด้วยเรื่องหาดสงขลา
13.00 - 17.00 น.
ร่วมงานแลเล แลหาด เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และเครือข่าย sos หาดสงขลา และภาคีคนรักเมืองสงขลา
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

1. เยาวชนได้เรียนรู้การพังทลายของหาดสงขลา ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากปัญหา


      จากการทำกิจกรรมระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน 2555 เยาวชนได้ฝึก “การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง” ทำให้พวกเขามีความกระตือรือร้นและมีความรับผิดชอบในภาระหน้าที่ในการสำรวจปัญหาการพังทลายของหาด โดยการเรียนรู้ครั้งนี้ ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ซึ่งเป็นวิทยากรได้ให้เยาวชนลงไปสัมผัสกับห้องเรียนหาด และศึกษาลักษณะภูมิศาสตร์ของหาดสงขลาโดยใช้วิธีการเรียนรู้ 3 ห้องเรียน (หาดชลาทัศน์ หาดหน้าราชมงคล หาดสมิหลา) ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร แบ่งกลุ่มเยาวชน 7-8 คน การเรียนรู้จากสถานที่จริงทำให้เยาวชนเห็นความแตกต่างของแต่ละห้องเรียน เช่น


  • หาดชลาทัศน์บริเวณหาดมีพื้นที่เหลืออยู่น้อยทางเทศบาลสงขลาและกรมเจ้าท่าจึงหาวิธีการแก้ปัญหาการพังทลายของหาดโดยการใช้เรือดูดทรายจากทะเลมาเติมหาด  
  • หาดหน้าราชมงคลมีแนวกระสอบทรายมาวางกั้นไว้ทำให้บดบังทัศนียภาพของหาดและไม่สามารถแก้ปัญหาการพังทลายของหาดได้
  • หาดสมิหลายังคงมีสภาพหาดที่สมบูรณ์เพราะทรายจากหาดชลาทัศน์พัดมาทับถมอยู่เสมอจึงทำให้หาดยังคงสวยงาม


       จากการเรียนรู้ห้องเรียนจริงทำให้เยาวชนเกิดความตระหนักถึงคุณค่าของหาดสงขลามากขึ้น ซึ่งหาดเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเมืองสงขลา และในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งของสงขลาและคิดว่าพวกเขาต้องทำอะไรสักอย่างที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบในฐานะของความเป็นพลเมือง


      น้องน้ำนิ่ง สะท้อนว่า “อยากรวมกลุ่มกันทำวีดิทัศน์เผยแพร่เรื่องการอนุรักษ์หาดทราย หรือการสร้างกลุ่มความเคลื่อนไหวทาง Facebook เพื่อให้เพื่อนเห็นความสำคัญของหาด”


     การเรียนรู้จากปัญหา(Problem Based Learning) ผ่านการพังทลายของหาดสงขลา ทำให้เยาวชนได้คิดวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุในท้องถิ่นของตนเอง รู้จักรากเหง้าประวัติศาสตร์ของตนเอง ซึ่งทำให้พวกเขาเกิดความห่วงใยในบ้านเมืองของตนเอง และยังทำให้พวกเขาเรียนรู้การทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนต่างสถาบันที่เข้ามาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกันในครั้งนี้


2.เยาวชน เครือข่าย และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของหาด และเข้าใจวัตถุประสงค์การดำเนินงานของโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลามากขึ้น ผ่านการสื่อสารอย่างมีพลัง


     กิจกรรม The World Beach Day แลเล แลหาด ครั้งที่ 2 วันที่ 5 มิถุนายน 2555 ทำให้เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้จากปัญหาของหาดสงขลาเกิดการรวมตัวและใช้พลังเล็กๆ ของเยาวชนเพื่อสื่อสารกับคนในสังคมให้เห็นคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของหาดสงขลา โดย…


  • การเดินรณรงค์สร้างกระแสในคนสงขลาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์หาดที่ถูกทำลายและเสียหายไปบางส่วน
  • โต้วาทีในญัตติ “ใครทำหาดพัง”
  • อ่านบทกวี
  • พิธีเติมทราย


      กิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างกระแสสังคมให้คนสงขลาตระหนักถึงปัญหาการพังทลายของหาดมากขึ้น ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการรวมพลังของเครือข่ายสงขลาฟอรั่ม ไม่ว่าจะเป็น เทศบาลนครสงขลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา โรงเรียนเทศบาล 1-5 โรงเรียนวรนารีเฉลิม โรงเรียนมหาวชิราวุธ โรงเรียนวชิรานุกูล ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต ๙ จังหวัดสงขลา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลา ฐานทัพเรือสงขลา ให้เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นพลังขับเคลื่อนการแก้ปัญหาของชายหาด จังหวัดสงขลา ทั้งนี้เครือข่ายต่างๆ ยังได้รับรู้และเข้าใจการดำเนินงานของโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลาไปพร้อมๆ กันด้วย


      ด้วยความตระหนักในปัญหาการพังทลายของหาดสงขลา ทำให้ภาคีได้มีการขับเคลื่อนการทำงานต่อจากกิจกรรมแลเล แลหาด ดังนี้


  • เทศบาลนครสงขลา แบ่งพื้นที่ให้กับหน่วยงานเครือข่ายรับผิดชอบดูแลชายหาดที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับหน่วยงานของตน เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ดูแลบริเวณหาดชลาทัศน์ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา ดูแลบริเวณลานวัฒนธรรม และฐานทัพเรือสงขลา ดูแลบริเวณหาดเก้าเส้ง เป็นต้น
  • เครือข่ายเยาวชนที่สนใจจะเขียนโครงการเพื่อร่วมพัฒนาเมืองสงขลา ผ่านโครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา


     จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้โครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา โดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ขยายผลการดำเนินงาน โดยการเปิดรับสมัครโครงการสร้างสรรค์จากเยาวชน จังหวัดสงขลาจำนวน 30 โครงการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา พัฒนาชุมชน และสังคมของตนเอง